"นายกฯ อิ๊งค์" ถือฤกษ์วันมังกร สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำเนียบฯ เริ่มต้นการทำงาน อุบตอบขอพรอะไร ชี้ถ้าบอกเดี๋ยวไม่เป็นจริง "ภูมิธรรม" โต้วาทกรรม 3 นาย ขอพรรคคนรุ่นใหม่หยุดใช้สำนวนด้อยค่า "เท้ง" สะกิดนายกฯ เปิดใจกว้างจะรู้ฝ่ายค้านไม่ใช่ฝ่ายแค้น "สว.นันทนา" อัดนโยบายรัฐบาลไร้เรื่องการศึกษา "ชวน" พอใจ รบ.ใส่นโยบายชายแดนใต้เพียง 1 บรรทัด แนะให้เกียรติ ขรก. ยึดหลักนิติธรรมแก้ไฟใต้สำเร็จ "พิพัฒน์" ลั่น 1 ต.ค.นี้ ประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทแน่นอน "สุริยะ" ย้ำชัดรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทำได้จริง ไม่เกิน ก.ย.68
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 กันยายน 2567 เวลา 07.39 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาลเพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำงาน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ร่วมสักการะด้วย
โดยนายกฯ ขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้า สักการะพระพรหม ก่อนลงมาสักการะศาลพระภูมิ ศาลตายาย โดยเครื่องสักการะประกอบด้วย พวงมาลัย ดอกไม้ พร้อมชุดผลไม้และอาหารคาวหวาน เช่น แกงจืด ผัดถั่ว แกงหน่อไม้ ขนมทองหยิบทองหยอด เป็นต้น ทั้งนี้ ระหว่างสักการะศาลพระภูมิ ซึ่งตรงกับเวลา 08.00 น. ทำเนียบฯ ได้มีการเปิดเพลงชาติไทยพร้อมเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา นายกฯ พร้อมรองนายกฯ และรัฐมนตรีจึงได้ร่วมกันยืนตรงเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทยด้วย
ภายหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบฯ ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯ ได้ขอพรอะไร นายกฯ กล่าวว่า บอกไม่ได้ เดี๋ยวไม่เป็นจริง และตนได้บอกรองนายกฯ ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี จะได้สบายใจ เมื่อถามว่าวันที่ 12 ก.ย. นายกฯ ได้มีการมาสักการะเป็นการส่วนตัวแล้ว สรุปฤกษ์จริงของนายกฯ คือวันที่ 12 ก.ย.หรือ 13 ก.ย. นายกฯ กล่าวว่า ความในใจตนอยากให้คุณแม่มา แต่คุณแม่ไม่ชอบออกสื่อ เลยมาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. มีคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดา, นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว มาร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบฯด้วย ทั้งนี้ วันที่ 13 ก.ย. ตามโหราศาสตร์จีนถือเป็นฤกษ์วันมังกร
ขณะที่นายภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีในการอภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาล พรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งฉายารัฐบาลเป็น "รัฐบาล 3 นาย" ว่า นายกฯ เรียกร้องเราเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยกันในสภา สามารถสร้างตัวเองเป็นแบบอย่างได้ ไม่อยากให้ใช้วาทกรรมที่เสียดสีด้อยค่าคนต่างๆ ถ้าเราเป็นคนรุ่นใหม่ด้วยกัน อยากให้สร้างการเมืองใหม่ ควรหลีกเลี่ยงวาทกรรมทำร้ายหรือด้อยค่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาล
"วันนี้ประเทศวิกฤตมาก ดังนั้นแทนที่จะด้อยค่า ควรกลับมาเสนอแนะอย่างจริงจังจริงใจ น่าจะดีกว่าการใช้สำนวนหยิบบางประเด็นมาโจมตีเยาะเย้ยถากถาง ซึ่งผมคิดว่าไม่เหมาะสม ฝ่ายค้านควรรับเอาตรงนี้แล้วมาช่วยกัน สิ่งที่มีประโยชน์เราพร้อมปฏิบัติอยู่แล้ว เราไม่เคยแบ่งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ผมคิดว่าหากวิจารณ์ก็ต้องมีการเสนอแนะ ไม่ใช่เยาะเย้ยถากถางแล้วปล่อยในโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความเข้าใจผิดกัน" นายภูมิธรรมกล่าว
ถามว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมซึ่งเหลือเวลาอีก 3 ปีหรือไม่ นายภูมิธรรมยืนยันว่า มีความมั่นใจ แต่ตนคิดว่าสื่อไม่ควรถาม แต่ควรจะถามถึงสิ่งที่จะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นั้นคืออะไร และสื่อมวลชนสามารถเสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์
ขอนายกฯ เปิดใจไม่ใช่ฝ่ายแค้น
ส่วนนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงภาพรวมการแถลงนโยบายรัฐบาลวันแรกว่า เป็นห่วงนิดหนึ่งเรื่องบรรยากาศภายในสภา ที่มีการประท้วงกันหลายรอบ ไม่ให้พูดถึงเรื่องอดีต ทั้งที่พรรคร่วมรัฐบาลก็พูดมาตลอดว่ารัฐบาลนี้สืบทอดเจตนารมณ์มาจากรัฐบาลเดิม แต่พอฝ่ายค้านพูดถึงรัฐบาลเดิมก็กลับประท้วง อีกเรื่องที่กังวลคือสไลด์อภิปราย มีการเบลอหน้าบุคคลภายนอก บางท่านก็เป็นอดีตรัฐมนตรี ส่วนตัวถ้าเบลอหน้าตนรู้สึกว่าเป็นการไม่ให้เกียรติบุคคลในภาพเสียด้วยซ้ำ ดูไม่ดียิ่งกว่าเดิมอีก
นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ที่นายกฯ เปรยอยากทำงานร่วมกัน เราก็ยืนยันมาตลอดว่าเรื่องที่เห็นร่วมกันเราก็ทำงานร่วมกันได้อยู่แล้ว ร่างกฎหมายใดที่รัฐบาลเสนอมาแล้วเราเห็นว่าเป็นประโยชน์คงไม่ค้านอยู่แล้ว ก็เห็นกันอยู่ว่าเราสนับสนุนในหลายๆ ครั้ง หลายเรื่องเราก็ไม่ได้ขัดไม่ได้แย้ง พูดคุยกันในวิปแล้วทำให้ราบรื่นไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ได้เป็นฝ่ายแค้นอยู่แล้ว หลายครั้งมากๆ ที่เราเห็นตรงกัน
“ถ้าท่านนายกฯ ได้ติดตามการทำงานในสภาของพวกเราใน 1 ปี ท่านนายกฯ คงจะรู้ว่าเราไม่ได้ทำตัวเป็นฝ่ายแค้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อวานนี้ท่านนายกฯ ได้ติดตามการอภิปรายจากพรรคประชาชนหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเองหรือไม่ว่าทำตัวเป็นฝ่ายแค้นตอนไหน ไม่แน่ใจว่าใครไปบอกให้ท่านนายกฯ พูดแบบนี้ อยากให้ลองเปิดใจให้กว้าง ถ้าท่านนายกฯ ได้ฟังจริงๆ จะพบว่าทางเราก็มีคำแนะนำ ข้อติติงหลายอย่างที่ท่านอาจจะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งหากนำไปใช้ก็เป็นประโยชน์” นายปกรณ์วุฒิกล่าว
ถามว่า ประเมินการแถลงนโยบายของนายกฯ อย่างไร ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า คิดว่านายกฯ ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามเองทุกเรื่องก็ได้ โดยรวมอยากเห็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตอบคำถามทั้งชุดมากกว่าพูดในหลักการที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้
ที่รัฐสภา เวลา 09.00 น. การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยเริ่มต้นสรุปเวลาที่ใช้ในการอภิปรายวันแรก 15 ชั่วโมง 23 นาที เหลือเวลาในการอภิปราย 13 ชั่วโมง 16 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าเป็นการอภิปรายของ สส.พรรคขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง ชี้แจงการเสนอเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อเป็นการลงทุนใหม่ให้ต่างชาติมาลงทุนในไทย สร้างงานสร้างอาชีพ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อดึงสถาบันการเงิน หลักทรัพย์มาตั้งถิ่นฐานในไทย เพื่อเป็นเงินนอกงบประมาณทำให้เศรษฐกิจโตก้าวกระโดด
สว.อัดนโยบายไร้เรื่องการศึกษา
เวลา 11.30 น. น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเขียนมา 10 ข้อ ว่าไม่มีเรื่องการศึกษาเลย แต่ต้องขอชื่นชมถ้อยคำหรูหราที่ใส่ไว้ในนโยบาย ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เน้นทักษะใช้ประโยชน์ได้จริง ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพ เฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบ ถ้อยคำเหล่านี้จะมีความหมาย ถ้าเข้าใจความสำคัญของการศึกษาอย่างลึกซึ้ง
น.ส.นันทนาเสนอว่า รัฐบาลควรจะดำเนินการประการที่หนึ่ง ต้องไม่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการแก้ไขกันเองอย่างที่ทำกันมา การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มากเกี่ยวกับทุกคน และอนาคตของชาติ เพราะโอกาสที่จะยกระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชน ล้วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น การดำเนินการจะต้องทำแบบบูรณาการ วางทิศทางแก้กฎหมาย จัดระบบงบประมาณ บุคลากร และการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ ประการที่สอง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังภาคส่วนต่างๆ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการระดับสูง ว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วยตนเอง
“ดิฉันอยากเห็นท่านนายกฯ สร้างประวัติศาสตร์ เรื่องที่นายกฯ คนก่อนๆ ไม่เคยเห็นความสำคัญ นั่นคือการปฏิรูปการศึกษาไทย อยากให้ดูบทเรียนในประเทศภูมิภาคนี้ที่ล้วนใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น ถ้าต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นที่การศึกษาพัฒนาคุณภาพของคน ให้มีศักยภาพสูง แข่งขันกับทั่วโลกได้ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา และประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ นี่คือทางรอดของประเทศไทย” น.ส.นันทนากล่าว
เวลา 11.30 น. น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายตอนหนึ่งว่า หลายครั้งในฐานะที่เป็นคนใต้ ได้ยินว่าภาคใต้โดนกลั่นแกล้ง โดนคำสาป ถ้าไม่เลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็จะไม่นำงบประมาณมาบริหารและพัฒนาภาคใต้ให้ นี่อาจจะเป็นเหตุผลให้พรรคร่วมรัฐบาลน้องใหม่ตัดสินใจไปร่วมรัฐบาล เพื่อหวังจะให้งบประมาณและทรัพยากรมาลงในพื้นที่ภาคใต้
"รัฐบาล น.ส.แพทองธารทำให้ดิฉันตาสว่างว่าเคยต่อว่าเคยวิพากษ์วิจารณ์ พูดจาให้ร้าย สุดท้ายก็อยากไปร่วมรัฐบาล และทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ได้จะนำเสนออะไรของตัวเอง ไม่หือไม่อืออะไรเลย ยอมไปหมดเลย แบบนี้บ้านดิฉันไม่ได้เรียกว่าร่วม แต่เรียกว่าพลอยเป็นรัฐบาลกับเขา ไม่ได้ร่วม เพราะถ้าร่วมต้องได้ผลักดันอะไรของตัวเองบ้าง คนใต้ถือเรียกเกียรติ ศักดิ์ศรี สัจจะวาจา ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนทั้งประเทศและคนใต้ต้องคิดแล้วว่าจะเลือกนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่มีสัจจะวาจาตรงไปตรงมา หรือจะเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่ใช้ประชาชนบังหน้า แล้วสับปลับ กลับไปกลับมา" น.ส.ภคมนกล่าว
จากนั้นเวลา 13.55 น. นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 ได้เคยอภิปรายนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา วันนั้นเป็นการพูดในฐานะฝ่ายค้าน ส่วนวันนี้พูดในฐานะรัฐบาล แต่ไม่ว่าตนจะอยู่พรรคใดก็ตาม ความจริงก็คือความจริง ความจริงไม่อาจเปลี่ยนไปตามฐานะ ดังนั้นข้อมูลที่จะพูดถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอย้ำว่าตอนนั้นตนต้องการให้รัฐบาลบรรจุปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ติดขัดที่ขณะนั้นนโยบาย 14 หน้าของรัฐบาลไม่มีเรื่องนี้เลย แต่ขณะนี้รัฐบาลบรรจุไว้แล้ว แม้จะเป็น 1 บรรทัด แต่เท่ากับยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ชวนแนะยึดนิติธรรมแก้ไฟใต้
นายชวนกล่าวว่า ครม.ได้ปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ นึกถึงประโยชน์ประเทศ และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เรามีข้าราชการแต่ละกระทรวง พวกเขาไต่เต้าทำงานมาตามลำดับ เราต้องให้เกียรติข้าราชการ ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตในการแต่งตั้งต้องไม่เอาตำแหน่งมาเป็นราคา ดังนั้นนักการเมืองต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ให้โอกาสคนเหล่านั้นมาตามความสามารถ ไม่ใช่ด้วยราคา ส่วนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชน วันนี้เหมือนระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จึงอยากขอให้ ครม.แปลความข้อนี้ให้ชัดเจนว่า การบริหารประเทศไม่ใช่เพื่อประโยชน์พรรคการเมือง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชน
"การยึดหลักนิติธรรมซึ่งเป็นหัวใจของการปกครอง ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถ้ายึดหลักนิติธรรมตั้งแต่ต้น ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น แต่บังเอิญช่วงหนึ่งเราใช้ฝ่ายบริหารเป็นศาล จึงเป็นที่มาของทุกวันนี้ หากรัฐบาลยึดแนวทางข้างต้น คือยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงประโยชน์ประเทศประชาชน และยึดหลักนิติธรรม สิ่งนี้จะทำให้นโยบายต่างๆ ประสบความสำเร็จ” นายชวนกล่าว
เวลา 14.12 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ชี้แจงนโยบายการศึกษาระบบภาษีรูปแบบใหม่ หรือ negative income tax ว่า แนวความคิดนี้ เป็นแนวความคิดที่ถูกนำมาบรรจุในแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างละเอียด และเป็นแนวคิดตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องแรงงาน ซึ่งขณะนี้ มีมากกว่า 50% อยู่นอกระบบ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันประชาชนผู้มีรายได้ต่ำมีราว 4 ล้านคน ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีประมาณ 5 ล้านคน ที่อยู่ในจุดที่เรียกว่าเกือบจน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบาง และรัฐบาลก็มีแนวคิดหาหนทางช่วยเหลือมาตลอด
นอกจากนี้ ปัญหาระบบฐานภาษีของประเทศไทย ที่มีคนเข้าสู่ระบบฐานภาษีค่อนข้างน้อย มีคนยื่นแบบภาษีเงินได้เพียงแค่ 10 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษีจริงๆ ประมาณ 3-4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ผูกโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด เป็นแนวความคิดที่ต้องการสร้างตาข่ายรองรับสังคมไม่ให้ใครสามารถตกไปอยู่กรอบแห่งความยากลำบากและความยากจน โดยจะมีเกณฑ์เพื่อวัดเส้นแห่งความยากจนที่มีความเหมาะสม หากประชาชนสามารถยื่นแบบภาษีได้ทุกคน เมื่อใครเกินเส้นนี้ ก็เสียภาษีตามอัตราที่เหมาะสม ในขณะที่คนที่ตกต่ำกว่าเส้นที่กำหนด กลไกของภาษีจะสามารถเป็นภาษีติดลบ ที่สามารถกลับไปเพื่อไปชดเชยอุดหนุนให้เขาสามารถลืมตาอ้าปากต่อสู้ได้ รวมถึงทำให้ประชาชนเกิดความกล้าความคิดในการลงทุน
"แนวคิดนี้จะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่ทำให้ประชาชนรู้อยู่เสมอว่าข้างหลังมีรัฐบาลที่คอยประคับประคองให้เขากลับมาลุกขึ้นยืนได้ใหม่ไม่ว่าจะล้มอีกกี่ครั้งก็ตาม และทำให้คนในประเทศเปลี่ยนแนวความคิด เพิ่มแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน โดยกระทรวงการคลังจะเป็นแม่งานในการศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วนต่อไป" นายจุลพันธ์กล่าว
รมช.การคลังชี้แจงข้อสงสัยแนวคิดดังกล่าวเป็นการชดเชยหรือทดแทนสวัสดิการที่มีอยู่หรือไม่ว่า ในสวัสดิการแต่ละประเภทมีหลักในการคำนวณที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคนละประเด็น เนื่องจากเป็นคนละวัตถุประสงค์ แต่แน่นอนว่าด้วยเม็ดเงินที่จำกัดของภาครัฐ เราต้องบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสม โดยในระยะเวลา 1-2 ปี กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการศึกษาแนวคิดนี้ เพื่อในที่สุดแล้วประชาชนคนไทยทุกคนจะได้สามารถมีตาข่ายที่มั่นใจได้ว่าจะคอยรองรับเขาอยู่ในทุกสถานการณ์
แค่แรง 400-รถไฟฟ้า 20 บ.ทำแน่
เวลา 18.02 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจงการปรับค่าแรงขั้นต่ำว่า เราต้องทำใน 2 มิติ คือมิติของผู้ใช้แรงงาน และมิติของผู้ประกอบการ หากเราไม่มีมิติของผู้ประกอบการแล้วเราจะมีมิติของผู้ใช้แรงงานได้อย่างไร ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องหาความสมดุลให้ได้ดีที่สุด หากเอียงหรือหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง เชื่อว่าก็จะไม่ประสบความสำเร็จ การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท เราจะประกาศพร้อมกันทั้งประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพราะต้องรอคณะกรรมการไตรภาคีที่ทำการประชุมก่อน
"เรื่องสิทธิวันลาคลอดที่พรรคประชาชนจะนำเข้าเสนอเรื่องของร่าง พ.ร.บ.วันลาคลอด ที่ได้นำเสนอ 180 วัน เราจะเจอกันคนละครึ่งทางที่ 120 วัน ซึ่งตนไม่ขัดข้อง แต่ขอให้สภาได้ตัดสิน ทางกระทรวงแรงงานเราพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ในกรณีที่สภาได้มีการลงมติร่วมกัน" รมว.แรงงานระบุ
เวลา 18.50 น. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงกรณีการป้องกันและปราบปรามดูแลการดำเนินการเกี่ยวกับภัยออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ว่า รัฐบาลได้ทำภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งศูนย์ AOC ที่เป็นศูนย์บริการครบวงจร ซึ่งบูรณาการการทำงานร่วมกันหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะ กสทช. มีวอร์รูมทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาซื้อของซื้อสินค้าไม่ตรงปก จะมีการออกมาตรการในวันที่ 3 ต.ค.ที่จะถึงนี้
เวลา 19.05 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ชี้แจงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า รัฐบาลจะเดินหน้าอย่างแน่นอนภายในเดือน ก.ย.2568 จะเป็นคนละส่วนกับการซื้อคืนสัมปทานให้บริการเดินรถจากเอกชน เรื่องนี้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่จะต้องมีการศึกษาในรายละเอียด ในประเด็นนี้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการด้วยการสนับสนุนและร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม
ต่อมาเวลา 19.20 น. นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ชี้แจงโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กรณีมีข้อสงสัยให้ควรจัดเก็บเช่นเดียวกันกับรถเมล์ของ ขสมก.ว่า ในปัจจุบันนี้รถเมล์มีอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 8-45 บาท ซึ่ง 8 บาทแรกถือเป็นค่าแรกเข้า และกิโลเมตรต่อไปกิโลเมตรละ 1 บาท แต่สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าซึ่งมีสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน มีการจัดเก็บอยู่ที่ 15-45 บาท ซึ่งเป็นค่าแรกเข้า 15 บาท ระยะทางต่อไปกิโลเมตรละ 2 บาท โดยจะเห็นได้ว่า ทั้งสองส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากสามารถจัดเก็บสูงสุดได้ไม่เกิน 45 บาท และเป็นการเก็บค่าแรกเข้าและเก็บตามระยะทาง
"นโยบายนี้ เป้าหมายสูงสุดคือการช่วยเหลือ ลดค่าครองชีพ และค่าเดินทางของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าพี่น้องประชาชนมีความพึงพอใจกับนโยบายนี้" รมช.คมนาคมระบุ
ในเวลา 20.18 น. นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นสรุปการจัดสรรเวลาในการอภิปรายของแต่ละฝ่ายว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านใช้เวลาได้ใกล้เคียงกับกรอบเวลาที่เหลืออยู่ คืออีก 2.30 ชั่วโมง ส่วนเวลาในการชี้แจงของคณะรัฐมนตรี เหลืออีก 23 นาที สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลได้ใช้เวลาไปแล้ว 4.30 ชั่วโมง ซึ่งเกินกว่าเวลาที่กำหนดไปแล้ว 1 ชั่วโมง 10 นาทีโดยประมาณ แต่ยังเหลือรายชื่อผู้อภิปรายของพรรคร่วมรัฐบาลอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ดังนั้น หากอภิปรายจบวันนี้พรรคร่วมรัฐบาลจะได้เวลาเกินไป 2 ชั่วโมง 15 นาที
"ไม่คิดว่าจะใช้เวลาเกินไปมากขนาดนี้ แต่ก็คุยกันฉันมิตร และหากคณะรัฐมนตรีไม่มีการชี้แจงเพิ่มเติม ก็คาดว่าจะอภิปรายทั้งหมดจบได้ภายในเวลา 23.00 น.โดยประมาณ คาดหวังว่าในการอภิปรายต่อไป จะไม่มีการประท้วงกันอีกว่าฝ่ายค้านใช้เวลาเกิน ส่วนครั้งหน้าหากมีการปรับปรุงในลักษณะเช่นนี้ ก็ขอให้จัดสรรเวลาอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง จะได้ไม่ต้องเลิกดึกมาก"
จากนั้น นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า การประชุมระหว่างวิป เพื่อจัดสรรเวลาในครั้งนี้ค่อนข้างเร็ว มีโอกาสพูดคุยกันแค่วันที่ 9 ก.ย. ทำให้การบริหารจัดการเวลาไม่ได้ดีเท่าการอภิปรายในครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้จึงจะเป็นบทเรียน เชื่อว่าพูดคุยกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และครั้งต่อไปจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก
เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.แพทองธารไม่ได้มาร่วมประชุมสภาเลยตั้งแต่ช่วงเช้า ก่อนไปปฏิบัติภารกิจลงพื้นที่ดูน้ำท่วมที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงหลังเสร็จสิ้นภารกิจ โดยล่าสุดได้มอบหมายให้นายภูมิธรรมเป็นผู้แถลงปิดการแถลงนโยบายรัฐบาล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
นายกฯ สั่งเกาะติด 7จังหวัดภาคใต้ที่เจอฝนถล่มหนัก
นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงจากฝนตกหนักในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้