สั่งปลัดมท.คุมงานน้ำท่วม นายกฯจ่อค้างคืน‘แม่สาย’

นายกฯ เตรียมบินเชียงราย-เชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม “ภูมิธรรม​” ประชุม ศปช.เตรียมการให้ “มท.1” ซัดผู้ว่าฯ  เกียร์ว่าง รอวันเกษียณ ส่งปลัด มท.-อธิบดี ปภ.ลงคุมงาน พร้อมยันจ่ายเงินเยียวยาก้อนแรกครอบครัวละ 5 พันบาทถึงมือวันนี้ กรมชลฯ   เตือน 11 จ.ลุ่มเจ้าพระยาเตรียมรับมือ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 27  ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เป็นกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) จะเดินทางไปยัง อ.เมืองฯ จ.เชียงราย ซึ่งน้ำไหลทะลักเข้ามา และมีดินโคลนตามบ้านเรือน ประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจ จะไปติดตามการแก้ปัญหาที่จุดนั้น รวมถึงติดตามการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อกำหนดทิศทางและหาข้อสรุปนำมาเขียนเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการรับมือ โดยนายกฯ พร้อมคณะจะพักค้างคืนที่ จ.เชียงราย พักค้างคืนที่ อ.แม่สาย 1 คืน ก่อนที่ในช่วงเช้าวันที่ 28 ก.ย. จะเดินทางไปที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์น้ำหลาก จากนั้นมอบหมายให้รัฐมนตรีแยกย้ายลงพื้นที่ไปในจุดต่างๆ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.​กลาโหม แถลงผลการประชุม ศปช. ครั้งที่ 2 ว่า ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อที่ผู้ว่าฯ เชียงรายกำลังจะเกษียณอายุราชการ ทางกระทรวงมหาดไทยจึงส่งนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่  และนายชัยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นเซ็นเตอร์หน้างาน ประสานงานกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการเข้าฟื้นฟูบ้านเรือน บ้านหลังหนึ่งมีโคลน 1-2 เมตร ใช้กำลังพลประมาณ 30 คน ในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้มีอาสาสมัครจาก ปภ. อส. ทหาร และนักโทษชั้นดีจากกรมราชทัณฑ์มาช่วย นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิเอกชนเข้ามาเสริม แต่สิ่งที่อยากได้ในขณะนี้คือเครื่องมืออย่างเช่นจอบ เสียม เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รถแบ็กโฮ รถคูโบต้า เพราะโคลนเหล่านี้หากอยู่ตามท่อและในบ้าน ทิ้งไว้นานจะเป็นหินปูนได้ นอกจากนี้อยากให้ทุกฝ่ายจดบันทึกเป็นบทเรียนไว้ เพราะเรายังต้องเผชิญกับภาวะแบบนี้อีก จึงต้องเตรียมหาอุปกรณ์ต่างๆ รองรับ ซึ่งหลังจากนี้ก็คงจะมีการพูดต่อไป

สำหรับการจ่ายเงินเยียวยา หลังนายกฯ ลงพื้นที่จะสั่งการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเงิน 3,000 ล้านบาทที่ ครม.อนุมัติ ได้โอนไปที่ ปภ.แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบการใช้เงิน ซึ่งจะลดขั้นตอนจาก 30 วันให้เหลือ 5 วัน โดยเงินก้อนแรกจะจ่ายให้ครอบครัวละ 5,000 บาท ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถจ่ายได้เลย เพราะมีงบจังหวัดละ 200 ล้านบาทอยู่แล้ว เบื้องต้นพยายามจะจ่ายให้ทั่วถึงก่อน จากนั้นจะพิจารณาเพิ่มเติม

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงใหม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า จะเสนอนายกฯ แก้ปัญหา ซึ่งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ยินดีคืนพื้นที่ให้ เพื่อให้ระบายน้ำคล่องตัวมากขึ้น ตรงไหนมีสะพานมีตอม่อขวางอยู่ ก็จะยกสะพานขึ้น เมื่อน้ำไหลคล่องตัวขึ้นการเอ่อล้นท่วมในเมืองก็จะลดลง โดยจะทำงานแข่งกับเวลาเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยในพื้นที่ อ.เมืองฯ จ.เชียงราย กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 29 ก.ย.2567 ส่วนการดำเนินการในพื้นที่อำเภอแม่สาย แบ่งการดำเนินการเป็น 5 โซน กำหนดดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือประมาณวันที่ 20 ต.ค.2567 ขณะที่ภาคอีสาน สถานการณ์ยังไม่วิกฤต แต่มีหน่วยงาน ปภ.และกองทัพภาคที่ 2 ดูแลอยู่แล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการเร่งรัดและสั่งการให้กระทรวงการคลังโอนงบกลางที่จะไปช่วยเหลือประชาชนเป็นรายครัวเรือน ทราบว่าช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 25 ก.ย. เงินจากกรมบัญชีกลางได้เข้ามาที่บัญชีของกรม ปภ.แล้ว โดยกระทรวงมหาดไทยได้เร่งสำรวจตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ย. เพื่อที่จะนำรายชื่อของผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาก้อนนี้ เพื่อทยอยโอนเข้าบัญชี ทั้งนี้ ในส่วนการเยียวยานั้น นายกฯ อยากให้ใช้มาตรฐานสูงสุด แต่เราต้องดูด้วยว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ โดยตามเกณฑ์จะมีการจ่าย 5,000 บาท,  7,000 บาท และ 9,000 บาทต่อครัวเรือน แต่ในความเป็นจริงแม้จะจ่าย 9,000 บาท แต่ไม่มีทางพอ ซึ่งต้องมาดูว่าหากจะปรับเปลี่ยนเกณฑ์ช่วยเหลือประชาชนให้จ่ายมากขึ้นนั้น จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ 1 ต.ค.นี้

ส่วนเรื่องการซ่อมแซมบ้าน จะมีการช่วยเหลืออีกหมวดหนึ่ง โดยกระทรวงมหาดไทยจะให้งบในการซ่อมแซมบ้าน 49,500 บาท และมีในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีอีก ฉะนั้นเราจะพยายามหาความช่วยเหลือมาให้มากที่สุดจากหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์น้ำ ที่ จ.เชียงใหม่ คือแม่น้ำปิง ส่วนที่ จ.เชียงราย คือแม่น้ำกก ทางผู้ว่าราชการจังหวัดต้องพยายามทำให้น้ำไหลให้ดีที่สุด โดยเฉพาะจุดที่มีขยะหรือสิ่งกีดขวางทางน้ำไหล ต้องเร่งระดมใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการที่จะขจัดสิ่งกีดขวางเหล่านี้เพื่อให้น้ำไหลได้คล่องตัวที่สุด เร่งระบายน้ำลงเขื่อนภูมิพลให้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ศปช. นายอนุทินได้มอบให้นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์  ว่าที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เชียงรายเพื่อกำกับการดำเนินการ เนื่องจากนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไม่ขับเคลื่อนการทำงาน โดยมีสาเหตุจากอาการป่วย และรอวันเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ นอกจากนี้ได้มอบหมายรองปลัดกระทรวงมหาดไทยไปรักษาราชการแทนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้เร่งพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะด้านเงินทุนสำหรับช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นเงินทุนระยะยาว อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเป็นการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน   ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 25 กันยายน 2567 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่  จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังระดับน้ำสูงขึ้น และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำในพื้นที่ทางตอนบนที่ไหลลงลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานคาดการณ์ว่า ใน 1-7 วันข้างหน้า ในวันที่ 28 กันยายน 2567 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ ประมาณ 2,000-2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ร่วมกับปริมาณน้ำ Sideflow ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยกตัวสูงขึ้นมีปริมาณ 2,350 ลูกบาศก์เมตรวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิมอีก 1 เมตร ถึง 1.50 เมตร และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดกำหนดการ นายกฯ ลงพื้นที่ เชียงราย-เชียงใหม่ ติดตามฟื้นฟูสถานการณ์อุทกภัย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลังเกิดเหตุอุทกภัย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่

'ศปช.' สยบลือว่อนเนต! ยันไม่มีพายุใหญ่ถล่มไทย ทำน้ำท่วมหนักซ้ำปี 54

'ศปช.' สยบข่าวลือว่อนเนต พายุขนาดใหญ่ถล่มไทยเหมือนปี 54 ไม่เป็นความจริง ขออย่าแชร์ต่อ เผยสัปดาห์หน้าไทยหลายพื้นที่เข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวแล้ว

ถกนัดแรก‘5กุนซือ’นายกฯอิ๊งค์ ปักธง‘ไทยพ้นยากจน’รัฐบาลนี้

ได้ฤกษ์รัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์”-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถกนัดแรก “คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี” ที่ บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาล