สั่งขันนอตเยียวยาน้ำท่วม ผุดHOT ALERTแจ้งเตือน

“อนุทิน” ขันนอตช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม พุ่งเป้าอัดฉีดเงินรายครัวเรือนตามการประสบภัย พร้อมระดมอาสาสมัครทุกภาคส่วนตักโคลนออกจากบ้านเรือนปชช. ชง ครม.งดเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟเดือน ก.ย. ขีดเส้นห้ามตัดน้ำไฟพื้นที่ภัยพิบัติเด็ดขาด "ดร.เสรี" เตือน 23-24 ก.ย.ฝนหนัก "เหนือ-อีสานบน" 26 ก.ย.เริ่มร้อน นายกฯ สั่งด่วน “ศปช.-ผวจ.เชียงราย” ช่วยน้ำหลาก เวียงป่าเป้า จ่อผุดระบบเตือนภัย "HOT ALERT" แจ้งเตือน ปชช.ผ่าน SMS 

เมื่อวันจันทร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ มีการไหลระบายของน้ำ เช่นแม่น้ำโขงจำนวนมากแล้ว ระดับน้ำลดลงไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เรากังวลและต้องเร่งดำเนินการเต็มที่คือ การช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ให้กลับมามีชีวิตที่เป็นปกติ

นายอนุทินระบุว่า โดยบ้านเรือนส่วนใหญ่จะถูกดินโคลนซัดเข้าไปเต็มบ้าน ดินพอกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราต้องช่วยตักดินโคลนออกมาเท่าที่จะทำได้ เรามีอาสาสมัครทุกภาคส่วน ทั้งทางราชการ ทหาร ตำรวจ มูลนิธิกู้ภัยต่างๆ เข้าไปช่วยกัน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้เร่งส่งเครื่องจักร อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปในพื้นที่อย่างเต็มที่ แต่ต้องเรียนว่ามีวัสดุไม่พึงประสงค์เยอะจริงๆ ทั้งสิ่งของบ้านเรือนที่เสียหาย ขยะมูลฝอย เราก็ต้องเร่งจัดรถบรรทุก นำสิ่งของเหล่านี้ไปทิ้งทำลาย ซึ่งเรื่องนี้เราจะเร่งทำแต่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์อยู่ ในส่วนระบบสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้าประปาเราเริ่มคืนพื้นที่มากกว่า 80% แล้ว ไม่เป็นอุปสรรคในการสัญจร

 "เรายังต้องเฝ้าระวังทุกพื้นที่ โดยได้ย้ำ ผวจ.ทุกจังหวัด ให้เน้นการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งขณะนี้เราได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการช่วยเหลือ รัฐบาลได้มีแนวทางการปฏิบัติตามความเดือดร้อนในแต่ละสถานการณ์ จะมีการอัดฉีดเงินรายครัวเรือนตามการประสบภัย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีทั้งงบประมาณของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยก็มีงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เข้าไปช่วยเยียวยาผู้ประสบภัยรายครัวเรือน" นายอนุทินระบุ

นายอนุทินกล่าวอีกว่า ในส่วนของหลักการเยียวยาผู้ประสบภัย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบแล้ว ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำลังจะเสนอ ครม. หากเป็นไปได้ในวันที่ 24 ก.ย.จะเสนอยกเว้นการเก็บค่าไฟฟ้า ค่าประปาในเดือน ก.ย.ให้แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย ทั้งนี้ หากมีความผิดพลาดโดยมีการออกบิลในเดือน ก.ย.ไปแล้ว ในส่วนของค่าไฟประชาชนก็ไม่ต้องชำระ และหากมีความลำบากในเรื่องของการชำระค่าไฟในเดือนก่อนๆ ให้แจ้งความจำนงในการขอผ่อนค่าไฟได้ และจะไม่มีการตัดไฟหรือยกเลิกการให้บริการทั้งไฟฟ้าและประปาในพื้นที่ประสบภัยเป็นอันขาด

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า "สภาพอากาศแปรปรวนโดยจะมีมวลอากาศเย็นจากแผ่นดินใหญ่มาปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 23-24 กันยายนนี้ แต่จะเริ่มร้อนขึ้นกว่าปกติตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน รักษาสุขภาพด้วยนะครับ"

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  กำหนดดีเดย์ทำความสะอาดเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายในวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายนนี้ โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการใน อ.แม่สาย แบ่งเป็น 4 โซน อ.เมืองเชียงราย แบ่งออกเป็น 4 โซน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลนครเชียงราย

นายพุฒิพงศ์กล่าวถึงเรื่องแนวทางฟื้นฟูและการช่วยเหลือประชาชนว่า ได้แนะแนวทางการขยายจุด Fix It Center ของอาชีวศึกษา ในการเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ให้ทั่วถึง เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในเบื้องต้นด้วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเกิดน้ำป่าไหลหลากที่บ้านหินลาด อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ว่า น.ส.แพทองธารได้สั่งการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไปแล้ว และสั่งการให้กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เข้าไปเคลียร์พื้นที่หลังมีดินโคลนถล่มให้เร็วที่สุด ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วเมื่อช่วงเวลา 15.00 น.ที่ผ่านมา

นายจิรายุกล่าวว่า ขอให้ ศปช.คอยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนไปยังชุมชน ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ถึงสถานการณ์ฝนที่ตกอยู่ อาจจะทำให้ดินโคลนบนภูเขาสไลด์ลงมาได้ รวมถึงสั่งการให้กองบัญชาการกองทัพไทย ที่ดูแลหน่วยทหารพัฒนาที่ประจำอยู่ที่เชียงราย ให้ฟังวิทยุสื่อสาร และรับรายงานจากหน้างาน หากมีเหตุการณ์ยกระดับว่าควรประกาศระดับไหน และให้ทหารหน่วยพัฒนาที่สแตนด์บายเข้าพื้นที่ช่วยเหลือ ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานต่างๆ ใน ศปช. เฝ้ามอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง

นายจิรายุกล่าวด้วยว่า จากปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายกฯ มีแนวคิดที่จะทำระบบเตือนภัยผ่าน SMS ที่จะมีรูปแบบการแจ้งเตือนที่ต่างจาก SMS ปกติ หรือเรียกว่า HOT ALERT โดยมีเสียงแจ้งเตือนตลอดเวลาไม่หยุด จนกว่าจะอ่านข้อความแจ้งเตือน ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นผู้ทำระบบนี้ นอกจากนี้นายกฯ ยังระบุอีกว่า ควรจะมีการพัฒนาระบบแอนะล็อกที่ใช้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเสียงตามสายที่แจ้งประชาชน ต้องมีระดับในการแจ้งเตือนว่าความรุนแรงนี้อยู่ในระดับไหน เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าควรเก็บของขึ้นที่สูงหรืออพยพออก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.