ฟื้นกุนซือบ้านพิษฯ นายกฯถกนัดแรก/พท.ตัดจบโยนสภาตั้ง‘สสร.’แก้รธน.

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดบ้านพิษณุโลก ถกคณะที่ปรึกษานโยบายฯ นัดแรก 26 ก.ย. "พันศักดิ์" ยึดความถนัดแบ่งหน้างานที่ปรึกษาฯ  "ภูมิธรรม" ยกเลิกคิวคุยพรรคร่วมฯ 1 ต.ค. ตัดจบแก้ รธน.โยนเป็นเรื่องสภาเดินหน้าต่อ "อดิศร"   อ้างถอยปมจริยธรรมฟังเสียง ปชช. "พท." กลับแผนเดิม รอตั้ง ส.ส.ร.แก้ รธน.ทั้งฉบับ "ธนาธร"  หนุนแก้ไขรายประเด็น แย้มร่าง "ปชน." เสนอตัดเหี้ยน 10 มาตรา ริบดาบ ป.ป.ช. แก้โทษร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่แค่ตัดสิทธิ์สูงสุด 5 ปี  "เด็จพี่" ตามบี้ "ลุงป้อม" ลาสภาดูวอลเลย์บอล

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 ก.ย.2567 มีรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นัดประชุมหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ที่บ้านพิษณุโลก ในวันที่ 26 ก.ย. เวลา 10.00 น.

หลังเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี  ประกอบด้วย 1.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา 2.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา 3.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ 4.นายธงทอง จันทรางศุ 5.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขานุการคณะที่ปรึกษา

นายพงศ์เทพกล่าวถึงการประชุมครั้งแรกว่า  คงต้องรอฟังนายกฯ มอบนโยบาย เนื่องจากมีคำสั่งมาแล้ว แต่เนื่องจากคำสั่งไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งนายกฯ อาจจะมามอบนโยบายให้คณะที่ปรึกษาฯ โดยจะเน้นให้ศึกษานโยบายในด้านใดบ้าง ก็ต้องรอฟังนายกฯ ในการหารือกันครั้งแรก ทั้งนี้ ตนคิดว่าการเสนอความคิดเห็นต่างๆ ของคณะที่ปรึกษาฯ จะเป็นการช่วยกันกลั่นกรองนโยบายก่อน เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนายกฯ จะมอบนโยบายแล้ว นายพันศักดิ์ ประธานที่ปรึกษานโยบายฯ จะพูดคุยแนวทางการทำงานของคณะที่ปรึกษาฯ รวมถึงจะมีการแบ่งงานให้แต่ละคนรับผิดชอบในส่วนที่มีความถนัด และคณะที่ปรึกษาฯ จะใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่หลักในการทำงาน

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีพรรค พท.ถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นกรอบจริยธรรม โดยมีการระบุการแก้ รธน.ดังกล่าวมีหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่เป็นผู้ริเริ่มว่า เรื่องนี้จบแล้ว ไม่มีอะไร ไปโฟกัสเรื่องนํ้าท่วมดีกว่า ทุกคนไปทำงานช่วยนํ้าท่วม ตอนนี้เรื่องสำคัญนอกจากนํ้าท่วมคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ถามว่า ร่างที่พรรค พท.เสนอแก้ไขรายมาตราไปก่อนหน้านี้ต้องถอนออกมาก่อนใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า หลังจากนี้ค่อยคุยกัน ตอนนี้ยังไม่คุย เมื่อซักว่าจะรอแก้ทั้งฉบับทีเดียวใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่คุยกัน เดี๋ยวค่อยหารือกัน เราต้องให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล

"เรื่องนี้เดินหน้าในสภาอยู่แล้ว ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ซึ่งกระบวนการเดินไปอยู่แล้ว ทุกพรรคการเมืองก็อยู่ในสภา เพราะฉะนั้นกระบวนการก็เดินหน้าไป วันนี้อยากให้ไปโฟกัสเรื่องอื่น สื่อสามารถไปตามเรื่องนี้ที่ สส.หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เราโฟกัสที่การกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ประสบภัยนํ้าท่วม" นายภูมิธรรมกล่าว

ซักว่า มีกำหนดเวลาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือยัง นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่มี ส่วนกำหนดเดิมวันที่ 1 ต.ค.ไม่มีแล้ว ให้ยุติก่อน ทุกคนไปทำงานอื่น ส่วนสภาก็เดินหน้าของตัวเองไป

กลับแผนเดิมแก้ รธน.ทั้งฉบับ 

นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวว่า ในการประชุม สส.พรรค พท.เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม เพราะทำเพื่อพวกพ้องของตนเอง การแก้ไขจริยธรรมเป็นเรื่องที่เปราะบาง อ่อนไหว ตนคิดว่าพรรคต้องรับฟังความเห็นของประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล จึงคิดว่าหลังจากนี้พรรคจะถอยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มองว่าไม่ได้เป็นมาตรการเร่งด่วน แต่การแก้ไขมรดกบาปจากการรัฐประหารคิดว่าจะต้องแก้ไขทั้งฉบับ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างทั้งฉบับ

 “อยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ฟังพรรคแกนนำ เรื่องนี้ก็ริเริ่มโดยพรรคแกนนำเอง แต่เมื่อได้รับฟังความเห็นสาธารณะ  คิดว่าการแก้ไขเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่ที่ประชาชน พรรคจึงรับฟังความเห็นดังกล่าว” นายอดิศรกล่าว

ถามว่าไม่เสียหน้าใช่หรือไม่ นายอดิศรกล่าวว่า เรื่องรัฐธรรมนูญไม่มีการเสียหน้า เมื่อซักว่าการแก้ไขรายมาตราจะไม่ทำแล้วรอทำทั้งฉบับเลยใช่หรือไม่ นายอดิศรกล่าวว่า ต้องฟังเสียงประชาชน เพราะเรื่องจริยธรรมต้องมีความเห็น 2 ฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นการลงมติเพียงเสียงข้างมาก 1 คนก็ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ แต่จะมีการเปลี่ยนเป็น 2 ใน 3 ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไปขัดกับความรู้สึกของคนบางกลุ่มก็ต้องรับฟัง แม้จะไม่แก้เรื่องจริยธรรมก็สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้

มีรายงานว่า เดิมในสัปดาห์นี้แกนนำรัฐบาลในพรรค พท.จะยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญพรรคการเมือง อาทิ แก้ไขคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง, การยุบพรรคกรณีเดียวคือล้มล้างการปกครองเท่านั้น, การครอบงำพรรค รวมถึงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายฟ้องศาลฎีกาเอง หาก ป.ป.ช.และอัยการสั่งไม่ฟ้อง, แก้อำนาจฟ้องมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ฟ้องเองได้ หากอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง และตั้งกรรมการร่วมกัน แล้วมีมติไม่ฟ้อง และกำหนดระยะเวลาพิจารณาคดีของ ป.ป.ช.ต้องให้แล้วเสร็จภายในกี่ปี โดยมีแนวโน้มจะไม่ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ แกนนำรัฐบาลพรรค พท.ได้ประเมินหลังเจอแรงต้านจากสังคมและพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องจริยธรรม ที่มองว่ามุ่งแก้ไขเพื่อประโยชน์ให้นักการเมืองโดยที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และอาจทำให้อยู่ไม่ครบเทอมหากดึงดันจะแก้ไข   ฉะนั้นจึงกลับไปใช้แนวทางเดิมคือการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้แล้วเสร็จเสียก่อนตามกระบวนการ  จากนั้นจึงยกร่างใหม่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกฎหมายพรรคการเมืองและ ป.ป.ช.ต่อไป เพื่อลดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ คาดว่าใช้เวลาภายในกรอบ 3 ปี โดยขณะนี้กำลังรอการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่ผ่านชั้นสภาแล้วอยู่ในชั้นพิจารณาของวุฒิสภา หากกฎหมายประชามติฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจึงเริ่มทำประชามติครั้งแรก ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ในช่วงต้นปี 68 พร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ. และหากประชามติผ่านก็เข้าสู่กระบวนการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อกำหนดคุณสมบัติสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากนั้นจะทำประชามติครั้งที่ 2

หากประชามติผ่าน ก็จะให้ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงทำประชามติครั้งที่ 3 และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ จึงเข้าสู่กระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดใหม่ไปในคราวเดียว ควบคู่กับการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรอิสระและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดการโต้แย้งในภายหลัง

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ปฏิเสธไม่ทราบรายละเอียดที่มีการระบุหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลริเริ่มแก้ รธน.รายมาตรา

"ไม่ใช่ผม และเราก็ไม่เคยกลับลำ ซึ่งการทำงานก็ต้องมีการหารือกัน และเห็นว่าเรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วน" นายอนุทินกล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การถอยเรื่องแก้ไข รธน.รายมาตราเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ต้องขอบคุณนายกฯ ที่ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันว่านาทีนี้ควรจดจ่อกับการช่วยเหลือประชาชน เพื่อทำให้สถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ชีวิตของประชาชนกลับคืนสู่ภาวะปกติให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง

ปชน.ชงแก้ตัดเหี้ยน 10 มาตรา

ที่รัฐสภา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงการแก้ไข รธน.ประเด็นจริยธรรมว่า ส่วนตัวยืนยันในหลักการเดิม เราให้อำนาจองค์กรอิสระในการกำหนดอนาคตทิศทางของประเทศมากเกินไป จึงควรลดอำนาจขอบเขตขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจยุบพรรค ป.ป.ช.ใช้อำนาจจริยธรรมมาตัดสินอนาคตทางการเมือง ดังนั้นองค์กรอิสระต่างๆ ที่ดำรงอยู่ตาม รธน.ฉบับปี 2560 จำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล

นายธนาธรกล่าวว่า การแก้ รธน.ทั้งฉบับดูแล้วยังติดขัดและไม่รู้จะไปในทิศทางไหน ในเมื่อทั้งฉบับติดขัดมองไม่เห็นอนาคต หากดูปฏิทินแล้วโอกาสที่จะผ่านภายในสภาชุดนี้หรือภายในปี 2570 นั้นยาก ดังนั้นจึงอาจต้องโฟกัสที่การแก้ไข รธน.ปี 2560 รายประเด็น ซึ่งในหลายประเด็นแน่นอนว่ามีเรื่องขององค์กรอิสระ เรื่องอำนาจ เรื่องจริยธรรม

 “จริงๆ หากไปดูพรรคประชาชนไม่ได้เสนอเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว ยังมีร่างแก้ไข รธน.อีกอย่างน้อย 3 ฉบับ คือการยกเลิกมรดกการทำรัฐประหารตามมาตรา 279 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่พูดถึงหมวดใหม่ คือการป้องกันการทำรัฐประหาร มีร่างแก้ไข รธน.เกี่ยวกับการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฉะนั้นจะเห็นว่าพรรคประชาชนไม่ได้ยื่นแก้ไข รธน.เพียงเรื่องเดียว หากมาตราไหนที่เห็นว่าเป็นปัญหา ก็มีการยื่นเสนอแบบรายมาตราหลายฉบับ ดังนั้นคงไม่ได้พุ่งเป้าเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว” นายธนาธรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เว็บไซต์ของรัฐสภาได้เผยแพร่รายละเอียดของร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ..... (แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม) ซึ่ง สส.ของพรรคประชาชนเป็นฝ่ายเสนอ โดยมีเนื้อหาและสาระของการแก้ไขมีรายละเอียดสำคัญคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น คือ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  และกระบวนการร้องเรียน ป.ป.ช.

นอกจากนี้ เสนอแก้ไข 10 มาตรา ได้แก่ มาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกไป,   แก้ไขมาตรา 168 ว่าด้วยการให้ ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไขต่างๆ โดยได้ตัดถ้อยคำที่โยงกับมาตรา 160 (4) และ (5) ออกไป

แก้ไขมาตรา 186 ในหมวดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งกำหนดให้นำเงื่อนไขที่กำหนดให้ สส.และ สว. ปฏิบัติหน้าที่มาบังคับใช้กับรัฐมนตรี โดยได้ตัดถ้อยคำในวรรคท้าย ที่ระบุโยงการกระทำที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมออกไป, แก้ไขมาตรา  201 ว่าด้วยคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ออกไป, แก้ไขมาตรา 202 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (10) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออกไป

แก้ไขมาตรา 208 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไข (5) เป็น “ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จากเดิมที่กำหนดให้พ้นตำแหน่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

แก้ไขมาตรา 219 ว่าด้วยบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมใช้บังคับ ที่ครอบคลุมให้ใช้กับ สส. สว. และ ครม. ได้แก้ไขให้เป็น “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างมีอำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งและหัวหน้างานหน่วยธุรการขององค์กรตนเอง”, แก้ไขมาตรา 234 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. โดยตัดถ้อยคำใน (1) ที่กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงออก และตัด (4) หน้าที่และอำนาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายออกทั้งวงเล็บ

แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยได้ตัด (1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และยังแก้ไขในส่วนของบทกำหนดโทษ ที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ที่ถูกพิพากษา จากเดิมที่กำหนดเวลา 10 ปี เป็น 5 ปี และตัดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งออก ทำให้บทลงโทษดังกล่าวเหลือเพียงการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ แก้ไขมาตรา 236 ว่าด้วยการตรวจสอบ ป.ป.ช.ที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้สิทธิ สส. สว. หรือประชาชนไม่น้อย 2 หมื่นคนเข้าชื่อ และยื่นต่อประธานรัฐสภา ได้เสนอแก้ไขเป็น “ประธานรัฐสภาเมื่อรับเรื่องแล้ว ต้องเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ” โดยอัตโนมัติ จากเดิมให้ประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ก่อนส่งไปยังประธานศาลฎีกา ให้ตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ

เด็จพี่ตามบี้่ป้อมลาดูวอลเลย์ฯ

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไข รธน.ว่า เรานัดนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สอบถามตกลงสัปดาห์นี้จะมีการนัดหารือเพื่อกำหนดวันพิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การเสนอแก้ไขร่าง รธน. พรรคได้รวบรวมหลายประเด็น ทั้งเรื่องปฏิรูปการศึกษา หรือประเด็นความเสมอภาค ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลไม่ใช่ว่าเอื้อประโยชน์อย่างไร แต่คงมาดูกันว่าในรัฐธรรมนูญมีเหตุผลหรือความจำเป็นต้องแก้ไขเรื่องไหน อย่างไรบ้าง และเรื่องเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันการเมือง ประชาชน และประเทศชาติอย่างไร เราพร้อมจะรับฟังความคิดเห็น เราเป็นพรรคการเมือง ซึ่งเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายเรารับฟังอยู่แล้ว

 “ยืนยันว่าการแก้ไขรายมาตราของเราทั้งหมดไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของพรรคประชาชน  แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนจริงๆ” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการและอดีต กกต. โพสต์ข้อความระบุว่า การเสนอแก้ รธน.รายมาตราแบบสุดซอยถูกโยนผ้าขาวยอมถอนไปอย่างเร็วจนคาดไม่ถึง มี 4 เหตุผลที่พอเข้าใจได้คือ ประชาชนไม่เอาด้วย เพียงแค่โยนหินถามทาง ก็โดนขว้างก้อนอิฐสวนว่าแก้เพื่อตนเอง ไม่เข้าท่า

วันเดียวกัน นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เดินทางมาที่รัฐสภา เข้ายื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบจริยธรรม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กรณีไม่มาประชุมสภา

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า มายื่นขอให้ตรวจสอบวันลา มา ขาดของ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีอคติหรือมีเจตนาจะใส่ร้ายป้ายสี แต่พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ สส.ซึ่งกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน จึงขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 (2) ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของรัฐยื่นตรวจสอบการทำหน้าที่ สส.ของ พล.อ.ประวิตร ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภา รวมถึงการปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

"ผมพบข้อมูลว่า ในวันที่ พล.อ.ประวิตรแจ้งลาติดภารกิจไม่เข้าประชุมสภา บางวันก็ไปนั่งเชียร์วอลเลย์บอลผ่านออนไลน์จริงหรือไม่ เปิดบ้านป่ารอยต่อฯ ให้คนไปอวยพรวันเกิดจริงหรือไม่ ผมหวังว่ากรรมการจริยธรรมฯ จะตรวจสอบเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา ไม่ช่วยเหลือให้พ้นผิดจนเสียเกียรติภูมิของสภา" นายพร้อมพงศ์กล่าว

ด้านนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคุณสมบัติข้าราชการการเมืองว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ คาดว่าน่าจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง