คลังห่วงบาทแข็ง นัดคุยผู้ว่าฯธปท. แก้ปัญหาส่งออก

“คลัง” นัดแล้วสัปดาห์หน้าจับเข่าคุย “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” รับกังวลเงินบาทแข็งโป๊ก-ผันผวน ห่วงกระทบส่งออก-ท่องเที่ยว จี้เร่งแก้ปัญหา ห่วงไม่ทำอะไรเลยจะเป็นสัญญาณไม่ดี ชี้นโยบายการเงินประเทศต้องสอดคล้องโลก “พิชัย” ยันไม่อยากให้มองขัดแย้งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ แต่ควรรู้หน้าที่ โอดค่าเงินบาทแข็ง พณ.ต้องทำงานหนัก ส่งออกลดลงเรื่อยๆ ก็ต้องรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้มีการนัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในสัปดาห์หน้า โดยเบื้องต้นจะเป็นการหารือเกี่ยวกับภาพรวมกรอบเงินเฟ้อ  ภาพรวมนโยบายการเงินและการคลังที่จะต้องทำงานร่วมกัน สอดประสานกัน การมองภาพรวมและทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการพูดคุยภายใน  โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังมีทิศทางที่จะไปหารือแล้ว หากได้ข้อสรุปจะชี้แจงให้ทราบอีกครั้ง

ในส่วนของสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้ นายเผ่าภูมิระบุว่า มีความกังวลมาก เพราะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้ง 2 ส่วนถือเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ มี 2 เรื่องหลักคือ 1.ค่าเงินบาทผันผวน ซึ่งจะได้เห็นเงินบาทขยับขึ้นไปแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปรับลงมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีช่องว่างถึง 10% ตรงนี้เป็นตัวเลขที่น่ากลัว และ 2.เงินบาทแข็งค่า โดยเป็นการแข็งค่ากว่าภูมิภาค แข็งค่ากว่าคู่ค้า แข็งค่ากว่าคู่แข่ง

 “สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมานั่งจับเข่าและหาข้อสรุปร่วมกัน จะปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแบบนี้ไม่ได้ โดยมองว่าการที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นขนาดไหน อยู่ที่ทิศทางการเงินของโลกเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้นโยบายการเงินของโลกเราเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นหลักในทุกๆ ภูมิภาค และอัตโนมัติคือเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ดังนั้นหากเราไม่ทำอะไรมันก็จะเป็นสัญญาณที่ไม่ดี”

รมช.การคลังมองว่า นโยบายการเงินของประเทศคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสอดคล้องกับทิศทางนโยบายการเงินของโลก เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก หากเรามีนโยบายการเงินที่ไม่สอดคล้องกับคนอื่น ค่าเงินก็จะเกิดการผันผวนในลักษณะแบบนี้ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศปิด แต่เป็นประเทศขนาดเล็กและเป็นประเทศเปิด ดังนั้นการพูดคุยกันเรื่องภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการทำนโยบายทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือว่า ค่าเงินบาทถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการส่งออกมาก กระทรวงพาณิชย์ทำงานกันหนัก  เราวิ่งตะลอนทำงานทั้งวันทั้งคืนไปหลายที่เพื่อจะไปขายของ ซึ่งปกติขายของก็ยากอยู่แล้ว คู่แข่งก็มากอยู่แล้ว ยังต้องเจอค่าบาทที่แข็ง  เหมือนเป็นการเตะสกัดเรา ทำให้ของเราแพงขึ้น ของแพงขึ้นก็ขายยากขึ้น เป็นหลักคิดง่ายๆ ทั้งนี้ไม่อยากให้คนคิดว่าเป็นการแบ่งข้าง กระทรวงพาณิชย์ รัฐบาล หรือแบงก์ชาติ วันนี้ขอเอาประโยชน์ของประเทศ หากค่าเงินบาทอ่อนลงส่งออกได้มากขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการ ให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขายของได้มากขึ้น เกษตรกรก็ได้รับผลกระทบจากค่าบาทแข็ง ขายข้าวได้ราคาที่ถูกลง

 นายพิชัยกล่าวว่า ที่ตนเคยถามว่าผู้ว่าฯ  แบงก์ชาติจบอะไรมา ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ต้องการจะสื่อสารว่าหากจบมาแล้วเรื่องแค่นี้ไม่รู้ จะเป็นไปได้อย่างไร ก็เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถามตนว่าจบอะไรมาเหมือนกัน ตนก็พูดในหลักการ และควรจะเป็นคนที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากที่สุด แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านถึงไม่เข้าใจ เพราะทั้งโลกก็อยากเห็นค่าเงินที่อ่อน ที่ผ่านมาทั้งอาเซียนค่าเงินอ่อนหมด เราแข็งอยู่คนเดียว เราแข็งกว่าอาเซียนเยอะมาก เราแข็งขึ้นมา 6-7% ถือว่ามีความผันผวน ท่านบริหารอยู่ 4 ปี GDP ไม่โตขึ้นมาเลย ตัวเลขไม่มีโกหก

"ผมแม่นตัวเลข และอยากเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับผู้ว่าฯ  แบงก์ชาติ แต่ควรทำให้ค่าเงินบาทอ่อน เป็นสิ่งที่ผมต้องการ หากท่านบอกว่าไม่ลดดอกเบี้ยเพราะกลัวคนจะกู้เงินเยอะ ไม่เกี่ยวกัน กลัว NPL กลัวหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เชื่อว่าแบงก์ชาติก็มีระบบควบคุมหนี้ครัวเรือนอยู่แล้ว ท่านกำลังเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ย้ำว่าไม่ได้อยากมาทะเลาะ เพียงแต่อยากเห็นค่าเงินบาทที่อ่อนและเศรษฐกิจให้ไปด้วยดี"

รมว.พาณิชย์กล่าวอีกว่า การส่งออกเดือนล่าสุดเราโตที่ 7% เดือนก่อนหน้าโต 15% หากค่าเงินบาทยังแข็งอยู่เช่นนี้ การส่งออกของเราจะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งท่านต้องรับผิดชอบ เพราะกระทรวงพาณิชย์เราทำงานเต็มที่แล้ว เราขายของกันเต็มที่แล้ว ท่านก็ควรดูค่าเงินบาทที่เหมาะสมให้เรา อันนี้เราควบคุมไม่ได้ อิสระของแบงก์ชาติก็เพื่อให้ประเทศเจริญ ไม่ใช่อิสระเพื่อขวางทุกอย่าง อิสระถ้าหากประเทศเจริญดีเติบโต 7-8% และเกิดโอเวอร์ กลัวเงินเฟ้อจะมากปัญหาจะมีเยอะ ค่อยออกมาขวางออกมาสกัด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจโอเวอร์ แต่เวลานี้เศรษฐกิจโตเพียง 1.9% ตลอดที่ผ่านมา 10 ปีเศรษฐกิจแย่ท่านบอกว่าไม่ได้สนใจไล่ล่า GDP คิดว่าท่านกำลังเข้าใจผิด หากไม่สนใจ GDP เมื่อไหร่ประเทศจะเป็นประเทศที่พัฒนา

"พร้อมที่จะมีการหารือกับทางแบงก์ชาติ เห็นว่าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติจะนัดหารือกับผม เวลานี้ยังไม่ได้รับนัด ขอให้มา พร้อมที่จะคุยกันเสมอ จะมาที่กระทรวงพาณิชย์หรือที่ไหนก็ได้" นายพิชัยกล่าว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด