ปธ.วิปรัฐบาลเผยจ่อคุยพรรคร่วมฯ ดันแก้ไข รธน.วันจันทร์นี้ ยันต้องตัดสินใจร่วมกัน "เชิดชัย" มั่นใจพรรคร่วมฯ เอาด้วย อ้างไม่แก้ก็อยู่แบบเดิม นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุนในไทย "จุรินทร์" ชี้ไม่ควรแก้เพื่อตัวเอง ทำลายหลักการส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง "สรรเพชญ" ย้อนถาม ปชช.ได้ประโยชน์อะไร มีกินมีใช้อย่างไร เชื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง "สุริยะใส" เตือนโละกรอบจริยธรรม หักกระแสสังคม นำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก พท.หัดซึมซับบทเรียน ขายหุ้นชินคอร์ป-นิรโทษกรรมสุดซอย "อ.หริรักษ์" ปลุก ปชช. เราอย่าไปยอมมัน
เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะมีการนัดพรรคร่วมรัฐบาลพูดคุยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมรายมาตราในสัปดาห์นี้ว่า เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีการยื่นตัวร่างไปแล้ว ก็จะมีการพูดคุยกันในการประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 23 ก.ย.นี้ เพื่อแจ้งให้พรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ทราบด้วย
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นเริ่มไม่เห็นด้วยเรื่องแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม เพราะเกรงว่าจะเอื้อประโยชน์ให้นักการเมือง และอาจถูกร้องตีความ ในส่วนนี้จะพูดคุยกันอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อสรุป นายวิสุทธิ์กล่าวว่า จริยธรรมไม่ใช่ว่าเราจะไม่ให้มี เรายังจะให้มีอยู่ แต่ต้องมีขอบเขตว่าประมาณไหน คนจะได้ระมัดระวังไม่ทำต่อ ยกตัวอย่างกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสียงข้างมากเกินมาเพียงแค่หนึ่งเสียงก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เราจึงเห็นว่าควรจะเพิ่มในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่านี้ได้หรือไม่
"เรื่องจริยธรรมยังต้องมีอยู่ นอกจากนี้ยังต้องมาดูในส่วนของเรื่องลหุโทษว่าจะต้องเป็นอย่างไร เช่น หากไปขับรถชนตายมา ก็ต้องมาดูว่าขาดจริยธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ หากได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"
เมื่อถามว่า หากมีการพูดคุยในวิปรัฐบาลแล้วมั่นใจหรือไม่ว่าจะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า เราต้องคุยกันก่อน เพราะเราเป็นรัฐบาลพรรคร่วม ฉะนั้นต้องตัดสินใจร่วมกัน
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยจะนัดหารือพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นมาตรฐานจริยธรรม ที่ยังมีเสียงคัดค้านจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเชื่อว่าจะทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ เนื่องจากเรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจน พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาการตีความไม่มีความชัดเจน เห็นด้วยกับการแก้ไขให้ใช้เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ใน 3 ของการพิจารณาสอย สส.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนการใช้เสียงข้างมาก
"โดยเฉพาะคดีสำคัญเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เช่น คดีถอดนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เป็นเกณฑ์ เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชน แม้จะมีแรงต้านในการแก้ไข ก็ต้องทำความเข้าใจ ถ้าไม่แก้ก็อยู่แบบเดิม นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเสียงในสภาและพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม" นพ.เชิดชัยกล่าว
แก้เพื่อตัวเองไม่ตอบโจทย์ ปชช.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า รธน.แก้ไขได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนในประเด็นอื่นนั้น ก็ต้องดูเป็นประเด็นไป แต่จะต้องไม่แก้จนเป็นการทำลายหลักการ "การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ" และไม่ควรเข้าข่ายการแก้ไขเพื่อตัวเอง เพราะจะทำให้การแก้ไข รธน.ขาดความชอบธรรม ซึ่งจะก่อผลกระทบทำให้การเมืองเสื่อม และอาจก่อให้เกิดแรงต้านจากประชาชน
"โดยเฉพาะในขั้นตอนสุดท้ายตอนทำประชามติ เพราะประเด็นการแก้ไข รธน.ในเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เข้าเงื่อนไขที่จะต้องทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย" นายจุรินทร์กล่าว
นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นที่น่าแปลกใจที่ยังไม่ทันไรหลังรัฐบาลเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพียงไม่กี่วัน ก็จะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเลย โดยเฉพาะปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ คือเรื่องปัญหาปากท้อง เพราะเนื้อหาที่จะแก้ไขรายมาตราก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่จะมาดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะการเอาคำว่าซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ออกจากรัฐธรรมนูญ หากนักการเมืองที่เป็นนักการเมืองขี้โกงเข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ ก็จะเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จะต้องคงอยู่เพื่อเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมให้กับนักการเมืองต่อไป
"แม้ทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะจับมือร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้มีโอกาสผ่านได้ง่าย แต่ก็ต้องอาศัยเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบ ดังนั้นอยากให้ผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ชี้แจงให้ชัดว่า ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้ แล้วจะทำให้ประชาชนมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีการเมืองดี มีปากท้องดี ได้อย่างไร ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์พวกมากแล้วลากกันไปทำเรื่องเพื่อประโยชน์ของพวกพ้องตนเอง ในความเป็นจริงแล้วหากจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็ควรจะถามประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริงเสียก่อน ผู้แทนที่เข้ามาใช้อำนาจไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตนเอง เพราะเคยเสียผลประโยชน์จากเรื่องนี้ หากดันทุรังสุดซอยประชาชนจะหมดศรัทธาได้" นายสรรเพชญ
ด้านนายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการเตรียมเสนอร่างแก้ไข รธน.รายมาตราว่า ยังไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว เพราะยังเป็นเรื่องของสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบ และดูว่ามีข้อสังเกตอะไรหรือไม่ วุฒิสภาก็จะดูตามนั้น นำความเห็นของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมาพิจารณาประกอบกัน ส่วนข้อเสนอของพรรคการเมืองให้มีการทบทวนเงื่อนไขการยุบพรรค ตอนนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดของตัวร่างแก้ไขที่มีการเสนอมา แต่ตามหลักการแล้ว ก็ต้องดูเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ายึดถือประโยชน์ของชาติและประชาชนหรือไม่ และร่างนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาต่อชาติและประชาชนหรือไม่
เมื่อถามถึงแนวโน้มการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ สว.ชุดปัจจุบัน จะแตกต่างจาก สว.ชุดก่อนหน้านี้ ที่ส่วนใหญ่มีมติตีตกแทบทุกร่างหรือไม่ นายอลงกตกล่าวว่า สว.ชุดใหม่มีมุมมองที่ต่างกัน เพราะ สว.ชุดใหม่มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ มีตัวแทนความคิดจากแต่ละภูมิภาคจริงๆ ขณะที่ สว.ชุดที่แล้วมาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งเป็นหลัก
ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ระวังแก้รัฐธรรมนูญ หักกระแสสังคม ต้องใช้เวลาสร้างฉันทามติ การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ในประเด็นการตีกรอบจริยธรรม อำนาจองค์กรอิสระยุบพรรคและประเด็นอื่นๆ นั้น แม้เป็นสิทธิของพรรคการเมืองและ สส.ที่สามารถดำเนินการได้ก็ตาม แต่หากพิจารณาความชอบธรรมแล้ว ความชอบธรรมยังต่ำอยู่ ประเด็นที่เสนอแก้ไขมีความล่อแหลมสูง แม้จะได้ฉันทานุมัติในสภา แต่ถ้าปราศจากฉันทานุมัติจากนอกสภาหรือจากประชาชน ก็รังแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกโดยไม่จำเป็น
เตือนสติ พท.หักกระแสสังคม
ดร.สุริยะใสระบุว่า รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่ถึงเดือน มีปัญหาให้แก้ไขมากมาย ยังไม่มีผลงานเชิงประจักษ์ ควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่านี้ถึงจะพอมีโอกาส พรรคเพื่อไทยควรซึมซับบทเรียนอย่างน้อยสองเหตุการณ์ คือกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น และหลีกหนีการอภิปรายของสภาเมื่อปี 2549 และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยปี 2556 ก็เป็นบทเรียนของเสียงข้างมากที่ขาดความชอบวิกฤตการเมืองไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ควรโยนบาปให้รัฐธรรมนูญฝ่ายเดียว เพราะวิกฤตหลักยังเป็นเรื่องพฤติกรรมบรรดานักการเมืองบางส่วนที่เล่นการเมืองเพื่อตัวเอง เพื่อพวกพ้อง และการทุจริตคอร์รัปชันที่ไม่ลดลง
"ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวอย่างชัดเจนที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่งเข้ามาฉีกทิ้งความหวังของประชาชน จากนั้นมากระแสเกลียดชังนักการเมืองจำพวกนักเลือกตั้งก็สูงขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อปราบโกงและเอาคนดีเข้าสู่อำนาจจึงปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 ฉะนั้นหากจะตีโต้หรือหักกับกระแสนี้ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดถ้านักการเมืองยังไม่ปรับพฤติกรรม"
ดร.สุริยะใสระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา กรณีนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ถูกลงโทษด้วยกลไกรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ก็เป็นปัญหาความผิดที่ก่อขึ้นจากตัวนักการเมืองด้วยส่วนหนึ่ง ยังนึกไม่ออกว่ามีกรณีไหนที่นักการเมืองตกเป็นเหยื่อ เป็นแพะ หรือถูกรังแกจากกลไกรัฐธรรมนูญแต่เพียงด้านเดียว แม้จะวางเงื่อนไขว่าจะไม่มีผลย้อนหลังกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้หลักประกันกับประชาชนว่าพฤติกรรมนักการเมืองจะปรับปฏิรูปตัวเองมากขึ้น
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ควรต้องเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของชาติ เราไม่อาจยอมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและนักการเมืองใดๆ
ความพยายามในการแก้ไข รธน.เป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม สำหรับการเลือกสรรผู้ที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีลง ซึ่งไม่ควรจะเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและต่อประชาชน จะทำให้ความหวังว่า ประเทศเรามีโอกาสมากขึ้นที่จะได้คนเก่งคนดีมาเป็นรัฐมนตรี ต้องพังทลายลง
"หากพรรคร่วมรัฐบาลเออออด้วยไปกับพรรคเพื่อไทย ก็น่าจะหมดหวังแล้วกับระบอบประชาธิปไตยแบบที่เป็นอยู่ และก็สมควรแล้วที่หากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะถูกยุบ จากการที่ไปร่วมประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า อย่าได้มาอ้างด้วยว่าต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อไม่ให้มีการถูกร้องจนไม่เป็นอันได้ทำอะไร จนทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ อยากบอกประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินนี้ ที่ยังยึดหลักความถูกต้องและเป็นธรรมว่า เราต้องไม่ยอมมัน" รศ.หริรักษ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ