อสส.ฟ้องตากใบ เร่งจับทัน25ต.ค. ก่อนคดีหมดอายุ

แจงปมสั่งฟ้อง "พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร" อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 กับ 7 ผู้ควบคุมรถ โดนร่วมฆ่าขนย้ายผู้ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ฆ่าเล็งเห็นผล เร่งตำรวจตามตัวแจ้งข้อหา ให้ทันสั่งฟ้อง 25 ต.ค.นี้ ก่อนคดีจะหมดอายุความ "อ้วน" มั่นใจ พท.เคารพกระบวนการยุติธรรม  ระบุ พล.อ.พิศาลยังเป็นผู้บริสุทธิ์ รอเจ้าตัวปรับทุกข์ ขอฟังปมเหตุการตัดสินใจวันนั้น

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด  ศูนย์ราชการอาคารเอ ถนนแจ้งวัฒนะ นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด,   นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าวอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบ และมีผู้เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว

นายประยุทธเปิดเผยว่า คดีนี้อัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลา จาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผช.ผบ.ตร. รักษาการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 ซึ่งทั้งสองคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ ได้จับกุมนายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหาที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์

ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีประชาชนเป็นกลุ่มมวลชนประมาณ 300-400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ.ตากใบ เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลา 13.00 น. พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม ซึ่งพื้นที่อำเภอตากใบในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างการประกาศการใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งได้ตามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บิดามารดาของผู้ต้องหาทั้งหกมาร่วมเจรจา  แต่ไม่เป็นผล โดยผู้ชุมนุมเสนอเงื่อนไขเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที พร้อมทั้งโห่ร้องขับไล่ยั่วยุเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์วุ่นวายได้เพิ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 ในคดีวิสามัญฆาตกรรม (ยศในขณะนั้น) ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุก จำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม จนกระทั่งในเวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40-50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลาประมาณ 19.00 น. นำผู้ชุมนุมทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21.00 น. เมื่อนำตัวผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก ปรากฏว่าได้ถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 8 เป็นพลขับ โดยมีผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และสำนวนชันสูตรพลิกศพ โดยทั้งสองคดีมีรายละเอียด ดังนี้

1.สำนวนวิสามัญฆาตกรรมมี พ.ต.อ.พัฒนชัย ปาละสุวรรณ เป็นผู้กล่าวหา มีผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน ประกอบด้วย พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1, ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร ผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พ.จ.ต.รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 6, พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7, ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 คดีดังกล่าว ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยอ้างว่าผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิบัติราชการตามหน้าที่

2.สำนวนชันสูตรพลิกศพเกี่ยวกับการตายของผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 78 คนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2547 และพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี เพื่อไต่สวนชันสูตรพลิกศพตามขั้นตอนของกฎหมายในปีเดียวกัน ต่อมาในระหว่างไต่สวนได้มีการโอนสำนวนมาทำการไต่สวนที่ศาลจังหวัดสงขลา โดยญาติผู้ตายได้แต่งตั้งทนายเข้ามาถามค้านการไต่สวนของศาลด้วย และในปี 2548 ศาลจังหวัดสงขลาได้ไต่สวนเสร็จสิ้น และมีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 78 คนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หลังจากศาลมีคำสั่งได้ส่งคืนคำสั่งพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับพนักงานอัยการ และในปี 2548 พนักงานอัยการได้ส่งเอกสารที่ได้รับจากศาลพร้อมถ้อยคำสำนวนทั้งหมดคืนให้กับพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนวิสามัญฆาตกรรมให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณามีความเห็นและคำสั่ง  ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย

 หลังจากอัยการสูงสุดได้รับสำนวนวิสามัญฆาตกรรมและสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพของศาลจังหวัดสงขลาจาก พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วได้มีคำสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในหลายประเด็น และกำหนดให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 จนต่อมาวันที่ 12 กันยายน อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คน ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม โดยมี พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 ส่วนอีก 7 คน เป็นพลขับ ในการนำตัวผู้เสียชีวิตทั้ง 78 คน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยมีคำวินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้ง 8 คน จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียง 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมกว่าพันคน อันเป็นการแออัดเกินกว่าวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 8 คน จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ซึ่งทางอัยการสูงสุดได้มีความเห็นส่งกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตำรวจติดตามตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมารับทราบข้อหากล่าว ก่อนคดีหมดอายุความ วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาส่งศาลได้ทันตามกรอบเวลา จะถือว่าคดีสิ้นสุดลง ขาดอายุความอายุความคดีอาญา 20 ปี ไม่สามารถดำเนินคดีได้อีก

สำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเองนั้น ชื่อผู้ต้องหาไม่ใช่ชุดเดียวกัน มีเพียง พล.อ.เฉลิมชัย ผู้ต้องหาคนเดียวที่มีชื่อตรงกัน ทั้งในสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนและสำนวนคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องคดีต่อศาลเอง ส่วนขั้นตอนต่อไปหากอัยการยื่นฟ้องสำนวนคดีต่อศาลแล้ว จะนำไปรวมกับสำนวนคดีที่ประชาชนฟ้องเองและศาลได้ประทับฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล

เมื่อถามว่า คดีนี้สำนวนที่ถูกดองมาเนิ่นนานเป็นเวลา 19 ปี เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ นายประยุทธกล่าวว่า ไม่มีข้อมูลในเชิงสถิติ แต่ตั้งแต่ตนเป็นอัยการมา ไม่เคยได้ยินมาก่อน ที่ว่าเป็นเรื่องแปลกหรือไม่คิดว่าทุกคนสามารถตอบแทนกันได้ ทั้งนี้ อัยการไม่สามารถเร่งรัดพนักงานสอบสวนได้ เพราะทางตำรวจเองก็ทราบดีอยู่แล้วถึงระยะเวลาในการฝากขังระยะเวลาในการดำเนินงาน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวทางของพรรคเพื่อไทยในการส่งตัว สส.บัญชีรายชื่อของพรรค ผู้ต้องหาคดีตากใบให้กับเจ้าพนักงานว่า  เรื่องใดที่เป็นคดีความก็ตามเราต้องเคารพกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือข้าราชการ หรือใครก็ตาม ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่การเข้าสู่กระบวนการนั้น ก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ทุกคน จนกว่าศาลจะตัดสินคดีเป็นที่สิ้นสุด สำหรับ พล.อ.พิศาล ตนยังไม่พบท่าน ถ้าได้พบก็จะพูดคุยปรับทุกข์กันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนั้นเป็นยังไงบ้าง เพราะไม่มีใครรู้เท่ากับท่านที่อยู่ ณ ที่นั้น และตัดสินใจ ณ ตอนนั้น และถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ท่านชี้แจงเอง ไม่เหมาะที่ใครจะไปชี้แจงแทนได้

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่เพราะหลายคนมองว่าจะเป็นบาดแผลทางการเมือง นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่กังวล เพราะในทุกเรื่องในโลกนี้รวมทั้งในประเทศไทยมีสิ่งที่เป็นบาดแผลและสิ่งที่น่าชื่นชม  เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามไม่ควรจะมุ่งไปที่อดีตมากเกินไป ตนคิดว่าอดีตเป็นบทเรียน ถ้ามันผิดพลาดก็ต้องทำไม่ให้มันผิดพลาดอีก ตนเชื่อว่าการดำเนินการของทุกฝ่ายและทุกคนไม่ได้ตั้งใจให้เกิดโศกนาฏกรรมหรือปัญหา เพราะทุกคนตั้งใจทำตามหน้าที่ แต่เวลาชุลมุนก็อาจเกิดอะไรที่เกินเลยหรือหนักไปบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งก็ว่ากันไปตามกฎหมายถ้าเห็นว่าเกินขอบเขต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง