รบ.อิ๊งค์เจ๊าหรือเจ๊ง 36ขุนพลปชน.ชำแหละนโยบาย/นายกฯสั่งรมต.ช่วยแจง

เอาฤกษ์เอาชัย! "นายกฯ อิ๊งค์" วางคิวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์รัฐสภา ก่อนเข้าแถลงนโยบายรัฐบาลวันแรก 12 ก.ย. เมินเสียงครหาอยู่ไม่ถึงปี "วันนอร์" มั่นใจทุกอย่างราบรื่น  "ภูมิธรรม" ดักคอเวทีแถลงนโยบายไม่ใช่ซักฟอก  เชื่อฝ่ายค้านรู้หน้าที่ "ปชน." ขน 36 สส.ถล่มอภิปรายนโยบาย เปิดธีม "1 ปีที่สูญเปล่า 3 ปีเจ๊าหรือเจ๊ง" เน้นปมการเมือง-เศรษฐกิจ "พริษฐ์" จี้  "แพทองธาร" พูดให้ชัดเดินหน้าแก้ รธน.อย่างไร  หลังร่างคำแถลงนโยบายใช้คำกว้าง "สภาสูง"  เคาะ 48 สว.รอลับมีดชำแหละ "หมอวรงค์" ร้อง  กกต.สอบ "ทักษิณ" ครอบงำเพื่อไทยนำสู่ยุบพรรค โอละพ่อ "ธรรมนัส" แค่ลงบันทึกประจำวัน ไม่ได้แจ้งจับใคร

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. เวลา 09.35 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาด้วย  เพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลต่างๆ ในการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในวันที่ 12-13 ก.ย.2567

น.ส.แพทองธารให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้กำชับรัฐมนตรีทุกกระทรวงชี้แจงทันทีในข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาที่อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เพื่อความเข้าใจว่า ใช่ เพราะจริงๆ แล้วรัฐมนตรีทุกท่านตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมาก็ทำงานกันอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ได้ตอบเอง ในส่วนของนายกฯ  ตอบภาพรวมได้ แต่ดีเทลการทำงานของแต่ละกระทรวงเขามีดีเทลที่เขาทำจริงๆ ซึ่งจะชัดเจนกว่า และจะสามารถให้ข้อมูลประชาชนได้ชัดเจน  และจะได้ไม่เกิดข้อสงสัยหรือเข้าใจผิดกัน จึงคิดว่าอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ตอบงานของตัวเอง

ถามว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีความมั่นใจเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากทั้งฝ่ายค้านและ สว.จองคิวไว้เต็มที่ นายกฯ กล่าวว่า “เหรอคะ เราก็ทำเต็มที่ แต่จริงๆ แล้วขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วมหลังการแถลงก่อน” เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นถึงกับจะต้องมีองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือไม่  นายกฯ ไม่ตอบได้แต่ร้องอ๋อ

ซักว่า มีเสียงข้อครหารัฐบาลแพทองธารไม่ต้องนับปี เอาแค่นับเดือนจะรอดหรือไม่ นายกฯ  ยิ้มพร้อมกล่าวว่า ก็ช่วยกันนับ

มีรายงานว่า ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา วันแรก 12 ก.ย. น.ส.แพทองธารมีกำหนดเดินทางถึงอาคารรัฐสภาในเวลา 08.30 น. เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภา  โดยเริ่มจากสักการะพระสยามเทวาธิราช ศาลตายายประจำรัฐสภา จากนั้นสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนที่เวลา 09.00 น. นายกฯ นำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา กล่าวถึงการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า จะมีตนและนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา สลับกันทำหน้าที่ โดยจะแบ่งเวลากันตามที่เหมาะสม เพราะแม้จะทำหน้าที่บนบัลลังก์ ก็ยังมีภารกิจนอกบัลลังก์ที่ต้องไปปฏิบัติ เช่น เปิดประชุม แจกรางวัลของ สส.-สว. ซึ่งเป็นงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า และการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเป็นการประชุมนัดพิเศษ ไม่ได้เตรียมล่วงหน้า ดังนั้นทั้งตนและประธานวุฒิสภาก็จะพยายามทำหน้าที่ แต่เราจะพยายามหลีกเวลาให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงคิดว่าการประชุมทั้ง 2 วันน่าจะราบรื่นดี

ชี้แถลงนโยบายไม่ใช่ซักฟอก

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า การแถลงนโยบายรัฐบาลเราเอาความจริงใจและความตั้งใจที่ได้เตรียมการทั้งหมดผ่านนโยบายทุกข้อ  ไม่ว่าจะมีฝ่ายค้านหรือไม่มีฝ่ายค้าน จะตรวจสอบหรือไม่ตรวจสอบอย่างไร เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุด เพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤต

ถามว่า ห่วงฝ่ายค้านจะใช้เวทีแถลงนโยบายเป็นเวทีซักฟอกรัฐบาลหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ฝ่ายค้านคงรู้หน้าที่ดีอยู่แล้วว่าสายตาของประชาชนเฝ้ามองอยู่ วันนี้สิ่งสำคัญคือต้องร่วมแรงร่วมใจกัน และพาประเทศให้พ้นวิกฤตที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นความยากลำบาก ฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนจะสบายใจ คือฝ่ายค้านต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจจากต่างประเทศ

"วันนี้รัฐบาล น.ส.แพทองธารเพิ่งเริ่มต้น จึงไม่ควรใช้อคติทางการเมืองและประโยชน์ทางการเมือง เชื่อว่าฝ่ายค้านคงทำหน้าที่อย่างดีที่สุด" นายภูมิธรรมกล่าว

ซักว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชุดแรกที่เจอนิติสงครามเยอะ นายภูมิธรรมกล่าวว่า มันเยอะมาตามธรรมชาติ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาปัญหาสะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนที่เข้ามาในตอนนี้ก็จะเจอเหมือนกัน ไม่ใช่เจอเฉพาะรัฐบาลนี้เพียงรัฐบาลเดียว เราอาสาเข้ามาทำงาน ฉะนั้นปัญหาและความท้าทายต่างๆ เป็นภารกิจ และเป็นหน้าที่ของเราอย่างสำคัญที่จะต้องแก้ไขและผลักดันให้ไปในทิศทางที่ดีที่สุด

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงโครงการสถานบันเทิงครบวงจร  (Entertainment Complex) ว่า หลังที่กระทรวงการคลังได้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย สถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนได้รับรายงานว่ามีภาคเอกชนให้ความสนับสนุน และแสดงความสนใจสอบถามรายละเอียดโครงการ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จำนวนมาก พร้อมยังได้มีข้อสังเกตหลายเรื่องต่อโครงการ ซึ่งทางรัฐบาลได้รับฟังและจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อไป 

 “พรรคร่วมรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนชัดเจน ขณะที่การศึกษากระทรวงการคลังก็มีความพร้อมแล้ว เราก็พร้อมจะบรรจุเข้าไปในแนวนโยบายของรัฐบาล ส่วนจะเข้า ครม.เมื่อไรนั้น  ขอรอดูความเหมาะสมในเรื่องของเวลาอีกนิด และคงไม่ใช่สัปดาห์นี้แน่นอน เพราะมีวาระหลายเรื่องเกินไป เมื่อ ครม.อนุมัติแล้วเราจะนำร่างส่งเข้ากฤษฎีกา และส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป” นายจุลพันธ์กล่าว

ธีม 1 ปีสูญเปล่า 3 ปีเจ๊าหรือเจ๊ง

ด้านพรรคประชาชน (ปชน.) ได้เปิดเผยรายชื่อ 36 สส. ที่จะอภิปรายการแถลงนโยบายรัฐบาล ใน 12 หัวข้อ ธีม "1 ปีที่สูญเปล่า 3 ปีเจ๊า หรือเจ๊ง" โดยแบ่งเป็นภาพรวม นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส่วนการเมือง น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร  นายรอมฎอน ปันจอร์ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์  นายปิยรัฐ จงเทพ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ

ด้านเศรษฐกิจ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล  นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นายศุภโชติ ไชยสัจ นายวรภพ วิริยะโรจน์, เรื่องการกระจายอํานาจ นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ, เรื่องแรงงาน นายเซีย จําปาทอง นายสหัสวัต คุ้มคง,   ประเด็นพื้นที่ น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์, ด้านโครงสร้างพื้นฐาน นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, เรื่องสังคม น.ส.ภัสริน รามวงศ์ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ นายปารมี ไวจงเจริญ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง, ด้านที่ดิน นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล, ประเด็นสิ่งแวดล้อม น.ส.ศนิวาร บัวบาน นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์, เกษตร นายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม นายคริษฐ์ ปานเนียม นายณรงเดช อุฬารกุล นายศักดินัย นุ่มหนู และอาชญากรรม นายรังสิมันต์ โรม และ น.ส.รักชนก ศรีนอก

นอกจากนี้ พรรค ปชน.ได้เผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียลมีเดีย ระบุว่า "1 ปีสูญเปล่า 3 ปี เจ๊าหรือเจ๊ง? ระบุว่า ย้อนกลับไป 1 ปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยในวันที่ย้ายไปตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว  บอกว่ามีความจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ เพราะปัญหาใหญ่ 3 ประการของประเทศรอไม่ได้ ต้องมีรัฐบาลเข้าไปจัดการแก้ไขทันที 1.เศรษฐกิจถดถอย (แก้ด้วยดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นค่าแรง) 2.โครงสร้างการเมือง (แก้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่) 3.ความขัดแย้งแตกแยกเรื้อรัง (แก้โดยตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว?) ผ่านไป 1 ปี ยังไม่มีปัญหาใดถูกแก้ไข มีเพียงข้ออ้างว่าจัดการก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยการเอาพรรคที่เคยเป็นศัตรูมาเข้าร่วมรัฐบาล แต่ประชาชนยังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

กฎหมายนิรโทษกรรม ผู้ที่ต้องรับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ยังไม่มีความคืบหน้า ดิจิทัลวอลเล็ตตั้งไข่มาปีหนึ่งแล้วก็ยังไม่เริ่มเดิน และวันนี้ชัดแล้วว่าไม่มีอะไรเหมือนที่เคยหาเสียงไว้ ค่าแรง 400 บาททุกอาชีพเท่ากันทั้งประเทศ ครบ 1 ปียังไม่ได้ขึ้นตามสัญญา รัฐธรรมนูญยังถูกแช่แข็ง ไม่มีความคืบหน้า จนชัดเจนแล้วว่าน่าจะไม่ทันเลือกตั้ง 2570

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรค ปชน.ยังได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรค ปชน. เปิดเผยถึงการอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาลว่า พรรคประชาชนในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ครั้งนี้จะอภิปรายในธีม "1 ปีที่สูญเปล่า 3 ปีเจ๊าหรือเจ๊ง" โดยจะใช้เวทีนี้ในการตรวจการบ้านรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ทำงานมา 1 ปีเต็ม ว่าสามารถผลักดันนโยบายตามที่ได้สัญญาไว้กับรัฐสภาเมื่อ 1 ปีที่แล้วได้จริงหรือไม่

นายพริษฐ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ทุกประเด็นที่ประชาชนคิดจะมีการอภิปรายแน่นอน ซึ่งเราได้เตรียมผู้อภิปรายกว่า 30 คน และจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด ซึ่งการอภิปรายต้องมองถึงบริบท เรากำลังรับฟังคำแถลงนโยบายที่เรียกว่ารัฐบาลใหม่คงไม่ได้ ฉะนั้นการอภิปรายของ สส.พรรค ปชน.จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ตรวจการบ้าน 1 ปีที่ผ่านมาว่าสิ่งที่รัฐบาลนายเศรษฐาสัญญาไว้ มีความคืบหน้าไปแค่ไหน แก้ไขปัญหาประชาชนได้แค่ไหน และ 2.เราคิดว่านโยบายของ น.ส.แพทองธาร มีบางประเด็นที่ยังไม่ตอบโจทย์ และเราอาจเสนอแนะสิ่งที่ดีขึ้นได้เพื่อประชาชน ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ต การแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะเป็นการมองไปข้างหน้าในอีก 3 ปี

ถามถึงนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนญซึ่งถูกถอดออกจากนโยบายเร่งด่วนจากยุคนายเศรษฐา นายพริษฐ์กล่าวว่า ตนก็สังเกตว่าถูกเปลี่ยนหมวดหมู่จากนโยบายเร่งด่วน เป็นนโยบายระยะยาว-กลาง และมีการเปลี่ยนข้อความ แต่ในภาพรวมยังเป็นการใช้ข้อความในลักษณะที่กว้างอยู่

"การแก้ปัญหารัฐธรรมนูญต้องเดิน 2 เส้นทางคู่ขนาน คือต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้เร็วที่สุด แต่คำถามที่ตามมาคือ ตกลงแล้วทางรัฐบาลวางกรอบเวลาไว้เท่าไหร่ หรือหากเดินหน้าทำประชามติ 3 ครั้ง จะมีการทบทวนคำถามประชามติหรือไม่ รวมถึงองค์คณะที่จะมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.) มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ สิ่งที่ยังไม่เห็นในร่างคำแถลงนโยบาย คือการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งตนมองว่าต้องทำคู่ขนานเพื่อแก้ปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วน ดังนั้นผมอยากทราบว่ารัฐบาลจะสนับสนุนแนวทางนี้อย่างไร เราคาดหวังที่จะฟังนายกฯ คนใหม่" นายพริษฐ์กล่าว

วาง 48 สว.ชำแหละนโยบาย รบ.

ในส่วนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการลงชื่อของ สว.เพื่ออภิปรายนโยบายของรัฐบาลว่า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ได้แจ้งว่า จากที่ สว.ได้รับจัดสรรเวลาอภิปราย รวม 4 ชั่วโมง 30 นาที และมี สว.อภิปราย 48 คน ทำให้มีเวลาให้อภิปรายคนละประมาณ 5 นาที

ทั้งนี้ การเข้าชื่อของ สว.เพื่อแจ้งความประสงค์อภิปรายนโยบายนั้น มีการกำหนดให้  สว.ระบุประเด็นที่จะอภิปรายเพื่อกำหนดเป็นหัวข้อเรียงลำดับความเหมาะสม และก่อนหน้านั้นมี สว.ที่ต้องการขอใช้สิทธิอภิปรายกว่า 70 คน แต่ตอนหลังได้ขอถอนรายชื่อออก เนื่องจากเวลาที่ได้รับจัดสรรนั้นมีน้อยเกินไป ทำให้ขณะนี้จำนวนของ สว.ที่จะได้สิทธิอภิปรายนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สว.กล่าวว่า ตนได้ลงชื่ออภิปรายนโยบายรัฐบาลไว้ด้วย แต่พบว่ามีคนลงชื่อกว่า 70 คน ซึ่งมีคนมาพูดเพื่อขอให้พิจารณาถอนชื่อ ซึ่งตนลองมาคิดดูแล้วว่าเวลาที่ได้คนละ 4-5 นาทีนั้นอาจทำให้ไม่ได้สาระที่จะพูดครบและตรงประเด็น จึงถอนชื่อตนเองออกมา ทั้งนี้ ทราบว่าในขั้นตอนหลังจากที่ สว.ลงชื่อแล้ว ได้มีการเรียกประชุมผู้อภิปราย โดยมีการกำชับให้ทำการบ้านกันให้ดี เพื่อให้ผู้อภิปรายนั้นเป็นหน้าเป็นตาของวุฒิสภา และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสภาสูง อีกทั้งต้องแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถที่จะอภิปรายด้วย เพราะการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนั้นมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนรับชมด้วย

น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. กล่าวว่า ตนเป็น 1 ใน สว.ที่จะอภิปรายนโยบายรัฐบาล โดยจะเน้นกระทรวง อว. อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่ามีการขอให้ สว.ถอนชื่อจากการอภิปราย แต่ยอมรับว่าตอนลงชื่อนั้นต้องระบุกระทรวงหรือหน่วยงานที่จะอภิปรายด้วย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการจัดการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการการอภิปรายเท่านั้น

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบ 2 ประเด็นที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และ 2.พรรคเพื่อไทยยอมให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครอบงำ ชี้นำ ตามมาตรา 28 กฎหมายเดียวกัน 

นพ.วรงค์กล่าวว่า การครอบงำเป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย คนครอบงำมีการไปติดต่อเจรจา มีผลประโยชน์อะไร ประชาชนไม่รู้ จึงเห็นว่าต้องร้องต่อ กกต. เพื่อส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นการปกป้องประโยชน์ของประชาชนและระบบกฎหมาย ซึ่งมี 3 ประเด็นที่นำสู่การร้องเรียน 1.นายทักษิณเชิญแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึงนายชัยเกษม นิติสิริ และพรรคร่วม มาเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 14  ส.ค. ช่วงเย็น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลง ซึ่งสื่อมีการนำเสนอข่าวว่าได้ข้อสรุปการหารือว่าจะเสนอชื่อนายชัยเกษมเป็นนายกรัฐมนตรี แม้วันที่ 15 ก.ย. จะมีการประชุมของพรรคเพื่อไทย และมีการเปลี่ยนตัวว่าที่นายกฯ เป็น น.ส.แพทองธาร  แต่ถือว่าการกระทำของวันที่ 14 ส.ค.สำเร็จไปแล้ว โดยนายทักษิณซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเข้ามาครอบคลุม ครอบงำ ชี้นำพรรคเพื่อไทย และแกนนำหรือกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว

ร้องสอบทักษิณครอบงำ พท.

2.เป็นเหตุการณ์วันที่ 20 ส.ค. นายทักษิณให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ที่ตอบคำถามว่าจะให้ น.ส.แพทองธารควบตำแหน่ง รมว.กลาโหมหรือไม่ว่า นั้นเป็นเรื่องที่หนักเกินไป แม้ น.ส.แพทองธารจะเป็นบุตรสาว แต่ก็เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งการพูดลักษณะนี้เท่ากับเป็นการชี้นำหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อีกทั้งสื่อยังถามต่อว่า พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการครอบงำหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่าไม่ใช่ “ครอบงำ” แต่เป็นการ “ครอบครอง” ซึ่งแม้จะเป็นการพูดเล่น แต่คำนี้หนักกว่าการ “ครอบงำ” เพราะคำว่าครอบงำคือมีอิทธิพลเหนือกว่า ให้คนอื่นปฏิบัติตาม แต่ครอบครองคือมีสิทธิเป็นเจ้าของ สังคมอาจมองว่า น.ส.แพทองธารเป็นลูกสาว นายทักษิณเป็นบิดา ก็สามารถใหคำปรึกษาได้ ซึ่งตนก็เห็นด้วย แต่ต้องเป็นการให้คำปรึกษาที่บ้าน ไม่ใช่มาแสดงออกผ่านสาธารณะ แบบนี้บ่งบอกชัดเจนว่านายทักษิณคือหัวหน้าพรรค ดังนั้นการที่นายทักษิณมีพฤติการชี้นำ ครอบงำ ควบคุม จึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย

3.การที่ให้สัมภาษณ์ว่าจะเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล ซึ่งนายทักษิณตอบสื่อชัดเจนว่า ต้องการเสียงที่เพียงพอต่อการผ่านกฎหมาย สุดท้ายก็เอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมรัฐบาล โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญ พฤติกรรมนี้เท่ากับว่า นายทักษิณชี้นำการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ นอกจากนี้ยังมีกรณีปัญหาการร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งนายทักษิณก็ชี้ว่า จะเอากลุ่มไหนมาร่วมรัฐบาล สุดท้ายเป็นไปตามที่นายทักษิณชี้ว่าจะเอากลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสมาร่วมรัฐบาล

 “3 เหตุผลนี้หากปล่อยให้มีการชี้นำ ครอบงำ จะเกิดอันตรายกับประเทศ พฤติกรรมสองอย่างนี้ไปด้วยกัน เหตุการณ์หนึ่งที่พรรคการเมืองยอมให้คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมามีพฤติกรรมแบบนี้ พรรคการเมืองก็มีความผิดและนำไปสู่การยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ และเหตุการณ์นี้เป็นผู้ใดที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ก็เป็นความผิดตามมาตรา 29 เราจึงร้องร่วมในเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกันต่อ กกต.” นพ.วรงค์กล่าว

ถามว่า การร้องครั้งนี้อาจทำให้ถูกมองว่าอยู่ร่วมขบวนการใช้นิติสงครามเพื่อทำลายรัฐบาล นพ.วรงค์กล่าวว่า คำว่านิติสงครามเป็นคำที่ยกขึ้นมาเพื่อโจมตีคนที่มาร้องเรียน ตนอยากถามกลับคนที่ใช้คำนี้ขึ้นมาว่า คุณเป็นนักประชาธิปไตยหรือไม่

 “คำว่านิติสงคราม เป็นวาทกรรมที่คงกลัวการตรวจสอบของคนที่กลัวการถูกตรวจสอบ แต่ปากอ้างว่าตัวเองคือนักประชาธิปไตย ซึ่งพวกนี้คือของปลอม ยังบอกว่าคนร้องรับเงิน ก็ขอให้บอกเลยว่าใครรับเงิน ลองบอกว่าหมอวรงค์รับเงิน ผมจะฟ้อง อย่าพูดลอยๆ ตีกิน ด้อยค่าคนอื่น แน่จริงระบุชื่อหมอวรงค์รับเงิน ไม่ต้องระบุว่ารับเงินใครมาก็ได้ แต่แค่บอกว่าผมรับเงินเท่าไหร่ผมฟ้องคุณแน่ คนอย่างผมไม่มี ถ้ารับรวยไปแล้วตั้งแต่โครงการรับจำนำข้าว 9.4 แสนล้านบาท ผมรับเล็กๆ น้อยๆ สัก 500 ล้าน หรือพันล้าน ซึ่งมีคนเจรจาด้วย ผมยังไม่รับเลย นับประสาอะไรมาบอกว่าคดีละสองแสน กระจอกเกินไป” นพ.วรงค์กล่าว

ถามว่า การกลับมาของนายทักษิณ จะเป็นการฟื้นระบอบทักษิณ นพ.วรงค์กล่าวว่า ก็เกิดขึ้นจริง เพราะระบอบทักษิณที่เราจำกัดความไว้คือการใช้อำนาจไม่ชอบ นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ตอนแรกที่นายทักษิณกลับมาตนให้อภัย เพราะเห็นว่าเขาคงมีสำนึก และตนได้อ่านพระบรมราชโองการระบุว่า ยอมรับผิด สำนึกผิด พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งตนโอเคมาก พร้อมให้อภัย แต่พอดูไปแล้วมันไม่ใช่  นายทักษิณกล่าวหาว่าถูกยัดข้อหา และไปปาฐกถาว่าโดนหมั่นไส้หน่อยต้องไปอยู่ต่างประเทศ 17 ปี สะท้อนว่านายทักษิณไม่ได้สำนึกผิด

"หลังๆ มีคนใช้คำว่าระบอบชินวัตรแล้ว เพราะมันหนักกว่าตัวนายทักษิณ ดังนั้นถ้านายทักษิณคิดดีต่อชาติบ้านเมืองจริง ก็ขอให้เคารพกฎหมาย เคารพรัฐธรรมนูญ เราให้อภัยคุณได้  แต่ถ้าท้าทายกฎหมายก็ช่วยไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยคือการตรวจสอบ ถ่วงดุล ดังนั้น นายทักษิณคือผู้รื้อฟื้นระบอบทักษิณ และแปลงร่างไปเป็นระบอบชินวัตร" นพ.วรงค์กล่าว

ถามถึงกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ แจ้งความดำเนินคดีกรณีไปวิพากษ์วิจารณ์ นพ.วรงค์กล่าวว่า ที่บอกว่าไปแจ้งความดำเนินคดีกับตนข้อหาหมิ่นประมาทไม่จริง เป็นการปั่นกระแส

"เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) ที่ปรึกษา ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่าไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับพี่หมอนะ  แค่ไปลงบันทึกประจำวันเฉยๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ผมก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าดำเนินคดีฟ้องหมิ่นประมาทผม ผมฟ้องกลับ" นพ.วรงค์กล่าว

วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีใหม่หลายกระทรวงที่เริ่มทยอยเดินทางเข้ากระทรวง เช่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งเน้นย้ำการทำงานและภารกิจเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อน เช่นเดียวกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ก็เดินทางเข้ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก เพื่อเตรียมการทำงานแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้บริหารระดับสูง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง