อิ๊งค์รอ‘คลัง’แจงเฟสสอง 1.9แสนรายโอนเงินไม่ได้

นายกฯ อิ๊งค์ไม่กล้าตอบแจกเงินเฟสสอง บอกรอคลังยืนยันเพราะมีหลายรูปแบบ  “คลัง” เปิดตัวเลขมีคนกว่า 1.9 แสนรายที่โอนเงินไม่สำเร็จ แนะเร่งผูกบัญชีพร้อมเพย์ “ธีระชัย” จี้รัฐบาลเร่งตอบปมตรวจสอบคุณสมบัติ-หนี้สาธารณะ-สัญญาว่าจะให้ อดีต สว.ซัดนักการเมืองอย่าโหนเรื่องใช้ภาษีแจก

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ถึงกระแสข่าวการลดวงเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (เฟสสอง) เหลือเพียง 5,000 บาท โดยหันมายิ้มและกล่าวว่า รอก่อน รอให้การคลังเขามายืนยัน มันมีหลายแบบ ถ้าให้อธิบายตอนนี้มันสั้นไปหน่อย และก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า น.ส.แพทองธารยังกล่าวว่า จริงๆ แล้วเราค่อยสัมภาษณ์กันวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดีกว่า

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงภาพรวมการโอนเงิน 10,000 บาท ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการจำนวน 4.51 ล้านราย ในวันที่ 3 ว่าได้โอนเงินทั้งหมดให้ผู้ที่ได้รับสิทธิเรียบร้อย 100% แล้ว ซึ่งการโอนเงินวันที่ 3 สำหรับผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้าย 4-7 สำเร็จตั้งแต่เช้ามืด ส่วนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการที่ถึงรอบโอนแต่ยังไม่ได้รับเงิน หากยังไม่ได้ผูกบัญชีกับพร้อมเพย์ก็เร่งดำเนินการ โดยกรณีที่จ่ายให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการจ่ายเงินซ้ำให้กลุ่มเป้าหมายจำนวน 3 ครั้งเท่านั้น ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ต.ค.2567, ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พ.ย.2567 และครั้งที่ 3 ภายใน 23 ธ.ค.2567 โดยหากโอนซ้ำครบ 3 ครั้งแล้ว ยังไม่สามารถโอนเงินได้ตามเงื่อนไข รัฐบาลจะยุติการจ่ายเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การโอนเงินเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 1-3 จำนวน 4.51 ล้านราย พบว่ามีการโอนเงินไม่สำเร็จ 141,062 ราย ทำให้มียอดสะสมของการโอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 7.48 ล้านราย และโอนเงินไม่สำเร็จ จำนวน 190,445 ราย ซึ่งสาเหตุการโอนเงินไม่สำเร็จ พบว่าในส่วนของคนพิการบัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด และเลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น ส่วนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน  บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด และบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น

“ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือติดต่อธนาคาร เพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาข้างต้น ภายในวันที่ 18 ต.ค.2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ต.ค. 2567” นายพรชัยกล่าว และว่า ส่วนคนพิการจำนวน 9 หมื่นราย ที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ หรือข้อมูลบัตรไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการโอนเงินเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2567 ขอแนะนำให้ต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ทำบัตรประจำตัวคนพิการ หรือแก้ไขข้อมูลประจำตัวคนพิการ ที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 10 ต.ค.2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันในวันที่ 22 ต.ค.2567

ด้านนายสมชาย แสวงการ อดีต สว. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า แจกเงินหมื่นเป็นภาษีของคนไทยทุกคน รัฐบาล สส. นักการเมือง อย่าริฉวยเอาหน้า  และสื่อมวลชนไม่ควรทำข่าวอวยให้ประชาชนหลงผิด และไม่จำเป็นต้องขอบคุณนายกฯ รัฐบาล และนักการเมืองแต่ประการใด เพราะเม็ดเงินที่นำไปใช้ในโครงการแจกเงินทุกบาททุกสตางค์ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนักการเมืองผู้ใด แต่เป็นเงินภาษีคนไทยคนไทยทุกคน ที่เราจำเป็นต้องเสียสละเพื่อมาใช้จ่ายแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนที่ขาดโอกาส เพื่อให้มีโอกาสได้สู้ต่อไปในยามนี้ เป็นเรื่องที่คนไทยต้องรู้และตระหนักว่า เราทุกคนยังต้องช่วยกันแบกหนี้และดอกเบี้ยกัน ที่สำคัญรัฐบาลควรยกเลิกการแจกเงินดิจทัลที่เหลือทั้งหมด และเร่งนำเม็ดเงินไปพัฒนาศักยภาพของรัฐและประชาชนในทุกๆ ด้านให้คุ้มค่ายิ่งขึ้นต่อไป มิเช่นนั้นประเทศเราอาจเสพติดประชานิยมเพราะเงินแจก และขาดขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจหรือประสบภาวะล้มละลายในอนาคตอันใกล้นี้

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีต รมว.การคลัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า วันแรกๆ ที่มีการโอนเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่เปลี่ยนไปเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายเลือกตั้ง คนที่รับเงินมีความดีใจหลายแบบ ซึ่งก็ยินดีด้วยกับประชาชนที่ได้รับเงิน แต่ก็มีความเสี่ยงที่รัฐบาลควรต้องคำนึงและบริหารให้ถูกต้องหลายข้อ 1.ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าได้เปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 เป็นต้นไป ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ ซึ่งเวลาผ่านมาถึงวันนี้ 1.5 ปี สถานภาพของหลายคนเปลี่ยนไป ในวันนี้ รายได้หรือวงเงินกู้ หรือขนาดทรัพย์สิน อาจสูงกว่าหลักเกณฑ์ ถามว่ากระทรวงการคลังได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำก่อนการจ่ายเงินหรือไม่

2.การปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสด โดยไม่มีบล็อกเชนควบคุม จึงไม่สามารถบังคับการใช้จ่ายให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยกำหนดไว้เดิมได้ รวมทั้งไม่มีผลดีในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแม้แต่น้อย ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้คำยืนยันจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือยังว่า การจ่ายเป็นเงินสดเข้าข่ายเป็นสัญญาว่าจะให้หรือไม่ และ 3.การปฏิบัติตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสด โดยไม่มีบล็อกเชนควบคุม จึงอาจรั่วไหลไปเล่นพนัน หรือซื้อสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูง ซึ่งจะทำให้ผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศลดลง

 “โครงการนี้มีผลทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยอ้อมมากถึง 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ฐานะการคลังอย่างหนัก กระทรวงการคลังยืนยันว่าการจ่ายเป็นเงินสดมีความคุ้มค่า หรือไม่อย่างไร ผมขอแนะนำให้รัฐบาลแถลงประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะ” นายธีระชัยระบุ

ด้านความเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับเงินนั้น ที่ จ.ขอนแก่น พบว่าผู้ได้รับเงินหมื่นบาทได้เดินทางมาไถ่ถอนสิ่งของที่จำนำไว้กันอย่างคึกคัก ซึ่งส่วนใหญ่พบว่านำมาไถ่ถอนเครื่องมือทำกิน อุปกรณ์ทางการเกษตร รวมไปถึงทองคำรูปพรรณ ส่วนที่ จ.นครพนม บรรยากาศตามธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึงตู้กดเงินเอทีเอ็มในพื้นที่หลายอำเภอยังคงคึกคัก โดย่วนที่ก่นพบว่า ผู้ได้รับเงินหมื่นบาทได้าประชาชนยังคงเข้าแถวรอคิวเพื่อเช็กเงินและถอนเงินจากธนาคาร จนทำให้บางแห่งเงินหมดเกลี้ยงตู้ และบางแห่งเครื่องร่วนก็มีให้พบเห็น ในขณะที่ จ.ยะลานั้นก็พบว่าประชาชนที่ได้รับเงินมาแห่ไถ่ถอนทองรูปพรรณเป็นจำนวนมากเช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยื่น 8 ข้อเสนอให้นายกฯ เร่งฟื้นฟูเชียงราย แนะตั้งศูนย์บัญชาการร่วมภาครัฐ-เอกชน

ระหว่างที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.เชียงราย โดยได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบที่โรงเรียนเทศบาล 6 อ.เมือง จ.เชียงราย นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา