"วันนอร์" ชี้ช่อง รธน.ไฟเขียวจับ "สส.พิศาล" จำเลยคดีตากใบ เผยได้รับหนังสือขอตัวจากศาลแล้ว ด้าน "พล.ต.ต.นิตินัย" เรียกฝ่ายกฎหมายถกรับมือ หลังผู้ต้องหาส่อหนียื้อจนคดีหมดอายุ ต.ค.นี้ ชี้ส่งผลลบ จนท.รัฐเกียร์ว่าง หวั่นมีประท้วง ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยื่นหนังสือถึงนายกฯ และ กมธ.กฎหมายฯ ห่วงตามจับจำเลย-ผู้ต้องหาก่อนหมดอายุความ
เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีตากใบ ถูกศาลนราธิวาสมีหนังสือด่วนที่สุด เพื่อขอตัวไปดำเนินคดีว่า ได้สอบถามจากเลขาฯ สภาแล้ว และได้รับรายงานว่า พล.อ.พิศาลมีใบลาการประชุม โดยให้เหตุผลว่าป่วย ซึ่งคงจะมีใบรับรองแพทย์มาด้วย และขณะนี้สำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งหนังสือขออนุญาตจับกุม พล.อ.พิศาลในระหว่างสมัยประชุมเพื่อขอไปดำเนินคดีได้ แต่เรากำลังพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งมีเพิ่มเติมวรรคที่ 4 ว่าในสมัยประชุมหรือนอกสมัยประชุม ถ้าศาลจะดำเนินคดีต่อสมาชิกรัฐสภา สามารถจะดำเนินคดีได้ หมายความว่าไม่ขออนุญาตก็สามารถดำเนินคดีได้
“ในเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญบันทึกไว้ว่า เดิมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 125 มีไว้เพื่อคุ้มครองสมาชิกรัฐสภา ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจเพื่อให้เขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 เพิ่มเติม วรรค 4 ว่าต้องให้ศาลมีอำนาจด้วย ไม่ใช่สภาเท่านั้นที่จะมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต จึงถือว่าไม่ต้องขออนุญาตสภาก็ดำเนินคดีได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา เช่น วันประชุมมาประชุมได้ แต่ถ้าไม่มาประชุม ศาลสามารถดำเนินการเรียกไปศาลได้ หรือถ้าไม่ไป ก็สามารถจับกุมได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต เมื่อศาลมีหนังสือมายังสภา ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดูว่า สภาจะดำเนินการโดยด่วนต่อไป” ประธานสภาฯ กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบ.กกล.ตร.จชต.) กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังศาลออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีตากใบว่า ยอมรับว่าส่งผลลบต่อเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ที่มีการไปฟ้องร้องต่อศาล ขณะเดียวกันเขาก็ได้สอบถามความคืบหน้าการดำเนินคดีไปที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ผ่านมามีการเยียวยากันครบหมดแล้ว แต่เมื่อคดีใกล้หมดอายุความ ก็ถูกสะกิดขึ้นมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้มาตรวจสอบพบว่าไม่เป็นไปตามขั้นตอน ก็มารับสำนวนดำเนินคดีไปประมาณ 8-9 คน ก่อนจะเป็นที่มาของคำสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นไปตามครรลองของข้อกฎหมาย ไม่สามารถก้าวล่วงได้ ตั้งแต่เริ่มที่เขาได้ไปแจ้งความและไปฟ้องร้อง ผลลบจะมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจจะไม่สมบูรณ์
เมื่อถามว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์ว่าจะมีการเคลื่อนไหวของญาติหรือประชาชนในพื้นที่หรือไม่ หากไม่สามารถนำผู้ต้องหาตามหมายจับมาขึ้นศาลได้ในระยะเวลาที่กระชั้นชิด เนื่องจากคดีความจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้ พล.ต.ต.นิตินัยกล่าวว่า ไม่สามารถตอบแทนญาติหรือมวลชนได้ แต่อาจจะทำให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดี เพราะเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นผู้ต้องหา จนถึงขั้นถูกออกหมายจับ หากไม่ไปมอบตัวหรือไม่สามารถจับกุมตัวมาส่งศาลได้ ก็สามารถมองได้ว่าเจ้าหน้าที่เกียร์ว่าง ปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ก็จะเกิดผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่
ถามย้ำว่า หากไม่สามารถนำผู้ต้องหามาขึ้นศาลได้ก่อนคดีหมดอายุความ จะเกิดการชุมนุมประท้วงในพื้นที่หรือไม่ พล.ต.ต.นิตินัยกล่าวว่า ก็ไม่แน่ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของข้อกฎหมาย ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบข้อมูล ฝ่ายที่ไปฟ้องร้อง พยายามขับเคลื่อนให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจจับกุมผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับทั้งหมดส่งศาลเพื่อดำเนินคดี ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่ากลุ่มดังกล่าวจะยกระดับการเคลื่อนไหวอย่างไร หากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำผู้ที่ถูกออกหมายจับมาดำเนินคดีได้ จนทำให้คดีหมดอายุความ
ถามอีกว่า การที่ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีในการดำเนินคดีฟ้องร้อง จนเป็นที่มาของการออกหมายจับในครั้งนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คดีใกล้จะสิ้นสุด มีนัยอะไรหรือไม่ พล.ต.ต.นิตินัยกล่าวว่า เรื่องนี้สื่อมวลชนคงจะทราบดีอยู่แล้ว ว่าวัตถุประสงค์เป็นเพราะอะไร ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นข้อบกพร่องที่มาดำเนินการตอนนี้ ในช่วงเวลาที่กระชั้นชิด และเป็นการดิสเครดิตความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นการต่อสู้ในมิติหนึ่งทางด้านสังคมของผู้ที่เห็นต่าง นอกจากด้านการทหาร
ถามต่อว่า ในปัจจุบันสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งหมายจับมาหรือไม่ และกลุ่มคนดังกล่าวยังอยู่ในพื้นที่หรือไม่ พล.ต.ต.นิตินัยกล่าวว่า เดิมคดีดังกล่าวหลังจากสอบสวนเสร็จมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด และสำนักงานอัยการสูงสุดสั่งสอบเพิ่มเติมมา 6 ประเด็น จนเป็นที่มาของการสั่งฟ้องทั้งหมด และส่งเรื่องมาให้ตำรวจในพื้นที่ในส่วนที่รับผิดชอบ นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดที่สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง เพื่อส่งไปยังอัยการจังหวัดปัตตานีเพื่อฟ้อง ซึ่งยังไม่ได้ออกหมายจับบุคคลเหล่านี้ เพียงแต่สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องเท่านั้น หากแจ้งมา เป็นหน้าที่ที่จะต้องออกหมายจับก่อนไปจับกุมเพื่อส่งอัยการดำเนินคดี
เมื่อถามว่า คดีตากใบจะปลุกกระแสขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลเพื่อไทย พล.ต.ต.นิตินัยกล่าวว่า ไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากผู้เสียหายที่ไปฟ้องมี 48 คน จากที่มีผู้เสียชีวิต 78 คน นอกนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้เยียวยาไปหมดแล้ว และมองว่าน่าจะเกิดความพอใจ แต่ปัจจุบันมีการไปสะกิดขึ้นมาให้เกิดเหตุ ซึ่งยอมรับว่าเรื่องในอดีตเราไม่สามารถไปแก้ไขอะไรได้ แต่ปัจจุบันการดำเนินการใดๆ ของเจ้าหน้าที่จะไม่สร้างเงื่อนไข
"ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เรียกฝ่ายกฎหมายมาเตรียมตั้งรับ จะขับเคลื่อนและตั้งธงกันอย่างไร ซึ่งคงจะต้องประเมินสถานการณ์วันต่อวัน เพราะคดีตากใบตกผลึกมาถึงขนาดนี้แล้ว" พล.ต.ต.นิตินัยกล่าว
วันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ประธานคณะ กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่าน น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคประชาชน ถึงข้อห่วงกังวลในการติดตามจับกุมจำเลยและผู้ต้องในคดีตากใบก่อนหมดอายุความ วันที่ 25 ต.ค.2567 โดยหวังว่าหนังสือร้องเรียนจะถูกบรรจุในวาระการประชุมกมธ.ยุติธรรมฯ โดยเร็วที่สุด และจะมีการดำเนินการจากนายกรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า มีความห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าคดีตากใบจะหมดอายุความ โดยจำเลยที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่มาศาลตามนัด ทำให้คดีหมดอายุความ นอกจากนี้มีข่าวด้วยว่าอาจมีจำเลยบางคนที่เดินทางออกไปนอกประเทศไทยแล้ว ในคดีหมายเลขดำที่ อ.578/2567 ศาลจังหวัดนราธิวาส โดยมีครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบเป็นโจทก์ 48 คน ฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ
"ขอให้นายกรัฐมนตรี และ กมธ.ยุติธรรมฯ ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ติดตามค้นหา สืบเสาะ ประกาศจับ รวมทั้งออกหมายค้นหากพบว่ามีการให้ที่พักพิงหรือหลบซ่อนตัวอยู่ที่ใดในประเทศไทย หรือมีการกำชับเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศของบุคคลที่มีหมายจับคดีสำคัญนี้ และขอให้รับรองต่อสาธารณชนว่าคดีตากใบเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่จำต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน สร้างบรรทัดฐานและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสายตาของประชาคมโลก"
มูลนิธิผสานฯ ขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมติดตามการดำเนินการอย่างเร่งด่วนจาก กมธ.ยุติธรรมฯ และนายกรัฐมนตรี ในการติดตามจับกุมจำเลยและผู้ต้องหาคดีตากใบให้ได้ก่อนหมดอายุความ และร่วมติดตามนัดหน้าในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด ว่าจำเลยในคดีดังกล่าวจะมารายงานตัวต่อศาลหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการค้นหาความจริงและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ให้ผู้เสียหายและครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรม และได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ทอน’ดีดปาก‘แม้ว’ ซัดพูดคลุมเครือไม่มีปม112ตั้งรบ./พิธารับคำท้าพ่อนายกฯ
“ธนาธร” ซัด “ทักษิณ” พูดคลุมเครือ บอกปมตั้งรัฐบาลไม่ได้ไม่เกี่ยวกับ 112
นายกฯชี้FTAเปรูจบปี2568
นายกฯ อิ๊งค์ถก "ประธานาธิบดีเปรู" ผลักดันการเจรจา FTA ให้เสร็จภายในปี 68
‘บิ๊กอ้วน’ยืนยัน ผุดJTCเมื่อไหร่ ถกผลประโยชน์
“ภูมิธรรม” บอกพร้อมเรียกถกแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาทันที
‘สคบ.’สอบอืด คลิปเทวดายื้อ จ่อขยายเวลา!
คกก.สอบคลิปเสียงเทวดา สคบ.จ่อขอขยายเวลาเพิ่ม รอง ผบช.ก.เตรียมบุกเรือนจำ
แจกค่าแรง400รับปีใหม่ ‘อายุ50’ลุ้นได้‘เงินหมื่น’
ซานต้าอิ๊งค์มาแล้ว เตรียมดันค่าแรง 400 บาทเป็นของขวัญปีใหม่
พท.มั่นใจกระแสกวาด200สส.
"พท." ดี๊ด๊า! "ทักษิณ" ปราศรัยอุดรธานีปลุกคะแนนนิยม เชื่อชาวอีสานยังรักเพื่อไทย