สว.ขวางแก้รธน.! ลั่น!จริยธรรมอยู่ที่ตัวคน ‘ถ้าไม่ชั่วกลัวอะไร’ / สุทินอ้างเติมพลัง

สว.เริ่มฮึ่ม! ขวางสภาผู้แทนฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกคำปฏิญาณตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ก็บอกว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แล้วจู่ๆ จะมาแก้ไข  รธน. ลั่น! จริยธรรมมันอยู่ที่ตัวคน ถ้าไม่ใช่คนชั่วกลัวอะไร “สมชาย” อัดพรรคเพื่อไทย-ประชาชน  ผลประโยชน์ทับซ้อน รอวัดใจพรรคร่วมรัฐบาลร่วมสังฆกรรมหรือไม่ "สุทิน" อ้างก่อนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ นักการเมืองต้องมีพลังพอเพื่อทำให้พี่น้องก่อน

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 พ.ต.อ.กอบ อัจนากิตติ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมีความเคลื่อนไหวยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในเดือนตุลาคมว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ เช่น สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกรัฐสภา  ดังนั้นทุกคนต้องเคารพรัฐธรรมนูญก่อนเป็นลำดับแรก เวลาปฏิญาณตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ก็บอกว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แล้วจู่ๆ จะมาแก้ไข รธน. แล้วที่ออกสื่อว่าจะแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ในเมื่อไม่มีจริยธรรมแล้วคุณมาเป็นนักการเมืองทำไม

"จริยธรรมมันอยู่ที่ตัวคน หากคุณคิดเสียสละเพื่อบ้านเมือง ต้องมีจริยธรรมก่อนเป็นลำดับแรกเลย ซึ่งจริยธรรมคือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ละอายและเกรงกลัวต่อการปฏิบัติตัวผิด ทุจริตคิดมิชอบ  เท่านี้เอง นี้คือจริยธรรม หากนักการเมืองไม่มีจริยธรรม ก็กลับไปอยู่บ้านเลย เพราะที่รัฐสภาไม่ใช่จะมาทำอะไรตามอำเภอใจ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายพรรคการเมืองให้เหตุผลว่า ที่เสนอแก้ไขมาตรา 160 (4) และ (5) เพราะไม่มีความชัดเจน เลยต้องเสนอแก้ไขให้ชัดเจน  สมาชิกวุฒิสภาผู้นี้ตอบว่า จะมาแก้ไขเรื่องนี้ มันอยู่ในตัวคน เพียงแต่มาเขียนให้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเอง แล้วคุณจะไปกลัวอะไร เรื่องต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ถ้าคุณไม่ใช่คนชั่ว คุณกลัวอะไร

"ถ้าจะแก้ไขตอนนี้ ผมไม่เห็นด้วยในการจะมาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้ไปแก้ปัญหาปากท้องประชาชนก่อน อย่างที่ผมอภิปรายไว้ตอนรัฐบาลแถลงนโยบาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ส่วนจะแก้ไขอย่างไรต่อไป ก็ว่ามา ให้เห็นเป็นร่างก่อน จะมาพูดตีปลาหน้าไซว่าจะแก้อะไรตรงไหน ผมไม่เห็นด้วย คุณมาทำให้ผมเห็นก่อน และในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ก็เขียนไว้ว่า วิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาช่วงที่ผ่านมา ก็เพราะมีบางคนไม่เคารพกติกาบ้านเมือง ไม่เคารพกฎหมาย กฎหมายเมืองไทยมีมากมาย แล้วบังคับใช้เต็มประสิทธิภาพหรือยัง นี่ต่างหากที่ต้องไปทำ"

เมื่อถามว่า การแก้ไข รธน.ดังกล่าว เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ แก้เพื่อตัวเอง พ.ต.อ.กอบตอบว่า ถูกต้องอยู่แล้ว แต่เขาคงไม่รับหรอก

ถามอีกว่า หากจะเสนอแก้ไข รธน.เรื่องมาตรฐานจริยธรรมอะไรต่างๆ เห็นด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.กอบปฏิเสธว่า "ไม่เอา ไม่แก้ ผมถือว่าคนต้องมีจริยธรรมก่อน ผมชัดเจนอยู่แล้ว เพราะผมไม่ได้มาด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนกับใคร"

การปฏิวัติไม่ใช่ปัญหา

สำหรับ พ.ต.อ.กอบนั้น ช่วงที่ผ่านมาตกเป็น สว.คนดัง หลังโซเชียลมีเดียเผยแพร่คลิปการอภิปรายนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง พ.ต.อ.กอบอภิปรายตอนหนึ่งว่า “รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา การปฏิวัติไม่ใช่ปัญหา แต่คนโกงเป็นปัญหาและเป็นต้นเหตุ” จนทำให้โซเชียลมีเดียมีการแชร์คลิปดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ที่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ร่างแก้ไข รธน.ที่จะผ่านความเห็นชอบทั้งวาระหนึ่งและวาระสาม  ต้องได้เสียงโหวตเห็นชอบจาก สว.อย่างน้อย 67 เสียง

ด้านนายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นแกนนำหลักของอดีตกลุ่ม 40 สว.สมัยที่ผ่านมา ซึ่งร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายเศรษฐา ทวีสิน จนทำให้นายเศรษฐาพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าการยื่นแก้ไข รธน.ครั้งนี้เป็นการทำเพื่อนักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม การเสนอแก้ไข รธน.รายมาตรา ทั้งเรื่องอำนาจศาล รธน.หรือแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี  ไม่เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ตรงไหน มันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของพวกคุณด้วยซ้ำไป ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วยกับร่างที่เสนอ

อดีต สว.ผู้นี้เผยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านการทำประชามติ 16 ล้านเสียง แต่ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่แก้ไขไม่ได้ หลักสำคัญสามอย่างที่ยังคงยึดมั่นอยู่ในรัฐธรรมนูญคือ หนึ่ง หลักแก้ไขไม่ได้เลย ก็คือเรื่องรัฐไทยเป็นหนึ่งเดียว, สอง แก้ง่าย ที่ก็เคยแก้ไขมาแล้วในรัฐสภาสมัยที่ผ่านมา คือแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง เปลี่ยนจากระบบเลือกตั้ง สส.แบบบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ, สาม แก้ยาก ที่เป็นหลักความคุ้มครองหลักนิติรัฐ นิติธรรม และการปฏิรูปประเทศ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมถึงองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจหน้าที่ต่างๆ การออกแบบให้มี ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ใช่เพิ่งเกิดในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เกิดมาตั้งแต่ รธน.ปี 2540 โดยที่ผ่านมาทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

ป้องกันคนไม่ดีมีอำนาจ

กรณีที่เสนอแก้ไข รธน.เรื่องศาลรัฐธรรมนูญเวลานี้ พรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านคือพรรคประชาชน อาจจะมีการแสวงจุดร่วมเพราะทั้งสองฝ่ายได้เคยถูกศาล รธน.วินิจฉัยโดยหลักนิติรัฐนิติธรรมแล้วทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันไม่ให้คนไม่ดีเข้ามามีอำนาจ รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติเรื่องรัฐมนตรี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต้องไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ปัญหามันจึงอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ และไม่ได้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหามันอยู่ที่ดุลยพินิจ และการเลือกใช้คน รัฐธรรมนูญปี 2560 จึงออกแบบมาให้นายกรัฐมนตรี พรรคการเมือง ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ด้วยการต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และไม่ประพฤติผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อมาบริหารประเทศ

“รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5)  เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว และยิ่งชัดมากขึ้นเมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ยิ่งเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นเรื่องที่วิญญูชนรู้ดีอยู่แล้วว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างไร อย่างเช่นเรื่องถุงขนม 2 ล้านบาท เรื่องนี้ก็เพียงแค่คนไหนมีปัญหาก็อย่าตั้งให้มีตำแหน่ง ถ้าตั้งโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีเบื้องลึกแอบแฝงมาหรือเป็นเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ก็ตั้งได้ทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้มีความผิด ไม่อย่างนั้นประเทศชาติไปไม่ได้ ถ้าไม่มีกรอบกติกา การจะเสนอแก้ไข รธน.โดยอ้างว่า รธน.มาตรา 160 (4) และ (5) บัญญัติไม่ชัดเจนนั้น มันเป็นความไม่ชัดเจนของพวกคุณกันเอง เพราะมีทั้งคำตัดสินของศาลฎีกา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมฯ ออกมาแล้ว"

นายสมชายกล่าวด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังเริ่มดำเนินการต่อจากนี้ ไม่เชื่อว่าประชาชนจะลงประชามติเห็นด้วย อยากจะแก้ไขก็ทำกันไปในรัฐสภา จะได้เป็นการพิสูจน์ว่า พรรคเพื่อไทย ที่กำลังจะเข้าไปลิดรอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น การแก้ไขให้การลงมติวินิจฉัยคดีในการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งต้องใช้เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 2 ใน 3 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว พวกพ้อง หรือทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเอง ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา จะไปเห็นพ้องด้วยหรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ไม่เชื่อว่าประชาชนจะออกเสียงประชามติให้ผ่าน

ศาลรับผิดชอบต่อบ้านเมือง

เขายังกล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ผลการลงมติให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งโดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการศาล รธน.ที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยกล่าวว่า ถ้าแบบนี้ เหตุใดไม่แก้เรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาและวุฒิสภาไปด้วย โดยแก้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่จะผ่านความเห็นชอบจากสภาและวุฒิสภา ต้องได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ ทำไมให้ใช้เสียงแค่เกินกึ่งหนึ่งของสภา ที่มี สส. 500 คน สว. 200 คน

นายสมชายบอกว่า เมื่อก่อนเวลามีประชุม เช่น สว.มาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง สว.ลงมติเสียงข้างมาก 80 เสียงต่อ 70 เสียง กฎหมายก็แก้ไขได้แล้ว ไม่ถึงกึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยศาล รธน. จนรัฐธรรมนูญเขียนในเวลาต่อมาว่าสมาชิกต้องมาเป็นองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง และเสียงเห็นชอบต้องมีเกินกึ่งหนึ่ง การวินิจฉัยคดีของศาล รธน.ไม่ได้วินิจฉัยแบบชุ่ยๆ กว่าจะออกคำวินิจฉัยมา ต้องมีการไต่สวนคดี กว่าจะออกมาเป็นคำวินิจฉัย ศาลต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าเสียงข้างมากจะออกมาอย่างไร จะเป็น 5 ต่อ 4 หรือ 6 ต่อ 3 ก็ต้องใช้ดุลยพินิจกันเยอะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเวลาวินิจฉัยคดีต่างๆ แล้ว สส.เคยเขียนอะไรหรือไม่เวลา สส.ลงมติเรื่องต่างๆ หากเข้าใจเรื่องนี้ มันก็เหมือนกัน คือเป็นเรื่องหลักการ เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ถูกต้องเหมาะสมแล้วสำหรับการลงมติวินิจฉัยคดีของศาล รธน. ไม่จำเป็นต้องมาแก้ไขโดยให้เป็นมติ 2 ใน 3 แต่อย่างใด

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์โดยยืนยันว่า เห็นด้วยกับมาตรฐานจริยธรรม และการตรวจสอบพฤติกรรม ตลอดจนการทุจริตของนักการเมือง แต่ทุกอย่างควรมีถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ที่ประชาชนทุกคนเข้าใจและยึดถือปฏิบัติได้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

ไม่ควรมีอำนาจมากเกินไป

ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ทวีให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ 2  ครั้ง ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา คือวันที่ 18 และ 19 ก.ย.2567 โดยในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งแรก มีคำสำคัญที่ถูกนำไปเสนอข่าวอย่างกว้างขวาง คือไม่ควรให้เรื่องจริยธรรมเกิดการตีความได้อย่างไม่มีขอบเขต จนกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของบางคนบางฝ่ายในการใช้ตีความให้เกิดผลร้ายทางการเมือง ส่วนการให้สัมภาษณ์ครั้งหลัง พ.ต.อ.ทวี  ยกตัวอย่างทำนองว่า แม้แต่ผู้พิพากษาเองอาจเคยเป็นผู้กระทำความผิดตอนที่เป็นเด็กก่อนอายุ 18 ปี  มีประวัติอาชญากร แต่ก็สามารถเป็นผู้พิพากษาได้ เพราะมีกฎหมายปกป้องเด็กเอาไว้ หากเด็กและเยาวชนกระทำผิดก่อนอายุ 18 ปี ไม่ให้บันทึกประวัติ จึงเหมือนเป็นการล้างโทษ สามารถรับราชการเป็นตุลาการก็ยังได้ ซึ่งภายหลังคำให้สัมภาษณ์เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีบางฝ่ายหยิบบางช่วงบางตอนไปโจมตีและทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ล่าสุด พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนชี้แจงโดยย้ำว่า เห็นด้วยกับการตรวจสอบจริยธรรม รวมถึงพฤติกรรมส่อทุจริตต่างๆ แต่ต้องมีนิยามที่ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดการตีความมากเกินไปจนไม่มีบรรทัดฐานที่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่อง “ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “มาตรฐานจริยธรรม” ซึ่งวันนี้ถูกนำมาเป็นประเด็นทำลายล้างทางการเมืองอย่างกว้างขวาง

ส่วนการที่ตนยกตัวอย่างผู้พิพากษาเคยทำผิดเมื่อครั้งที่เป็นเยาวชนนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และไม่ได้ต่อว่าใคร เพียงแต่ต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า ทุกเรื่องควรมีขอบเขตที่ชัดเจน อย่างเช่นการกระทำผิดในวัยเด็ก หรือช่วงที่เป็นเยาวชน พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว คุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน ห้ามมิให้เปิดเผยหรือนำประวัติการกระทำความผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชน ป้องกันการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมแก่เด็กหรือเยาวชน ที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้เด็กคนหนึ่งที่เคยกระทำผิดไม่ถูกเปิดเผยประวัติยังสามารถรับราชการในหน่วยงานรัฐต่างๆ บางคนเป็นถึงผู้พิพากษาได้ และทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมได้ ตนยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าทุกเรื่องควรมีขอบเขต  นิยาม และบรรทัดฐานที่ชัดเจนเท่านั้น

พ.ต.อ.ทวีกล่าวด้วยว่า องค์กรอิสระไม่ควรมีอำนาจมากเกินไป ควรอยู่ในจุดสมดุล แม้ว่าองค์กรอิสระมีไว้เพื่อถ่วงดุล แต่ควรอยู่ในกรอบที่มีความชัดเจน จะได้ไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะสุดท้ายผลร้ายก็จะตกอยู่ที่องค์กรอิสระนั้นๆ เอง ส่วนการตรวจสอบทุจริตหรือการกระทำผิดนั้น ตนเห็นด้วยแน่นอน และไม่ได้คัดค้านแต่ประการใด

นักการเมืองต้องมีพลัง

ส่วนนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้มาจากเสียงเรียกร้องจำนวนไม่น้อย เราฟังจากเสียงทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาสังคม นักวิชาการ แต่การที่เราจะแก้รัฐธรรมนูญวันนี้ไม่ได้รีบร้อนมากจนทิ้งปัญหาของประชาชน จะเห็นได้ว่าเราทำควบคู่กันไป ดังนั้น เราทำและคำนึงความสำคัญของทุกฝ่ายไม่ให้กระทบปัญหาปากท้องของประชาชน

เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่บางส่วนมองว่าแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นผลประโยชน์กับนักการเมือง นายสุทินกล่าวว่า การมองรัฐธรรมนูญต้องมองเป็นหลายชั้น คืออาจจะมองว่าเป็นประโยชน์กับนักการเมือง แต่ถ้านักการเมืองเข้มแข็งหรือมีอำนาจยึดโยงกับประชาชน และสามารถใช้อำนาจนั้นทำงานสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนได้  และนั่นคือประโยชน์ของประชาชน ซึ่งก่อนที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ นักการเมืองต้องมีพลังพอเพื่อทำให้พี่น้อง อย่างไรก็ตาม ประชาชนจะได้รับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เมื่อสมบูรณ์อำนาจของประชาชนก็จะยิ่งใหญ่ด้วย

นายสุทินกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญหลายฉบับไปตัดทอนอำนาจและวางระบบให้นักการเมืองทำงานไม่ได้ ถ้านักการเมืองทำงานไม่ได้ ก็จะสนองต่อประชาชนไม่ได้ ฉะนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ที่ตัวของกฎหมายไปทำให้นักการเมืองอ่อนแอ  ประชาชนจะพึ่งใครก็ไม่ได้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่หลายพรรคเห็นตรงกันที่จะแก้ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมให้มีความชัดเจน ไม่เกิดปัญหาในการบังคับใช้ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เสนอให้ยกเลิกในประเด็นจริยธรรมนี้  เพียงแต่จะเสนอให้มีความชัดเจนและเป็นมาตรฐานที่ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติได้ บนพื้นฐานที่ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์ ส่วนประเด็นปัญหาการครอบงำ เป็นคนละส่วนกัน เป็นขั้นตอนเตรียมยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา และพิจารณาแก้ไขในหลายประเด็น อาทิ การแก้ไขความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. ทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้  สิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคควรเปิดกว้างให้ทุกคน

“กฎหมายพรรคการเมืองเรื่องการครอบงำควรปรับให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไรๆ ถือว่าครอบงำไปเสียหมด” นายอนุสรณ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ไอติม-กมธ.การเมือง' รุดขอความชัดเจนศาลธรน. หวังได้คำตอบปมทำประชามติ 2 ครั้ง

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการเมืองการมีส่วนร่วม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่าการ