รทสช.จี้ถอนรายงานกมธ.นิรโทษ

"ปชน." ไม่เลิกเดินหน้าแก้ รธน.รายมาตรา ยันทำควบคู่ร่าง รธน.ฉบับใหม่ แค่เบรกปมจริยธรรมไว้ก่อน หวังพรรคร่วมรัฐบาลหนุน 6  แพ็กเกจ ปฏิรูปกองทัพ-สิทธิประกันตัว-ปราบทุจริต  "พริษฐ์" จี้รัฐบาลแจงโรดแมปประชามติให้ชัด "รทสช." ไม่รับรายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางกฎหมายนิรโทษกรรมชุด "ชูศักดิ์" ชี้รายงานไม่สมบูรณ์ ย้ำจุดยืนพรรคค้านนิรโทษกรรม 112 ในทุกกรณี

ที่รัฐสภา วันที่ 26 ก.ย. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) แถลงจุดยืนของพรรคในการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คู่ขนานกับยื่นร่างแก้ไขเป็นรายมาตราว่า  พรรค ปชน.ยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560  มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินหน้า 2 เส้นทางแบบคู่ขนาน นั่นคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กับอีกเส้นทางคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน

"การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอาศัยเวลา 1-2 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงว่าจะไม่ทันบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อทำให้บางปัญหาทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเพื่อทำให้การเมืองมีเสถียรภาพและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน" นายพริษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ พรรค ปชน.ได้นำเสนอแนวคิดและประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยแบ่งชุดประเด็นออกเป็น 7 แพ็กเกจ ได้แก่ แพ็กเกจที่ 1 ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งได้ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม  2567 ที่ผ่านมา 1.1 ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉบับ คสช. ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย, 1.2 ทลายเกราะคุ้มกันประกาศและคำสั่ง คสช. ด้วยการยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ, 1.3 ป้องกันการรัฐประหารด้วยการเพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร

แพ็กเกจที่ 2 ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ประกอบด้วย 2.1 ยุติการผูกขาดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม โดยเสนอให้แยกกลไกตรวจสอบเรื่องจริยธรรมออกมาจากกลไกตรวจสอบเรื่องการทุจริต ซึ่งมีนิยามและความรับผิดรับชอบทางกฎหมายอย่างชัดเจน ยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดนิยามมาตรฐานทางจริยธรรมที่บังคับใช้กับทุกองค์กร และกำหนดให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกในการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตนเอง รวมถึงยกเลิกการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยหรือไต่สวนในกรณีจริยธรรม, 2.2 ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง เช่น ทำให้พรรคการเมืองตายยาก โดยการทบทวนฐานความผิดและอัตราโทษให้มีความเหมาะสมและได้สัดส่วน (เช่น ปรับโทษการยุบพรรคเป็นการลงโทษกรรมการบริหารรายคณะหรือรายบุคคลที่กระทำผิด)

แพ็กเกจที่ 3 เพิ่มกลไกตรวจสอบการทุจริต 3.1 ป้องกันการสมคบคิดกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. โดยเสนอตัดอำนาจและดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการตัดสินใจว่าจะให้มีการไต่สวนตามข้อร้องเรียนหรือไม่ โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นแค่ทางผ่าน ทุกเรื่องร้องเรียนไปที่ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ, 3.2 เพิ่มอำนาจประชาชนในการร้องเรียนนักการเมืองแบบช่องทางเร่งด่วน (Fast-track) ให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อร้องเรียนนักการเมืองที่กระทำการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ป.ป.ช.จะต้องพิจารณาเป็นเรื่องด่วนและไต่สวนให้เสร็จภายใน 180 วัน, 3.3 ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลรัฐอย่างโปร่งใส, 3.4 เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสและผู้เปิดโปงการทุจริต

แพ็กเกจที่ 4 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน 4.1 สิทธิการศึกษา, 4.2 สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม, 4.3 สิทธิความเสมอภาคทางเพศ, 4.4 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับสิทธิการประกันตัว หากไม่มีพฤติการณ์อันเชื่อได้ว่าจะหลบหนี, 4.5 เสรีภาพในการแสดงออก, 4.6 เงื่อนไขการจำกัดสิทธิ ตัดเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย

แพ็กเกจที่ 5 ปฏิรูปกองทัพ 5.1 ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และให้การบังคับเกณฑ์ทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีภัยสงครามเท่านั้น, 5.2 จำกัดขอบเขตอำนาจศาลทหาร โดยกำหนดให้อำนาจศาลทหารจำกัดอยู่เฉพาะในยามที่มีการประกาศสงคราม

แพ็กเกจที่ 6 ยกระดับประสิทธิภาพรัฐสภา 6.1 ยกระดับกลไกกรรมาธิการ โดยปลดล็อกอำนาจของคณะกรรมาธิการในการออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลภายนอกมาชี้แจง, 6.2 ปรับนิยามฝ่ายค้าน, 6.3 เพิ่มอำนาจสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาร่างการเงิน

แพ็กเกจที่ 7 ปรับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7.1 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้หากได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเป็นเงื่อนไขเฉพาะ

นายพริษฐ์กล่าวว่า แม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรค ปชน.พร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่

"พรรค ปชน.ยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" นายพริษฐ์กล่าว

ถามว่า มองการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐบาลมีความล่าช้าหรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า  อยากให้รัฐบาลชี้แจงโรดแมปให้ชัดว่าการจัดทำประชามติ 3 ครั้ง วางกรอบเวลาไว้อย่างไร เพราะมองว่าแม้หากทําตามกรอบเวลาอย่างรวดเร็วที่สุดก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่ทันการเลือกตั้งในปี 70

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยถอนร่างแก้ไข รธน.รายมาตราปมจริยธรรมนักการเมืองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นในหมวดของจริยธรรมหรือหมวดใดก็ตาม ก็ต้องฟังเสียงสมาชิกส่วนใหญ่ว่าจะไปในทิศทางไหน ซึ่งเราเอาตามพรรคเพื่อไทย

"อะไรที่แก้แล้วทำให้ประเทศชาติดีขึ้นก็ควรที่จะแก้ อย่าเอาเหตุผลอื่นหรืออ้างเรื่องอื่นมาเป็นประเด็น ไม่อยากให้สังคมไทยโดยเฉพาะสังคมนักการเมืองกลายเป็นสังคมที่ต้องตามกระแสหรืออะไรที่ไม่ได้เป็นความจริง" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว 

ด้านนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช รองโฆษกพรรค พปชร. แถลงข่าวตอบโต้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ที่ยื่นร้องจริยธรรม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เนื่องจากไม่ได้เข้าประชุมสภาว่า นายพร้อมพงศ์ถือกระดาษมาเล่นลิเก ตนเองว่าไม่ใช่ และการที่บอกว่า พล.อ.ประวิตรโฉบมาลงชื่อ ไม่ใช่เรื่องจริง ท่านไม่ได้เป็นเหยี่ยว แต่เป็นพญาหงส์ ที่ไม่ลงหนองน้ำเล็ก นายพร้อมพงศ์เป็นหนองน้ำเล็กและเน่า เพราะฉะนั้นพญาหงส์ไม่ลงมาเกลือกกลั้วด้วยอย่างแน่นอน

วันเดียวกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะโฆษกพรรค รทสช. กล่าวถึงรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธานคณะกรรมาธิการว่า พรรค รทสช.มีมติไม่เห็นชอบกับรายงานดังกล่าวของ กมธ. เนื่องจากรายงานฉบับดังกล่าวได้เสนอความเห็นของการนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำความผิดในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไว้ 3 แนวทางคือ 1.ไม่เห็นชอบให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 และ 2.เห็นชอบให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 รวมทั้ง  3.เห็นชอบให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 โดยมีเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการที่ตั้งมาโดยเฉพาะกำหนดขึ้น

"รายงานฉบับนี้ไม่ได้ข้อสรุปในการศึกษา เป็นเพียงทางเลือกในการปฏิบัติเท่านั้น รวมทั้งจุดยืนของพรรคชัดเจนจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ จึงมีมติให้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมถอนรายงานฉบับดังกล่าว เพื่อนำกลับไปพิจารณาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วจึงนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาใหม่" โฆษกพรรค รทสช.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.