เชียงใหม่อ่วม! อิ๊งค์จ่อลงพื้นที่ สั่ง‘ศปช.’ดูแล

กรมชลประทานเชียงใหม่ผวาซ้้ำรอยพิษโนรูปี 65 เปิดศูนย์พักพิงดูแล ปชช.  “อิ๊งค์” จ่อลงพื้นที่สุดสัปดาห์ สั่ง “บิ๊ก ศปช.” ดูแลเต็มที่ เร่งระบายน้ำพื้นที่เศรษฐกิจ “อนุทิน” บินด่วนเชียงใหม่เฝ้าระวังด่านสุดท้ายน้ำปิงล้นตลิ่ง ประกบผู้ว่าฯ เคาะสถานการณ์ต้องเตรียมรับมือภัยธรรมชาติ-การระบายน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน “ปภ.” เร่งสำรวจจ่ายล็อตแรกผู้ประสบภัย 57 จังหวัด “สทนช.” ชี้เขื่อนภูมิพลปราการสำคัญ รองรับปริมาณน้ำที่ท่วมในลุ่มน้ำปิงและวังระลอกนี้ได้แน่นอน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 กันยายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อคืนวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไหลเข้าท่วม อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ ว่าได้รับรายงานเรียบร้อยแล้ว กำลังวางแผนกันอยู่

เมื่อถามว่า ได้สั่งการอะไรไปบ้างแล้วหรือไม่  นายกฯ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว และทางทีมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม  (ศปช.) ก็ดูแลเต็มที่ ตอนนี้ทางทีม ศปช.ได้ทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว และรองนายกรัฐมนตรีทั้งสองท่านทราบแล้วว่ามีน้ำเข้าไปในตัวเมือง

เมื่อถามต่อว่า จะกระทบพื้นที่เศรษฐกิจหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราต้องพยายามให้เร่งระบายน้ำ เมื่อถามอีกว่าจะมีการลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อติดตามสถานการณ์หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ลงค่ะ กำลังดูวันว่าจะเป็นวันเสาร์หรือวันอาทิตย์นี้ ซึ่งความจริงแล้วอยากลงพื้นที่ตั้งแต่วันศุกร์ เพื่อที่จะได้พูดคุยกับหน่วยราชการได้ แต่พอดียังมีงานอยู่ ขอไปเคลียร์ก่อน

เมื่อถามย้ำว่า จะลงพื้นที่จังหวัดใด นายกฯ กล่าวว่า ก็กำลังดูว่าจะลงพื้นที่ที่ จ.เชียงใหม่ หรือว่าที่ จ.เชียงราย เพราะในตัวเมืองเชียงรายก็มีน้ำมาก

อิ๊งค์จี้ส่งข้อมูล ปภ.

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธารได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่อำนวยการสั่งการ ศปช. เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยหารือร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

นายจิรายุเปิดเผยว่า ศปช.รับนโยบายของนายกรัฐมนตรี และได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งปฏิบัติการในส่วนที่มีเหตุการณ์สำคัญ และขอให้อำนวยความสะดวก จัดทำบัญชี และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ทันทีตามแนวทางที่กำหนดโดยไม่ต้องรอระยะเวลา โดยให้จังหวัดทยอยส่งข้อมูลมายัง ปภ.โดยเร็วตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

นายจิรายุกล่าวต่อว่า ทางด้านนายประเสริฐ ได้ดำเนินการระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับการแจ้งเตือนภัย โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ได้มีการแจ้งเตือนภัย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อส่งต่อไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ รวมถึงส่งไปยังกรมประชาสัมพันธ์ ทำให้ 4 ตำบลในอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องเตรียมการรับมือได้รับทราบข้อมูล ซึ่งเป็นการเตือนภัยในระดับ 3 เป็นการแจ้งให้เตรียมพร้อมและเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนทั้งแบบ SMS รายการประกาศผ่านวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ จะส่งถึงประชาชนโดยตรง

หนูร่อนเชียงใหม่

ด้านนายอนุทิน​กล่าวว่า ​ได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำปิงล้นตลิ่ง โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร​ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รายงานตลอดเวลาว่าปริมาณน้ำยังมากอยู่​ แต่ยังบริหารจัดการได้ ทางจังหวัดกำลังเร่งระบายอยู่​ บริหารจัดการการไหลของน้ำ เขื่อนและฝายต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ควบคุมได้ ซึ่งได้ประสานกับกระทรวงมหาดไทยและ ปภ.ตลอดเวลา

"ส่วนสถานการณ์จะซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 หรือไม่นั้น ตัวจำนวนน้ำ แล้วภัยพิบัติที่มา จำนวนปริมาณฝนมากพอๆ กัน และยังมีที่เติมมาจากที่เราควบคุมไม่ได้จากประเทศเพื่อนบ้าน   บางทีเขาอั้นไม่ไหวต้องระบาย มาถึงเราต้องบริหารจัดการทั้งภัยธรรมชาติเอง ทั้งปริมาณน้ำที่มาจากการปล่อยระบายจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย” นายอนุทินระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายอนุทินยกเลิกภารกิจช่วงบ่ายวันนี้ ขับเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจากกรุงเทพฯ ไปที่เชียงใหม่​พร้อมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน​ โดยมีกำหนดการลงพื้นที่ 5 จุดตรวจเยี่ยมตามจุดต่างๆ  อาทิ ที่จุดวัดระดับน้ำ P1 สะพานนวรัฐ ด่านสุดท้ายที่น้ำปิงล้นตลิ่งจากจุดวิกฤต พร้อมย้ำการรับมือกับมวลน้ำใหม่ที่กำลังจะมาถึง โดยมีการวิเคราะห์สถานการณ์คาดว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่มากกว่าครั้งที่มีน้ำท่วมปี 54

ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปภ.ขอเน้นย้ำช่องทางการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งประชาชนสามารถยื่นคำร้องได้ 2 ช่องทางคือ ยื่นคำร้องด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยประชาชนสามารถติดต่อดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ยื่นคำร้องออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://flood67.disaster.go.th ซึ่งจะเปิดระบบให้ยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

นายไชยวัฒน์ระบุว่า ปภ.จะเร่งตรวจสอบและดำเนินการเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ทั้ง 57 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์  นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน

บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์  และอุบลราชธานี

"ซึ่งเป็นจังหวัดที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2567 และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และ/หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่ง ปภ.จะดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร็วที่สุด" นายไชยวัฒน์ระบุ

เขื่อนภูมิพลรับไหว

นายไชยวัฒน์ระบุด้วยว่า เพื่อป้องกันความสับสนและให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าเป็นข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยดังกล่าวเป็นข้อความ ปภ. จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่า ข้อความแจ้งเตือนภัยที่ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย จะส่งในนามชื่อของ DDPM เท่านั้น และจะไม่มีการแนบลิงก์ให้ประชาชนกดเข้าไปดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น และขอให้ประชาชนที่ได้รับความแจ้งเตือนภัยเชื่อมั่นและปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย” นายไชยวัฒน์กล่าว

ด้านนายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า น้ำที่ล้นตลิ่งแม่น้ำปิงเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำบางพื้นที่ของเทศบาลเมืองเชียงใหม่ เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำในแม่น้ำปิงจะไหลต่อไปยังจังหวัดตาก แต่น้ำบางส่วนที่ล้นจากลำน้ำแม่กวงจะไหลจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังจังหวัดลำพูน ซึ่งอาจทำให้มีน้ำล้นตลิ่งบางพื้นที่ได้ จากนั้นจะไหลต่อไปยังจังหวัดตาก ส่วนน้ำที่ล้นตลิ่งจากแม่น้ำวัง เข้าท่วมจังหวัดลำปาง สทนช. กรมชลประทาน และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอพยพล่วงหน้าทั้งจังหวัดเชียงใหม่และลำปางก่อนแล้ว

น้ำแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังจะไปบรรจบกันที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล โดยคาดการณ์ว่าน้ำจะล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอสามเงาและคันกั้นน้ำบางจุดแตก ซึ่งแจ้งเตือนทางจังหวัดตากให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์แล้ว นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะส่ง SMS แจ้งเตือนถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงด้วย

สำหรับเขื่อนภูมิพล ปัจจุบันมีน้ำอยู่ประมาณร้อยละ 56 รับน้ำได้อีกเกือบ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ท่วมในลุ่มน้ำปิงและวังระลอกนี้ได้อย่างแน่นอน

ผวาซ้ำโนรูปี 65

ที่ จ.เชียงใหม่ สำนักงานชลประทานที่ 1 สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดน้ำปิงยังอยู่ในระยะวิกฤต สีแดง P1 ระดับทรงตัว 4.45 ม. แจ้งประชาชนเตรียมรับมือมวลน้ำรอบใหม่จากเชียงดาว แม่แตง ที่ไหลมาสมทบอีกระลอกมากกว่าเดิม ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 จะติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและรายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง และจากสถานการณ์ปริมาณน้ำหลากสูงสุดที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบให้บางพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่เกิดน้ำท่วมขังบริเวณกว้าง สำนักงานชลประทานที่ 1 จะได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย และจัดส่งเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมเจ้าหน้าที่ร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือ

ด้านเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวที่โรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และหากต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อศูนย์บริหารจัดการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ โทร. 08-3704-3675 (ตลอด 24 ชั่วโมง)  

 "โดยตลอดทั้งวันยังต้องมีการระดมเสริมพนังแนวกั้นน้ำเพื่อไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจมากขึ้น หลายเส้นทางต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากรถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ระดับน้ำสูงเกิน 60 เซนติเมตร โดยจากการประเมินมวลน้ำโดยรอบแล้วพบว่า สถานการณ์ใกล้เคียงกับช่วงพายุโนรูปี 2565 ที่เกิดอุทกภัยน้ำท่วมเมืองเช่นเดียวกัน"  สำนักงานชลประทานที่ 1 ระบุ

ที่ จ.สุโขทัย สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย ได้กลับเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกครั้ง หลังมีน้ำเหนือไหลลงมาสมทบแม่น้ำยมที่สุโขทัย ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น และกระแสน้ำที่ไหลแรงยังได้กัดเซาะแนวคันดินพังอีกหลายจุด โดยที่หมู่ 6 ต.วังใหญ่ คันดินพังจุดเดิมบริเวณใต้สะพานสิริปัญญารัตน์   ทำให้น้ำทะลักท่วมบ้านเรือน ปิดการจราจรทางหลวงหมายเลข 1195 ขณะที่หมู่ 9 บ้านเตว็ดนอก ต.ทับ คันดินพังทลาย น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนทั้ง 2 หมู่บ้าน

ที่ จ.ชัยนาท เขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดต่อเนื่องไปจนถึงอัตราไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำสูงขึ้น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเฝ้าระวังระดับน้ำที่สูงขึ้นและติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง