"ชูศักดิ์" เผย 1 ตุลาคมนี้ "ภูมิธรรม" นัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อจะมีความชัดเจน ตะแบงไม่ได้ยกเลิกเรื่องจริยธรรม แค่ตีกรอบให้ชัดเจน "ชัยชนะ" ยี้ไม่เอาด้วย เผยติดกระดุมเม็ดแรกไม่ผ่านก็ไม่ควรบริหารประเทศ "นันทนา" โผล่หนุนสุดลิ่ม ชี้ไม่ควรเอาเรื่องปีมะโว้มาให้ 9 ตุลาการตัดสิน "สนธิญา-ศรีสุวรรณ" พาเหรดร้อง เตือนดันทุรังเจอสั่งสอนแน่ "หมอวรงค์" ขู่ใช้มาตรา 114 จัดการ "สมชาย" ซัดชำเรา รธน.สุดซอยส่อจุดวิกฤตรอบใหม่ "อดีตบิ๊กข่าวกรอง" เตือนซ้ำรอยนิรโทษกรรมยุคยิ่งลักษณ์
เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับจริยธรรมของ สส.และรัฐมนตรีว่า มีพรรคการเมืองบางพรรคได้เสนอมาที่สภาแล้ว อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของฝ่ายกฎหมาย และบรรจุระเบียบวาระการประชุม ซึ่งถ้าเป็นการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เป็นการประชุมร่วม 2 สภา และต้องประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาจัดสรรเวลาต่อไป
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับจริยธรรม สส.และรัฐมนตรีนั้น ถูกครหาว่าเป็นการแก้ไขเพื่อพรรคพวกของตนเอง และอาจเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ในฐานะประธานรัฐสภา เมื่อมีการเสนอกฎหมายเข้าสภา ประธานไม่ควรเสนอความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องเป็นเรื่องของรัฐสภาที่ต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งทุกอย่างต้องสมดุลซึ่งกันและกัน ทั้งสมดุลประโยชน์ของประชาชนและสมดุลในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไรบ้างว่า ช่วงบ่ายวันที่ 1 ต.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จะนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือเรื่องนี้ โดยหารือ 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรค พท.และพรรคประชาชน (ปชน.) นำเสนอในขณะนี้ ว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นอย่างไร และ 2.จะหารือเรื่องที่ทำมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน หรือความคืบหน้าในเรื่องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่งคงได้ข้อยุติในช่วงเวลาประมาณนั้น
เมื่อถามถึงข้อครหาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เอื้อประโยชน์นักการเมือง จะสามารถผ่านวาระหนึ่งได้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราเข้าใจดีว่าความรู้สึกของคนในสังคม เรื่องความเป็นมาของรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นอย่างไร แต่เรื่องที่เราแก้ไขคือการแก้ให้เป็นธรรมชัดเจนขึ้น มีระเบียบปฏิบัติหรือแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ย้ำว่าเราไม่ได้ยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปราบโกง เพียงแต่ต้องกำหนดที่ชัดเจนว่าต้องนับพฤติกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่เพื่อให้ชัดเจนขึ้น จะได้ไม่มีปัญหาในแง่การทำหน้าที่ เพราะทุกคนคงทราบดีว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ว่าถ้าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องไปถามกับตรงนั้นตรงนี้ วุ่นวายไปหมดกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ย้ำว่าเราไม่ได้อยากยกเลิกอะไร เพียงแต่ทำกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติ มาตรฐาน ว่าจะชี้จะวัดอย่างไร
เมื่อถามว่า การแก้ไขครั้งนี้เพื่อปลดล็อกปัญหาอุปสรรคทางการเมืองใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไหนๆ ไม่นานก็คงต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงเลือกเฉพาะประเด็นที่สำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการบริหารจัดการแผ่นดิน ไม่ได้เก็บมา 10- 20 ประเด็น ถ้าอย่างนั้นแก้ทั้งฉบับ
“รับรองว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาต่อไป เช่นหากมีเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีก็ต้องไปร้องกันอีก นี่ยังไม่ทันไร เห็นคนนั้นคนนี้ไปร้องแล้ว ก็ยกเรื่องจริยธรรม” นายชูศักดิ์ระบุ
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ สว.เพื่อหาเสียงสนับสนุนแล้วหรือยัง นายชูศักดิ์กล่าวว่า ได้พูดคุยกันเพราะ สว.ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐสภา ซึ่ง สว.ก็ต้องเห็นชอบด้วย ไม่งั้นก็ไปไม่ได้เหมือนกัน
'ชัยชนะ' ยี้แก้จริยธรรม
นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเรื่องนี้ว่า พรรคจะหารือในที่ประชุม สส.วันที่ 24 ก.ย.นี้ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ควรแก้ไขอยู่แล้วเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ไม่สนับสนุนให้แก้ไขเรื่องจริยธรรม เพราะคนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทุกคนต้องยินดีให้ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรม และคณะกรรมการจริยธรรมที่มีอยู่เขาคงไม่ตีความเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เขาต้องตีความในเรื่องที่เป็นหลักการ
“ผมคิดว่าผู้บริหารประเทศทุกคนต้องพร้อมได้รับการตรวจสอบ ถ้ากระดุมเม็ดแรกไม่ผ่านก็ไม่ควรเป็นผู้บริหารประเทศ ผมคิดว่าเรื่องการตรวจสอบจริยธรรมเราไม่ควรไปแตะ ควรแตะเรื่องการทำงานดีกว่า วันนี้กฎหมายของประเทศนอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกฎหมายลูกที่หลายองค์กรยังมีปัญหาอยู่ เราก็ต้องผลักดันให้แก้ไขให้ได้” นายชัยชนะกล่าว
ส่วน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวว่า กลุ่ม สว.อิสระเรามีความคิดเห็นร่วมกันตั้งแต่ต้นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้มีปัญหาคือรั่วทุกจุด เดิมเราต้องการให้แก้ไขทั้งฉบับ แต่ดูจากกระบวนการแล้วน่าจะเป็นไปได้ช้ามาก อาจทำไม่ทัน 3 ปีที่เหลือของรัฐบาลนี้ ดังนั้นหากแก้ไขรายมาตราเพื่อลดจุดบกพร่อง และแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองได้ก็คิดว่าเป็นประโยชน์และน่าสนับสนุน ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ คงต้องดูกันอีกครั้งหนึ่งว่า แต่ละมาตราที่เสนอไปมีความสมเหตุสมผลในการปรับแก้อย่างไร
เมื่อถามถึงข้อครหาที่มีการมองว่า การเสนอแก้ไขเรื่องจริยธรรมของนักการเมืองก็เพื่อเอื้อประโยชน์แก่นักการเมืองด้วยกันเอง น.ส.นันทนากล่าวว่า ปัญหาตรงนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดให้จริยธรรมเข้าไปอยู่ในกฎหมาย แท้จริงแล้วเรื่องจริยธรรมคือ code of conduct ซึ่งควรเป็นเรื่องที่กลุ่มวิชาชีพขององค์กรในสายอาชีพนั้นได้พิจารณาตกลงกันเองว่า พฤติกรรมของใครที่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้อง แต่เมื่อนำเข้ามาเป็นกฎหมาย จึงไม่ได้มีข้อกำหนดชัดเจนว่าเรื่องไหนทำได้หรือไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องอาศัยการตีความโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่าจริยธรรมนี้ขึ้นอยู่กับตุลาการจำนวน 9 คนในการพิจารณา จึงควรมีการปรับแก้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องนี้
ปัดไม่ใช่เรื่องทับซ้อน
“นี่ไม่ใช่เรื่องประโยชน์ทับซ้อน โดยหากจะบรรจุเข้าไปในกฎหมาย ควรต้องกำหนดให้ชัดว่าพฤติกรรมไหนผิดหรือไม่ผิดจริยธรรม และไม่ควรต้องย้อนกลับไปเมื่อชาติที่แล้ว ว่าเขาเคยทำอะไรไว้เมื่อ 20 ปีก่อนก็เอามา ทั้งที่ตอนนั้นเขายังไม่ได้ตัดสินใจเป็นนักการเมืองด้วยซ้ำไป แต่กลับถูกนำเรื่องนี้มาดำเนินคดีกับเขา ณ ปัจจุบัน" เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับร่างแก้ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนหรือไม่ น.ส.นันทนากล่าวว่า การแก้รายมาตราถือเป็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในช่วงนี้ แต่ต้องขอการสนับสนุนจากวุฒิสภาซึ่งต้องใช้เสียงถึง 1 ใน 3 คือ 67 เสียง หากเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในการให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน ได้โดยไม่ต้องหวาดระแวงตลอดเวลาว่าจะมีผู้มาร้องเรียนเรื่องในอดีตเมื่อไร หรือไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำไปผิดตรงไหน
ขณะเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายวันมูหะมัดนอร์ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยไม่รับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ของทุกพรรคการเมืองที่จะแก้ไข โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องจริยธรรม เพราะการกระทำดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนทั้งประเทศ แต่เป็นการตอบสนองความต้องการของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ที่มีคนทำผิดกฎหมายจริยธรรมในอดีต ถือเป็นการทำลายความชอบธรรมของระบบการคัดสรรเลือกตั้งบุคคลที่เป็นคนดี และที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการลงประชามติมาแล้ว เพราะฉะนั้นหากแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง จะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 17 ล้านคนหรือไม่อย่างไร
“การแก้ไขที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน นั่นคือการฉ้อฉลต่อพี่น้องประชาชนคนไทย และอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 114 และ 50 (6) ว่าจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความแตกแยก และเกลียดชังกัน ผมมั่นใจว่าถ้ามีการเสนอและรับร่างเข้าสู่สภา ความแตกแยกจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และจะหนักหน่วงรุนแรงขนาดไหนก็ว่ากันไป วันนี้ผมจึงมาร้องไม่ให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” นายสนธิญากล่าวและว่า หากยังมีการดำเนินการต่อ จะใช้กระบวนการแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ดำเนินการต่อไป ที่สำคัญอยากถามว่า ขณะนี้ประชาชนยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง แต่รัฐบาล หรือ สส.ที่เกี่ยวข้องจะไปช่วยอย่างไร
ส่วนที่สำนักงานใหญ่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวนและวินิจฉัยกรณี สส.หรือพรรคการเมืองได้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจ ป.ป.ช. และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ฯลฯ เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา185 หรือไม่
แก้ รธน.สุดซอยจุดวิกฤต
“หาก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าเข้าข่ายก็อาจต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อดำเนินการเอาผิดนักการเมืองต่างๆ ที่ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าวต่อไป ซึ่งเราเคยเห็นผลงานของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาหลายกรณีแล้ว และเนื่องจากพรรคการเมือง นักการเมือง กำลังจะเข้ามาก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยตรงอีกด้วย จำจะต้องสั่งสอนนักการเมืองต่างๆ ให้จำเป็นบทเรียนเสียบ้าง" นายศรีสุวรรณระบุ
นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อแก้รัฐธรรมนูญสุดซอยเพื่อใคร ระบุว่า "ตรวจสอบติดตามกันให้ดีว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสุดซอยของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกสังคมสงสัยว่าแก้เพื่อใคร ซึ่งชัดเจนว่ามิใช่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หากแต่น่าจะแก้เพื่อประโยชน์ของคนบางคน ที่อาจโดนข้อหาครอบงำพรรค เพื่อให้กลับมาควบคุมพรรคการเมืองหรือลงเลือกตั้งได้อีก หรือรัฐมนตรีบางคนที่กำลังโดนตรวจสอบเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีปัญหาเรื่องผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น จะผ่านความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติได้หรือไม่"
"ที่น่าติดตามยิ่งคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสุดซอยนี้จะผ่านด่านความเห็นชอบ ได้เสียงสนับสนุนถึง 67 เสียงหรือ 1 ใน 3 ของ สว.ที่กำลังถูกจับตาถึงความชอบธรรมของการได้มาซึ่งวิธีการเลือกกันเองเข้ามา โดยอ้างเป็น สว.สายสีน้ำเงินได้หรือไม่ เพราะถ้าผ่านความเห็นชอบได้ทั้งวาระ 1-3 จาก สส.และ สว.แบบสุดซอยได้แล้ว ก็คงจะชัดเจนว่า สส.และ สว.ที่มีอยู่ในรัฐสภานี้ ไม่เป็นที่พึ่งหวังได้ วันนั้นคงจะนำพาประเทศชาติ เข้าสู่จุดเสี่ยงวิกฤตการเมืองอย่างแน่นอน" นายสมชายระบุ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "รัฐธรรมนูญ มาตรา 114 บัญญัติไว้ว่า สส.และ สว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งพวกที่คิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตนเอง เรามีช่องทางในการต่อสู้แล้ว เพราะสิ่งที่พวกนี้จะแก้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ รวมทั้งความผาสุกของประชาชน ที่สำคัญคือ ประเด็นที่เขาแก้มีแต่ประโยชน์ของนักการเมืองทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนที่จะเป็นนายกฯ รวมทั้งประโยชน์ของทั้ง สส.และ สว. เท่ากับแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเอง มีผลประโยชน์ทับซ้อน"
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า "นักการเมืองจะคิดทำอะไร คิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก มีประชาชนและประชาธิปไตยเป็นข้ออ้าง คนพวกนี้ไม่เคยจดจำบทเรียนความผิดพลาดปี 2556 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ต้นเหตุให้ม็อบ กปปส.จุดติด คนเรือนล้านต่อต้าน ทำให้รัฐบาลล้มถูกยึดอำนาจ รัฐสภานี้กำลังสุมหัวคิดแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ถามว่ามีมาตราไหนที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ ไม่มีเลยสักมาตรา ตอนหาเสียงอ้างประชาชน แต่เอาเข้าจริงแก้คุณสมบัติรัฐมนตรี เปิดทางให้คนเทาๆ เข้า ไม่ต้องซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ ไม่เอาจริยธรรม ถามจริงๆ คนขี้โกงควรเป็นรัฐมนตรีไหม มีหลักประกันอะไรว่าคนเคยโกงจะไม่โกงอีก ใครต้านก็ไม่สน จับมือฝ่ายค้านยื่นหมูยื่นแมว แก้รัฐธรรมนูญแลกนิรโทษกรรม 112 ผิดซ้ำซาก จะสะดุดตีนล้มอีกหรือเปล่า"
นักร้องพาเหรดขยี้
วันเดียวกัน ยังมีความเคลื่อนไหวในการร้องเรียนหลายกรณี โดยที่สำนักงาน กกต. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่นหนังสือถึงประธาน กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการลาออกจากกรรมการบริษัท 20 แห่งของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เทียบเคียงกับการลาออกจากบริษัทของ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ว่าใครดำเนินการถูกต้อง และเข้าข่ายกฎหมายการจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ 2543 หรือไม่
ส่วนนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค พท.แถลงความคืบหน้าการยื่นหนังสือถึงสภาฯ ให้ตรวจสอบการเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าวันที่ 25 ก.ย.จะยื่นเอกสารต่อประธานสภาฯ เพื่อตรวจสอบจริยธรรม การเป็น สส.ของ พล.อ.ประวิตร และในวันที่ 27 ก.ย.จะไป ป.ป.ช.
“วันพุธที่จะถึงนี้ผมจะปิดบัญชีลุง โดยจะเปิดหลักฐานก่อนจะยื่นปิดบัญชีลุง แล้ววันศุกร์นี้จะไปปิดที่ ป.ป.ช.” นายพร้อมพงศ์กล่าว
ส่วนนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้พิจารณาว่า พรรคเพื่อไทยเข้าข่ายความผิดต้องยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามมาตรา 92(4) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ จากกรณีส่งนายชาญ พวงเพ็ชร์ ลงสมัครชิงนายก อบจ.ในรอบแรก ทั้งที่ถูกกล่าวหาเรื่องเกี่ยวกับทุจริต โดย ป.ป.ช.มีชี้มูลความผิด และศาลอาญาทุจริตรับฟ้อง จนมีผลให้นายชาญต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนพ้นหน้าที่ด้วยการหมดวาระ เข้าข่ายหรือส่อผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร พ.ศ. 2562 มาตรา 49(8) หรือไม่ และพรรคเพื่อไทยส่อเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 21 วรรคแรก หรือไม่ จากเหตุที่กฎหมายกำหนดให้พรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องมีความรอบคอบในการคัดเลือกบุคคลตัวแทนพรรคในการลงรับสมัครนายก อบจ.ปทุมธานี จึงขอให้ กกต.พิจารณาว่าเข้าข่ายยุบพรรคตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง หมวด 8 ความสิ้นสุดของพรรคการเมืองมาตรา 92(4) หรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด
ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี