เลขาฯสภายัน ‘ป้อม’ยื่นใบลา ปปง.เริ่มขยับ!

"เลขาฯ สภา" ยืนยัน "บิ๊กป้อม" ส่งใบลาทุกครั้งที่ไม่เข้าประชุมสภา ระบุว่าติดภารกิจ  หลักฐานทุกอย่างอยู่ที่รองประธานสภาฯ เผย  สส.สามารถลาประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของวันประชุม ขณะที่ศึกนักร้องฟ้องกันนัวเนีย ปปง.อยู่ระหว่างตรวจสอบปม "เด็จพี่" ร้องสอบ "ประวิตร"  เรียกรับเงิน ส่วนทนายความร้องตำรวจสอบ  “เรืองไกร” ร้องสอบนายกรัฐมนตรีโอนหุ้นเข้าข่ายแจ้งความเท็จ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อสงสัยในการไม่เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ  และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า สส.จะสามารถลาประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของวันประชุม ในสมัยประชุม ที่มีจำนวน 120 วัน ฉะนั้นในช่วงสมัยประชุม 120 วัน ก็ต้องคำนวณว่ามีการประชุมสภากี่ครั้ง  เพื่อไม่ให้เกิน 1 ใน 4 หากขาดเกิน 1 ใน 4 ก็ถือว่าขาดประชุม

เลขาธิการสภาฯ กล่าวต่อว่า ในทางปฏิบัติเรามีระเบียบการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุม สส.จะทราบระเบียบนี้ ซึ่งมีแบบฟอร์มที่สามารถจะยื่นลาประชุมได้ล่วงหน้าก่อนวันประชุมและหลังจากวันประชุมได้ภายใน 7 วัน  และเป็นดุลพินิจในการอนุญาตของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ผ่านมาประธานสภาฯ ได้มอบหมายให้นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในขณะนั้นเป็นผู้อนุญาต และเมื่อได้ยอดในแต่ละครั้ง ก็จะทำยอดรวมเพื่อรายงานประธานสภาฯ ให้ทราบว่ามีสมาชิกลาเท่าไหร่  และหากการลานั้นได้รับอนุญาตจากประธาน ก็ไม่ถือว่าเป็นการขาดประชุม แม้จะเกิน 1 ใน 4 ของวันประชุมก็ตาม โดยให้ยึดตามใบลา และถ้าขาดประชุม 1 ใน 4 โดยที่ประธานไม่ได้อนุญาต  ก็ถือว่าขาดการประชุม จะมีผลต่อสมาชิกภาพของ สส.คนนั้น แต่ส่วนมาก สส.ก็จะยื่นใบลา และได้รับการอนุญาต

เขากล่าวว่า กรณีที่ พล.อ.ประวิตรถูกยื่นสอบจริยธรรมในเรื่องนี้นั้น เป็นส่วนที่คณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมเป็นผู้พิจารณา ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในเรื่องนี้ ทราบว่า พล.อ.ประวิตรได้ยื่นใบลาในเวลาที่ไม่มาประชุมทุกครั้ง โดยระบุเหตุผลว่ามีภารกิจในวันนั้น และนายพิเชษฐ์ก็จะพิจารณาอนุญาต ซึ่งมีหลักฐานการลาของ พล.อ.ประวิตรอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ยังมี สส.คนใดมีปัญหาเรื่องวันลาประชุมอีกบ้าง ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ตอบว่า ยังไม่มี เพราะสมาชิกส่วนมากจะยื่นลาก่อนประชุมและหลังประชุม

เลขาธิการสภาฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับเอกสารการลาของ สส. ประชาชนสามารถตรวจสอบได้เบื้องต้นว่า ขาด ลา กี่ครั้ง โดยสามารถขอที่กลุ่มงานข้อมูลข่าวสาร เพราะถือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้ แต่จะไม่สามารถทราบเหตุผลการลาของ สส.ได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนั้นจะมีเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ  ที่สามารถเข้าไปขอข้อมูลเกี่ยวกับการลาของสมาชิกได้อีกด้วย

วันเดียวกันนี้ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการฟอกเงิน หรือ ปปง. เปิดเผยกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อ ปปง. ให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินและดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับ พล.อ.ประวิตร  กรณีมีคลิปเสียงหลุดเรียกรับเงินเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียว่า ปปง.ได้รับหนังสือและเอกสารรวมถึงหนังสือดังกล่าวไว้แล้ว และส่วนตัวก็ได้เห็นเอกสารหลักฐานแล้ว แต่ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามขั้นตอน

ซึ่งขั้นตอนหลังจากรับหนังสือ ทาง ปปง.ก็จะตรวจสอบว่าเข้าข่ายมูลฐานความผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากเข้าข่ายความผิดมูลฐานแล้ว ก็จะมาดูว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง และเกี่ยวข้องอย่างไร ต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางการเงิน เพื่อมอบหมายตรวจสอบเชิงลึก และทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามขั้นตอน คล้ายกับการทำคดีอาญาของพนักงานสอบสวนตำรวจ โดยมีกรอบเวลาการทำงานอยู่แล้ว โดยต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่สักระยะ เนื่องจากเพิ่งได้รับเรื่องมาเมื่อ 2 วันก่อน ขณะเดียวกันหากตรวจสอบแล้วไม่มีความผิดมูลฐานก็ต้องยุติการตรวจสอบ

เลขาธิการ ปปง.กล่าวย้ำว่า ปปง.ไม่ได้ทำงานตามบริบทสังคมหรือการเมือง แต่ทำอย่างตรงไปตรงมา รอบคอบ เบื้องต้นยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และยังไม่ถึงขั้นเรียก พล.อ.ประวิตร หรือบุคคลที่อยู่ในคลิปมาให้ข้อมูล เรื่องยังไม่ถึงขั้นนั้น

ที่ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นายเดชา บัวปลี ทนายความ นำข้อกฎหมายและภาพข่าววันที่ 28 ส.ค. และวันที่ 4 ก.ย.67 เข้าร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบการร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลังเจ้าตัวได้ส่งหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่ามีการลาออกจากกรรมการบริษัทต่างๆ จำนวน 21 บริษัท เมื่อวันที่ 15 ส.ค.จริงหรือไม่ และเหตุใดจึงจดทะเบียนกรรมการออกในวันที่ 19 ส.ค. ปีเดียวกันหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ซึ่งความผิดดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และยังยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนมองว่า อาจเป็นความผิดในข้อหาแจ้งความเท็จและนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เนื่องจากตนได้ตรวจสอบข้อกฎหมายและพบว่า ตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี หากนายกรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯ จะมีเวลาให้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายใน 90 วัน นับจากได้รับแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ทราบ แล้วยังมีกรอบเวลาอีก 10 วัน

ซึ่งตามข้อกฎหมายนี้ นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์แจ้งประธาน ป.ป.ช.ใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งวันสุดท้ายที่มีสิทธิ์ทำหนังสือแจ้งคือวันที่ 17 ก.ย. และวันสุดท้ายที่นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายใน 90 วัน ซึ่งหากดูระยะเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.67 จะพบในวันที่ 18 ธ.ค.67 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่จะกระทำได้ภายในกรอบเวลาของกฎหมาย คนจึงบอกว่าการกระทำดังกล่าวของนายเรืองไกรอาจเป็นการกระทำความผิดตามข้อกฎหมายข้างต้น จึงขอให้ตำรวจสอบสวนกลางทำหนังสือถึง กกต. ขอข้อมูลการร้องเรียนของนายเรืองไกรวันที่ 28 ส.ค. และ 4 ก.ย. มาตรวจสอบว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่

ทั้งนี้ นายเดชายืนยันว่า ตนไม่ได้มีเบื้องหลังหรือรับงานใดๆ มาจากกลุ่มการเมือง แต่เป็นการร้องด้วยความเห็นและข้อมูลความรู้ด้านข้อกฎหมายของตนเอง เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการร้องเรียนจนทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินจนเกิดผลกระทบในด้านต่างๆ

 “ส่วนการที่นายเรืองไกรจะร้องเรียนก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ แต่ควรตรวจสอบข้อกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะทำผิดหรือไม่ได้กระทำผิดก็ได้ ส่วนการกระทำของนายเรืองไกร จะเป็นการร้องเรียนกลั่นแกล้งหรือไม่นั้น ตนขอไม่ให้ความเห็น แต่ต้องการให้ตำรวจตรวจสอบการร้องเรียนดังกล่าว” นายเดชากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.