หั่นอำนาจปปช.โละจริยธรรม

นายกฯ ปัดตอบแก้ รธน. โยนเป็นเรื่องของสภา “ชูศักดิ์” เดินหน้ายื่นแก้ รธน.รายมาตราสัปดาห์หน้า ปมจริยธรรม-ซื่อสัตย์สุจริตให้ชัดเจนต้องศาลฎีการับฟ้อง ป้องนักร้องยื่นกลั่นแกล้งในชั้น ป.ป.ช. พร้อมรื้อมติศาล รธน.เรื่องสำคัญต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาด “ประชาชาติ”  เอาด้วย สกัดองค์กรอิสระใช้อำนาจล้นเกิน "พรรคส้ม" ดอดยื่นร่างแก้ รธน.โละอำนาจ ป.ป.ช.สอบจริยธรรม สส. จ่อคุยวิป ผนึก พท.เปิดแถลงข่าว 18 ก.ย.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 17 กันยายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม นายกฯ มีความเห็นอย่างไรว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันในรัฐสภา ก็ขอให้เป็นเรื่องที่ได้พูดคุยกันทั้งหมดดีกว่า

ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตว่า พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเรากำลังยกร่างอยู่ เข้าใจว่าใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 4-5 มาตรา โดยจะกำหนดกรอบกฎหมายให้มีความชัดเจน ไม่ต้องตีความอะไรมาก ขณะที่ฝ่ายค้านก็กำลังพิจารณายกร่างกฎหมายเรื่องนี้เช่นกัน โดยแต่ละพรรคจะต่างคนต่างยื่นร่างเข้าสภา แล้วจึงไปว่ากันในการพิจารณาของรัฐสภา

 “สมมติว่าคุณอ่านรัฐธรรมนูญ ไม่มีพฤติกรรม ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่ทราบว่าตีความอย่างไร จึงอยากกำหนดให้หากใครถูกร้องหรือระหว่างถูกฟ้องในชั้นศาลว่าฝ่าฝืนจริยธรรม ซึ่งจะทำให้การตีความชัดเจนขึ้น” นายชูศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องร้องเรียนหรือชี้มูลว่าฝ่าฝืนจริยธรรม แล้วจะถือว่ายังไม่มีความผิดใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ใช่ เพราะการร้องไปที่ ป.ป.ช. ยังไม่รู้ว่าเขามีความผิดแล้วหรือยัง ดังนั้นถ้าจะสกัดกั้นคนด้วยวิธีการนี้ก็เป็นเรื่องง่ายๆ คือมีคนไปร้อง ป.ป.ช. ก็จะทำให้คนที่ถูกร้องได้รับผลกระทบและจบเลย

เมื่อถามว่า แสดงว่าเส้นตัดที่จะพิจารณาว่าใครเข้าข่ายขัดจริยธรรมหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริต คือศาลฎีกาต้องรับฟ้องในคดีจริยธรรมใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราคิดเช่นนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น

ส่วนที่สังคมมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้นักการเมืองเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราคิดว่าเราไม่ได้ประโยชน์อะไร และเราก็ระมัดระวังไม่ให้เป็นการแก้เพื่อประโยชน์ตัวเอง  พรรคเพื่อไทยจึงขอแก้แค่พอดีๆ ให้มีเกณฑ์มาตรฐานรับได้ ไม่ใช่เราไปยกเลิกเขาทั้งหมด และต้องการแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้การบริหารประเทศลำบาก ซึ่งเรามองว่ามีความจำเป็น ไม่ใช่ทำเพื่อให้เราได้รับประโยชน์ และเพื่อให้บ้านเมืองมีกฎหมายที่เป็นธรรม ยุติธรรมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขประเด็นเสียงข้างมากของรัฐธรรมนูญในการลงมติเรื่องสำคัญ เช่น การยุบพรรคหรือเอาคนออกจากตำแหน่ง จะต้องใช้เสียงข้างมากเด็ดขาดแทนการใช้มติเสียงข้างมากธรรมดา นายชูศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเช่นกัน โดยความคิดเรื่องสำคัญใหญ่ๆ ใช้เสียงข้างมากธรรมดาทั่วไป ยกตัวอย่างกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ  ที่พ้นจากตำแหน่งด้วยมติศาลรัฐธรรมนูญ 5-4  เสียง ซึ่งเราก็ใช้วิจารณญาณคิดดูว่าเรื่องใหญ่แบบนี้ควรหรือไม่ จึงมีแนวความคิดว่าให้มติมากขึ้นหน่อยดีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้กับเรื่องจริยธรรม ให้ชัดเจน จะทำไปพร้อมกัน ส่วนการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คิดว่าเร็วที่สุดอาจจะภายในสัปดาห์หน้า  ทำในนามพรรคการเมือง ไม่ใช่รัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญจะทำแต่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดนักร้องนักยื่นตรวจสอบนั้น มีกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนจะทำให้เข้มขึ้นหรือไม่ ก็ต้องมีการพิจารณาต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มนักร้องที่หวังผลทางการเมือง แต่ยืนยันว่าขณะนี้มีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้อยู่แล้ว

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ในเรื่องเดียวกันว่า พรรคประชาชาติได้นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งอยู่แล้ว  โดยต้องการให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และมีการทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาชาติอยากให้มีการแก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องสวัสดิการของประชาชน และอยากให้มีการทบทวนบทบัญญัติในหมวดที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงอยากให้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป

เมื่อถามว่า ควรจะแก้ไขประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมด้วยหรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ควรมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจน เพราะถ้ากฎหมายเขียนคลุมเครือไม่ชัดเจน ก็จะทำให้เป็นสมบัติส่วนตัวขององค์กรอิสระที่จะเอาไปใช้อย่างไรก็ได้ ดังนั้นควรมีการแก้ไขเพื่อกำหนดกรอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเลือกตั้ง สส.และ สว. ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ผู้ที่จะทำหน้าที่ไปตัดสินอะไร ก็ควรได้รับมอบอำนาจจากประชาชน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนานั้น มีการเอ่ยถึงในรายละเอียดการแก้รัฐธรรมนูญที่รายมาตรา ยังไม่มีการพูดคุยเป็นกิจจะลักษณะ แต่ถึงเวลาคงต้องมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่อาจให้ความเห็นได้ในขณะนี้ เรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์ เป็นเรื่องที่เซนซิทีฟกับพี่น้องประชาชน  เป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยหารือกัน

ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวยอมรับว่า พรรคได้ยื่นร่างแก้ไขรายมาตรา กลุ่มประเด็นว่าด้วยจริยธรรมทั้งระบบ ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาแล้ว ทั้งนี้ ตามกระบวนการต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อนและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระภายใน 15 วัน ดังนั้นตนเชื่อว่าหากจะนำเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่กำหนดไว้เบื้องต้นวันที่ 25 ก.ย.นี้ อาจจะทัน แต่ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อรัฐสภาในสัปดาห์หน้านั้น และมีเวลา 2-3 วัน เวลาอาจไม่พอกับการตรวจสอบและบรรจุวาระ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมวิปร่วมอีกครั้ง ซึ่งตนรับได้หากจะเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาออกไปอีก 1 สัปดาห์

นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับล่าสุดที่เสนอนั้น เป็นรายละเอียดเรื่องจริยธรรมทั้งระบบ ซึ่งจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมดว่ามีกี่มาตรา เพราะกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องหลายมาตรา รวมถึงเกี่ยวกับการใช้อำนาจขององค์กรรอิสระที่ตัดสินผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองที่เป็นนามธรรมมากเกินไป ในประเด็นที่แก้ไขกับอำนาจขององค์กรอิสระดังกล่าวตามเงื่อนไขต้องทำประชามติ ซึ่งอาจเป็นการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั้งประเทศ ตามที่รัฐบาลวางไทม์ไลน์ไว้

เมื่อถามว่า มีประเด็นที่จะตัดในส่วนของข้อกำหนดในคุณสมบัติที่ต้องซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ด้วยหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ไม่ได้ปิดการแก้ไขในส่วนดังกล่าว แต่ต้องพูดคุยในชั้นกรรมาธิการว่าทุกพรรคเห็นอย่างไร ส่วนใหญ่ใช้หลักการกว้างและต้องพิจาณาแก้ไขในชั้นกรรมาธิการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สส.พรรคประชาชนได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อนายวันมูหะมัดนอร์ ผ่านฝ่ายธุรการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในรายละเอียดเบื้องต้นนั้น สส.ของพรรคประชาชนที่ถูกยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบจริยธรรมกรณีร่วมยื่นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตา 112 ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งในรายละเอียดนั้นจะเป็นการยกเลิกอำนาจของ ป.ป.ช.ในการสอบจริยธรรมของ สส. ทั้งนี้ ในรายละเอียดของการยื่นร่างแก้ไขนั้น นายพริษฐ์จะแถลงต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภาวันที่ 18 ก.ย.อีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง