ภูมิธรรมโชว์ผลงาน1ปีช่วยคนตัวเล็ก เพิ่มรายได้เกษตรกร-ลดค่าครองชีพ

“ภูมิธรรม” โชว์ผลการทำงาน 1 ปี ตามยุทธศาสตร์ 7 ข้อ ประสบความสำเร็จเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส เผยเกษตรกรรายได้เพิ่มเกือบ 2 แสนล้าน ข้าวเปลือกเจ้านิวไฮ 20 ปี สับปะรด กระเทียม หอมแดง สูงสุดประวัติศาสตร์ ช่วยสร้างโอกาสค้าขายให้คนตัวเล็ก ลุยเจาะตลาดเปิดทางสินค้าไทย รุกกลยุทธ์แนวใหม่ ขายสินค้าผ่านซีรีส์วาย-ซีรีส์ยูริ นำ KOL ไลฟ์สดขายสินค้า และดูแลลดค่าครองชีพคนไทยทั้งประเทศ

  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงผลการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า ได้กำหนดนโยบายการทำงานในช่วงบริหารงานกระทรวงพาณิชย์ไว้ 7 ด้าน ได้แก่ 1.ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ 3.ทำงานเชิงรุกระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ 4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายที่เก่าล้าสมัย 5.ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 6.เร่งผลักดันการส่งออกจากติดลบให้เป็นบวก และ 7.ผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งปรากฏผลการทำงานประสบความสำเร็จในทุกด้าน สามารถดูแลตั้งแต่เกษตรกร ที่เป็นคนฐานรากของประเทศ ดูแลประชาชนผู้บริโภคให้มีภาระค่าครองชีพลดลง และดูแลผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนตัวเล็กและ SME ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและมีรายได้สูงขึ้น

โดยในด้านการเพิ่มรายได้ ช่วยเกษตรกรพืชหลัก ได้แก่ ข้าว, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, มัน, ปาล์ม, ยางพารา จำนวน 8 ล้านครัวเรือน ผลผลิต 90 ล้านตัน มีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยข้าวเปลือกเจ้าราคาสูงสุดในรอบ 20 ปี พืชรอง ได้แก่ ผลไม้, พืช 3 หัว และผัก เกษตรกรเกือบ 1.5 ล้านครัวเรือน ผลผลิตกว่า 8 ล้านตัน สร้างสถิติราคาซื้อขายสับปะรด, กระเทียม, หอมแดง สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์

สำหรับการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คนตัวเล็ก ผู้ประกอบการชุมชน และ SME ได้เพิ่มโอกาสในการค้าขายทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ พัฒนาตลาดต้องชมเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว พัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขาย ผลักดันร้านอาหาร  Thai SELECT ในต่างประเทศเป็นโชว์รูม เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ทั้งอาหาร ดนตรี ช่วยร้านค้าธงฟ้ามีรายได้ โดยร่วมมือทำ "ไปรษณีย์@ธงฟ้า" เป็นจุดรับส่งพัสดุ  ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการลดค่าเช่า และจัดตลาดนัดพาณิชย์ให้คนตัวเล็กขายสินค้า และนำ SME เข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนการขยายโอกาสทางการค้า ได้เดินหน้าเจาะตลาดหลัก ทั้งจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส และมีแผนที่จะทำแคมเปญโปรโมตภาพลักษณ์ประเทศไทย ผลักดันการค้าชายแดนและแก้ไขอุปสรรคทางการค้า โดยที่ผ่านมาได้เจรจาเปิดด่านเพื่อรองรับฤดูกาลผลไม้ มีการลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ผลักดันการเจรจา FTA ไทย-EFTA ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 และเปิดเจรจา FTA ใหม่ อาทิ ไทย-เกาหลีใต้, ไทย-ภูฏาน และไทย-บังกลาเทศ  การรุกตลาดเมืองรอง โดยต่อยอด MOU ที่ลงนามไปแล้ว  สร้างมูลค่าการค้ากว่า 5,500 ล้านบาท อาทิ ความร่วมมือกับมณฑลกานซู่, ปูซาน, โคฟุ

ขณะเดียวกัน ได้สร้างโอกาสทางการค้าผ่านกลยุทธ์การตลาดแนวใหม่ โดยใช้ซีรีส์วาย ซีรีส์ยูริ ดึงมาย-อาโป,  ฟรีน-เบ็คกี้ ยกระดับสินค้าชุมชน อาทิ สมุนไพร, สุราชุมชน, ขนมขบเคี้ยว Tie-in เข้าสู่ตลาดโลกผ่านซีรีส์ และนำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่ฮ่องกง, เวียดนาม, ฝรั่งเศส เกิดการจับคู่ธุรกิจ 756 คู่ มูลค่า 4,102 ล้านบาท ใช้เครือข่าย KOL จีนไลฟ์สดขายสินค้าและบริการไทย เพื่อสร้างรายได้ให้คนตัวเล็ก กำหนดจัดวันที่ 25-29 ก.ย. 2567 คาดการณ์มูลค่า 1,500 ล้านบาท จัดทำ MOU กับ Sinopec นำสินค้าไทยจำหน่ายใน Easy Joy ร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน คาดการณ์มูลค่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี รวมทั้งมีการเจรจาธุรกิจออนไลน์ (OBM) เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง, ฮาลาล, อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น คาดการณ์มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดขายกล้วยหอมเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ขายลำไยเข้าสู่ตลาดจีน ขายมังคุดไปจีนและญี่ปุ่น และเปิดตลาดผ้าไทยในญี่ปุ่น เป็นต้น

ทางด้านการลดรายจ่าย จัด “พาณิชย์สั่งลุย...ลดราคา” รวม 8 กิจกรรม ลดค่าครองชีพ 8,060 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 13,400 ล้านบาท จัด “โครงการธงฟ้าราคาประหยัด ลดค่าครองชีพประชาชน” 1,134 ครั้ง ลดค่าครองชีพ 130 ล้านบาท จัดจำหน่ายสินค้าผ่านรถโมบายในแหล่งชุมชน 450 จุด ลดค่าครองชีพ 122.09 ล้านบาท จัดโครงการร้านอาหารธงฟ้า มีจำนวน 5,607 ร้าน ลดภาระค่าใช้จ่ายวันละ 2.63 ล้านบาท หรือ 960 ล้านบาท จัดพาณิชย์สั่งลุยราคาปุ๋ย ลดต้นทุนเกษตรกร 102 ล้านบาท ลดต้นทุนให้ร้านค้า ผู้ประกอบการ 14,000 ราย มูลค่า 53 ล้านบาท ด้วยการงดจัดเก็บค่าเช่าพื้นที่ในกระทรวง และขอความร่วมมือตลาดในสังกัด กทม.ไม่เก็บด้วย งดการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการใช้เพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ฟรี 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค. 2566 - มี.ค. 2567 และมอบส่วนลดค่าลิขสิทธิ์เพลง 50-55% ต่อเนื่องอีก 1 ปี ลดต้นทุนผู้ประกอบการ SME ที่ใช้งานเพลง 400,000 ราย มูลค่า 3,300 ล้านบาท.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง