เพื่อไทยสุมไฟต่อ ดัน‘นิรโทษกรรม’

สภาถกผลศึกษานิรโทษกรรมพฤหัสบดีนี้ “เพื่อไทย” ดีดจัดดันล้างผิดมาตรา 112  สส.เสื้อแดงย้ำหลังสภาผ่านรายงาน กมธ. พรรคต้องเดินหน้าเสนอร่าง กม.เข้าสภา ไม่ทำไม่ได้ อ้างปีมหามงคล “ธนกร” ค้านหัวชนฝา เตือนหากรับรองรายงานต้องมีคนรับผิดชอบ อึ้ง! ลูกเสธ.แดงคนชงตั้ง กมธ. ไม่กล้าแสดงความเห็น 

ในวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายนนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. หลังจากที่คณะ กมธ.ได้ส่งรายงานดังกล่าวให้สภามาตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. หลังใช้เวลาศึกษากว่า 6 เดือน

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า ได้รับการประสานว่า ในการประชุมสภาวันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ย. จะพิจารณารายงานของ กมธ. ซึ่งเดิมจะพิจารณาสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่พอดีวิปรัฐบาลประสานมาว่ายังไม่มีความพร้อม ขอให้เลื่อนมาเป็นสัปดาห์นี้ ซึ่งรายงานของ กมธ.มีสาระสำคัญ เช่น ช่วงระยะเวลาในการนิรโทษกรรม คือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548 ถึงปัจจุบัน โดยที่ปัจจุบันหมายถึงวันที่ กมธ.เสนอรายงานต่อสภา

 นพ.เชิดชัยกล่าวอีกว่า แนวทางในการดำเนินการ เมื่อมีการจำแนกคดีออกเป็นคดีหลัก คดีรอง  และคดีที่มีความอ่อนไหว โดยในส่วนของคดีหลักและคดีรอง การพิจารณาว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่คือ หน่วยงานราชการในกระบวนการยุติธรรม โดยพิจารณาวินิจฉัยจากองค์ประกอบว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และเป็นฐานความผิดตามบัญชีฐานความผิดท้ายร่างพระราชบัญญัติหรือไม่ ส่วนคดีที่มีความอ่อนไหว ซึ่งผู้พิจารณาคือคณะกรรมการนิรโทษกรรมที่มี ่วนชิดชัยกล่าวอีกว่า ศมของ กทม. รมว.ยุติธรรม โดยคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองคือ คดีตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 ส่วนรูปแบบการนิรโทษกรรม คณะ กมธ.เสนอว่าให้ใช้รูปแบบผสมผสาน โดยรายละเอียดจะนำเสนอและอภิปรายกันต่อไป หลัง กมธ.นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภา

นพ.เชิดชัยย้ำว่า หลังสภาให้ความเห็นชอบรายงานดังกล่าวแล้ว จะส่งไปให้รัฐบาล เพราะในข้อเสนอของ กมธ. มีข้อเสนอถึงฝ่ายบริหารด้วยบางส่วน เช่น การช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีที่ถูกคุมขังอยู่ให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยคนที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ก็ห้ามไปทำผิดซ้ำ และเมื่อสภาพิจารณารายงานดังกล่าวเสร็จในวันพฤหัสบดีนี้แล้ว พรรค พท.ต้องมาพิจารณาได้แล้วว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภาได้หรือยัง เพราะญัตติให้มีตั้ง กมธ.ชุดนี้ก็มาจากการเสนอของ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อของพรรค ซึ่ง กมธ.ก็ใช้เวลาศึกษาจนเสร็จออกมาเป็นรายงานและส่งเข้าสภาแล้ว ดังนั้น พรรคต้องมาประชุมกันเพื่อมีความเห็นให้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้าสภาในสมัยประชุมหน้าเลย

 “ผมเห็นว่าต้องนิรโทษกรรมทั้งหมด รวมถึงให้นิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย เพราะเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ใช่ยกเลิกมาตรา 112 และพรรคเพื่อไทยต้องทำกฎหมายนิรโทษกรรมเสนอเข้าสภาได้แล้ว จะไม่ทำไม่ได้ มันถึงเวลาแล้ว  เพราะเราไม่ได้ทำแบบพิสดารอะไร อย่างการให้นิรโทษกรรมคดี 112 ก็ให้นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เพราะตอนนี้หลายคนได้รับผลกระทบมาก เยาวชนหลายคนที่โดนคดี 112 บางคนก็ต้องเสียชีวิต บางคนก็ไม่ได้เรียนหนังสือต้องออกมา บางคนก็ต้องหนีไปต่างประเทศ อย่างที่ผมเคยบอกก่อนหน้านี้ ปีนี้คือปีมหามงคล น้ำท่วม คนเดือดร้อน ก็มีถุงยังชีพไปช่วยประชาชน หากนิรโทษกรรมตอนนี้ก็คือสิ่งที่ดี” นพ.เชิดชัยระบุ   

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมความผิดในคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  กมธ.หาข้อสรุปไม่ได้ และให้ กมธ.แต่ละคนบันทึกความเห็น โดยแบ่งความเห็นเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวมมาตรา 112 เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวมมาตรา 112 อย่างมีเงื่อนไข และ 3.รวมมาตรา 112 โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งส่วนตัวยืนยันว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด

“ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ระบุไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องการเมือง หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ” นายธนกรกล่าว

นายธนกรกล่าวด้วยว่า ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 7 ส.ค.2567 ระบุถึงพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองในประเด็นการยื่นแก้ไขมาตรา 112 ดังนั้นเมื่อเทียบเคียงกับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตรา 112 มีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกล ดังนั้นในการประชุมสภาเรื่องนี้จะขอใช้เอกสิทธิ์ สส. ไม่รวมการนิรโทษกรรมให้กับคดีมาตรา 112

“ผมเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต แต่ไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชัน และการพิจารณาการนิรโทษกรรมควรต้องพิจารณารอบคอบ เชื่อว่าสภาเองก็ต้องพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสีย ทั้งนี้ หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26 ก.ย. มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญควรต้องมีผู้รับผิดชอบ” นายธนกรกล่าว

สำหรับรายงานของ กมธ.ที่จะเสนอความเห็น-ข้อเสนอ และข้อสังเกตของคณะ กมธ.นั้น กมธ.เห็นว่า สำหรับขอบเขตการนิรโทษกรรมนั้น ให้หมายความถึงบรรดาการกระทำใดๆ หากเป็นความผิดตามบัญชีแนบท้ายร่างพระราชบัญญัติให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ถือเสมือนว่าบุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด พร้อมกับให้นิยามคำว่า การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้ว่าให้หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

ส่วนในประเด็นว่าจะให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า กมธ.เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่ให้มีการทำความเห็นในนาม กมธ.ไว้ในรายงาน แต่ให้ กมธ.แต่ละคนเสนอความเห็นไว้ และบันทึกถ้อยคำการแสดงความเห็นไว้ในรายงานโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งในส่วนคดีที่มีความอ่อนไหวคือคดีความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 มีการแสดงความเห็นออกเป็น 3 แนวทาง 1.ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 14 คน มีอาทิ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา, นายนพดล ปัทมะ จากพรรคเพื่อไทย และนายวุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 2.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข 14 คน เช่น นพ.เชิดชัย และนายรังสิมันต์ โรม จากพรรคประชาชน และ 3.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว 4 คน เช่น น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม พรรคประชาชน, ม.ล.ศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ในขณะเดียวกันมีผู้ไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็นด้วย 4 คน  โดยมีชื่อของ น.ส.ขัตติยารวมอยู่ด้วย ทั้งที่ น.ส.ขัตติยาเป็นผู้เสนอญัตติดังกล่าวให้สภาตั้ง กมธ.

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่เสนอเข้าสภาแล้วหลายร่าง เพื่อรอการพิจารณาของสภา เช่น ร่างของพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชน, ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ,  ร่างฉบับประชาชน ที่เสนอโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 36,723 คน เป็นต้น โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไป เช่น ของพรรค รทสช. ไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 แต่ร่างภาคประชาชนให้นิรโทษกรรมครอบคลุมถึงคดีตามมาตรา 112.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หนุน 'ปชน.' ยุติรื้อจริยธรรม ไม่เห็นด้วยยังดันทุรังแก้รธน.รายมาตรา

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เห็นด้วยกับการยุติแก้ไขประมวลจริยธรรมนักการเมือง ของพรรคประชาชน

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.