หอการค้าไทยชี้เงินบาทอ่อนค่าแรงเร็ว กระทบส่งออก-สินค้าเกษตร-ท่องเที่ยว กระตุกเป็นหน้าที่ คลัง-ธปท.ต้องจับเข่าคุยแก้ปัญหา มองขึ้นค่าแรงควรเป็นปีหน้า ระบุแม้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ แต่ยังมีปัญหาน้ำท่วม คาดหนุนจีดีพีโตเพิ่ม 0.2-0.3% ส่งผลทั้งปี 67 โต 2.6-2.8% “สภาพัฒน์” ห่วงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์กระทบไทยหลายมิติ แนะต้องมีจุดยืนที่เหมาะสมเพื่อสร้างความได้เปรียบ-รับมือความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ
เมื่อวันจันทร์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรีและได้ยื่นสมุดปกขาว รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ประกาศ 10 นโยบายนั้น ซึ่งหลายมาตรการของ พณ.ตรงกับข้อเสนอแนะแนวทางของหอการค้าไทย ที่อยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่ไปกับรัฐบาล ก็เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของกลุ่มเปราะบาง จะทำให้เกิดการใช้จ่ายทันที มาตรการเร่งแก้หนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยหอการค้าไทยมีแผนจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยและหาแนวทางที่เหมาะสมในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"พร้อมฝากถึงรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และ 68 โดยเฉพาะงบการลงทุนและก่อสร้าง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยหอการค้าไทยและเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด" นายสนั่นกล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น 8-10% อย่างรวดเร็วและรุนแรงในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาท (+-) ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติ จากนั้นอาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่านั้น
"ค่าเงินบาทที่ผันผวนในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ เกิดความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออก หากค่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP ปกติ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา"
นายพจน์กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหากจะปรับขึ้นเท่ากันทั้งหมด แต่อยากให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง ที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรงตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นค่าแรงควรเป็นปีหน้า ซึ่งโดยปกติแล้วมีการปรับขึ้นปีละ 1 ครั้ง ขณะที่ปีนี้มีการปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง
ด้าน รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% ซึ่งหอการค้าไทยเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง.ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมปี 2567 ประมาณ 21,577 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของ GDP (ข้อมูล ณ 18 ก.ย. 67) (สมมติให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน) โดยภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 18,226 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 3,260 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 91 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วง Q4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.8-4.3% โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% และทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เป็น 2.6- 2.8%
วันเดียวกัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยในงานสัมมนา พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย ว่าปัจจุบันปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางพลังงาน และล่าสุดคือเรื่องของเทคโนโลยี ที่มีทั้งการถ่ายทอดและการปิดกั้นเทคโนโลยี
โดยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก นำไปสู่ความไม่มั่นคงในหลากหลายมิติ และแต่ละเรื่องส่งผลต่อไทยด้วย เพราะเป็นประเทศเล็ก โดยในระยะต่อไปปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก จะยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก จากการกีดกันทางการค้าที่ยังเกิดขึ้น ผลกระทบต่อพลังงาน สิ่งที่ต้องติดตามคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การกดดันของจีนยังดำรงอยู่ ดังนั้น ปัญหาสงครามเทคโนโลยี สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะยังดำรงอยู่ ซึ่งจะกระทบกับประเทศไทย แต่มองว่าจะเป็นโอกาสของไทยด้วย
นายดนุชากล่าวอีกว่า ความท้าทายของไทยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก ประกอบด้วย 1.การค้าการลงทุน FDI ที่ไหลสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และการไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนที่กระทบผู้ประกอบการภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี หรือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง 2.เทคโนโลยี ควรให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มให้บริการที่แยกจากกัน ที่จะส่งผลให้ต้นทุนการใช้บริการสูง รวมถึงประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์และช่องว่างทางดิจิทัล
3.แรงงานและทักษะการพัฒนา ecosystem ที่เอื้อต่อการดึงดูดแรงงานทักษะสูง และทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับแนวโน้มทางเทคโนโลยีและตลาด รวมถึงการพัฒนาเมืองที่สามารถดึงดูด talent การรองรับแรงงานหรือผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมา 4.ความมั่นคงทางอาหาร และ 5.ความมั่นคงทางพลังงาน ไทยมีสัดส่วนนำเข้าพลังงานที่สูง ต้องเร่งสร้างความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค และการพัฒนาพลังงานสะอาด ใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีและ Critical Materials ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างชาญฉลาด
สำหรับการบริหารจัดการเพื่อรับมือความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก มีดังนี้ 1.การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ ด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เหมาะสม เพื่อรับมือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อมานาน 2.การรับมือมาตรการทางเศรษฐกิจ การกีดกันทางการค้าระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งกระทบต่อการค้าการลงทุนและการส่งออกของไทย 3.การสร้างความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และท่าทีที่เหมาะสมของไทยในการรับมือสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และ 4.การยกระดับศักยภาพในการผลิต และการบริหารจัดการห่วงโซ่ อุปทาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์นั้นไทยต้องมีจุดยืนที่เหมาะสม โดยจะทำอย่างไรให้อยู่ในสถานการณ์ใดก็ได้ที่ได้เปรียบที่สุด ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
“ไทยจะต้องวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ด้านนโยบายระหว่างประเทศที่เหมาะสม เพื่อรับมือความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ รวมถึงแสวงหาโอกาสจากการที่ประเทศต่างๆ พยายามหาพันธมิตร เพื่อสร้างสายสัมพันธ์และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ” นายศุภวุฒิกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน