‘พันศักดิ์’คัมแบ็ก! อดีตกุนซือแม้วนั่งปธ.ที่ปรึกษานายกฯ/ม็อบรับรัฐบาลอิ๊งค์

"นายกฯ อิ๊งค์" ประเดิมนั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.นัดแรก รับทราบแบ่งงานรองนายกฯ ดัน "ภูมิธรรม" คุมหลายบอร์ดมั่นคง พร้อมเซ็นตั้ง 5 ที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ส่ง “พันศักดิ์” นั่งประธาน ยังไม่เคาะ "ขรก.การเมือง-ทีมโทรโข่ง รบ."  รอตรวจคุณสมบัติเข้มข้นก่อน "ฝ่ายค้าน" อ้างปัญหาน้ำท่วมยังไม่ยื่นเปิดอภิปราย ม.152 “ปกรณ์วุฒิ” ยันไม่มีใบสั่งห้ามพูดเรื่องครอบงำ "ลุงป้อม" ใส่ชุดดำถก "กก.บห.พปชร." ปัดพูดคลิปเสียงหลุด "ม็อบ" บุกทำเนียบฯ จี้ "แพทองธาร" สั่ง "ตร.ราชทัณฑ์" ส่งภาพ-เอกสารการรักษาตัวทักษิณให้ ป.ป.ช.

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 17 กันยายน 2567  เวลา 09.20 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า  ทำเนียบรัฐบาล และเวลา 09.45 น. นายกฯ เดินลงจากตึกไทยฯ มายังห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 พร้อมกับนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม,  นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง, น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย ที่มีชื่อเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินร่วมคณะมาด้วย

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกฯ ระหว่างเดินไปประชุม ครม. ว่านายกฯ ไม่เสียสมาธิใช่หรือไม่ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปราศรัยยื่นหนังสือร้องเรียนหน้าทำเนียบรัฐบาล นายกฯ ส่ายศีรษะก่อนกล่าวว่า   ได้ยินเสียงผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าทำเนียบฯ ก็ตอนที่ผู้สื่อข่าวบอกนี่แหละ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.), กองทัพธรรม และศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้ชุมนุมประท้วงที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้ขบวนรถนายกฯ เปลี่ยนเส้นทางเข้าทางสะพานอรทัยแทนทางเข้าประตู 1

ต่อมาภายหลังการประชุม ครม. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.มีมติรับทราบคำสั่งนายกฯ เกี่ยวกับการมอบหมายและมอบอำนาจรองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยมอบหมายให้รองนายกฯ  รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ 1.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม 2.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน 5.นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง 6.นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 นอกจากนี้ ยังรับทราบคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้นายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ โดยนายภูมิธรรมกำกับดูแล 11 หน่วยงาน ได้แก่ ก.กลาโหม ก.ยุติธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, นายสุริยะ 9 หน่วยงาน ได้แก่ ก.ต่างประเทศ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา ก.คมนาคม ก.วัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ,  นายอนุทิน 5 หน่วยงาน ได้แก่ ก.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก.มหาดไทย ก.แรงงาน และ ก.ศึกษาธิการ, นายพีระพันธุ์ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ก.พัฒนาสังคมฯ ก.พลังงาน และ ก.อุตสาหกรรม

นายพิชัย 7 หน่วยงาน ได้แก่ ก.การคลัง ก.เกษตรฯ ก.พาณิชย์ สำนักงบฯ (ยกเว้นที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของนายกฯ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบฯ) สำนักงานสภาพัฒน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก,  นายประเสริฐ 16 หน่วยงาน อาทิ ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ก.ดิจิทัลฯ ก.สาธารณสุข สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ตั้ง 'พันศักดิ์' ปธ.ที่ปรึกษานายกฯ

นายจิรายุกล่าวว่า ครม.วันนี้ไม่ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการการเมือง ซึ่งส่งมา 40-50 คน  เพราะต้องกลั่นกรองให้เรียบร้อย ซึ่งวันที่ 24 ก.ย. จะมีความชัดเจน เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้น จากเดิมสมัยก่อนจะมีการตรวจสอบประวัติจากหน่วยงานต่างๆ เพียง 2-4 แห่ง แต่ปัจจุบันต้องตรวจสอบถึง 14 แห่ง จึงมีเพียงตำแหน่งตนตำแหน่งเดียว คือตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

"สัปดาห์นี้จะใช้ชื่อที่ปรึกษาของนายกฯ ในการพูดเรื่องต่างๆ เพราะอยู่ระหว่างการกลั่นกรองรายชื่อในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ รวมถึงโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย คาดว่าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้าจะมีมติออกมา ซึ่งในคำสั่งเขียนชัดเจนว่าผมจะได้รับการแต่งตั้งโฆษกฯ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจกรรมของรัฐบาล" นายจิรายุกล่าว

มีรายงานว่า ครม.มีการรับทราบมติแต่งตั้งประธานกรรมการต่างๆ โดยนายภูมิธรรมมีชื่อเป็นประธานบอร์ดเกี่ยวกับความมั่นคงหลายแห่ง เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ, คณะกรรมการคดีพิเศษ, คณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร, คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

มีรายงานว่า น.ส.แพทองธารได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 317/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา 2.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษารัฐมนตรี 3.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ 4.นายธงทอง จันทรางศุ 5.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีหน้าที่วิเคราะห์และศึกษาโอกาสในการพัฒนาประเทศ พร้อมให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม. ​พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล หลังมีกระแสข่าวมีชื่อมาเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ โดยน.ส.ศศิกานต์ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ระบุเพียงขอให้รอฟังมติที่ประชุม ครม.

ช่วงเย็น น.ส.แพทองธารเดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 เพื่อร่วมประชุมกับ สส.พรรคเพื่อไทยประจำสัปดาห์ โดย น.ส.แพทองธารได้กล่าวกับ สส.ว่า  วันนี้เป็นวันแรกที่เข้าพรรคในฐานะนายกรัฐมนตรีแบบแถลงนโยบายแล้ว ขอบคุณทุกคนที่อยู่ในสภาคอยซัปพอร์ต ท่ามกลางความตื่นเต้นหันไปมองพรรคเพื่อไทยก็อุ่นใจเช่นเคย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้ขอให้ สส.ปรบมือให้ตัวเองด้วย พร้อมขอบคุณมากๆ ที่เป็นกำลังสำคัญให้กันตลอด จากนั้นนายกฯ ได้สอบถามว่าวันนี้เรามี สส.ใหม่มาร่วมประชุมด้วยหรือไม่ ทำให้นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาลและ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวว่า มาครับ โดยนายกฯ ได้ขอให้ทุกคนปรบมือให้กับ สส.ใหม่พิษณุโลก (นายจเด็ศ จันทรา สส.พิษณุโลก เขต 1 พรรค พท.) ด้วย พร้อมกล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณทีมทุกคน เป็นความร่วมมือร่วมใจของคนในพรรคเรา และตัวของ สส.เองก็ลงที่เยอะ อีกทั้งเห็นในสื่อโซเชียลก็ดีมาก ถึงแม้ตนเองจะไม่ได้ไปลงพื้นที่ด้วย แต่ก็ติดตามและให้กำลังใจมาโดยตลอด ก็ขอแสดงความยินดีด้วยมากๆ และดีใจที่ในสภาจะมีคนเข้ามาช่วยทำงานเพิ่มขึ้น

ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ว่า ยังมีอยู่ เรายังไม่ตัดโอกาสนั้น แต่ช่วงเวลาการอภิปรายไม่ได้จำกัดอยู่แค่สมัยประชุมนี้ เนื่องจากโควตาที่อภิปรายนับจาก 1 ปีสมัยประชุม ดังนั้นในสมัยประชุมถัดไปนับตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ก็ยังถือเป็นโควตาเดียวกันอยู่ เรายังไม่ได้ปิดโอกาสนี้ ซึ่งคงต้องดูสถานการณ์ก่อน

ปัดมีใบสั่งห้ามแตะครอบงำ

 “เราก็เข้าใจว่าหากมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นก็อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาก่อน เมื่อถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมค่อยเปิดอภิปรายก็ได้ เราไม่ได้ล็อกเอาไว้ว่าภายในเมื่อไหร่ แต่ดูสถานการณ์และเวลาที่เหมาะสม” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

ถามว่า ปัจจัยการยื่นอภิปรายจะคล้ายกับสมัยรัฐบาลเศรษฐาหรือไม่ ที่เป็นการอภิปรายแบบไม่ลงมติ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า จะอภิปรายแบบไม่ลงมติหรือไม่ไว้วางใจ สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ข้อมูลว่าจะนำไปสู่การไม่ไว้วางใจได้หรือไม่ เรายึดจากเนื้อหาสาระเป็นหลัก

ซักว่า พรรค ปชน.มีใบสั่งห้ามพูดบางเรื่องหรือไม่ เช่น เรื่องการครอบงำ นายปกรณ์วุฒิยืนยันว่า ไม่มีใบสั่ง และที่จริงแล้วหากลองฟังดีๆ ก็มีคนพูดเรื่องการครอบงำหลายคน ฝั่งโน้นอาจจะไม่สังเกต ตนยืนยันว่าไม่มีใบสั่งมาทางนี้ แต่อาจจะมีใบสั่งมาทางนั้นที่ไม่ยอมให้เราพูดถึงบุคคลบางคนก็ได้

เมื่อถามถึงการเสนอชื่อผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ปธ.วิปฝ่ายค้านกล่าวว่า ได้รับการประสานว่ามีการเสนอชื่อไปแล้ว คงใช้ระยะเวลาระดับหนึ่งเหมือนกัน

ถามถึงการร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่บางส่วนเป็นฝ่ายค้าน ปธ.วิปฝ่ายค้านกล่าวว่า จริงๆ แล้วหากพูดว่าจะร่วมกันแล้วก็อาจจะยาก เพราะเราเป็น สส.ด้วยกัน แต่ตอนนี้ได้มีการประสานกับวิปรัฐบาลด้วย ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนว่าพรรค พปชร.จะมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล อีกส่วนมาอยู่กับพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้นต้องรอความชัดเจน ซึ่งตอนนี้ฝ่ายค้านพูดคุยแบ่งโควตากันเท่าที่ให้ได้ จนกว่าจะได้ความชัดเจนอีกครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรค พปชร.ทั้งพรรคอยู่ฝั่งไหน เพราะเราเข้าใจสถานการณ์ของเขา เนื่องจากเป็นเรื่องการจัดการภายใน เราคงไปก้าวก่ายไม่ได้ เพียงแต่ขอให้ชัดเจนว่าตกลงแล้วอยู่ฝั่งไหนกี่คน

 “เราก็พอที่จะแบ่งสรรปันส่วน ด้วยความมีน้ำจิตน้ำใจในฐานะเพื่อน สส. และหากทราบความชัดเจนว่าอยู่ฝั่งไหนกี่คน ก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น โดยความชัดเจนดังกล่าวจะเห็นได้จากการลงมติในสภาว่าจะอยู่ฝ่ายค้านกี่คน” ปธ.วิปฝ่ายค้านกล่าว

ด้านนายนนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี พรรค ปชน. แถลงถึงนโยบายรัฐบาลเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า  ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันจับตาโครงการนี้ ที่อ้างถึงตัวเลขหลายแสนล้านบาท หากเทียบกับมาเก๊า เราจะต้องแย่งฐานลูกค้าของมาเก๊ามาได้ทั้งหมด ในขณะที่ประเทศใกล้เคียงสิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ยังทำได้ 1 ใน 3 ของมาเก๊าเท่านั้นเอง จึงไม่เห็นที่มาที่ไปของตัวเลขรายได้ที่แท้จริง หากคำนวณไม่น่าจะเกินหมื่นล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรองรับผลกระทบที่จะตามมา

นายนนท์กล่าวว่า รมช.การคลังผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ให้ข่าวว่ากระทรวงการคลังไม่มีหน้าที่ที่จะตัดสินใจว่าความเหมาะสมที่จะทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มีจำนวนเท่าไหร่ ทำจังหวัดใด  ใครเป็นคนทำ จึงอยากให้กลับไปดูโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่ง รมว.การคลังก็เป็นหนึ่งของคณะกรรมการนโยบายฯ ดังนั้นขอให้จับตาคุณสมบัติของคณะกรรมการนโยบายที่จะถูกแต่งตั้งว่าลักษณะต้องห้ามบางอย่างหายไปโดยการถูกขีดฆ่าในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คือต้องไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ต้องไม่อยู่ระหว่างห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ต้องไม่เคยพ้นจากตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทมหาชน จำกัด เพราะเหตุลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจบริหารจัดการกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์

"สมัย ครม.ชุดที่แล้วมี รมช.การคลังคนหนึ่ง เพิ่งได้รับตำแหน่ง และแต่งตั้งนาย ธ. ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาฯ รมช.คลัง แต่มีคนพบว่าบุคคลนี้มีความผิดฐานปั่นหุ้น โดนสั่งปรับ และสั่งห้ามซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ ด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้คุณสมบัติบางข้อหายไป หรือเพื่อเปิดทางให้คนที่รู้ทางหนีทีไล่ ดึงเข้ามาเพื่อเป็นคณะกรรมการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในอนาคต” นายนนท์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงข้อกำหนดบัญชีแนบท้ายของคณะกรรมการฯ ที่ทำส่ง ครม.จาก 12 อย่าง เหลือเพียง 10 อย่าง ทุกอย่างดูไม่ตรงปก โดยสิ่งแรกที่หายไปคือเรื่องของศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ หรือสถานที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่ถูกถอดออกจากบัญชีแนบท้าย แต่ตอนขายฝันชูธงว่าเป็นธุรกิจหลักมหาศาล และถูกบรรจุอยู่ในนโยบายข้อที่ 7 ของ ครม.ชุดนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าไปกระทบศูนย์การค้าของเจ้าสัวรายใดในประเทศไทยหรือไม่

"อยากให้กลับไปทบทวนกระบวนการต่างๆ ให้สมบูรณ์แล้วค่อยเดินหน้า ดีกว่าดันทุรัง เพราะท้ายสุดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะกลายเป็นสถานบันเทิงแหกตาประชาชน" สส.พรรค ปชน.รายนี้ระบุ

ม็อบบี้เลิกอุ้มเทวดาชั้น 14

ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เวลา 13.15 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. เดินทางเข้าพรรคเพื่อเป็นประธานในการประชุมกรรมการบริหารพรรคและ สส. โดยได้ใส่เสื้อเชิ้ตลายสีดำคุมด้วยแจ็กเกตสีดำ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า  พล.อ.ประวิตรมาในโทนชุดสีดำทั้งชุด ซึ่งตรงกับสีมงคลประจำวันอังคาร เสริมเรื่องการเงิน ซึ่งทันทีที่ พล.อ.ประวิตรมาถึง ไม่ได้ทักทายหรือให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และเดินเข้าลิฟต์ไปทันที

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นฟ้องนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ได้ยื่นฟ้อง 3 คดี ได้แก่ 1.คดีอาญาในเรื่องการดักฟัง 2.คดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และ 3.คดีแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท โดยให้ทนายความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายดนัย และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. รวมถึงบริษัท อสมท. กรณีใช้คลิปดักฟัง ซึ่งได้ยื่นต่อสถานีตำรวจเรียบร้อยแล้ว

"เรื่องการฟ้องหมิ่นประมาทที่ศาลอาญา กำลังอยู่ระหว่างยกคำฟ้อง เข้าใจว่าจะเสร็จในสัปดาห์หน้า" นายไพบูลย์กล่าว

ถามว่า ที่ยื่นฟ้องเพราะจะได้ให้ศาลซักว่าได้คลิปมาจากใครใช่หรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า ไม่ใช่ แต่เนื่องจากเรื่องการดักฟังนั้น ในประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 21 ถือว่าเป็นความผิดต่อรัฐ ต้องไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน โดยรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่ยกเลิกประกาศดังกล่าว จึงยังมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรค และประชุม สส.ประจำสัปดาห์ ก่อนเดินทางกลับ ผู้สื่อข่าวได้รอดักสัมภาษณ์ พล.อ.ประวิตร ถึงกรณีคลิปเสียงหลุด และมีการนำมาแฉ แต่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ ก่อนขึ้นรถเดินทางกลับทันที

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. แถลงผลการประชุม กก.บห.ว่า ที่ประชุมได้เห็นควรให้มีการจัดตั้งศูนย์นโยบายและวิชาการของพรรค พปชร. เพื่อจัดเป็นศูนย์ในการทำงานให้กับ สส.และทีมสมาชิกของพรรค ในการนำข้อมูลข่าวสารไปดำเนินการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยศูนย์นโยบายและวิชาการดังกล่าวจะมีนายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.การคลัง เป็นหัวหน้าทีม และมีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง เป็นทีมงานสำคัญ

ขณะที่ นางนฤมล​ ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีมีคลิปเสียงคล้าย พล.อ.ประวิตรออกมา โดยเพียงแค่ยิ้ม

วันเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงเช้า บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.), ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรม เดินขบวนชุมนุมเรียกร้องคืนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้กระบวนการยุติธรรม และคืนความเป็นธรรมให้กับประเทศไทย โดยได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เป็นผู้รับเรื่อง

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าวว่า ตอนที่นายเศรษฐาประชุม ครม.ครั้งแรกในปีที่แล้ว พวกเราก็มายื่นหนังสือแบบนี้ มายื่นไว้ก่อน พร้อมทวงถามว่ารัฐบาลนายเศรษฐาจะทำตามข้อเรียกร้องที่ยื่นหนังสือไปหรือไม่ ผ่านมา 1 ปี น.ส.แพทองธารมีการประชุม ครม.นัดแรก เราจึงมายื่นหนังสือ พร้อมท้วงติงนโยบายเช่นเดียวกัน หวังว่าอายุของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร อย่าให้เหมือนอายุของรัฐบาลนายเศรษฐา

"พวกเรามาติดตามว่ากรณีของนายทักษิณที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมจำนวนมาก จากคดีที่ คปท.เคยไปยื่นกับ ป.ป.ช. ในกรณีที่นายทักษิณไม่อยู่ในเรือนจำ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ทำแบบฟอร์มขอเอกสารการรักษาตัว หรือเลขทะเบียนมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ไม่มีการส่งหนังสือตอบกลับไป เพื่อประกอบสำนวนการไต่สวน ดังนั้น คปท.อยากถามนายกฯ ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ที่สามารถสั่งการไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ว่าจะปล่อยให้กระบวนการเดินหน้าหรือถอยหลัง  ถ้าอยากให้กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกิดขึ้น" นายพิชิตกล่าว

แกนนำ คปท.กล่าวว่า น.ส.แพทองธารในฐานะนายกฯ ไม่ใช่ลูกสาวของนายทักษิณ จะมีการสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งเวชระเบียนการรักษาตัวของนายทักษิณไปที่ ป.ป.ช. รวมทั้งสั่งการไปยังกรมราชทัณฑ์ กรณีการบันทึกภาพถ่าย และการรักษาตัวนอกเรือนจำ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่ ป.ป.ช.ได้ขอไปหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่