กระเตง‘พ่อนายกฯ’ แก้กม.ลูกปมสมาชิก/‘ภท.-รทสช.’ยี้รื้อจริยธรรม

“วันนอร์” พลิกเตรียมชำเรารัฐธรรมนูญก่อนกลาง ต.ค. “ชูศักดิ์” ขยันจัดเตรียมชงแก้ไขกฎหมายลูก รีบปัดไม่เกี่ยวกับเอื้อนายใหญ่ อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ “ภูมิธรรม” บอกสัปดาห์หน้าหารือพรรคร่วมให้ตกผลึกว่าจะแก้ไขเรื่องใด “ภท.-รทสช.” ส่งเสียงแล้ว บอกรื้อเรื่องมาตรฐานจริยธรรมสุ่มเสี่ยง “พริษฐ์” ท่องคาถาต้องไม่ให้องค์กรอิสระผูกขาดอำนาจ “อดีตเด็ก ปชป.” ซัดทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะ “พท.-ปชน.” มีคดีค้างอยู่

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ย.2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวว่า ยังไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. แต่เมื่อได้รับแล้วฝ่ายกฎหมายกับกองงานประชุมก็จะเสนอเข้ามาเพื่อดำเนินการบรรจุระเบียบวาระ โดยขั้นตอนต่อไปจะเชิญประชุมผู้แทนรัฐบาลกับวิปสามฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อนัดวันที่ชัดเจนในการพิจารณา ซึ่งเดิมบอกว่าจะประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในช่วงกลางเดือน ต.ค. แต่หากเสร็จเรียบร้อยอาจพิจารณาก่อนกลางเดือน ต.ค.ก็ได้ เพราะขณะนี้ร่างแก้ไขฯ ของฝ่ายค้านยื่นมาหมดแล้ว

เมื่อถามว่า วันที่ 25 ก.ย.จะยังประชุมร่วมกันของรัฐสภาอยู่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ไม่มี เพราะหากจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าวก็ไม่ทัน เนื่องจากต้องบรรจุระเบียบวาระก่อนล่วงหน้า 5 วัน

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวถึงการเตรียมยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ว่า จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา และพิจารณาในรัฐสภา โดยจะแก้ไขในหลายเรื่อง เช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัคร สส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ คิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรคควรเปิดกว้างให้กับทุกคน

เมื่อถามว่า การแก้ไขนี้เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรค พท.ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร คิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย ก็ไม่ต้องไปพูดว่าหมายถึงใครยังไงอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว.ไม่เห็นด้วย ส่วน สว.ปัจจุบันจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ว่าในอนาคต ขณะเดียวกันก็จะไปดูการแก้เรื่องยุบพรรค การครอบงำพรรค ว่าจำกัดไว้อย่างไรให้เหมาะสม โดยเรื่องการยุบพรรคเราก็จะเน้นไปที่เรื่องเฉพาะการล้มล้างการปกครอง ส่วนเรื่องอื่นๆ ไม่เอาถูกยุบพรรค ส่วนเรื่องการครอบงำก็จะปรับว่าจะทำอย่างไรให้รัดกุมขึ้น ไม่ใช่อะไรๆ ก็ครอบงำหมด

เมื่อถามว่า กังวลข้อหาหรือไม่ว่าการแก้ไขกฎหมายจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง นายชูศักดิ์ระบุว่า ขอย้ำว่าเราทำกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรมพอสมควร พูดง่ายๆ คนที่ถูกตัดสินให้รอลงอาญาท้ายที่สุดเป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ เป็นธรรมหรือไม่ ถ้ามาตั้งคำถามว่าแก้เพื่อตัวเองอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็ตั้งคำถามได้หมด

ชงแก้กฎหมายลูก

นายชูศักดิ์ยังกล่าวว่า จะยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ว่าจะแก้ในบางประเด็น กรณีแรกคือมีความผิดบางประเภทที่ ป.ป.ช.สั่งไม่มีมูลหรืออัยการสูงสุด (อสส.) สั่งไม่ฟ้อง ก็ให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีได้เอง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายซึ่งเคยยื่นมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดมีข้อทักท้วงบางประการก็นำกลับมาแก้ และขณะนี้ก็จะแก้ใหม่ พร้อมทั้งแก้เรื่องอื่นๆ ไปด้วย เช่น เรื่องอำนาจฟ้องเองของ ป.ป.ช. เรามองว่ากรณีที่ ป.ป.ช.มีคำสั่งว่ามีมูลหรือฟ้อง แต่ อสส.สั่งไม่ฟ้อง ตั้งกรรมการร่วมกันก็บอกว่าไม่ฟ้อง แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ก็ไปฟ้องเอง ซึ่งหากเป็นแบบนี้เราก็มองว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่สอบสวนฟ้องร้องได้เองหมด ทำให้ขัดต่อหลักการคานอำนาจ

“อีกกรณี บางเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว ควรมีกำหนดเวลาในการรับเรื่องเพื่อทำให้ชัดเจน โดยขอบเขตระยะเวลาในการไต่สวนว่าควรเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะมีระยะเวลาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ไม่ใช่สอบไปเรื่อยๆ 10-20 ปี บางทีชี้มูลไปแล้วตอนเกษียณ เช่นอาจกำหนดไว้ 5 ปีก็ได้ ซึ่งการแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไปด้วย และ ป.ป.ช.คาดว่าสัปดาห์หน้าจะยื่นได้พร้อมๆ กัน” นายชูศักดิ์กล่าว

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการหารือพรรคร่วมรัฐบาลกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ได้ให้เลขาฯ ประสานกับหัวหน้าพรรคเพื่อพูดคุยภายในสัปดาห์หน้า ก่อนวันศุกร์ที่ 27 ก.ย. โดยจะเลือกวันที่ว่างพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นการหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อพูดคุยประเด็นปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือปัญหาบางส่วน ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราจะเป็นทางออกที่ช่วยได้ โดยต้องหารือว่ามีประเด็นใดบ้างที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ก็จะเป็นฉันทามติ เพราะทุกฝ่ายต้องเห็นปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง

ส่วนแนวโน้มพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นตรงกันหมดหรือไม่ในการแก้รัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ส่วนการแก้ไขเรื่องมาตรฐานจริยธรรมนั้น ทุกพรรคเห็นว่ามีหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไข ประเด็นที่เห็นต้องพ้องกันทั้งหมด จะเป็นเรื่องง่ายที่สุด ส่วนประเด็นที่เห็นต่างก็ต้องคุยกันให้จบ เช่นเดียวกับการแก้ไขอำนาจองค์กรอิสระ ก็ต้องหารือกับทุกคน เพราะเราเป็นรัฐบาลพรรคร่วม ดังนั้นการจะจัดการกับหน่วยงานหรือแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม ก็ควรเป็นการหารือกันทั้งหมด ขอเวลาคุยในสัปดาห์หน้าก็จะชัดเจน และจะประสานเข้าที่ประชุมสภาได้ ทั้งนี้ ต้องไปดูกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไร

เมื่อถามว่า ต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทยเป็นพิเศษหรือไม่ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับ สว. นายภูมิธรรมระบุว่า ไม่พิเศษ คุยปกติ ถ้าเห็นว่าสิ่งใดเป็นปัญหาก็แก้ได้ เพราะการแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้นต้องมีความหวังและใช้ความพยายาม เราจะประสานกับวิป สว.ด้วย เพราะ สว.เป็นส่วนหนึ่งในการที่แก้ไขปัญหา คิดว่าจะพยายามประสานทุกฝ่าย ซึ่งหากทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็จะเป็นเรื่องดีที่สุด ถ้าไม่เห็นพ้องต้องกันต้องดูที่เหตุผล และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายว่าจะต้องใช้เสียงอะไรอย่างไร

เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญในชั้นนักการเมืองจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในชั้นทำประชามติจากประชาชนจะมั่นใจหรือไม่ เพราะแก้เพื่อประโยชน์นักการเมืองฝ่ายเดียว นายภูมิธรรมกล่าวว่า ในทางปฏิบัติพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเรื่องอะไรที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหา สิ่งสำคัญไม่ใช่แก้เพื่อตัวเอง แต่เป็นการแก้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตรวจสอบ และการดำเนินการต่างๆ ให้ยุติธรรม ไม่ใช่เครื่องมือทางการเมืองที่จะนำมาประหารกัน เป็นเรื่องที่เราพยายามทำให้ระบบการตรวจสอบทั้งหลายเกิดการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เห็นประเด็นปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินปัญหาต่างๆ

ภท.-รทสช.เริ่มเห็นต่าง

เมื่อถามว่า จะเข้าทางนิติสงครามหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่อกระทำผิดกฎหมายเปิดช่องให้ยื่นตรวจสอบคนแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรมบอกด้วยว่า ไม่ต้องห่วงว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นนิติสงคราม เอาความตั้งใจ ปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง ถ้าเราตั้งใจปรารถนาดี และดูข้อกฎหมายครบถ้วน ทุกอย่างก็เดินหน้าได้และปรับปรุงแก้ไขได้ สิ่งที่รัฐบาล หรือฝ่ายค้านสร้างไว้ ไม่ว่าใครก็ตามต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง อะไรที่แก้ไขแล้วเป็นสิ่งที่ดีขึ้นต้องแก้ไขได้ อะไรที่เหมาะสมกับยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนยุคสมัยแล้วไม่สอดคล้องก็ต้องแก้ไข  ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจะทำควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่ขณะนี้กำลังรอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติในที่ประชุมวุฒิสภา และรอให้มีผลบังคับใช้

ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกรอบจริยธรรมของนักการเมืองและกรอบอำนาจองค์กรอิสระว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อน  มีคำถามว่าจริยธรรมเป็นไม้บรรทัดที่ต้องเข้มงวดกับนักการเมืองหรือไม่ ประชาชนมีมุมมองแบบไหน เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือไม่ นักการเมืองมองแทนประชาชนไม่ได้ คนพูดต้องเป็นประชาชน ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ ต้องแก้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนเลือก ส.ส.ร.เขียนกติกา รวมถึงจริยธรรมด้วย จะเข้มงวดแค่ไหน ถึงขั้นระดับศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาเลยหรือไม่

“ผู้มีส่วนได้เสียไปพูดสังคมไม่ฟัง เรื่องนี้คุยกับเพื่อน สส.บอกว่าอันตรายและเซนซิทีฟ ควรทำประชามติ ทำประชามติทั้งทีควรทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2  ตั้ง ส.ส.ร.แก้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ดีกว่าแก้เฉพาะ 2 ประเด็น พรรค ภท.ถึงไม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” นายภราดรกล่าว

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และผ่านการทำประชามติของประชาชน หากจะเป็นการแก้รายมาตรา ก็ควรแก้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อนจะดีกว่า โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) (5) มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง หากมีการแก้ไขตรงนี้ หรือทำให้เบาลง อาจเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้เข้ามามีอำนาจได้

“กรอบของคำว่าจริยธรรมในรัฐธรรมนูญ ถือเป็นด่านพิสูจน์เพื่อใช้กลั่นกรองบุคคลที่จะก้าวเข้าสู่อำนาจว่าเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่  เป็นการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น ถ้ารัฐสภาทั้ง สส.และ สว.ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมดังกล่าว อาจถูกสังคมและประชาชนมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แก้เพื่อนักการเมืองเสียเอง และหากถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบอาจส่อไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายได้ จึงควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ” นายธนกรระบุ

ขณะที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวในโครงการเสวนาวิชาการหัวข้อ “ทบทวนรัฐธรรมนูญ 2560 สู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เกณฑ์ที่จะใช้วัดว่าเราแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่ มี 2 เกณฑ์คือ ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและโดยเร็วที่สุด เพราะหากเราทำเพียงแค่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด โดยไม่สนใจเรื่องความชอบธรรม คิดว่าก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ได้

ย้ำหั่นอำนาจองค์กรอิสระ

นายพริษฐ์ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรค ปชน.มองว่ามีความสำคัญ เร่งด่วนและเป็นไปได้จริง ว่าได้เดินหน้าแล้ว 2 แพ็กเกจ โดยแพ็กเกจแรกคือการลบล้างผลพวงรัฐประหาร และแพ็กเกจที่สองคือการตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ โดยการตีกรอบอำนาจเรื่องของการยุบพรรคการเมือง ที่จะพยายามทำให้พรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น คือการทำให้พรรคการเมืองเกิดง่าย อยู่ได้ ตายยาก ส่วนการตีกรอบอำนาจเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กลับให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไปนิยามว่าอะไรคือมาตรฐานจริยธรรม และนำคำนิยามนั้นไปบังคับใช้ทุกองค์กร

“สิ่งที่เรากังวลคือการผูกขาดอำนาจมาตรฐานจริยธรรมในลักษณะนี้ ขณะที่การได้มาซึ่งองค์กรอิสระก็มีการตั้งคำถามว่า จะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริงหรือไม่ และเป็นการไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้บทบัญญัติเหล่านี้ก่อให้เกิดการตีความกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน ไม่เป็นธรรม สุ่มเสี่ยงที่จะใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เรื่องจริยธรรมจะถูกใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง” นายพริษฐ์กล่าว

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่) พ.ศ….. วุฒิสภา กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.ได้พิจารณาเนื้อหาทั้งฉบับเสร็จเรียบร้อย และมีการแก้ไขในประเด็นของถ้อยคำเท่านั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ได้เชิญ สว.ที่เสนอคำแปรญัตติ จำนวน 3 คน มาชี้แจงต่อที่ประชุม ทั้งนี้ มีเพียงผู้แปรญัตติ 1 คนที่ติดใจและสงวนความเห็นไว้ไปอภิปรายต่อที่ประชุม ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติ 2 ชั้น ทั้งนี้ กมธ.ไม่เห็นด้วย และให้ยืนตามร่างพ.ร.บ.ที่สภาเห็นชอบมา โดยสัปดาห์หน้า กมธ.จะนัดประชุมครั้งสุดท้าย เพื่อทำรายงานและตรวจทาน ก่อนจะส่งให้ประธานวุฒิสภาบรรจุวาระพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ช่วงวันที่ 1 ต.ค.นี้

ส่วนนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง ตรรกะวิบัติของ  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในกรณีให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรี โดยระบุว่าผู้ที่กระทำความผิดตอนที่เป็นเด็กอายุก่อนถึง 18 ปี มีประวัติอาชญากร ยังให้เป็นผู้พิพากษาได้เลย ว่าไม่เถียงเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนสากลของเด็กและเยาวชน  แต่ไม่เห็นว่าเกี่ยวอะไรกับเรื่องจริยธรรมของคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีตามที่ พ.ต.อ.ทวีหยิบยกมากล่าวอ้าง ซึ่งสิ่งที่ พ.ต.อ.ทวีแสดงความเห็น สะท้อนถึงตรรกะวิบัติของคนเป็น รมว.ยุติธรรม  ซึ่งควรมีความรู้เรื่องกฎหมายดี แต่กลับตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง เพราะประโยชน์บังตา คิดแต่จะกำจัดอุปสรรคในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองสีเทา จนหน้ามืดอ้างข้อกฎหมายที่ไม่สามารถเทียบเคียงกันได้

เตือนจุดจบไม่สวย

“ความกระสันของนักการเมืองที่จับมือกันจะแก้มาตรฐานจริยธรรมของคนเป็นรัฐมนตรีให้ได้ ตอกย้ำว่า สส.ที่ควรเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ยังคงทำหน้าที่ได้แค่เป็นตัวแทนของฝ่ายการเมือง ให้ความสำคัญกับการรักษาประโยชน์ของตัวเองมากกว่าการแก้ปัญหาของประชาชน และขอเตือนไว้เลยว่า เริ่มต้นแบบนี้จะทำให้รัฐบาลมีจุดจบไม่สวย ซึ่งจะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากตัวเองรนหาที่เอง” นายเชาว์ระบุ

อดีตรองโฆษกพรรค ปชป.ระบุด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการสุมหัวของนักการเมืองเพื่อแก้ไขกฎหมาย รัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเท่าที่มีอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ได้เดือดร้อนใคร นอกจากคนบางคนที่กำลังมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรม โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเคยถูกพิษจริยธรรมเล่นงานจนเป็นเหตุให้นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องกระเด็นจากเก้าอี้ จึงต้องรีบแก้เพราะนายกฯ คนปัจจุบันของพรรคเพื่อไทย มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรม ทั้งตนเองและแต่งตั้งบุคคลบุคคลอื่น ซึ่งไม่แน่อาจกระเด็นซ้ำรอยอดีตนายกฯ เศรษฐาหรือไม่ ขณะที่พรรคประชาชนที่ร่วมประสานเสียงเล่นด้วย ก็เพราะยังมีประเด็นเกี่ยวกับ 44 สส.พรรคก้าวไกลที่ถูกยุบพรรค มีผลต่อเนื่องตามมาจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีพฤติกรรมล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงด้วยหรือไม่ การจับมือกันเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมของสองพรรคใหญ่ จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากประโยชน์ส่วนตน มากกว่าผลประโยชน์ของชาติ

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องบัตรเชิญ ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่มันก็มีหลัก ไม่ใช่คิดจะแก้เพราะขัดอำนาจพวกตนก็จะแก้ได้

อ.ชูศักดิ์เร่งเดินหน้าเรื่องรัฐธรรมนูญ มันมองออก 2 แนว 1.เดินหน้าจริงจัง มันจะกลายเป็นใช้อำนาจเพื่อนายใหญ่ มันจะกลายเป็นอีก 1 เทียบเชิญให้ประชาชนไม่พอใจ เพราะไม่มีใครมั่นใจได้ว่า พรรคเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนคนไทย แต่ทุกคนมองเห็นแค่แก้เพื่อทักษิณ และ 2.เป็นการพูดเพื่อเบี่ยงประเด็นการเมืองจากความไร้ภาวะผู้นำของนายกฯ และเรื่องเงินดิจิทัล จะอย่างไรก็แล้วแต่ มันเป็นกองกฐินอีกกองไปแล้ว เตรียมไปทอดกฐินรัฐธรรมนูญกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.