นายกฯ อิ๊งค์นั่งหัวโต๊ะบัญชาการงานน้ำท่วมนัดแรก ประเมิน 3 วันจบวิกฤต ประเดิมควักงบกลาง 3,000 ล้านเยียวยาเหนือ-อีสาน ผุดศูนย์บริหารสถานการณ์ 2 หน่วยรวด “คอส.-ศปช.” ดูแลเบ็ดเสร็จ มอบ "ภูมิธรรม” หัวเรือใหญ่ทำงานร่วม "อนุทิน" เล็งขันนอตระบบแจ้งเตือนภัย CBS เคาะฟรีค่าน้ำ-ค่าไฟเดือน ก.ย.ผู้ประสบภัย ด้าน “บิ๊กอ้วน” ส่งหน่วยซีลดูแลหนองคาย “มท.หนู” เล็งเกลี่ยงบใหม่ปี 69 หน่วยงานป้องกันให้ชัด “สทนช.-ปภ.” ปิดช่องอุทกภัยซ้ำซาก
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 16.00 น. วันที่ 16 กันยายน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถประสานงานกันได้ ว่าตรงไหนเจอปัญหาอะไรบ้าง เพื่อให้การแก้ปัญหารวดเร็วชัดเจน
เมื่อถามว่า คณะกรรมการที่ตั้งมานี้ชั่วคราวหรือถาวร น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เราตั้งไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานว่า น้ำเริ่มมาทางภาคอีสานและปริมาณน้ำเริ่มลดลง จังหวัดไหนที่น้ำจะเข้าไปได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมสำหรับการแจ้งเตือนประชาชน ให้สามารถอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันเวลา ซึ่งเราแจ้งล่วงหน้าไปแล้วหลายวัน โดยจังหวัดที่น้ำท่วมไปแล้วประมาณ 3 วันทุกอย่างน่าจะจบลง และการฟื้นฟูเราพยายามทำให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า การที่น้ำลดลงเกี่ยวข้องกับกรณีประเทศจีนยังไม่ปล่อยน้ำมาทางแม่น้ำโขงเพิ่มใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า จีนปล่อยน้ำปกติ ไม่ได้มีส่วนทำให้น้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
เมื่อถามว่า ได้เตรียมความพร้อมในพื้นที่อีสานตอนล่างที่ต้องรับมวลน้ำหลังจากนี้ไว้อย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดคุยกันว่าปีนี้น้ำไม่ได้จะหนักมาก แต่ก็มีน้ำผ่าน ทางกองทัพภาคที่ 2 ได้เข้าไปเตรียมพร้อมในพื้นที่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ ความสามารถรับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีมากพอ กรุงเทพฯ น้ำก็จะไม่ท่วม
"และในที่ประชุมมีความเห็นว่าจะไม่เก็บน้ำค่าน้ำ-ค่าไฟพื้นที่ประสบภัยในเดือน ก.ย. ส่วนในเดือน ต.ค.จะลดให้ 30% และหากน้ำท่วมยาวกว่านั้นเราสามารถขยายได้อีก มาตรการที่ออกมานี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการเยียวยาที่เร่งด่วน" น.ส.แพทองธารระบุ
นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนได้พูดคุยกับกองทัพ ซึ่งระดมกำลังอย่างเต็มที่แต่ติดปัญหากำลังพลไม่เพียงพอ ก็จะให้กระทรวงศึกษาธิการดูเรื่องทีม Fix it Center อาชีวะจิตอาสา ที่มีหลายจังหวัดให้ระดมพลมาช่วยกัน เพื่อให้ความเสียหายได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
เมื่อถามว่า ขณะนี้กรอบเยียวยาอยู่ที่เท่าไหร่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า กรอบเยียวยากรณีบ้านเสียหายทั้งหลังยังคงยึดกรอบเดิมคือ 2.3 แสนบาท แต่จะมีการเยียวยาหลายหมวด และมีงบกลางที่เราสำรองไว้สำหรับเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะแล้ว
เมื่อถามว่า การเยียวยากรณีมีผู้เสียชีวิตจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า อันนั้นต่างหาก เดี๋ยวต้องไปดูกรอบอีกที ส่วนเรื่องการแจ้งเตือนภัย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องกำหนดกรอบงบประมาณเกี่ยวกับระบบ Cell Broadcast Service (CBS) หรือระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินให้การเตือนภัยมีผลดียิ่งขึ้น
“การตั้ง คอส.และ ศปช.ซึ่งมีนายภูมิธรรมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ โดยจะทำงานร่วมกับนายอนุทิน, นายสุริยะ และนายประเสริฐ เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม รวมถึงจะต้องมีการวางกรอบการทำงาน เพื่อให้การทำงานช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงที" น.ส.แพทองธารระบุ
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงมาตรการและงบเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยว่า ในส่วนของงบเยียวยายังใช้มติเดิมไปก่อน จึงไม่ต้องเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งการเยียวยาเราทำตามกรอบเดิมทุกอย่าง หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาคือเรื่องความเร็ว ส่วนหากจะเยียวยามากขึ้นกว่านี้เราจะพิจารณาตามหลัง เพราะหากรอตรงนี้ก็จะช้า ดังนั้นคณะกรรมการที่นายกฯ ตั้งขึ้นจะคุยกันวันพุธที่ 18 ก.ย.เป็นวันแรก โดยสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมาพิจารณาประเมินร่วมกัน และจะออกมาเป็นข้อสรุปพร้อมไทม์ไลน์
เมื่อถามว่า การเยียวยาไร่นาหรือพืชผลทางการเกษตรจะได้มากขึ้นหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า หากเรามัวแต่ปรับตอนนี้มันจะช้า ตอนนี้เราเอาตามเดิมไปก่อน อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของงบกลาง ซึ่งนายกฯ เปิดแล้วสามารถดำเนินการได้เลยและมาแจ้งในทีหลัง โดยให้หลักการให้กรอบไปแล้วว่าจะทำอย่างไร
ทั้งนี้ นายภูมิธรรมระบุด้วยว่า หลังจากน้ำท่วมตนได้ย้ำกับกองทัพภาคที่ 2 ไปแล้ว ส่วนกองทัพภาคที่ 3 ที่ดู อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้สั่งการให้ทำบิ๊กคลีนนิงให้จบก่อน ต้องเร่งเอาโคลนออกจากจุดต่างๆ ออกมาให้ได้ ถ้าปล่อยไว้จนมันแข็งและแห้งจะทำให้การฟื้นฟูลำบากยิ่งขึ้น ส่วนหน่วยซีลได้ขอกำลังให้ไปที่ จ.หนองคายเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เรากำลังทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ส่วนใน กทม.โดยรวมคิดว่าน่าจะยังปลอดภัยอยู่
หลังประชุม คอส. น.ส.แพทองธารได้รับฟังข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน จึงมีความเห็นจะอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเยียวยาน้ำท่วม ผ่านช่องทางกระทรวงมหาดไทยจำนวน 3,000 ล้านบาท โดยจะเสนอในที่ประชุม ครม.วันที่ 17 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธารได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 312/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดย คอส.มีนายกฯ เป็นประธาน รองประธานประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่กรรมการจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เช่น รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.สาธารณสุข มีหน้าที่และอำนาจในการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม รวมถึงเตรียมความพร้อมติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ ช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูบูรณะภายหลังเกิดภัย พร้อมทั้งศูนย์ ศปช.มีนายภูมิธรรมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีนายอนุทิน, นายสุริยะ และนายประเสริฐ เป็นรองผู้อำนวยการ มีหน้าที่เป็นหน่วยบัญชาการที่บูรณาการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อำนวยการและปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบบเบ็ดเสร็จ
ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า น.ส.แพทองธารได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน และให้ทำเรื่องเสนอบัญชีรายครัวเรือนว่าจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลอย่างไร ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีแนวทางไว้แล้ว
เมื่อถามถึงมาตรการป้องกันภัยพิบัติ นายอนุทินกล่าวว่า ตามกฎหมายว่าด้วยแผนป้องกันในประเด็นประสบอุทกภัยนั้น กำหนดให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้ดูแล โดยกระทรวงมหาดไทยนั้นเรื่องงบป้องกันถูกตัดทั้งหมด ซึ่งในงบประมาณปี 2569 ต้องมาคุยใหม่ว่า หากจะทำป้องกันต้องอัดงบป้องกันไปที่ สทนช. และเพิ่มบุคลากรให้ทำงาน
"ส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยนั้น อำนาจป้องกันถูกดึงออกไป ขนาดจะสร้างฝายยังทำไม่ได้ และมีบทบาทเรื่องการบรรเทา ต้องนำเรื่องพวกนี้มา เพราะกฎหมายดังกล่าวทำมาก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้และชุดที่แล้ว เพื่อจัดตั้งองค์กรที่ป้องกันชัดเจน ดังนั้นต้องยกมาหารือว่า ป้องกันอย่างไรถึงเกิดเหตุเช่นนี้ทุกปี เขายังขาดอะไร เพราะความร่วมมือไม่ขาดอยู่แล้ว” นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินระบุด้วยว่า งบประมาณเพื่อเยียวยามีเพียงพอ แต่ต้องหาวิธีป้องกันรูปแบบต่างๆ ไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำซาก ทั้งนี้ยอมรับว่าสาเหตุมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งต้องใช้กลไก เช่น รอบนี้มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนมาตามน้ำโขง ต้องใช้กรรมการที่มีประเทศภาคี จะวางแผนรับน้ำ ระบายน้ำอ่างไร หลายกระทรวงต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า จะมีการรายงานเรื่องกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่มวลน้ำจะไหลลงมา ซึ่ง พม.จะมีการอัปเดตว่าได้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอะไรไปบ้างแล้ว
ที่ จ.นครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม ยังคงสั่งการให้ทั้ง 4 อำเภอที่อยู่ติดแม่น้ำโขง คือ อ.บ้านแพง, ท่าอุเทน, เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม รวมทั้ง อ.ศรีสงคราม ระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากกว่าอำเภออื่นๆ พร้อมประกาศแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี
’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี