บาทแข็งโป๊ก/ตรึงLPG3ด.

“พิชัย” ห่วงเงินบาทแข็งโป๊กรอบ 2  ปีครึ่ง ทำเสียเปรียบประเทศคู่ค้า ชี้ต้นเหตุ “เฟด”  ประกาศลดดอกเบี้ย ลั่นทุกอย่างต้องสัมพันธ์กับนโยบายการเงิน ขอ “ธปท.” ถอดหมวกทำงานร่วมกัน ด้าน “แบงก์ชาติ” ยันติดตามใกล้ชิด พร้อมดูแลหากผันผวนผิดปกติ กบง.ตรึงราคา LPG อีก 3 เดือน ถึงสิ้นปี

เมื่อวันที่ 25 กันยายน นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าอยู่ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ว่า แข็งค่าขึ้นมาเร็วที่สุดในรอบ 19 เดือน ซึ่งกระทบกับผู้ส่งออก เพราะต้องการเห็นค่าเงินบาทอ่อน แต่สำหรับคนที่ต้องลงทุนในการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทที่แข็งในขณะนี้ มาจากปัจจัยภายนอกที่ธนาคารกลางสหรัฐที่มีดอกเบี้ยสูงในระยะเวลานาน มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอย่างมีสาระสำคัญ และมีการส่งสัญญาณว่าจะลงต่อไปอีก 0.75% ซึ่งตลาดเชื่อว่าจะลงไปอีก การลงแบบนี้เม็ดเงินก็จะไหลออกจากพันธบัตรสหรัฐมาสู่ตลาดที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาถือว่าแข็งค่าเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

 “เมื่อเทียบกับคู่ค้าแล้วถือว่าค่าเงินเราแข็งค่ากว่าคู่ค้า ไม่ว่าจะเงินหยวน เงินดอง เงินเยน รูเปีย และริงกิตของมาเลเซีย เราจึงเสียเปรียบ คนที่ดูแลเรื่องนี้ต้องจับไปเป็นปัจจัยว่าที่ค่าเงินเราแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆ เพราะอะไร” รองนายกฯ  และ รมว.การคลังระบุ

ส่วนในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อยังหลุดกรอบเป้าหมายที่วางไว้ 1-3% ซึ่ง 8 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.15% เท่านั้น ซึ่งเมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบล่างแบบนี้ เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งรัฐบาลบอกว่าควรจะอยู่ที่ประมาณ 2% เนื่องจากเงินเฟ้อนั้นจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปไม่จูงใจผู้ผลิตให้ขยายการผลิตมากขึ้น ซึ่งเรื่องกรอบเงินเฟ้อก็ถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังต้องมานั่งคุยและตกลงกันว่าอัตราที่เหมาะสมคือเท่าใด

รองนายกฯ และ รมว.การคลังกล่าวว่า  รัฐบาลใช้มาตรการทางการคลังไปอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดต้องสัมพันธ์กับนโยบายการเงิน ซึ่งต้องดูว่าดอกเบี้ยนโยบายจะต้องดูความเหมาะสม เพราะหากสูงเกินไปก็ไม่เอื้อให้เศรษฐกิจเติบโต ถือเป็นนโยบายที่สวนทาง ซึ่งทาง ธปท.ต้องดูให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงหรือไม่ หากลองถอดหมวกแล้วมานั่งทำงานร่วมกัน ก็จะสามารถหาจุดร่วมที่นโยบายการเงินและการคลังไปด้วยกันได้ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ทางด้าน น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นปีปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ส.ค. รวมถึงราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,670 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทั้งนี้ ธปท.ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงเช้าของวันที่ 25 ก.ย.2567 พบว่า เงินบาทแข็งค่าลงไปถึง 32.56 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งค่าสูงสุดในรอบ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2565

ขณะที่ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะรองประธาน กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้กำลังใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และต้องนำการคุยกับแบงก์ชาติ โดยอาจมี รมว.การคลัง พร้อมด้วยที่ปรึกษาเข้าร่วมพูดคุย และขอแนะนำว่า อย่าเผยแพร่ข่าวก่อนการประชุม และอย่าถ่ายรูปออกสื่อ เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวถึงในระดับการเงินระหว่างประเทศและนักลงทุนนานาชาติ  ที่อาจจะมองว่ารัฐบาลกำลังครอบงำแบงก์ชาติอยู่ ขณะที่แบงก์ชาติก็ไม่ต้องการให้ถูกมองเช่นนั้น

นายจุลพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ตัดเรื่องการหาเสียงทางการเมืองว่ารัฐบาลหาทางแก้แล้ว แต่แบงก์ชาติไม่ฟังออก นอกจากนี้ รัฐมนตรีหรือคนในรัฐบาลที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรออกมาให้สัมภาษณ์สื่อโจมตีแบงก์ชาติรายวัน และขออย่างเอาเรื่องอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทมาใช้ประโยชน์ในทางการเมือง

วันเดียวกัน นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบง. ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธาน ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงสถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ของตลาดโลก รวมถึงสถานะกองทุนน้ำมัน โดยที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่น ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ราคาขายปลีก LPG อยู่เท่าเดิมที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.2567 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย โดยจะเป็นการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ ที่มีโรงไฟฟ้าที่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงหรือบริการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นอยู่แล้ว               

สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องไม่มีการลงทุนใหม่ และต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรองรับได้ การรับซื้อเป็นรูปแบบ Non-Firm มีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค.2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2569) โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด