เลื่อนประมูลระบบดิจิทัล คลังโหนเฟดลดดอกเบี้ย

"จุลพันธ์" ตอบกระทู้ในสภา ยอมรับการจัดซื้อจัดจ้างระบบจ่ายเงินวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลถูกยกเลิกหลังเปลี่ยนรัฐบาล ต้องเลื่อนประมูลออกไปเป็นหลังปีใหม่ แต่ลงทะเบียนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ต.ค.นี้แน่นอน    นายกฯ โยนถาม รมต.เฟดประกาศลดดอกเบี้ยแรงในรอบ 4 ปี “เผ่าภูมิ” ชี้ทั่วโลกเข้าสู่ช่วงขาลง  ดอกเบี้ยไทยควรขยับให้สอดคล้องทิศทางการเงินโลก แนะคลัง-แบงก์ชาติ ต้องพูดคุยใกล้ชิด  รับห่วงสภาวะสินเชื่อในระบบอืด

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 19  กันยายน 2567 ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงินสดให้กลุ่มเปราะบาง ถามนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง ทั้งนี้ นายพิชัยมอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ชี้แจงแทน

น.ส.ศิริกัญญาถามถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะแจกเงินสดให้แก่กลุ่มเปราะบาง โดยโอนผ่านบัญชีธนาคารระหว่างวันที่ 25-30  ก.ย.ว่า ขอความชัดเจนถึงสาเหตุว่าทำไมจะต้องรีบจ่ายไม่เกินวันที่ 30 กันยายน เป็นเพราะติดปัญหาด้านข้อกฎหมายใช่หรือไม่ นอกจากนี้ ขอความชัดเจนถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในส่วนของกลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ว่าจะลงทะเบียนเมื่อใด

เธอยังได้สอบถามถึงการจัดซื้อจัดจ้างระบบชำระเงิน ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจะวางให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบดิจิทัล แต่ขณะนี้การจัดซื้อดังกล่าวได้ยกเลิกไปแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว จึงอยากทราบว่ากำหนดการที่บอกว่าจะเสร็จในสิ้นปีนี้จะเลื่อนออกไปหรือไม่

จากนั้นนายจุลพันธ์ตอบกระทู้ว่า การที่โอนเงินเข้าบัญชีกลุ่มเปราะบางไม่เกินวันที่ 30 ก.ย. ไม่ใช่เพราะติดปัญหาด้านข้อกฎหมาย เพราะทั้งตนและ น.ส.ศิริกัญญาก็รับฟังพร้อมกันในการชี้แจงของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ว่าสามารถดำเนินการผูกพันข้ามปีงบประมาณได้ แต่รัฐบาลไม่อยากให้เกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้มีการร้องเรียนบ่อยครั้ง เราอาจจะมีมุมมองด้านกฎหมายที่มองกันคนละเหลี่ยม ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือจะกระทบปากท้องของประชาชน ฉะนั้น รัฐบาลจึงพยายามที่จะลดผลกระทบในด้านนี้

รมช.การคลังกล่าวต่อว่า สาเหตุการเลื่อนลงทะเบียนของกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่ใช่เลื่อนเพราะปัญหาของระบบ ทุกอย่างพร้อมหมด แต่ที่เลื่อนเพราะเกรงว่าจะเกิดความสับสนซับซ้อน หลังจากนี้ไม่นานเกินรอ คิดว่าอยู่ภายในกรอบเดือน ต.ค. คงจะเริ่มดำเนินการต่อให้เรียบร้อย

"ยอมรับว่าการจัดซื้อจัดจ้างให้ทำระบบการจ่ายเงินยกเลิกจริง ด้วยเพราะสาเหตุที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลขณะนั้น เราจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะไปพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆ และกำหนดการที่วางไว้เดิมว่าจะเสร็จช่วงปลายปี คงจะต้องเลื่อนไปช่วงหลังปีใหม่ รวมถึงยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ภาครัฐก็ยังมีการพัฒนาระบบการจ่ายเงินตลอดเวลา" นายจุลพันธ์ระบุ

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบคำถามกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.5%  ครั้งแรกในรอบ 4 ปี จะมีผลอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย โดยนายกฯ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “สัมภาษณ์รัฐมนตรีดีกว่า เราแบ่งงานรองนายกฯ กันแล้ว”                     เมื่อถามอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเรียกร้องให้นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ยลง นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว

ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกน่าจะเริ่มเข้าสู่ช่วงขาลง  เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับสหรัฐเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของวงจรเศรษฐกิจโลก โดยในส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มองว่าจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนทิศทางนโยบายการเงินของโลกด้วย เรื่องการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ ธปท. ซึ่งมีอิสระในเรื่องการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย

 “จำเป็นต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างคลัง ที่ดูนโยบายการคลัง และ ธปท. ที่ดูแลเรื่องนโยบายการเงิน เพราะปัจจุบันแม้จะเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของภาคการผลิต ที่เริ่มเห็นสัญญาณบวกขึ้นบ้าง จากที่ติดลบหนักหลายเดือน และภาคการบริโภคที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ แต่สิ่งที่คลังอยากเห็นคือโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่จะเป็นแรงส่งเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้นนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจำเป็นจะต้องทำงานสอดคล้องกันด้วย” นายเผ่าภูมิระบุ

สำหรับสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบกับภาคส่งออกโดยตรง ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ดังนั้นการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้อ่อนเกินไปหรือแข็งค่าเกินไป รวมถึงต้องไม่ผันผวนจนเกินไป ขึ้นๆ ลงๆ เร็วเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และก็กลับมาแข็งค่าไปจนถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ช่องว่างตรงนี้กว้างเกินไป ดังนั้นการดูแลเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะค่าเงินที่ผันผวนจนเกินไปนั้นจะส่งผลให้ผู้ส่งออกวางแผนธุรกิจได้ยาก

รมช.การคลังกล่าวว่า ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น ในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ ได้เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท สำหรับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นั่นหมายถึงเมื่อเม็ดเงินลงไป ก็จะมีแรงส่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หากแรงส่งในส่วนนี้สามารถผสานกันระหว่างนโยบายการเงินเข้ามาร่วมด้วย ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะแม้ตัวเลขของภาคการผลิตจะฟื้นดีขึ้น แต่ก็ยังมีตัวเลขของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ยังน่ากังวลอยู่  โดยเฉพาะเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ยังไม่เข้ากรอบ และเงินเฟ้อยังไม่ทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีพอ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะจุดที่น่าเป็นห่วงในระบบ โดยเฉพาะสถานการณ์สินเชื่อที่ยังชะลอตัว ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังพยายามทำงานอย่างเต็มที่ผ่านกลไกของสถาบันการเงินของรัฐในการเร่งปล่อยสินเชื่อ เร่งเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์นั้น อาจจะยังเห็นเรื่องนี้น้อยอยู่ โดยเฉพาะสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอี

 “มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยและหารือกันต่อไปเกี่ยวกับเรื่องภาวะสินเชื่อในปัจจุบันที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะในธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคลังเองไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นเรื่องแบบนี้จึงจำเป็นและสามารถที่จะพูดคุยเพื่อหาจุดลงตัวร่วมกันได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ประสานกับ ธปท.และแบงก์พาณิชย์เรื่อยๆ อยู่แล้ว ขณะเดียวกัน คลังเองก็พยายามสร้างกลไกเพิ่มเติมในการเข้าไปเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น รับความเสี่ยงได้มากขึ้น ผ่านกลไกของโครงการ PGS ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และกำลังจะมีการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบใหม่ๆ ออกมา แต่ส่วนนี้ต้องใช้เวลา เพราะกำลังแก้ไขกฎหมาย และจัดทำรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่” นายเผ่าภูมิกล่าว

นายเผ่าภูมิกล่าวอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้ โดยบทบาทของคณะกรรมการชุดดังกล่าวคือ พิจารณาภาพรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด  ไม่เพียงแค่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเท่านั้น แต่จะดูว่าควรจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหน ในช่วงเวลาไหน ด้วยปริมาณเงินเท่าไหร่ และด้วยวิธีการอะไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ คงต้องรอให้มีการประชุมก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง