กินรวบ20คณะ‘อังคณา’ดวงดี

ตามโผ วุฒิสภาน้ำเงิน กินรวบ 20 เก้าอี้ ปธ.กมธ.สามัญ “อังคณา” มากับดวง จับสลากได้นั่งหัวโต๊ะ กมธ.การเมืองฯ เตรียมสานงานต่อตรวจสอบนักโทษเทวดาชั้น 14 พร้อมแฉมีล็อบบี้ให้ถอนตัว ชี้น่าละอาย ด้าน “นันทนา”  ปัดบูลลี่คนขายหมู บอก กมธ.ผิดฝาผิดตัวผลักดันงานสำเร็จยาก

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่รัฐสภา มีการเลือกประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำวุฒิสภาทั้ง 21 คณะ เลือกประธาน รองประธาน เลขานุการ โฆษก และตำแหน่งอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 1.นายธวัช สุระบาล ประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ 2.พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย ประธาน กมธ.การกฎหมายและการยุติธรรม 3.นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานกมธ.การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค

4.นายนิรัตน์ อยู่ภักดี ประธาน กมธ.การต่างประเทศ 5.พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธาน กมธ.การทหารและความมั่นคงของรัฐ 6.นายอภิชาติ งามกมล ประธาน กมธ.การปกครองท้องถิ่น 7.นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ประธาน กมธ.การคมนาคม 8.พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ประธาน กมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา

9.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ประธาน กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล 10.นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล ประธาน กมธ.การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม 11.นายกมล รอดคล้าย ประธาน กมธ.การศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

12.นายพิศูจน์ รัตนวงศ์ ประธาน กมธ.การท่องเที่ยวและการกีฬา 13.นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ประธาน กมธ.การเทคโนโลยีสารสนเทศ   การสื่อสาร และการโทรคมนาคม 14.นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภา 15.นายอลงกต วรกี ประธาน กมธ.การติดตามการบริหารงบประมาณ 

16.นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธาน กมธ.การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง 17.นายพรเพิ่ม ทองศรี เป็นประธาน กมธ.การพลังงาน 18.นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ เป็นประธาน กมธ.การแรงงาน 19.นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธาน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 20.นางเอมอร ศรีกงพาน ประธาน กมธ.ศาสนา 21.นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธาน กมธ.การสาธารณสุข

ทั้งนี้ สว.ส่วนใหญ่ที่ได้ตำแหน่งประธาน กมธ.นั้น มาจากสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีการวางตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว มีเพียงคณะ กมธ.แรงงาน ที่เดิมวางตัวให้นายชินโชติ แสงสังข์ นั่งประธาน กมธ.แรงงาน แต่ได้ถอนตัวออกจากแข่งขันครั้งนี้ จึงทำให้นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ ซึ่งเป็นอดีตรองผู้ว่าฯ  พัทลุง ได้เป็นประธาน กมธ.แรงงาน แต่ก็ยังคงอยู่ในกลุ่ม สว.สีน้ำเงินเช่นเดิม    

ส่วนประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ  เดิมวางไว้เป็นนายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด แต่เมื่อประชุมเพื่อเลือกบุคคลเป็นประธาน กมธ. ได้เปลี่ยนตัวเป็นนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ซึ่งเลือกกันถึง 2 รอบ เพราะได้คะแนน 9 ต่อ 9 เท่ากันทั้ง 2 รอบ จนต้องใช้วิธีจับฉลาก ซึ่งนางอังคณา นีละไพจิตร จับได้ ทำให้ได้เป็นประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ

ก่อนหน้านี้ นางอังคณา นีละไพจิตร สว. ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอตัวสมัครเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ว่า  กมธ.ชุดดังกล่าวเป็นการควบรวมของ กมธ. 2 คณะ ซึ่งส่วนตัวได้มีการเสนอตัวเองว่าเรามีความสามารถที่จะทำงานตรงนี้ แสดงเจตจำนงเลยว่าตนมีความสามารถที่จะทำงานได้ในฐานะประธาน กมธ. และหากพิจารณาตามความรู้ความสามารถและประสบการณ์ การเลือกประธาน กมธ.ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการพิจารณาเพื่อให้คนที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่ถ้าหากใช้วิธีการอื่นตนก็หนักใจ

"ส่วนตัวก็มีกรรมการในคณะโทร.มาบอกว่าให้ถอนตัว เพื่อนบางคนก็ถูกประกบให้ไปเลือกคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอาย และสำหรับวุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาทุกท่านไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำแบบนี้ ส่วนตัวดิฉันอยากเห็นการพิจารณาอย่างรอบคอบเป็นธรรม โปร่งใส โดยไม่มีวิธีการอื่น ที่เป็นการกระทำที่น่าละอาย เป็นการกดดัน ให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องจำยอม และถอนตัว ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันกังวล" นางอังคณากล่าว

ต่อมานางอังคณาให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ว่าในการเลือกวันนี้ มีการลงคะแนนลับ 2 รอบ ผลปรากฏว่ามีคะแนนเท่ากัน ก่อนที่จะมีการจับฉลาก ซึ่งก็ต้องขอบคุณนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี สว.แคนดิเดต ในการเลือกประธาน กมธ. ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าหลังจากนี้จะเป็นการทำงานร่วมกัน โดยนายวีระศักดิ์ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุน ซึ่งทั้ง 2 คนไม่ว่าใครจะได้เป็นประธาน กมธ.ก็ไม่ต่างกัน เชื่อว่าสามารถทำงานสนับสนุนส่งเสริมกันได้ และขอบคุณ กมธ.ทุกคน 

เมื่อถามว่า สว.ชุดที่แล้วได้มีการตามเรื่องการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทาง กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะมีการตามเรื่องนี้ต่อหรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า งานที่ สว.ชุดที่แล้วทำค้างไว้ และ สว.ชุดปัจจุบันมีมติให้ทำต่อ ก็จะดำเนินการตรวจสอบต่อ

ด้าน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวถึงกรณีระบุว่าได้คนขายหมูเป็น กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ คนมองว่าเป็นการบูลลี่และด้อยค่าว่า ที่ให้สัมภาษณ์ไปจะอธิบายชัดเจนว่า กมธ.ต่างๆ ที่บรรจุอยู่ อย่างแรกควรจะเลือกสรรตามคุณลักษณะกลุ่มวิชาชีพที่แต่ละคนเข้ามา ซึ่ง สว.แตกต่างจากฝั่ง สส. เพราะมาจากกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ฉะนั้นควรพิจารณาตามกลุ่มอาชีพที่เข้ามา

 นอกจากนี้ยังระบุว่า กลุ่มพัฒนาการเมือง คนที่ควรจะเข้ามาอยู่ใน กมธ.ชุดนี้ ควรจะมีประสบการณ์ในเรื่องการทำงานด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน และการสื่อสารทางการเมือง ซึ่งคนที่มีคุณลักษณะที่แตกต่าง เราไม่ได้ด้อยค่า แต่เขาควรไปอยู่ใน กมธ.อื่น ที่สอดคล้องกับวิชาชีพ จึงไม่อยากให้ตีความไปว่า การที่บอกว่าทำไม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ที่ตนมีประสบการณ์ถูกโดนโหวตออก แต่คนที่ไม่มีประสบการณ์ตรงคือเข้ามาสายอาชีพอื่นกลับได้เข้ามาอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เป็นการบูลลี่ ถ้าฟังทั้งหมดจะทราบว่าสิ่งที่อธิบายคือ กมธ.ทุกคนควรจะได้รับการบรรจุเข้าไปในสายอาชีพที่ตัวเองเป็น สว.ในกลุ่มนั้น

น.ส.นันทนากล่าวย้ำว่า ถ้าผิดฝาผิดตัวตั้งแต่ต้นโอกาสที่จะผลักดันวาระจนประสบความสำเร็จก็จะเป็นไปได้น้อยหรือแทบไม่มีเลย เราจึงเรียกร้องว่า การเอา สว.เข้า กมธ.แบบตรงคุณสมบัติจะเป็นสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องขอโทษสังคมที่พูดแรงไปหรือไม่ น.ส.นันทนากล่าวว่า ถ้าฟังการสัมภาษณ์ทั้งหมดจะเข้าใจบริบท ตนยกตัวอย่างเพื่อที่จะบอกว่าการจัดสรรแบบนี้ไม่เป็นธรรม ตนไม่ได้มีเจตนาบูลลี่ รวมถึงด้อยค่าใดๆ นี่คือตัวอย่างของบุคลากรที่เข้ามาไม่ตรงความรู้ความสามารถ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ น.ส.นันทนาให้สัมภาษณ์อยู่ ปรากฏว่านางแดง กองมา สว.ที่ถูกพาดพิงว่าเป็นคนขายหมูนั้นเดินผ่านมาพอดี โดยเข้าไปลงชื่อเข้าประชุมหน้า กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งสื่อมวลชนได้เข้าไปทักทายและขอสัมภาษณ์ แต่นางแดงไม่ตอบกลับ ได้แต่ออกอาการยิ้มเจื่อนๆ ก่อนเข้าห้องประชุมไปทันที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง