อิ๊งค์ชมเปาะทหารที่พึ่งปชช.

นายกฯ อิ๊งค์โปรยยาหอมกองทัพอยู่เคียงข้างไม่ทอดทิ้งประชาชน “ภูมิธรรม” สตาร์ทงานแรก “ศปช.” ขันนอตงานสื่อสารข้อมูล สั่งประชาสัมพันธ์อัดรายงานสถานการณ์น้ำในช่วง 2 เดือน สกัดดรามา จ่อชง ครม.ปรับเยียวยา  “ปลัด กทม.” ยอมรับหนักใจ กรุงเทพฯ เผชิญ Rain bomb “ปภ. ” เตรียมรับมือ “ซูลิก” ด้าน  “สทนช.” ประเมิน 46 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง “ภูเก็ต”  วุ่นนักท่องเที่ยวติดเกาะนับร้อยชีวิต

เมื่อวันพุธ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชื่นชมกองทัพ เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะยามเกิดภัยพิบัติ กองทัพได้นำกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างทุ่มเท เต็มกำลังความสามารถและอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่ากองทัพอยู่เคียงข้าง ไม่ทอดทิ้งประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากรายงานกองทัพได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนสถานการณ์คลี่คลาย ทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย น่าน หนองคาย เลย บึงกาฬ นครพนม ราชบุรี อุบลราชธานี และจังหวัดกาฬสินธุ์

 “ขอเป็นกำลังใจให้กองทัพและกำลังพลทุกนายที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ขอให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง บนพื้นฐานความไม่ประมาท คำนึงถึงปลอดภัยเป็นหลัก”  นายกรัฐมนตรีระบุ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าวันนี้ในที่ประชุมจะดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเรื่องสำคัญ อาทิ ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ให้ทันต่อเหตุการณ์ โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรมประชาสัมพันธ์ ในการเป็นแม่ข่ายดำเนินการ ให้ปรับผังการประชาสัมพันธ์มาที่เรื่องสถานการณ์น้ำเป็นเรื่องหลัก ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อป้องกันดรามาทั้งหลาย ซึ่งขอให้โฟกัสไปที่เรื่องการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก

นายภูมิธรรมระบุด้วยว่า สิ่งที่สำคัญคือ การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องของฝน หรือพายุที่เข้าประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน คาดว่าจะจบลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม หลังจากนั้นสถานการณ์ฝนจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้น ศปช.จะดำเนินการเฉพาะหน้า เพื่อจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่องไปจนจบสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าจะจบในปีนี้

ชง ครม.ปรับเยียวยา

นายภูมิธรรมระบุว่า ขณะที่การจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนเมื่อวานนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ 3,045 ล้านบาท  โดยกระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการได้ทันที และจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และพยายามไม่ทำให้มีขั้นตอนทางกฎหมายมากมาย เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปแล้ว เวลานี้หัวใจสำคัญที่สุดคือให้เราได้รู้สึกว่าได้ดูแลเยียวยา หากเรามัวรอว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมอะไรก็จะใช้เวลา จึงได้มีมติอนุมัติในเงินก้อนแรกจำนวน 3,045 ล้านบาท

 “ซึ่งขณะนี้ใช้เวลาประมาณอีก 1 สัปดาห์ เพื่อดูว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง เพราะกฎเกณฑ์นี้ใช้มา 10 กว่าปี ก็คาดว่าน่าจะมีการปรับกันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมยอมรับว่าการวางกฎเกณฑ์มีปัญหาหลายอย่าง เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้คิดว่าจะต้องจัดการอย่างไรเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น” นายภูมิธรรมระบุ

นายภูมิธรรมระบุว่า กระทรวงมหาดไทยจะเป็นตัวหลักในการจัดการงบประมาณก้อนนี้ และเรื่องที่สำคัญคือการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และแยกออกจากความเสียหายในส่วนของพืชผลจากไร่นาต้องรออีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เอาแค่ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

นายภูมิธรรมระบุว่า อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่หนึ่งชุด เพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาเพิ่มเติมในการทบทวนกฎระเบียบการเยียวยา โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหนึ่งคณะ เพื่อไปศึกษารูปแบบการเยียวยา และการกำหนดจำนวนปริมาณ จะสามารถจบได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบต่อไป

นายภูมิธรรมกล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีการเตือนภัยล่วงหน้า ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA., สารสนเทศของกรมทรัพยากรน้ำ, หน่วยงาน ปภ., กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการตรวจสอบทิศทางลมมรสุมที่จะเข้าสู่ประเทศไทย ที่สามารถมองเห็นตั้งแต่ต้นทางตั้งแต่เขตประเทศเมียนมาและประเทศจีน  และให้มีการประสานงานกับค่ายผู้ให้สัญญาณโทรศัพท์มือถือต่างๆ มาร่วม เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปอย่างทันท่วงที

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธารสั่งการส่วนราชการฝ่ายปกครอง อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย กรณีที่เอกสารสำคัญสูญหาย เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้านหายไปกับสายน้ำ ประชาชนสามารถทำบัตรใหม่ได้ โดยไปติดต่อ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตเทศบาล ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ภายในเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่บัตรหาย

กทม.หวั่น Rain bomb

นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักไว้พอสมควร สิ่งที่พยายามทำมากขึ้นคือเรื่องของการแจ้งเตือน หากปริมาณฝนตกหากมีปริมาณฝนตกหนัก แต่สิ่งที่หนักใจตอนนี้คือ Rain bomb ในบางพื้นที่ หรือตกแช่ในบางแห่ง อาจจะมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากระบบท่อระบายน้ำยังไม่มีการแก้ไข

  ปลัด กทม.ระบุว่า ขณะเดียวกัน ขอความร่วมมือประชาชนให้เฝ้าฟังการแจ้งเตือน และขอความร่วมมือไม่ทิ้งขยะในแม่น้ำลำคลองและทิ้งกากอาหารลงในท่อระบายน้ำ เนื่องจากจะเกิดตะกอนไขมันอุดตันท่อ ส่วนพื้นที่ก่อสร้าง ที่มีการกีดขวางทาง ได้มีการคลี่คลายแล้วในหลายพื้นที่ แต่พื้นที่สาธารณะที่ยังมีปัญหาได้มีการทำบายพาสออกด้านข้างเรียบร้อยแล้ว แต่ทางฝั่งสมุทรปราการอาจต้องมีการดูแลเพิ่มขึ้น

  "ยืนยันด้วยว่าสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ จะไม่ท่วมเหมือนปี 2554 เนื่องจากน้ำที่ท่วมอยู่ในบริเวณด้านบนของประเทศจะมีเขื่อนกักอยู่ ตอนนี้สิ่งที่ กทม.ทำคือการเตรียมความพร้อมที่จะไปช่วยภาคเหนือ แต่พื้นที่ใต้เขื่อนจะมีการเช็กระดับน้ำที่ปล่อยลงมาจากเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้เขื่อนยังสามารถรองรับน้ำได้ ส่วนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มีการเสริมเขื่อนทรายกั้นน้ำในบริเวณที่ยังฟันหลอเป็นที่เรียบร้อย" ปลัด กทม.ระบุ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พร้อมกับการเตรียมรับมือพายุลูกต่อไป ในพื้นที่ภาคอีสาน ได้หารือกับอธิบดี ปภ. ซึ่งหน่วยบัญชาการกองทหารพัฒนาอยู่ในกองทัพไทยอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ต้องถึงที่เกิดเหตุก่อน 24 ชั่วโมงให้ได้ และจะร่วมมือกับทาง ปภ.  ขณะนี้มีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 นาย รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งกองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด

ปภ.เตรียมรับซูลิก

ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กล่าวถึงมาตรการรับมือพายุดีเปรสชัน “ซูลิก” ซึ่งจะเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 20-22 กันยายน 2567 ว่า ปภ.เตรียมกำลังคนและเครื่องจักร รถผลิตน้ำดื่ม เข้าไปอยู่ในพื้นที่เพื่อดูแลประชาชน และเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ตลอดจนเครื่องจักรอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ ปภ.มี รวมทั้งจะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทุกหน่วยงาน

"ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยจะเป็นผู้บัญชาการในแต่ละพื้นที่ จะเป็นผู้พิจารณาและร้องขอความช่วยเหลือในการเตรียมพร้อมรับมือ โดย ปภ.มีศูนย์เขตในแต่ละจังหวัด ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการทำงาน ส่วนการจัดการกับดินโคลนในพื้นที่ประสบอุทกภัยนั้น ปภ.ได้สนับสนุนบุคลากรและเครื่องจักรในการขนดินโคลนตามพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบภัย เช่น ทีมประปา จากการประปานครหลวง" นายไชยวัฒน์ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สทนช.ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำตามฝนคาดการณ์ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่า ในช่วงวันที่ 19-25 กันยายน 2567 มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มตามภาคต่างๆ ดังนี้ 1.ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, ลำปาง, พะเยา, น่าน, แพร่, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์

2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่  เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, อุดรธานี, สกลนคร, นครพนม, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, นครราชสีมา, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร,  มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด,

ยโสธร, อำนาจเจริญ, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี

3.ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก,  ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ชลบุรี, ระยอง,จันทบุรี, ตราด, 4.ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สตูล

สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพื่อให้สามารถอพยพได้ทันท่วงที

 เตือน พท.ลุ่มเจ้าพระยา

ที่ จ.ชัยนาท กรมชลประทานเตรียมปรับเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นอีกระลอก รับมือพายุซูลิกที่คาดว่าจะเข้าประเทศไทยในช่วงวันที่ 20-23 กันยายนนี้ ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทางตอนบนลุ่มเจ้าพระยา และส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเตรียมปรับเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 1,099 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นแบบขั้นบันได ในอัตราไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที   

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน  ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 8/2567 ลงวันที่ 17 กันยายน 2567 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา  ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังระดับน้ำสูงขึ้น และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ที่ จ.นครพนม พื้นที่บ้านท่าบ่อ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัย โดยมีที่ตั้งชุมชนติดกับลำน้ำสงครามมากกว่า 300 หลังคาเรือน กลายเป็นเกาะกลางน้ำ และเริ่มท่วมบ้านเรือนติดริมน้ำบางส่วน                 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่สำคัญบ้านท่าบ่อยังเป็นหมู่บ้านเลี้ยงควาย สัตว์เศรษฐกิจจำนวนนับพันตัว ชาวบ้านต้องตอนขึ้นเกาะกลางน้ำ เนื่องจากไม่สามารถปล่อยหากินตามธรรมชาติได้ ต้องแบกภาระดูแล จัดหาฟางแห้งอัดก้อนเป็นอาหารจนกว่าน้ำจะลด บางรายพบว่าต้องแบกภาระซื้อฟางแห้งอัดก้อนวันละกว่า 1,000 บาท หากระดับน้ำไม่ลด จะต้องแบกภาระเดือนละ 10,000-20,000 บาท อีกทั้งราคาฟางแห้งอัดก้อนถูกพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาเพิ่มอีกเท่าตัว จากเดิมราคาก้อนละ 15-20 บาท เพิ่มเป็นก้อนละ 40-50 บาท เบื้องต้นภาครัฐนำหญ้าแห้งอัดก้อนมาสนับสนุน แจกจ่าย แต่ยังไม่เพียงพอ

ที่ จ.ภูเก็ต พล.ร.ท.สุชาติ ธรรมพิทักษ์เวช ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 เปิดเผยว่า ทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการบนเกาะราชาใหญ่ว่า มีนักท่องเที่ยวติดค้างอยู่บนเกาะไม่สามารถเดินทางกลับเข้าฝั่งได้ เนื่องจากคลื่นลมแรงเรือเล็กไม่สามารถ ออกเดินทางได้ ทัพเรือภาคที่ 3 จึงจัดเรือ ต.111 เข้าไปรับนักท่องเที่ยว จำนวน 100 คน เพื่อนำกลับเข้าฝั่งจังหวัดภูเก็ต คาดว่าถึงฝั่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ตประมาณ 15.00 น.

ทางด้านนายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้อำนวยการจังหวัด แจ้งเตือนให้อำเภอทุกอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ต เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังในช่วงวันที่ 19-25 ก.ย. รับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี

นายกฯ ประชุมเตรียมความพร้อมเปิดตัว 'บ้านเพื่อคนไทย' 17 ม.ค.นี้

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและทวิตข้อความผ่าน X ระบุว่า วันนี้เตรียมความพร้อมก่อนเปิด #บ้านเพื่อคนไทย

แล้วกัน 'บิ๊กอ้วน' รับเดินตามเกมกลุ่มก่อความไม่สงบ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้!

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเหตุระเบิดที่ ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี และเหตุระเบิดล่าสุดที่ อ