จริยธรรมซอยตัน! พรรคร่วมเท‘พท.’ถอย อิ๊งค์ผวายังไม่ยื่นบัญชี

"อุ๊งอิ๊งค์" ลิ้นพันปมแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรม โทษสื่อถามยุยง ลั่นตอนนี้ต้องโฟกัสเรื่องน้ำท่วม-ปากท้อง โยนให้เป็นเรื่องสภา “เพื่อไทย” ประชุมพรรค สส.มีมติถอยไม่เอาแล้ว “ชูศักดิ์” โทษพรรคใหญ่ร่วมรัฐบาลเป็นต้นคิด  "ภูมิธรรม" ปูดถกกันแล้วก่อนถวายสัตย์ฯ ฟุ้งเดินหน้าต่อแน่ "อนุทิน" ชี้เป็นวิถีชีวิต ไม่อยากถูกตรวจสอบก็ไม่ต้องมาเล่นการเมือง “ภท.-รทสช.-พปชร.”  ไม่เอารื้อเรื่องจริยธรรม “พีระพันธุ์” แฉไม่เคยมีหัวหน้าพรรคหารือเรื่องนี้! พรรคประชาชนปัดเอื้อ 44 สส.ที่ติดชนัก แต่ทำเพื่อความมั่นคงของสถาบันการเมืองและประชาชน!

เมื่อวันอังคารที่ 24 ก.ย.2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรายมาตรา  โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องพูดคุยกัน อย่างที่บอก ตอนนี้รัฐบาลขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเมื่อเช้าวันที่ 24 ก.ย. เพิ่งได้รับรายงานมาจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ที่พูดถึงจังหวัดลำปางน้ำท่วมหนักขึ้น และก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีได้คุยกันข้างนอกกับรัฐมนตรีทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมและการเยียวยาในแต่ละพื้นที่  อันนี้คือเรื่องโฟกัสที่สำคัญ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพักเอาไว้ก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ให้เป็นเรื่องที่ให้อยู่ในสภาไป รัฐบาลต้องทำงานให้พี่น้องประชาชนก่อน

เมื่อถามว่า ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลจะมีบางพรรคกลับลำ อย่างพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อถามคำถามนี้บรรดารองนายกฯ และรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ด้านหลังนายกฯ ได้หัวเราะ ขณะที่นายอนุทินซึ่งยืนอยู่ด้วยได้กล่าวขึ้นทันทีว่า “ไม่ได้กลับลำ แต่ทำงานให้กับพี่น้องประชาชนก่อน”

เมื่อถามย้ำว่า ยังยืนยันแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ต้องพูดคุยกัน จริงๆ แล้วไม่อยากให้นักข่าวถามแบบนี้ในเรื่องของการกลับลำ เพราะจริงๆ แล้วก่อนจะเข้าประชุม ครม. เราได้คุยกันทั้งก่อนและหลังการประชุม เราได้ถามความคิดเห็นกันว่าอย่างไร เข้าใจว่าเวลาสัมภาษณ์ถูกตัดบางคำพูดมันจะทำให้รู้สึกว่ากลับลำหรือไม่เห็นด้วยได้ แต่ความจริงแล้วเราคุยกันหลังไมค์ เราเข้าใจกันอยู่แล้ว และเมื่อกี้ได้คุยกับรองนายกฯ หลายๆ ท่าน หัวหน้าพรรคและรัฐมนตรีด้วย เรามีความคิดเหมือนกันว่า ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลควรเน้นย้ำคือเรื่องของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วมหรือการกระตุ้นเศรษฐกิจ อันนี้อยากจะบอกว่าถ้ารัฐบาลมั่นคง มีเสถียรภาพ การเมืองมั่นคง  ประเทศชาติก็มั่นคงไปด้วย อันนี้นักข่าวก็ต้องช่วยกันในเรื่องนี้ด้วย

เมื่อถามว่า เวลาจะแก้รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นว่าจะแก้กันสุดซอย นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพูดคุยกัน รัฐบาลเข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่ดีของพี่น้องประชาชน ฉะนั้นจำไว้ว่าเราอยากให้รัฐบาลเข้มแข็งต่อไป และขอให้นักข่าวไม่ถามอะไรที่เป็นการยุแยง

ถามย้ำว่า นายกฯ พูดได้หรือไม่ว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่วาระเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาเวลามีการเปลี่ยนรัฐบาลจะพุ่งเป้าการแก้รัฐธรรมนูญ น.ส.แพทองธารย้ำว่า ณ ขณะนี้สิ่งที่เร่งด่วนที่สุดคือสถานการณ์น้ำท่วม เอาจริงๆ คิดว่าถ้าหันมามองหน้ารองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคน ซึ่งทุกคนมีความกังวลใจในเรื่องนี้ แต่ทุกคนจะแก้ปัญหาให้พี่น้องให้เร็วที่สุด พูดภาษาง่ายๆ นี่คือสิ่งที่เราโฟกัส วันนี้ก็ประมาณนี้ วันนี้ขอประมาณนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ จากนั้นนายกฯ ได้เดินออกจากโพเดียมทันที ในขณะที่ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามคำถามอีก

ภายหลัง น.ส.แพทองธารแถลงข่าวเสร็จ น.ส.แพทองธารได้เชิญรองนายกฯ และรัฐมนตรีที่มาร่วมในการแถลงข่าวขึ้นไปรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 พร้อมพูดคุยกันแบบสบายๆ เป็นกันเองเรื่องการทำงานทั่วไปของแต่ละกระทรวง และพูดถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยนายกฯ ขอให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาและช่วยลงพื้นที่

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงการรับประทานอาหารร่วมกับนายกฯ และรัฐมนตรี ว่า ไม่มีอะไรพิเศษ ทุกคนเห็นตรงกันเหมือนที่นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไปว่า ขณะนี้เรื่องที่ปัจจุบันทันด่วนคือเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยพิบัติทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ หรือล่าสุดที่ จ.ลำปาง ดังนั้นพวกเราจึงคิดว่าควรทำงานให้ประชาชน แก้ไขปัญหาเหล่านี้ก่อนแล้วค่อยไปคุยเรื่องอื่น

เมื่อถามว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้พูดคุยกันหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า อย่างที่นายกฯ พูด  คือเอาไว้คุยกันทีหลังก็ได้ ตอนนี้วันนี้สำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนที่ประสบภัยมีสภาพแวดล้อมและมีชีวิตตามปกติก่อน

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมว่า เราพยายามนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้คุยกันเร็วที่สุด ถ้าเห็นด้วยเหมือนกันก็ไปด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ยังไม่ต้องไป ยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าวจุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่เป็นข้อเสนอจากหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค ที่แสดงความไม่สบายใจ เราจึงเริ่มต้นคุยเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่คิดว่าถ้าถามว่ามีประเด็นปัญหาหรือไม่ และเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งหัวหน้าพรรคร่วมเห็นเหมือนกัน เลยพยายามคุยเรื่องนี้ว่าจะเอาอย่างไร จะเดินอย่างไร ทำเมื่อไหร่ ซึ่งต้องรอการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมโดยเร็วที่สุด

ปูดหารือก่อนถวายสัตย์ฯ

“ก่อนมีการถวายสัตย์ฯ มีการคุยกัน เริ่มต้นจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจึงหยิบมาพิจารณา แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอพรรคร่วมคุยกันอย่างชัดเจน แต่เท่าที่คุยกับฟังดูเกือบทุกพรรคอยากให้แก้ แต่ถ้าคุยทางการต้องคุยหลายพรรค”

เมื่อถามว่า นายอนุทินระบุว่าควรแก้ปัญหาให้ชาวบ้านก่อนแก้รัฐธรรมนูญที่จะถูกมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็คิดไม่ต่างกัน  แต่สื่อมวลชนเห็นว่ามีความสำคัญประเด็นจึงเลยไปบ้าง แต่สิ่งที่คิดเหมือนกันคือมันเป็นปัญหาไม่ใช่เรื่องจริยธรรมอย่างเดียว มีหลายประเด็นหลายอย่างและหลายเรื่อง เราก็จะนำไปสู่การแก้ทั้งฉบับอยู่แล้ว ซึ่งต้องใช้เวลา แต่ส่วนที่ยังมีความห่วงใยต้องมีการพูดคุยกัน

เมื่อถามว่า ชาวบ้านตั้งคำถามว่าทำไมต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ ไม่แก้ปัญหาให้ชาวบ้านก่อน นายภูมิธรรมกล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้มองเช่นนั้น อย่าเพิ่งสรุป ตอนนี้เราก็แก้ปัญหาให้ชาวบ้านอยู่ การแก้ปัญหาราชการแผ่นดินมีหลายปัญหา บางอย่างทำได้ทันที บางอย่างต้องรอ ตอนนี้ส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาให้ประชาชนก็ทำอยู่ ไม่ใช่ทุกอย่างหยุดแล้วมาแก้รัฐธรรมนูญเรื่องเดียว ต้องเข้าใจตรงนี้ ไม่เช่นนั้นก็สื่อความไม่เข้าใจกันไป

เมื่อถามว่า เหตุใดไม่รอให้มีการแก้ประเด็นจริยธรรมในการแก้ทั้งฉบับด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) จะสง่างามมากกว่านักการเมืองแก้กันเอง นายภูมิธรรมตอบว่า อย่าไปคิดลึกแบบนั้น อะไรที่คิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ และความจำเป็นแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงต้องหารือให้ชัดเจน และทุกอย่างที่แก้คือผ่านตัวแทนประชาชน และฟังความเห็นมันสง่างามทั้งหมด

นายอนุทินให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.ถึงท่าทีของพรรค ภท.ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม หลังนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ออกมาแถลงไม่เห็นด้วย ว่าคนการเมืองเป็นคนสาธารณะ ถ้าไม่อยากให้ตรวจสอบก็เล่นการเมืองไม่ได้ การเข้ามาการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แค่เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ  หรือรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องแจ้งทรัพย์สินแล้ว นั่นคือบทแรกของการตรวจสอบ คนที่มาทำงานสาธารณะรับใช้บ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องรับการตรวจสอบ เป็นการเช็กแอนด์บาลานซ์ ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ นักร้องมีอยู่ทั่วไป เขาก็ร้องได้ ในสิ่งที่เราทำผิด ถ้าเราไม่ได้ทำผิด พิสูจน์อย่างไรก็ไม่ผิด เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องร้อง  ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า

ถามว่าเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า มันไม่ใช่จุดยืน แต่มันเป็นวิถีชีวิต เช่น ถ้าไม่อยากตรวจสอบก็ให้ทำธุรกิจอยู่ที่บ้าน เสียภาษีตามที่ต้องเสีย ก็ไม่มีใครสามารถมาบอกให้แสดงทรัพย์สินบริษัทได้ยกเว้นทำผิด ซึ่งนายภราดรก็แถลงในนามพรรค แถลงไปแล้วก่อนไปรับตำแหน่งรองประธานสภาฯ ซึ่งก็เห็นแล้วว่ายังไม่ได้ทันทำอะไรก็มีคนจ้องร้องแล้ว ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าผิดให้ไปดูโทษ เรื่องการตัดสิทธิ์ ต้องมีคนไปยืนยันตรงนี้ก่อน

ภท.หนุนแก้ทั้งฉบับ

 “ผมคิดว่ารัฐบาลไม่รู้นะ ผมมั่นใจไปคุยกับนายกฯ แพทองธาร ท่านก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องเหล่านี้ ท่านบอกว่าถ้าทำดีซะอย่างจะไปกลัวอะไร ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบ เช่นขณะนี้เข้ามาทำงานไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็เห็นปัญหาต่างๆ   เยอะแยะมากมาย มีเรื่องอะไรเยอะแยะที่รัฐบาลจะต้องทำ ที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะอะไรที่ทำแล้วเป็นการเอื้อตัวเอง เพื่อพวกพ้อง มันผิดตั้งแต่นับหนึ่งแล้ว”

ถามอีกว่า พรรคร่วมรัฐบาลในการหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่ได้รับการนัดหมาย แต่การแถลงของนายภราดรถือเป็นการแถลงของพรรค ก่อนย้อนถามสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเบอร์ 1 หรือไม่ เรื่องเบอร์ 1 คือเรื่องเชียงราย เชียงใหม่ หนองคาย ลำปาง และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกน้ำท่วม ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่า

เมื่อถามต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรม ประชาชนมองว่าเป็นการเอื้อเพื่อนักการเมือง นายอนุทินกล่าวว่า อย่าให้ไปถึงจุดนั้นสิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว ทำเพื่อประเทศและประชาชน มันเขียนอย่างชัดเจนอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงจุดยืนในเรื่องของการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา 112 นายอนุทินกล่าวว่า พูดมาตั้งนานแล้วไม่เห็นด้วย ไม่อยากพูดซ้ำๆ

ที่อาคารชินวัตร 3 มีการประชุม สส.ของพรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ ซึ่งเดิม น.ส.แพทองธารมีกำหนดการจะเข้าร่วมประชุม แต่ล่าสุดติดภารกิจต่อเนื่องที่ทำเนียบรัฐบาล และช่วงเย็นจะเดินทางไปร่วมงานเลี้ยงรับรองในโอกาสวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำปี 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นจริยธรรม โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เกิดจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาลเป็นผู้เสนอเข้ามา ทำให้ สส.ในพรรคเห็นตรงกันว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นพรรคก็จะไม่ผลักดันต่อ เพราะถึงอย่างไรเพื่อไทยก็ไม่ใช่คนริเริ่ม

ต่อมา นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.พรรค ภท. ในฐานะกรรมการบริหารพรรค แถลงการประชุม สส.ประจำสัปดาห์ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องเดินหน้าสู่การทำประชามติ ซึ่งขณะนี้กฎหมายประชามติได้ผ่านชั้น สส.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สว. และคาดว่าอีกไม่นานจะมีการบังคับใช้ พร้อมกับระบุว่า เชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการยอมรับจากคนในสังคม และเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับผ่าน ส.ส.ร.จะเป็นวิธีการที่ทำให้สังคมเกิดการยอมรับในกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

 “เราคิดว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ควรแก้ไขทั้งฉบับ โดยที่ดีจะแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นคนกลางจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบของ ส.ส.ร.ที่เคยทำกันมา” นายกรวีร์กล่าว และยืนยันว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะเดินไปสู่การแก้ไขมาตรา 256 และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ที่ไม่ควรแตะต้อง

ขณะที่ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรค ภท. ระบุว่า ไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคเพื่อไทยเพื่อหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นมาตรฐานจริยธรรมแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เรามองว่าเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นและเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของนักการเมืองและพรรคการเมือง               

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรค รทสช. ในฐานะโฆษกพรรค แถลงหลังการประชุม สส.พรรค ว่าที่ประชุมได้หารือประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองอย่างกว้างขวาง และมีมติว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีความเหมาะสมแล้ว ดังนั้นพรรคจึงมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายอัครเดชกล่าวด้วยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมอีกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมืองนั้น ไม่เคยมีการหยิบยกขึ้นมาหารือในระดับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาก่อนแต่อย่างใด

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรายมาตรานั้นมีประเด็นที่เป็นกังวล คือการนำไปออกเสียงประชามติตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ว่าหากแก้ไขในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจขององค์กรอิสระ ที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องนำไปถามประชามติ ก่อนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย อาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนฐานะผู้มาออกเสียงประชามติได้หากทำในวันเดียวกันกับการออกเสียงประชามติที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ปชน.ปัดเอื้อ 44 สส.

ส่วนนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาจริยธรรมถูกตีความขยายไปเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากให้เป็น ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาระบอบสถาบันการเมืองและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียว  ไม่แก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมาย ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็จะไม่สมบูรณ์แบบ

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ประธานรัฐสภานัดหมายวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรค ปชน.เสนอไว้ทั้งหมด 4 ร่าง เนื้อหาสาระเชิงหลักการแตกต่างกัน แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน น่าจะพิจารณารวมกันได้ แต่แยกลงมติรายฉบับ ทั้งนี้ พรรคอยากได้เวลาเต็มที่ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะเป็นเรื่องสำคัญ หากใช้เวลาเพียง 1 วัน ต้องรอดูว่าจะให้แล้วเสร็จเมื่อใด แต่หากตึงไปอาจขอเป็น 2 วัน

เมื่อถามถึงข้อกล่าวหาการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและพวกพ้อง นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ร่างของพรรค ปชน.นั้น สมาชิกที่เข้าชื่อไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับคดีจริยธรรมคือ สส. 44 คนอดีตพรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขดังกล่าว เพราะมีเจตจำนงที่จะนำไปสู่การทบทวนรัฐธรรมนูญในหมวดนี้อย่างแท้จริง ไม่ได้ต้องการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อความมั่นคงและความเหมาะสมทางสถาบันการเมืองและประโยชน์ต่อประชาชน

“ยืนยันว่าการแก้ไขไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เพื่อคงระบอบพรรคการเมืองที่เป็นหนึ่งในสถาบันหลักทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าวุฒิสภาที่มาจากประชาชนต้องเข้าใจเรื่องการเมือง และการตัดสินใจจะเป็นอิสระ ไม่ใช่การกดปุ่มชี้แบบใดแบบหนึ่ง จึงยังมั่นใจว่าถ้าเห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ได้พิจารณาฟังเหตุและผลที่สมาชิกนำเสนอ จะได้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 จาก สว.อย่างแน่นอน” นายณัฐวุฒิกล่าว

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. แถลงผลประชุมพรรคว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยพรรคจะคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 ในทุกมิติ ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องจริยธรรมนักการเมือง หัวหน้าพรรค กก.บห.พรรค และสมาชิกพรรคทุกคนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรายมาตราหรือทั้งฉบับ โดยเฉพาะเรื่องการลดมาตรฐานจริยธรรม

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธารได้ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ถึงการโอนหุ้นบริษัท ประไหมสุหรี พร้อพเพอร์ตี้ จำกัด ให้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว โดยแค่หันมาฟังคำถามของสื่อแต่ไม่ตอบอย่างใด

ต่อมา น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ายังไม่ได้ยื่น กำลังทำรายละเอียดอยู่ โดยจะทำตามที่กฎหมายแนะนำทุกอย่าง มือใหม่ไม่เคยยื่นเลย กลัวผิดพลาดเหมือนกัน ก็เลยพยายามถามรายละเอียดมาและยื่นให้ครบที่สุด

เมื่อถามถึงการโอนหุ้นบริษัท ประไหมสุหรีฯ ให้พี่สาว เป็นการโอนหรือขาย น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ตรงนี้ขอชี้แจงอีกครั้งภายหลัง

เมื่อถามว่า โซเชียลจับตากรณีเครื่องประดับของนายกฯ ที่มีเยอะมาก น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่ค่ะ เดี๋ยวต้องขอบคุณโซเชียล และจะไปดูในโซเชียลที่เคยลงไว้ในอดีต อันไหนที่ยังไม่ได้ถ่ายภาพก็จะไปดูรายละเอียดเพื่อนำไปประกอบการยื่นบัญชีทรัพย์สิน

ด้าน พล.อ.ประวิตร ส่ายหน้าไม่ตอบคำถามกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ร้องสอบจริยธรรกรณีขาดการประชุมสภา และกรณีใช้มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อฯ เป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมือง

ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการ พปชร. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ทนายไปแจ้งความเป็นการส่วนตัวที่ สน.หัวหมาก เพื่อขอให้สืบสวนกรณีนายพร้อมพงศ์นำคลิปเสียงดักฟังของ พล.อ.ประวิตรมาเปิดเผยต่อสื่อแล้ว และการกระทำของนายพร้อมพงศ์ที่ต่างกรรมต่างวาระมาก กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.