หนี้ครัวเรือนอ่วมสุด15ปี คนไทยแบกเฉลี่ย6แสนบ.

หนี้ครัวเรือนพุ่งทุบสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปี เพิ่มขึ้น 8.4% คนไทยแบกหนี้ 6 แสนบาท/ครัวเรือน เหตุรายได้เพิ่มไม่ทันรายจ่าย "ม.หอการค้าฯ" แนะรัฐชำแหละไส้ในให้ดีก่อนแก้ หนุนแจกเงินหมื่นช่วยดันจีดีพีปีนี้โต 2.8%

เมื่อวันที่ 10 กันยายน นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567  พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% และเพิ่มสูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้นอกระบบ 69.9%  และอีก 30.1% เป็นหนี้ในระบบ

จากการสำรวจ "สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567" จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วประเทศ 1,300 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 1-7 ก.ย.67 โดยเมื่อถามถึงการเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 48.1% ไม่เคยเก็บออม ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 22.6% ระบุว่ามีเงินเก็บเพียงพอเป็นสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป ส่วนอีก 16% ระบุว่ามีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน และที่เหลือ 13.3% ระบุว่ามีแต่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 46.3% มีรายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 35% มีรายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย และกลุ่มตัวอย่างอีก 18.7% มีรายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย

เมื่อถามถึงการแก้ปัญหากรณีเกิดรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 จะใช้วิธีกู้ยืมจากแหล่งต่างๆ, อันดับ 2 ประหยัด/ลดค่าใช้จ่าย, อันดับ 3 ดึงเงินออมออกมาใช้ และอันดับ 4 หารายได้เพิ่ม ซึ่งในกรณีที่ใช้วิธีกู้ยืมนั้น กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้วิธีการกดเงินสดจากบัตรเครดิตมากที่สุด รองลงมาคือ การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจ การจำนำสินทรัพย์ กู้สหกรณ์ และยืมจากญาติ

นอกจากนี้ เมื่อให้เปรียบเทียบหนี้กับรายได้ในปี 67 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.4% ตอบว่าหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้เพิ่ม รองลงมา 32.3% หนี้เพิ่มเท่ากับรายได้เพิ่ม และอีก 21.3% ระบุว่าหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ 99.7% ตอบว่าครัวเรือนของตัวเองมีหนี้สิน โดยมีเพียง 0.3% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน สำหรับประเภทหนี้ อันดับ 1 คือหนี้บัตรเครดิต รองลงมา หนี้ยานพาหนะ หนี้ส่วนบุคคล หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้ประกอบธุรกิจ และหนี้การศึกษา

ขณะที่การก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 89.9% มีเฉพาะหนี้ในระบบ รองลงมา 39.8% มีทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ และอีก 0.3% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ โดยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนเฉลี่ยที่ 606,378 บาท มากสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 52 โดยหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% แยกเป็นหนี้ในระบบ 69.9% และหนี้นอกระบบ 30.1% ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

สาเหตุที่ทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก คือ 1.รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 2.มีเหตุไม่คาดคิดที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน 3.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 4.ภาระทางการเงินของครอบครัวสูงขึ้น 5.ล้มเหลวจากการลงทุน 6.ลงทุนประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น 7.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 8.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น 9.ค่าเล่าเรียนของบุตร-หลาน และ 10.ขาดรายได้ เนื่องจากถูกออกจากงาน

โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 71.6% ระบุว่าเคยขาดผ่อนหรือผิดนัดชำระหนี้ มีเพียง 28.4% ที่ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้มากสุด คือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมาคือ รายได้ลดลง สภาพคล่องของครัวเรือนลดลง ราคาพืชผลเกษตรลดลง ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ และไม่มีแหล่งให้กู้ยืมเงินเพิ่ม เป็นต้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นปัญหาที่สะสมมาต่อเนื่องยาวนาน โดยนับตั้งแต่ปี 56 ระดับหนี้ครัวเรือนเริ่มสูงเกินกว่า 80% ของจีดีพี โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 90% ของจีดีพี นับตั้งแต่ปี 63 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดที่ 94.6% ของจีดีพี ในช่วงปี 64 จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนของประเทศต้องหยุดชะงัก ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในเรื่องการพักชำระหนี้ จึงทำให้ยอดหนี้ครัวเรือนไม่ลดลง

นายธนวรรธน์มองว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการแปลงสินเชื่อจากนอกระบบเข้ามาสู่ในระบบ จึงทำให้มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะช่วยลดดอกเบี้ยจากที่ต้องชำระในอัตราสูงถึง 10% ต่อเดือน ลงมาอยู่ที่ราว 3% ต่อเดือนได้ นอกจากนี้ รัฐบาลในขณะนั้นยังมีนโยบายพักชำระหนี้ และการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม การมีหนี้ครัวเรือนสูงไม่ได้แปลว่าประเทศจะเคลื่อนไปไม่ได้ เพราะสภาพัฒน์เคยบอกว่าหนี้สาธารณะที่มากกว่า 80% ของจีดีพี ไม่ได้มีข้อระบุว่าเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ หากการเป็นหนี้นั้นสร้างประโยชน์ต่อประชาชน เช่น หนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ หนี้เพื่อซื้อความมั่งคั่งในครอบครัว เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งเมื่อเป็นหนี้ในส่วนนี้แล้ว ช่วยทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจ เพียงแต่มีผลทางจิตวิทยา เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเป็นจำเลย จากมุมมองที่ว่าเมื่อหนี้ครัวเรือนสูง ประชาชนจะไม่มีความสามารถกู้ใหม่หรือบริโภคได้เต็มที่

"สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลควรหาข้อมูลให้ชัดเจนว่าการลดหนี้ครัวเรือน หนี้ที่เป็นหนี้บ้าน หนี้รถ มาจากการแปลงหนี้นอกระบบ มาสู่ในระบบกี่เปอร์เซ็นต์ มันจะทำให้เห็นว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่ใช่จำเลยรุนแรงของสังคม การมีหนี้ครัวเรือนสูงไม่ได้แปลว่าประเทศจะขับเคลื่อนไม่ได้" นายธนวรรธน์กล่าว พร้อมระบุว่า ม.หอการค้าไทยสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในเรื่องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทยยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 68 มีโอกาสขยายตัวได้ 3.5-4% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากโมเมนตัมในช่วงปลายปี 67 จากแรงขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลจะจ่ายเงินก้อนแรกให้กลุ่มเปราะบางก่อนในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลไปถึงต้นปี 68 รวมกับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ และสงกรานต์ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดอกเบี้ยโลกเริ่มลด และประเทศไทยมีงบประมาณแผ่นดินเพื่อการเบิกจ่ายลงทุนได้ตามปกติ

"หากดิจิทัลวอลเล็ตสามารถเริ่มแจกเงินสดในกลุ่มเปราะบาง จำนวน 14-15 ล้านคน มีโอกาสทำให้จีดีพีปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.2-0.4% จากเดิมคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2567 จะโตเพียงแค่ 2.6% อาจจะมีโอกาสแตะ 2.8% ภายในสิ้นปี และในปี 2568 หากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสามารถดำเนินการได้ มีโอกาสที่จะเห็นจีดีพีขยายตัว 3.5-4% และหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีโอกาสลดลงเหลือแค่ 89% (ปัจจุบัน 90.8%)" นายธนวรรธน์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี