เปิดศูนย์รับมือพายุซูลิก ยํ้า3พันล.เยียวยาทันที

“บิ๊กอ้วน” ยกย่องกำลังพล แม้บ้านน้ำท่วม น้ำใจสูงส่งช่วยประชาชนก่อน เตรียมหาทางดูแล ย้ำเยียวยา 3 พันล้านใช้ได้ทันที เร่งหน่วยงานเกี่ยวข้องหาข้อสรุปเกณฑ์ใหม่ใน 1  สัปดาห์ "มท.4" ตอบกระทู้ฝ่ายค้าน พร้อมขยายเวลาใช้ไฟฟรี เผยระบบเตือนภัยฉุกเฉินเสร็จกลางปีหน้า "ประเสริฐ" เปิดศูนย์รับมือ "พายุซูลิก" อุตุฯ เตือนพายุลูกแรกถล่มไทย ซ้ำเติมพื้นที่ประสบอุทกภัย คาดฤดูฝนปีนี้ยาวถึงกลาง ต.ค.

เมื่อวันที่ 19 กันยายน นายภูมิธรรม เวชยชัย   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้ทำงานร่วมกับทหารหลังจากรับตำแหน่งว่า ต้องขอขอบคุณ เพราะถือว่าเข้ามารับหน้าที่นี้อย่างสมเกียรติ ได้รับการต้อนรับจากผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ รวมถึงกำลังพล ด้วยความรู้สึกพึงพอใจ และรู้สึกอบอุ่น ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสมาทำที่นี่ เจตนาที่เข้ามาไม่ได้มีปัญหาเรื่องการขยายอำนาจหรืออะไรต่างๆ ผมเชื่อว่าการร่วมมือกันเพื่อพัฒนากองทัพและพัฒนากำลังพลให้มีสิ่งที่ดี สามารถเป็นกำลังที่ช่วยเหลือได้ พร้อมกับยกตัวอย่างการเกิดอุทกภัยว่า กำลังพลทหารได้ทำงานอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่า อยากพูดอะไรกับกำลังพลที่ไปช่วยน้ำท่วม ในขณะที่บ้านของตัวเองได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน นายภูมิธรรมกล่าวว่า ผู้บังคับบัญชาส่วนต่างๆ ทั้งหลายเห็นใจและเข้าใจกำลังพล ในขณะที่บ้านตัวเองต้องไปดูแล แต่ไม่ได้ทำ   ต้องไปทำหน้าที่ดูแลราษฎรก่อน อันนี้เป็นน้ำใจอันสูงส่งของกำลังพล เมื่อมีปฏิบัติการที่เป็นภารกิจของประเทศ เราไปทำหน้าที่นั้นก่อน ก่อนที่จะคิดถึงตัวเอง ขอขอบคุณและให้กำลังใจกำลังพลทุกฝ่ายในการทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชน ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชารวมถึงส่วนกลางจะพิจารณาดูแลหาทางออก ซึ่งเมื่อคืนได้หารือกับ รมช. ว่ากำลังพลส่วนนี้จะทำอย่างไร  โดยพอมีแนวทางบ้าง แต่ต้องมาดูรายละเอียดและข้อกฎหมาย

นายภูมิธรรมกล่าวถึงเรื่องการเยียวยาน้ำท่วมว่า ขณะนี้ได้อนุมัติงบ 3 พันล้านบาท ใช้ได้เลย ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนให้มาก แต่ดูให้รอบคอบ แจกจ่ายได้ตามมติและกฎเกณฑ์เดิม สิ่งที่จะทำใหม่ได้มอบหมายปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และหลายส่วนที่เกี่ยวข้องไปคิดภายใน 1 สัปดาห์ หากมีมติชัดเจนจะเป็นส่วนที่จ่ายเพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้โดยปกติ และจะได้ใช้มาตรฐานนี้ในอนาคตข้างหน้า  ย้ำว่าเร่งให้เร็วที่สุดภายใน 1 สัปดาห์

ที่ศูนย์บัญชาการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี กรมอุตุนิยมวิทยา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์พายุโซนร้อน “ซูลิก” ช่วงวันที่ 19-23 ก.ย. ซึ่งจะทำการติดตามสถานการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 5 ศูนย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน รวมถึง GISTDA ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรวบรวมข้อมูลแจ้งเตือนภัยประชาชน

น.ส.กรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้พายุโซนร้อนซูลิกอยู่ในพื้นที่ประเทศเวียดนาม และเคลื่อนตัวมายังเวียดนามตอนกลาง ส่งผลให้มีกลุ่มเมฆเข้ามาทางภาคอีสาน และพื้นที่อีสานตอนบนมีฝนบ้างในช่วงนี้ ส่วนพายุที่จะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าช่วงค่ำวันที่ 19 ก.ย. จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และเข้ามาทางอีสานตอนบน ที่จังหวัดนครพนม สกลนคร หากยังเป็นพายุดีเปรสชันอยู่ จะเป็นพายุลูกแรกที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้ และเนื่องจากพายุดีเปรสชันมีกระแสลมประกอบด้วยการเคลื่อนตัว จึงอาจสลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณอีสานตอนบน และทำให้มีฝนตกชุกบริเวณอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง

นอกจากนี้ กลุ่มเมฆฝนจะมีการปกคลุมบริเวณภาคกลาง ที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก จังหวัดภูเก็ต ตรัง สตูล ระนอง และภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี และตราด ที่จะมีโอกาสเจอฝนตกหนักและหนักมาก รวมถึงลมมรสุมที่ยังคงมีกำลังแรง อย่างไรก็ตาม จะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากจากฝนที่ตกสะสมในพื้นที่ลาดเชิงเขาไว้ด้วย เนื่องจากในช่วงนี้มักพบฝนตกในพื้นที่เชิงเขาค่อนข้างมาก ทั้งนี้ แม้พายุลูกนี้จะอ่อนกำลังลงและสลายไป ยังต้องติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำ การก่อตัวของกลุ่มเมฆฝนในทะเลจีน เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งตามปกติฤดูฝนจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. แต่ในปีนี้คาดว่าจะมีฝนไปจนถึงครึ่งหลังของเดือน ต.ค.

"อิทธิพลของพายุลูกนี้อาจกระทบซ้ำในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยภาคอีสาน จะกระทบในพื้นที่จังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย รวมถึงภาคเหนือตอนกลางและภาคเหนือตอนล่าง ที่มีโอกาสเจอฝนตกหนักถึงหนักมาก แต่หากมีความกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้ามาก็จะทำให้พายุลูกนี้สลายเร็วกว่าที่คาดการณ์ได้" อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาระบุ

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ  คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ประสบอุทกภัย

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า กรณีการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย โดยไม่เก็บค่าน้ำค่าไฟเฉพาะเดือน ก.ย.นั้น ขอให้ขยายกรอบเวลาช่วยเหลือออกไปมากกว่า 1 เดือน ขณะที่การจ่ายเงินค่าซ่อมแซมบ้านสูงสุด 230,000 บาท เยียวยาน้ำท่วม 5,000-9,000 บาท ตามระยะเวลาที่ถูกน้ำท่วม มีขั้นตอนยุ่งยาก กว่าจะได้เงินเยียวยาต้องรอ 90 วัน อยากให้เร่งดำเนินการเร็วกว่านี้ และขอให้รัฐบาลเจรจาธนาคารต่างๆ เพื่อพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ประชาชน รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณให้ท้องถิ่นจ่ายเงินเยียวยาช่วยผู้ประสบภัยอีกทาง นอกจากนี้อยากทราบว่า รัฐบาลจะมีมาตรการรับมือความเสี่ยงพายุซูลิกระหว่างวันที่ 19-23 ก.ย.นี้อย่างไร ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินมีความคืบหน้าอย่างไร และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อให้คนและเครื่องมือมีความพร้อมมีการดำเนินการหรือไม่

ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดแทนนายกฯ ว่า รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนช่วยประชาชนอย่างทันทีทันใด ในส่วนที่จะไม่เรียกเก็บค่าไฟผู้ประสบอุทกภัยเดือน ก.ย.นั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์จริง ถ้ายังมีปัญหารุนแรงประชาชนยังไม่ฟื้นตัว สามารถปรับขยายมาตรการได้ ส่วนเงินเยียวยา กรอบราชการไม่ให้เกิน 90 วัน แต่จะเร่งจ่ายเงินให้เร็วกว่านั้นแน่นอน เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการสนับสนุนพันธุ์ข้าว พืชไร่ ในการเพาะปลูก

ส่วนระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน ยืนยันมีการเตือนกันแทบทุกระยะที่น้ำขึ้น แต่ข้อมูลอาจไม่ถึงประชาชน ต้องหาทางออกพัฒนาระบบให้ดีขึ้น ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ขณะนี้ ปภ.อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้างวางระบบเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังกระทรวงดีอี คาดว่าจะเสร็จสิ้นกลางปี 2568 ยอมรับว่าช้า แต่ต้องเข้าใจกระบวนการปฏิบัติของฝ่ายปฏิบัติที่ต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบราชการทุกขั้นตอน

ที่ จ.นครพนม ระดับน้ำโขงเริ่มลดปริมาณลง อยู่ที่ 11.79 เมตร ห่างจากจุดเฝ้าระวังเตือนภัยที่ 12 เมตร ถือว่าปลอดภัยใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีกระแสไหลเชี่ยว โดยทางจังหวัดนครพนมได้ประสานสำนักงานเจ้าท่าสาขาภูมิภาคนครพนม  ประสานผู้ประกอบการเดินเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยวหยุดให้บริการเป็นการชั่วคราว

ที่ จ.อำนาจเจริญ ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ลงพื้นที่เยี่ยมและพบปะชาวบ้านหมู่ที่ 9 ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เนื่องจากบ้านดอนว่าน เป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำและติดกับลำเซบาย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านหลายจังหวัด จึงได้ตรวจจุดเสี่ยงแนวพนังกั้นน้ำ และให้มีการเสริมคันดินและบรรจุกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำล้นตลิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.

'ภูมิธรรม' สั่งเยียวยาน้ำท่วมก้อนแรก 5,000 บาทใน 5 วัน

'ภูมิธรรม' ยันจ่ายเงินเยียวยาก้อนแรก ครอบครัวละ 5,000 บาท เร็วสุดลดขั้นตอนจาก 30 วันเหลือ 5 วัน เผยต้องการเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เร่งเคลียร์โคลนให้หมด 29 ก.ย.นี้