ไฟเขียว3พันล. เยียวยาน้ำท่วม เร่งถึงมือปชช.

“นายกฯ อิ๊งค์” สั่งกลาง ครม.  ติดตามน้ำท่วมใกล้ชิด หลังอุตุฯ เตือน 18-21 ก.ย.ฝนตกหนัก พร้อมอนุมัติงบกลาง 3 พันล้านให้มหาดไทยช่วย 57 จังหวัด ย้ำถึงมือ ปชช.รวดเร็ว  ยังไฟเขียว พม.เยียวยาบ้านเสียหาย 70% หลังละ 2.3 แสนบาท “บิ๊กอ้วน” วอนอินฟลูฯ หยุดบั่นทอนกำลังใจคนทำงาน ขณะที่ “อนุทิน” ยันน้ำท่วมพะเยาเอาอยู่ พร้อมแจ้งเตือนภัยทุกรูปแบบ ด้าน  "ฝ่ายค้าน" เตรียมตั้งกระทู้สด

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 กันยายน เวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก โดยนายกฯ กล่าวช่วงต้นการประชุมตอนหนึ่งว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม  (คอส.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม  (ศปช.) โดยขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ และหากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีรายงานจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ว่าปริมาณน้ำฝนตกมากในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและพะเยา และอีกหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก และเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ได้รับแจ้งในที่ประชุมว่า เรื่องของน้ำและฝนจะหนักในวันที่ 18-21 ก.ย. ขอให้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมไว้ด้วย และได้รับแจ้งมาเมื่อสักครู่ว่าระดับน้ำในจังหวัดพะเยาได้ลดลงแล้ว นักศึกษาที่ติดอยู่ได้รับการช่วยเหลือออกมาเรียบร้อยแล้ว

ต่อมานายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม ครม. เห็นตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567  และขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567  งบกลางจำนวน 3,045 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยเร่งรัดขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และลดขั้นตอนเอกสารที่ต้องยื่น เพื่อให้การช่วยเหลือต่างๆ  เข้าถึงประชาชนโดยรวดเร็ว

อีกทั้งในที่ประชุมตนได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติม จากกรณีปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดมีความจำเป็นต้องเสนอที่ประชุม ครม. ก็เร่งให้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

เมื่อถามว่า ขั้นตอนการเยียวยานั้นล่าช้า ทำให้เงินเยียวยาไปถึงประชาชนช้า จะทำอย่างไรที่จะเร่งกรอบเวลาการสำรวจความเสียหายให้ไปถึงมือประชาชนโดยเร็ว นายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และในวันที่ 18 ก.ย. จะมีการประชุมกันนัดแรก ฉะนั้นขั้นตอนต่างๆ ที่จำเป็นต่อประชาชน ต้องมีการเร่งรัดแน่นอน ซึ่งในวันที่ 18 ก.ย. จะมีรายละเอียดออกมาจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช.

เท 3 พันล้านช่วย 57 จว.

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย.67 ได้มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ซึ่งการจ่ายเงินจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ ครม.อนุมัติในวันนี้ด้วยเช่นกัน

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคารจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ จะต้องเป็นอุทกภัยที่เกิดในช่วงฤดูฝนปี 2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.67 ทั้งกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำจนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ ที่อยู่อาศัยนั้นต้องเป็นบ้านอยู่อาศัยเป็นประจำ อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ใน 57 จังหวัด จำนวน 338,391 ครัวเรือน

 น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือจะแยกเป็นแต่ละกรณี ดังนี้ 1.กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท 2.กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3.กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 60 วันขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งนายกฯ กำชับกระทรวงต่างๆ ให้เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิดเป็นรายชั่วโมงตลอด 24 ชม. และสั่งการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงไปดู และสรุปให้รวดเร็ว ถ้าบ้านเรือนที่เสียหายเกิน 70% จะรับเงินเยียวยา 2.3 แสนบาท

 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ  รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์จากอินฟลูเอนเซอร์ว่าการช่วยเหลือของรัฐล่าช้า ซึ่งภาคประชาชน กู้ภัย เอกชน มักเดินทางลงไปถึงก่อน และเมื่อภาครัฐลงไปก็มีคนแห่ไปรับ สุดท้ายหน่วยงานก็หายไปเมื่อนายกฯ กลับไปแล้วว่า  สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตอนที่เกิดน้ำท่วมเรายังสั่งการไม่ได้ ได้เพียงแค่บอกว่าเราเป็นห่วงประชาชน แต่หลายหน่วยงานก็เข้าไปตั้งแต่คืนแรกที่ฝนตก เข้าไปถึงบ้านพักลำเลียงผู้คนออกมา

 ตนว่าใครไปก่อนไปหลังไม่ใช่ประเด็น แต่ต้องช่วยกันทำ ใครเข้าไปก่อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเคลมว่าเห็นใจ สนใจแล้วเข้าไปก่อน เข้าไปเถอะ เข้าก่อนเข้าหลังไม่เป็นไร ดีกว่าไม่เข้า ประชาชนเขาเดือดร้อน เขาไม่สนใจว่าใครเข้าก่อนเข้าหลัง ส่วนพวกเราระวังอยู่แล้ว ควรไม่ควรที่จะกระทบ ไม่จำเป็นต้องมาดูแล เอาแค่บุคคลที่เกี่ยวข้องมาดูแล ไม่งั้นมันก็ยาก ไม่ไปก็ว่าไม่สนใจ เข้าไปก็บอกว่าต้องมีคนแห่แหนมา นี่เป็นค่าความเข้าใจเดิมมองไปแบบนั้น ตนคิดว่าต้องมองใหม่ วันนี้ข้าราชการเขาเข้มแข็ง

"ฉะนั้นต้องให้กำลังใจทุกหน่วยงาน อย่าไปพูดบั่นทอนความรู้สึก ความตั้งใจดีของแต่ละคน  อยากให้มองบวก และส่งเสริมให้กำลังใจ ดีกว่ามาตั้งคำถามแล้วบั่นทอนกำลังใจของคนทำงาน" นายภูมิธรรมกล่าว

น้ำท่วมพะเยาเอาอยู่

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พะเยา เมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาได้รายงานสถานการณ์ว่าควบคุมได้ ดูเรื่องความเสียหายไม่ต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ และขณะนี้น้ำเริ่มลดลง ยืนยันมีมาตรการเตือนภัยทุกรูปแบบ ทั้งอนาล็อกและดิจิทัล รวมถึงมาตรการเฝ้าระวัง ถ้าประชาชนอยู่ในพื้นที่ไม่อพยพก็มีการเตรียมพร้อมอย่างดี ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านเรือน ถ้าใครอยู่ก็จัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย แต่หากไม่อยู่ก็มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนดูแลทรัพย์สินให้

 “บางพื้นที่ต้องใช้ปาก ใช้คนเข้าไปช่วย เพราะมีคุณลุงคุณป้าที่ไม่ได้ดูหน้าจอตลอด สิ่งที่ได้ผลที่สุดคือเอาเจ้าหน้าที่เข้าไปเตือนภัยชี้แจงพร้อมกับประเมิน ยืนยันว่าเราทำทุกรูปแบบ” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่าอีก 3 วันมวลน้ำจาก จ.หนองคาย จะไหลไป จ.อุบลราชธานี เตรียมพร้อมรับมืออย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้เรื่องของการเยียวยาไม่มีอะไรน่ากังวล ซึ่งเรื่องป้องกันได้มีการหารือว่าเรื่องการป้องกันภาระอยู่ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำได้เพียงแค่การบรรเทา  เพราะงบประมาณเรื่องการป้องกันขอไปไม่เคยได้ถูกตัดหมด ตนได้ชี้แจงกับนายกฯ ไปแล้ว ซึ่งนายกฯ ก็คงต้องหาวิธีปรับ แต่ใครทำก็ไม่มีปัญหา  แต่ขอให้ได้ทำ

 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กล่าวถึงกรณีในพื้นที่น้ำท่วมยังมีปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ว่า ตอนแรกน้ำป่าหลากมาส่งผลให้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เสียหายล้ม  ทำให้มีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่ง กสทช.และโอเปอเรเตอร์ทุกค่ายไปแล้ว ตอนนี้น่าจะปกติแล้ว และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ใช้ได้เกือบ 100%

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้กรมอุตุนิยมวิทยาและบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ประสาน กสทช. ซึ่งกระทรวงดีอีมีแอปพลิเคชันที่เรียกว่า Help T (ช่วยด้วยน้ำท่วม) หากมีน้ำไหลมาจากไร่ ก็จะมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลเข้ามา ว่าน้ำไปถึงไหน เป็นการเสริมให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการสั่งการให้ติดตามข้อมูล 24 ชั่วโมง

ปชน.ตั้งกระทู้ถามสด

 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)​ กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 19 ก.ย. ฝ่ายค้านเตรียมตั้งกระทู้ถามสดเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังมีขึ้น และการดำเนินการในหลายมิติ รวมไปถึงการจัดการการเยียวยาทั้งหลายในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุลักษณะนี้

เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่า สส.พรรคประชาชนไม่ค่อยช่วยน้ำท่วม นายปกรณ์วุฒิกล่าวยืนยันว่า สส.เชียงรายของพรรคประชาชนเดินหน้าลงพื้นที่ประสานช่วยเหลือตั้งแต่ก่อนสถานการณ์ และลงพื้นที่ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมี สส.จังหวัดใกล้เคียง และ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนลงไปช่วยด้วย แต่อาจจะไม่ได้เห็นในหน้าสื่อมากนัก แต่ไม่เป็นไร เพราะเข้าใจว่าเวลาลงหน้างานจะลำบากที่จะมีสื่อมวลชนไปติดตาม ขณะที่พรรคประชาชนจะใช้กลไกลสภาในการช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งการถามกระทู้สด และมีทีมงานหลังบ้าน พรรคประชาชนรวบรวมข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเป็นข้อเสนอแนะเพียงรัฐบาล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศปช. พร้อมรับมือฝนถล่มภาคใต้ เร่งขุดลอกวัชพืช ระดมทีมช่างช่วยฟื้นฟูบ้านเรือน

นางสาวศศิกานต์  วัฒนะจันทร์  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า วันที่ 12 – 16 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น