ครม.ไฟเขียวไม่เก็บค่าไฟพื้นที่น้ำท่วมเดือน ก.ย. ส่วน ต.ค.ลด 30% "นายกฯ อิ๊งค์" สั่งอัปเกรดแอปทางรัฐใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน นัด ศปช.ถกเคาะงบเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยรอบ 2 สัปดาห์หน้า "รมว.ดีอี" ระบุระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน SMS เริ่มแล้ว แบ่ง 5 ระดับความรุนแรง "สธ." พบชาวเชียงรายเครียดหนัก ภาวะซึมเศร้า 12 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 24 ก.ย. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.ย.-ต.ค.2567 โดยเดือน ก.ย. จะไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า ส่วนเดือน ต.ค. จะให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอาสาสมัคร ได้สั่งการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชันทางรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์อุทกภัยสำหรับการรายงานตัวของอาสาสมัคร การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และการรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากได้รับข้อเสนอแนะมาว่าการไปรายงานตัวเพื่อช่วยเหลือประชาชนมีการซ้ำซ้อนกัน ทำให้เสียเวลา รวมถึงจะมีการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา การประสานงานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงาน และเกิดความรวดเร็วทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน อีกทั้งจะมีการเร่งรัดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เร่งดำเนินการใช้ระบบการแจ้งเตือนเพื่อให้การแจ้งเตือนภัยต่อประชาชนเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
"เคยประชาสัมพันธ์ตั้งแต่เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตแล้วว่าให้โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐไว้ เพราะนอกจากการลงลงทะเบียนแล้ว ยังต่อยอดในการใช้เรื่องการอำนวยความสะดวกของภาครัฐด้วย ทั้งเรื่องการเยียวยาและอื่นๆ ซึ่งเราพยายามจะพัฒนาระบบนี้เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรงให้ได้มากที่สุด เพื่อความรวดเร็ว ฉะนั้นขอให้โหลดไว้ และลงทะเบียนข้อมูลของตนเองให้ครบถ้วน" น.ส.แพทองธารกล่าว
ต่อมา น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยรอบ 2 ว่า ทาง ศปช.มีการประชุมกันทุกเช้า แต่ตนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่พยายามให้ ศปช.อนุมัติงบเยียวยาให้เร็วที่สุด และที่ได้มีการพูดคุยกัน คาดว่าน่าจะเป็นในช่วงสัปดาห์หน้า แต่ขอให้ชัวร์ก่อน ยังไม่อยากจะพูดอะไรทั้งนั้น จะเร่งให้ได้ประมาณนั้น
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ สั่งการหากกระทรวงทบวงกรมใดจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ขอให้นำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาได้ ดังนั้นไม่ใช่แค่กรอบเพียง 3,045 ล้านเท่านั้น ยังมีอีกจำนวนมาก
"นายกฯ ขอความร่วมมือทุกกระทรวงที่อยู่ใน ศปช.ได้ส่งเรื่องไปรวมที่ ศปช. เพื่อให้เห็นข้อมูลทั้งหมด ทั้งเรื่องการคืนพื้นที่ถนน ประปา ไฟฟ้า ระบบสื่อสาร การคมนาคมต่างๆ ให้ไปรวบรวมเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาในเรื่องงบประมาณต่อไป เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน และแก้ปัญหาให้ประชาชนได้เป็นอย่างดี" นายจิรายุกล่าว
SMS แจ้งเตือนภัยพิบัติเริ่มแล้ว
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังร่วมวงรับประทานอาหารกับนายกฯ และรองนายกฯ ว่า ในวงทานข้าวพูดถึงเรื่องปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจะมีการหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยมอบหมายให้นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ เร่งทำบัญชี เนื่องจากเป็นรายครัวเรือน ไม่ใช่รายบุคคล การเร่งสำรวจน่าจะง่าย และการเยียวยาก็ให้เป็นครัวเรือน ซึ่งนายกฯ ได้กำชับกระทรวงมหาดไทยให้ตั้งเกณฑ์สูงสุดในการเยียวยาเพื่อให้ชาวบ้านได้รับการช่วยเหลือ
นายอนุทินยืนยันถึงเรื่องอาหารการกินในพื้นที่้่น้ำท่วมว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมข้าวปลาอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งตนมั่นใจว่าเพียงพอ เพราะเราอัดฉีดทั้งงบประมาณเพิ่มเติมให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย จังหวัดละ 100 ล้านบาท และหากไม่พอก็สามารถที่จะขยายวงเงินงบประมาณได้
ถามถึงระบบการเตือนภัยมีปัญหาภัยพิบัติหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้เราสู้กับภัยธรรมชาติ ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ตนได้รับรายงานจากผู้ว่าฯ ทุกพื้นที่ว่าขณะนี้ขออย่าให้มีปริมาณฝนหรือปริมาณน้ำป่าหลากมาซ้ำเติม ซึ่งตรงนี้อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่สิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมที่สุดคือการบรรเทา การเยียวยา และป้องกันชีวิตของประชาชน จะเห็นว่าช่วงหลังมาเราใช้ระบบทั้งเตือนภัยอยู่ประจำหน้างาน ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตแทบจะไม่มี
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติว่า ได้มีการประชุมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.), สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สปนช.), กรมอุตุนิยมวิทยา, ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ, กสทช., กรมประชาสัมพันธ์ ในเรื่องการเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ ส่วนเรื่องการส่งข้อความ หรือ Sender Name ได้มอบหมายให้ทาง ปภ.เป็นผู้ส่ง แต่เรื่องข้อมูลที่จะส่งเป็นการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ดูแลสภาพอากาศ อย่างเรื่องดินโคลนถล่มเป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องฟ้าฝนเป็นของกรมอุตุนิยมวิทยา
นอกจากนี้ ได้มีการเชิญผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อเพิ่มช่องทางในการแจ้งเตือนประชาชน หากมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน จะมีหน้าที่ส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือ รวมทั้่งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ออกประกาศตามสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนทางหนึ่ง
"ขณะนี้ยังมีพายุเข้ามาอีกลูกหนึ่ง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเตือนภัยทั้งอุทกภัย วาตภัย ซึ่งขณะนี้เริ่มแล้ว โดยการแจ้งเตือนสถานการณ์จะแจ้งว่าอยู่ในระดับใด แบ่งเป็น 5 ระดับ ตามความรุนแรงของสถานการณ์ แต่จะไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ซึ่งในระดับที่ 5 จะเป็นการเตือนภัยในระดับสูงสุดเพื่อให้ประชาชนออกจากพื้นที่ ซึ่งข้อความการแจ้งเตือนจะมีการระบุที่ชัดเจนว่าประชาชนควรปฏิบัติตนอย่างไร" นายประเสริฐกล่าว
ถามถึงระบบบรอดแคสต์การแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินหรือ หรือ Cell Broadcast Service ที่จะมีการเตือนภัยพิบัติทั้งระบบ นายประเสริฐกล่าวว่า จะเสร็จประมาณไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 ส่วนไตรมาสแรกจะเป็นเรื่องของการทดสอบระบบที่จะมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อส่งให้กับประชาชน แม้จะไม่รู้เบอร์โทรศัพท์ ก็สามารถยิงเข้าไปได้ทุกหมายเลขที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ
ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวง พม.ได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่ทั้งหมด 33 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณเกือบ 50,000 ครัวเรือนในหลายพื้นที่ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงได้ให้เงินช่วยเหลือไปแล้วกว่า 10,000 ราย รวมถึงเปิดพื้นที่และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย รวมถึงสุขาเคลื่อนที่ด้วย พร้อมกับเปิดพื้นที่ของ พม.จังหวัด ให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อรองรับผู้ประสบภัยทั้งหมด 42 แห่ง
เชียงรายเครียดเสี่ยงฆ่าตัวตาย
น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่น้ำท่วมพบว่าวัดต่างๆ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ ต้องรอรายงานจากอธิบดีกรมการศาสนาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากน้ำลดหมดแล้วก็ต้องลงไปสำรวจเพิ่มเติมอีกว่าได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาแนวทางต่อว่าจะซ่อมแซมอย่างไร
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 8/2567 ร่วมกับกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กรมสุขภาพจิต กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
นพ.วีรวุฒิกล่าวว่า ภาพรวมขณะนี้ยังมีสถานการณ์ใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา นครนายก หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และอุดรธานี มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย สะสม 48 ราย บาดเจ็บเพิ่ม 3 ราย สะสม 1,260 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสมเพิ่มเป็น 71 แห่ง เปิดบริการตามปกติ 69 แห่ง ปิดบริการ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.บ้านข่วง จ.ลำปาง และ รพ.สต.เขาขาว จ.สตูล จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1,648 ทีม ให้บริการสะสม 143,451 ราย ให้บริการด้านสุขภาพจิต 28,235 ราย มีภาวะเครียดสูง 979 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 185 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 13 ราย ส่งต่อพบแพทย์ 202 ราย และให้การดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 9,864 ราย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าด้านสุขภาพจิตและการป้องกันควบคุมโรคติดต่อใน จ.เชียงราย พบตั้งแต่วันที่ 9-21 ก.ย.2567 มีผู้เข้าประเมินสุขภาพจิต 5,559 ราย ผู้ประสบภัยมีความเครียดมากและมากที่สุด 381 ราย มีภาวะซึมเศร้า 12 ราย และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5 ราย ให้การดูแลปฐมพยาบาลทางใจ 3,836 ราย สุขภาพจิตศึกษา 518 ราย การจัดการความเครียด 672 ราย จิตบำบัดแบบประคับประคอง 69 ราย เสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ 464 ราย และมีแผนติดตามประเมินดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนการเฝ้าระวังโรคติดต่อที่มาจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจสะสม 1,164 ราย, โรคระบบทางเดินอาหาร 895 ราย, โรคไข้เลือดออก 518 ราย, โรคตาแดง 65 ราย, โรคฉี่หนู 9 ราย และโรคเมลิออยโดสิส 6 ราย
จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ริมน้ำปิงในตัวเมืองเชียงใหม่ ให้เตรียมเก็บของไว้ขึ้นที่สูง หลังจากที่มวลน้ำในลำน้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.35 เมตร และยังสูงขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 เซนติเมตร ใกล้สู่ระดับวิกฤตที่ 3.70 เมตร ผลจากการเคลื่อนตัวของมวลน้ำทางตอนเหนือจากเชียงดาว แม่แตง กำลังลงมา ซึ่งคาดว่ามวลน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำ เช่น ตำบลหนองหอย ตำบลป่าแดด อีกทั้งยังมีฝนตกลงมาเป็นระยะๆ พื้นที่เขตเมืองบางจุดก็มีน้ำท่วมขัง การระบายเป็นไปอย่างช้าๆ อาจจะทำให้มีน้ำท่วมเร็วขึ้นได้
จ.พิษณุโลก นพ.ภาณุ คูวุฒยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตรวจรักษาประเมินความเครียดและรักษาเบื้องต้น ระบุว่า ปีนี้พิษณุโลกมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนัก สามารถเกิดภาวะความเครียดเฉียบพลันขึ้นมาสืบเนื่องมาจากน้ำท่วม ทำให้ชีวิตอยู่ยากลำบาก บางคนสูญเสียทรัพย์สิน อดหลับอดนอน ทำให้มีความเครียดสูง บางคนมีก็มีภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ
จ.ภูเก็ต สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หลังจากเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยระดับน้ำขึ้นสูงสุด 2.60 เมตร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พรรคส้ม-น้ำเงินโต้เดือด! ทุ่มร้อยล้านซื้อเสียงอบจ.
ปะทะเดือด! "ปชน." โวย สส.ค่ายน้ำเงินขู่กลางห้องประชุมสภาฯ อย่ายุ่งเลือกตั้ง อบจ. "มัลลิกา” ซัดกลับ “ประเสริฐพงษ์”
โปรยยาหอม‘ชายแดนใต้’ อิ๊งค์ประทับใจจะกลับมาอีก
นายกฯ บินชายแดนใต้ อุ่นใจ ผบ.ตร.-ผบ.ทบ.ร่วมวง พร้อมเซลฟีฉ่ำ
‘ผู้มีบารมี’นัดดีลลับกาสิโนที่ฮ่องกง
"นายกฯ" เปิดประชุม รมต.อาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 5 ชูนโยบายร่วมมือแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ยกระดับเข้มปราบภัยออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์
การันตี27ม.ค. นัดโอนเงินหมื่น เช็กสิทธิทางรัฐ
“เผ่าภูมิ” การันตี 27 ม.ค. นัดโอนเงิน 10,000 บาท พร้อมกางไทม์ไลน์ 22 ม.ค.
กกพ.ลดค่าไฟฟ้า 17สตางค์/หน่วย คงเหลือ3.98บาท
กกพ.ยกแนวทางลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ รีดไขมันจากกลุ่ม Adder และ FiT ให้เหลือเท่าอัตราผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
รพ.ตร.ปกป้องแม้ว ส่งเวชระเบียนให้แพทยสภาแค่บางส่วน‘อมร’ย้ำต้องจบเร็ว
รพ.ตำรวจยังยึกยัก ส่งเวชระเบียนรักษา "นักโทษเทวดา" ให้กรรมการสอบแพทยสภา