ทหารไม่ทิ้งประชาชน ‘บิ๊กทร.’ ลั่น!อยู่เคียงข้างผู้ประสบภัย / ‘อิ๊งค์’ บริหารผ่านโซเชียล

บิ๊ก ทร.ลั่น! “ทหารเรือ อยู่เคียงข้าง   ไม่ทอดทิ้งประชาชน” กองทัพระดมสรรพกำลังช่วยประชาชนประสบอุทกภัย นายกฯ ใช้โซเชียลแจ้งส่ง "อนุทิน" ลงพื้นที่หนองคาย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและสั่งการดูแลช่วยเหลือประชาชน

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวและ X หลังติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดหนองคายและหลายพื้นที่ว่า “ชาวหนองคาย ในจุดน้ำท่วม (ตัวเมืองหนองคาย ตั้งแต่ถนนริมโขง ดันเข้ามาถึงถนนมีชัย และถนนประจักษ์ศิลปาคม) รวมถึงจุดเสี่ยงภัย ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ขณะนี้นะคะ

เมื่อวานดิฉันได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการประเมินสถานการณ์ การแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน และการให้ความช่วยเหลือ โดยวันนี้ยังคงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อสั่งการได้ต่อเนื่องและทันท่วงที การบรรเทาภัยที่เข้าไปช่วยเหลือเมื่อคืนนี้นะคะ คือ การจัดรถครัวสนามเพิ่มเติม จัดรถผลิตน้ำดื่มมาแจกจ่ายให้คนในพื้นที่ เรือท้องแบน สำหรับขนย้ายสิ่งของและประชาชน

วันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  รวมถึงหน่วยงานความมั่นคง ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและสั่งการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนค่ะ”

ด้านนาย​อนุทิน​​ พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์​ สัม​พัน​ธ​รัตน์​ อธิบดี​กรม​การปกครอง,​ นายพรพจน์ เพ็ญพาส​ อธิบดีกรมที่ดิน​ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล​ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงมหาดไทย   ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์​น้ำและเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย​ โดยเครื่องบินส่วนตัวไปยังท่าอากาศยานอุดรธานี​

ก่อนเดินทางลงพื้นที่​ รมว.มหาดไทยเผยว่า ​ สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดหนองคายมีปริมาณน้ำสูง​ 1.40 เมตร และท่วมในพื้นที่​ 5 อำเภอ​ เกิดจากปริมาณน้ำโขงสูงขึ้นจากการไหลมาจากจังหวัดเชียงราย และหากมีฝนมาเติม​ จะทำให้มีน้ำท่วมสูงขึ้นอีกประมาณ​ 20-30 เซนติเมตร​ ก็จะทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าในพื้นที่ตัวเมือง โดยการลงพื้นที่ในวันนี้จะดูถึงแนวทางการป้องกันและเยียวยาประชาชน​ในพื้นที่ว่าจะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง​ และถึงแม้ว่าประเทศจีนและลาวจะปล่อยน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำโขง​ แต่ความสามารถในการระบายน้ำจะสามารถระบายยังระบายได้ดี ไม่เหมือนแม่น้ำสายเล็ก ที่มักจะมีสิ่งกีดขวาง ติดเกาะติดแก่ง ติดถนน ติดสะพาน​ พร้อมระบุอีกว่า หากไม่มีการระบายน้ำจากจีนและลาว หรือพายุเข้ามาเติมปริมาณน้ำ ก็จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ไม่เกินความสามารถ

ส่วนการเตรียมแผนรับมือการอพยพ ประชาชนในพื้นที่​ หากเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจะเป็นเช่นไรนั้น  นายอนุทิน​ยืนยันว่า​ เรื่องทรัพยากรเครื่องมือ​ เครื่องจักร อุปกรณ์​ และอาหาร ไม่มีปัญหา​ เนื่องจากมีการเตรียมระดมไว้อยู่แล้ว และการจัดเตรียมสถานที่พักพิง​ ซึ่งอยู่ในแผนเผชิญเหตุของผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด​ โดยมีการเตรียมแผนอพยพประชาชน และประชาสัมพันธ์ให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์​ แต่ไม่ได้ติดตาม ตรวจสอบแต่ละบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะให้ประชาชนออกจากบ้านเรือน เนื่องจากมีทรัพย์สินอยู่ในบ้าน ซึ่งถ้าไม่ถึงอยู่ในจุดที่ประชาชนอยู่ไม่ได้จริงๆ จึงจะออกมา ตรงนี้ต้องจัดหาสถานอพยพที่อยู่ใกล้บ้านหรือสามารถมาดูแลบ้านได้ และที่สำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัด ​ นายอำเภอ​ และอาสาสมัคร ต้องจัดเวรยามดูแลทรัพย์สินเพื่อให้ประชาชนนั้นมั่นใจ

ไม่มีอะไรง่าย

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จะทำให้ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นหรือไม่​ นายอนุทินระบุว่า  อย่าไปบอกว่าง่าย ไม่มีอะไรง่าย แต่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีเหตุผลในการทำความเข้าใจกับประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องรักษาชีวิตของประชาชนก่อน ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจประชาชน ที่ต้องการรักษาทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องทำให้เกิดความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนที่ได้มากที่สุด เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องเข้มงวดกวดขัน

รมว.มหาดไทยยืนยันว่า​ ทุกพื้นที่จังหวัดมีการเตรียมพร้อมรับมือเป็นอย่างดี รวมถึงการระดมความช่วยเหลือก็มีความพร้อมเช่นกัน แต่สิ่งที่กังวลปัจจุบันคือปริมาณน้ำ

สำหรับการเยียวยาประชาชนหลังสถานการณ์น้ำเข้าสู่ปกติ เมื่อเทียบกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งน้อยมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแก้ไขระเบียบให้เหมาะสม นายอนุทินชี้แจงว่า คำว่าเยียวยามันบอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ใช่การชดใช้ และเชื่อว่าจากการที่ น.ส.แพทองธารลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย​​ ก็ได้เร่งอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือทันที ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ​ เชียงราย จังหวัดละ 100 ล้านบาท​ และยังมีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ไปดูแนวทางการเยียวยาบ้านเรือนประชาชนที่เสียหาย ควรออกมาในรูปแบบใด ​ โดยขอให้ไปหารือกับสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ​ เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

นายอนุทินยืนยันว่า​ กระทรวงมหาดไทยให้ความมั่นใจกับประชาชน เพราะเมื่อมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีงบทดรองจ่าย​ เพื่อใช้ในการดูแลช่วยเหลือประชาชน และหากงบดังกล่าวหมด สามารถขอเพิ่มได้ ซึ่งจะเร็ว เพราะถือว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน

ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ระหว่างการลงพื้นที่ติดตามให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ จ.หนองคาย นายอนุทินได้มีข้อสั่งการไปยังรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่รับผิดชอบดูแลสาธารณูปโภค ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ให้จัดทำชุดมาตรการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูประชาชนทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

"ท่านอนุทินได้สั่งการให้ กฟภ., กปภ.  พิจารณาจัดทำมาตรการที่จะช่วยเยียวยาพี่น้องประชาชน อาทิ การผ่อนผันจัดเก็บค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบภัยน้ำท่วม หากจะทำจะมีแนวดำเนินการอย่างไร ให้จัดเป็นมาตรการช่วยเหลือขั้นสูงสุด หรือขั้นพิเศษ และท่านจะรายงานให้ ครม.ทราบถึงการช่วยเหลือจากกระทรวงมหาดไทยต่อไป" น.ส.ไตรศุลีกล่าว

กองทัพระดมสรรพกำลัง

โฆษกกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า   นายอนุทินยังมีข้อห่วงใยเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนในการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้า ที่หากไม่ระมัดระวังให้ดี โครงสร้างพื้นฐาน ระบบสายส่งต่างๆ เกิดการชำรุด อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ใช้งาน จึงได้กำชับให้ทางการไฟฟ้าฯ การประปาฯ ให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าซ่อมแซมระบบต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้มีความมั่นคงก่อนจ่ายกระแสไฟ หากประชาชนร้องขอให้เข้าช่วยดูแลซ่อมแซมระบบ ก็ขอให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าสนับสนุนอย่างรวดเร็ว พร้อมกำชับให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อยู่เสมอ

วันเดียวกันนี้ พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ  แม่ทัพภาคที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย พล.ต.ยุทธนา มีทิพย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 24/ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 24 และคณะผู้บังคับบัญชา ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย และติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดหนองคาย

รวมทั้งได้มอบถุงยังชีพและให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ ณ บ้านปากมาง ตำบลกองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยในการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ มทภ.2 ได้กรุณาสั่งการและให้การสนับสนุนเพิ่มเติม ดังนี้

1.ให้ ร.13/ศบภ.ร.13 จัดรถครัวสนามลงมาสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติมอีก 1 คัน รวมเป็น 2 คัน 2.ประสาน สนพ.2 นทพ. จัดรถผลิตน้ำดื่มลงมาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3.ประสาน ปภ.เขต 14 ให้การสนับสนุนเรือท้องแบน สำหรับขนย้ายสิ่งของเพิ่มเติม 4.มทภ.2 และชมรม พสบ.ทุกรุ่นได้มอบเงินสดจำนวน 100,000 บาท ให้กับ ศบภ.มทบ.24 เพื่อสนับสนุนในการทำอาหารแจกจ่ายพี่น้องประชาชน และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านอื่นๆ ตามความเหมาะสมต่อไป

ด้าน พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้สั่งการให้ทุกหน่วยในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ได้สำรวจว่าประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นบนที่สูง ว่ามีอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง โดยได้สั่งการไปยังกรมการสัตว์ทหารบก เพื่อให้การสนับสนุน "สิ่งอุปกรณ์มีชีวิต ที่เป็นสิ่งอุปกรณ์สำคัญ" ได้แก่ ล่อ และสุนัขทหาร ในพื้นที่รถเข้าไปได้

โดยหมวดบรรทุกต่าง กองกำลังนเรศวร (มว.บต.กกล.นเรศวร) จัดกำลังพลพร้อมสัตว์ต่าง  ร่วมกับผู้นำชุมชน มอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนบ้านห้วยส้านใหม่ ต.ห้วยผา อ.เมืองฯ จ.เเม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากน้ำป่าไหลหลาก พัดสะพานเส้นทางเข้า-ออกหมู่บ้านทั้งหลักและรอง ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและบรรเทาทุกข์ กองพันสัตว์ต่าง  กรมการสัตว์ทหารบก (พัน.สต.กส.ทบ.) จัดกำลังพลจิตอาสา และสัตว์ต่าง 4 ตัว ปฏิบัติภารกิจมอบข้าวสารอาหารแห้งและน้ำดื่ม เพื่อช่วยเหลือประชาชน ชาวบ้านผานกกก ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยานพาหนะเข้า-ออกไม่สะดวก

ไม่ทอดทิ้งประชาชน

หน่วยเฉพาะกิจสิงหนาท (ฉก.สิงหนาท) ร่วมกับชุดปฏิบัติการสัตว์ต่างบรรทุก กกล.นเรศวร ได้บูรณาการจัดเป็นชุดบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเตรียมการและเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบเหตุอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ปิดกั้นเส้นทางในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีลักษณะภูมิประเทศ เป็นภูเขาสูงชัน ยานพาหนะไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยใช้ล่อ เป็นสัตว์บรรทุก นำสิ่งของเครื่องอุปโภคและบริโภคเข้าช่วยเหลือขั้นต้น

และชุดปฏิบัติการ กิจการพลเรือน กองพันสัตว์ต่าง กรมการสัตว์ทหารบก  (ชป.กร.พัน.สต.กส.ทบ.) ได้จัดกำลังพลและสัตว์ต่างเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หมู่ 15 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำห้วยล้นตลิ่ง โดยการทำกระสอบทรายกั้นน้ำกันการเกิดภัยพิบัติซ้ำ และเสริมแนวตลิ่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ  รวมทั้งนำสัตว์ต่างขนกระสอบทรายขึ้นไปซ่อมแซมถนนดินที่ถูกน้ำกัดเซาะทำลายเสียหายรถยนต์ของชาวบ้านไม่สามารถสัญจรผ่านได้

กองทัพเรือ โดย พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ และรอง ผอ.ศนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ  ดำเนินการประสาน พล.ร.ต.ศุภสิทธิ์ บูรณะโอสถ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (ผบ.สอ.รฝ.) จัดกำลังพร้อมยุทโธปกรณ์จากกองฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาสาธารณภัยทางทะเลและชายฝั่ง (HADR) เร่งออกเดินทางเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ และกำลังได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย

ในการนี้ กอง HADR สอ.รฝ.ได้จัดกำลังชุด USAR ซึ่งเป็นชุดที่มีความสามารถปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง จำนวน 15 นาย พร้อมเครื่องมือ ยานพาหนะ เรือท้องแบน ฯลฯ กรมสนับสนุน จัดกำลังชุดฟื้นฟู จำนวน 15 นาย พร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน และรถบัส 1 คัน กรมต่อสู้อากาศยานที่ 1 จัดรถอโศก จำนวน 1 คัน พร้อมพลขับ และกรมต่อสู้อากาศยานที่ 2 จัดรถอโศก จำนวน 1 คัน พร้อมพลขับ ซึ่งจะเข้าสมทบกำลังกับ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง เขตอำเภอแม่สาย เพื่อทำการค้นหา ช่วยเหลือ และฟื้นฟู

พล.ร.ต.ศุภสิทธิ์ บูรณะโอสถ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ได้กล่าวเน้นย้ำให้กำลังพลทุกนายที่เดินทางไปภารกิจอันสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบภัยพิบัติอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ดังคำที่ว่า “ทหารเรือ อยู่เคียงข้าง ไม่ทอดทิ้งประชาชน” บนพื้นฐานความไม่ประมาท และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง  และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือ  โปรดคุ้มครองให้ทหารทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความปลอดภัย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง