ริบดาบศาลรธน. สอยสส.-รมต.ต้องมติ2ใน3‘พท.’แก้6ประเด็น/จองเวรป้อม

"ธงทอง" ชี้ 5 คกก.ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ อิ๊งค์ มีประสบการณ์หลากหลาย เล็งสานต่องานยุคอดีตนายกฯ เศรษฐา "พงศ์เทพ" ลั่นทำงานกันต่อเนื่อง ไม่ใช่ประชุมครั้งคราว เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานรัฐบาล "เด็จพี่" ตามไล่บี้ "ลุงป้อม"  ยื่น "วันนอร์" สอบจริยธรรม โดดประชุมเกิน 81.25% "สามารถ" ท้าแน่จริงร้องสอบทุกพรรค จี้ทำไมไม่ตรวจสอบ "นายกฯ อิ๊งค์" ปมที่ดินอัลไพน์  "พท." เปิด 6 ประเด็นสำคัญแก้ รธน.รายมาตรา  "สส." ลงชื่อยื่น "ปธ.รัฐสภา" สัปดาห์หน้า "ปชน." เต้นโดนหาเป็นพรรคปฏิวัติ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  แต่งตั้งเป็น 1 ใน 5 คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธานว่า ก่อนหน้านี้ 2 สัปดาห์ ตนได้รับการประสานจาก นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช  เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ว่ายังมีงานที่ตนทำค้างอยู่ในด้านต่างๆ ที่รับผิดชอบในช่วงที่เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา  ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี จึงอยากให้มาทำต่อ

"การมาเป็นที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ดูเป็นแก่นสารมากขึ้น เฉพาะเจาะจงอะไรมากขึ้น ซึ่งในคำสั่งเน้นในการให้ความเห็นด้านนโยบาย ตอบคำถามต่างๆ ซึ่งทั้ง 5 คนมีความสันทัด ประสบการณ์ที่หลากหลาย" นายธงทองกล่าว

ส่วนนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้รับทราบหลังจากที่มีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการประชุมนัดแรก เนื่องจากต้องรอจะมอบหมายรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายบริหารท่านใดมาทำหน้าที่เลขานุการคณะที่ปรึกษาฯ

"บทบาทหน้าที่ก็เป็นไปตามคำสั่งที่ให้ดูเรื่องหลักๆ ด้านนโยบาย รวมถึงเรื่องที่นายกฯ มอบหมาย ซึ่งจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อช่วยพิจารณาจะต้องทำในส่วนนั้นด้วย นอกเหนือจากที่มอบหมายในคำสั่ง และคงไม่ใช่เป็นการประชุมเป็นครั้งเป็นคราว แต่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องนั่งทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนไปได้" นายพงศ์เทพกล่าว

ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ สส.หรือไม่

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรไม่ได้มาลงมติประมาณ 13 ครั้ง จากทั้งหมด 16 ครั้ง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เท่ากับร้อยละ 81.25 ถ้าเป็นจริงถือว่าการทำหน้าที่ของ สส.น่าเป็นห่วง เพราะตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร กำหนดไว้ว่า สส.จะต้องอุทิศเวลามาประชุม และต้องไม่ขาดประชุมโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (12) สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงเมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาฯ

"ถามว่าวันนี้ พล.อ.ประวิตรในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ มาทำหน้าที่ครบถ้วนหรือไม่ ตามที่ประชาชนได้ร้องเรียนผมมา ซึ่งผมไม่ได้ร้องเรียนแค่ พล.อ.ประวิตรเพียงคนเดียว หากมีประชาชนมาร้องเรียนผมก็จะตรวจสอบเหมือนกัน ไม่ว่าจะฝ่ายค้าน พรรครัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็ตรวจเหมือนกัน  ฉะนั้นขอให้สบายใจ” นายพร้อมพงศ์กล่าว

'เด็จพี่' ตามบี้บิ๊กป้อมเข้าสภา

ถามว่า หากประชาชนไม่ร้องเรียน สส.คนอื่น ก็จะไม่ยื่นเรื่องตรวจสอบใช่หรือไม่ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า หากเขาไม่ร้องมาหรือที่เรียกว่าเหตุไม่ปรากฏ ไม่มีผู้ร้อง เราก็ไม่ดำเนินการ

ซักว่าในช่วงหลังมีการร้องเรียนหลายครั้ง ถือเป็นการหวังผลทางการเมืองหรือไม่ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ไม่ได้หวังผลการเมือง แต่หวังเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นเรื่องคลิปเสียงตนไม่ได้ไปอัด ถามว่าใครจะอัดได้ถ้าไม่ใช่คนใกล้ชิด

นายพร้อมพงศ์ยังกล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. ยื่นฟ้องจากเหตุการณ์นำคลิปเสียงมาเผยแพร่ว่า ทุกคนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญตามคำพิพากษาศาลฎีกาการฟ้องหมิ่นประมาทสามารถใช้คลิปต่างๆ เป็นหลักฐานได้ นายไพบูลย์พูดความจริงเพียงครึ่งเดียวที่เข้าข้างตัวเอง แต่อีกครึ่งหนึ่งไม่ได้อ่าน ซึ่งตนไม่กังวลอะไร

 “ปลัดมหาดไทยก็ยืนยันว่าคลิปเสียงเป็นของจริง ยอมรับอย่างลูกผู้ชาย และความจริงอีกครึ่งหนึ่งคือการที่รองนายกฯ น่าจะไปแทรกแซง น่าจะไปของบไม่ได้ เพราะอำนาจเป็นของเจ้ากระทรวง”  นายพร้อมพงศ์กล่าว

ถามว่า มีอะไรอยากฝากถึง พล.อ.ประวิตรหรือไม่ นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ควรจะหาข่าวบุคคลที่อัดคลิปเสียง และต้องพิสูจน์ความสามารถของนายไพบูลย์ในฐานะเลขาธิการพรรค ว่าสมกับเป็นเลขาธิการพรรค ที่มี สส.ฝ่ายค้านมากเป็นอันดับสอง อย่าเพิ่งไปฟ้องคนอื่น ขอให้ทำความจริงตรงนี้ให้ปรากฏว่าคลิปจริงหรือปลอม และขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประวิตร นายไพบูลย์ คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) และพรรค พปชร. ให้แถลงอย่างเป็นทางการว่าคลิปที่หลุดออกมาเป็นความจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นสังคมจะหาว่าเป็นการฟ้องแก้เกี้ยวหรือปิดปาก

"อยากให้ พล.อ.ประวิตรเข้าสภาเพื่ออภิปรายในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี วันนี้ถือว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับสองในสภาแล้ว ขอให้มาทำหน้าที่ด้วย หากไม่เข้าสภาผมจะตามตลอด" นายพร้อมพงศ์กล่าว

ขณะที่ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบโต้นายพร้อมพงศ์ที่ยื่นร้องจริยธรรม พล.อ.ประวิตรว่า เรื่องนี้นายพร้อมพงศ์คงลืมไปว่าที่นี่เป็นสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่โรงลิเก การจะตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร คิดง่ายๆ นายพร้อมพงศ์ควรตรวจสอบ สส.พรรคเพื่อไทยก่อน ว่าคนไหนขาดประชุม หรือลาประชุม ไม่ใช่ตรวจสอบข้ามพรรคเช่นนี้ เพราะเหมือนกับเวลาบริษัทจะตรวจสอบว่าพนักงานคนไหนกินเงินเดือน แต่ไม่ทำงาน ก็ต้องตรวจสอบบริษัทตัวเองก่อน แต่ถ้าจะมาตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ ควรลาออกจากพรรคเพื่อไทย และมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐก่อน แต่คิดว่าคุณสมบัตินายพร้อมพงศ์คงไม่ผ่านนายทะเบียน

"เราเชื่อว่า พล.อ.ประวิตรปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างถูกต้อง ไม่มีอะไรที่ไม่เหมือนเพื่อนสมาชิก และ พล.อ.ประวิตรก็เป็น สส.เหมือนกับเพื่อนสมาชิกอีก 500 คน ใช้สิทธิตามข้อบังคับทุกประการ" นายสามารถกล่าว

ถามว่า นายพร้อมพงศ์บอกให้ พล.อ.ประวิตรระวังมิตรใกล้ชิดแทงข้างหลัง นายสามารถกล่าวว่า  มิตรอะไรที่บอกคงออกไปหมดแล้ว และคนคนนั้นไปอยู่ที่ไหน ขอให้นายพร้อมพงศ์ระมัดระวังตัวเองมากกว่า รวมทั้งนายพร้อมพงศ์ควรจะตรวจสอบทุกคน

"วันนี้นายพร้อมพงศ์แสดงตัวว่าเป็นนักตรวจสอบ ก็ต้องตรวจสอบคนอื่นด้วย อย่าเลือกปฏิบัติ ตอนที่ไปร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ไม่เห็นตรวจสอบคลิปชั้น 14 รพ.ตำรวจ การมาร้องเรียนที่รัฐสภา มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ 170 ประกอบมาตรา 82 ให้ สส.เข้าชื่อตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้ โดยใช้ชื่อ สส. 1 ใน 10 ซึ่งพรรคเพื่อไทยมี สส. 140 คน ทำไมไม่เข้าชื่อตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ครอบครองที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเสี่ยงขาดจริยธรรม" นายสามารถกล่าว

ถามว่า พล.อ.ประวิตรต้องเตรียมตัวอะไรหรือไม่ หลังนายพร้อมพงศ์ยื่นสอบจริยธรรม นายสามารถกล่าวว่า คงไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก เพราะไม่เคยทำผิดข้อบังคับ ไม่มีอะไรผิดข้อกฎหมาย ยืนยันว่า พล.อ.ประวิตรทำตามข้อบังคับอย่างชัดเจน ถ้าไม่ยื่นใบลาเกิน 3 ครั้ง ก็ต้องหลุดจากการเป็น สส. และข้อบังคับของสภาไม่ได้เลือกปฏิบัติกับใครคนใดคนหนึ่ง

พท.เคาะ 6 ประเด็นแก้รธน.

วันเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ภายหลังเปิดให้สมาชิกหารือปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่แล้ว ได้รับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิเชษฐ์ สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง และนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่สอง

นอกจากนั้น ประธานได้แจ้งคำสั่งศาลฎีกาว่า ประธานศาลฎีกาได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาลฎีกากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกา สั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายสุวรรณา กุมภิโร สส.บึงกาฬ เขต 2 พรรคภูมิใจไทย กรณีศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้รับคำร้องดังกล่าวไว้เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และอ่านให้ผู้ร้องฟังเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2567 ซึ่งมีผลให้นายสุวรรณาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่ามิได้กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 226 วรรคสี่ ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 138 วรรคสาม ดังนั้น ปัจจุบัน สส.เท่าที่มีอยู่และปฏิบัติหน้าที่ได้จำนวน 492 คน ประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งคือ 246 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้เจ้าหน้าที่สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้นำป้ายชื่อพรรคพลังประชารัฐไปวางด้านหลังของพรรคประชาชน ในโซนฝ่ายค้านแล้ว จากที่ก่อนหน้าป้ายของพรรคพลังประชารัฐจะอยู่ด้านหน้าบัลลังก์ฝั่งรัฐบาล โดยพื้นที่พรรคพลังประชารัฐเดิม เจ้าหน้าที่ได้นำป้ายชื่อพรรคภูมิใจไทยขยับขึ้นมาแทน

ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่า ในการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อ 17 ก.ย. ได้พูดคุยถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา และขณะนี้ได้เปิดให้ สส.ของพรรคร่วมลงชื่อเพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาในช่วงสัปดาห์หน้า ส่วนจะทันนำเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ย.หรือไม่  ต้องพิจารณาอีกครั้ง

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า จากการหารือกับวิป 3 ฝ่ายไปก่อนหน้านี้ ถึงกำหนดการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 25 ก.ย. ขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะเลื่อนการประชุมรัฐสภา เนื่องจากการกำหนดนัดอย่างเป็นทางการยังไม่ได้หารือกับวุฒิสภา ทั้งนี้ ในความชัดเจนของการประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้าว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะขอยืนยันอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม สส.พรรคเพื่อไทยนั้น ได้แจ้งรายละเอียดถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา โดยแบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ 1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุก โดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย

2.แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็นคือ  (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน

3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา 202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246

4.แก้ไขมาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว.สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

5.แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี  โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

6.แก้ไขมาตรา 255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้ และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไขในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก

ปชน.โต้ไม่ใช่พรรคปฏิวัติ

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 60 ของพรรค ปชน.ว่า  เป็นการเดินคู่ขนานเร่งรัดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็ว ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในประเด็นที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งพรรค ปชน.ยื่นร่างแก้ไขประเด็นการลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกมาตรามาตรา 279 ที่เกี่ยวกับประกาศและคำสั่ง คสช. รวมถึงเพิ่มหมวดการป้องกันรัฐประหารไปแล้ว คาดว่าจะพิจารณาในวันที่ 25 ก.ย.นี้

ถามว่า ประเมินกรอบเวลาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในช่วงเวลา 3 ปีที่เหลืออยู่ของรัฐบาลอย่างไร นายพริษฐ์กล่าวว่า กระบวนการทำฉบับใหม่อาศัยเวลา หากเดินตามรถแบบของรัฐบาล ที่ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และ 1 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้เริ่มดำเนินการ ทำให้เวลาถูกบีบ และตัวแปรเยอะเกินกว่าจะฟันธงได้

 “ยอมรับกังวลใจมีความเสี่ยงหากรัฐบาลไม่วางแผนอย่างรอบคอบ อาจจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้ ฝ่ายค้านไม่ได้นิ่งนอนใจ รอชมอย่างเดียวและพยายาม ยื่นข้อเสนอและเร่งรัด กระบวนการตรงนี้ให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร็วที่สุด” นายพริษฐ์กล่าว

นายพริษฐ์ยังกล่าวถึงกรณีนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พาดพิงพรรค ปชน.เป็นพรรคที่มีแนวความคิดปฏิวัติ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเป็นพรรคที่มีแนวความคิดปฏิรูปว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน การที่นิยามว่าพรรค ปชน.คือพรรคปฏิวัตินั้น คำว่าปฏิวัติขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะตีความ หากตีความว่าเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พรรค ปชน.ก็ยืนยันว่าเราไม่มีเจตนาเช่นนั้น แต่หากยอมรับว่าบางปัญหาในประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งการศึกษา ปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจ ก็ไม่ปฏิเสธว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง

"การนิยามว่าพรรครัฐบาลเป็นพรรคปฏิรูป ผมขอตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผมยังไม่เห็นการปฏิรูปโครงสร้างอะไรอย่างเป็นรูปธรรมเลย แม้แต่การปฏิรูปกองทัพ จะใช้คำนี้ยังถูกตำหนิเพราะให้ใช้คำว่าพัฒนาร่วมกันแทน" นายพริษฐ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.