"ประภัตร" เชื่อหมูแพงเพราะการกักตุนสินค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ประสานกระทรวงพาณิชย์สอบข้อเท็จจริง กรมปศุสัตว์เตรียมจัดตั้งวอร์รูมทั่วประเทศ เพื่อสแกนพื้นที่เสี่ยงในการเกิดโรคระบาด ASF
วันที่ 15 มกราคม 2565 นายประภัตร โพธสุธน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่าต้นเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรแพงขึ้นนั้น เกิดจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จึงขอชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ซึ่งปัจจุบันปริมาณลูกสุกรเข้าเลี้ยงก็ยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน อีกทั้งจำนวนสุกรที่เข้าโรงเชือดยังมีปริมาณคงที่มาโดยตลอด จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดราคาเนื้อสุกรจึงแพงขึ้น
โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญอาจมาจากการกักตุนสินค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จึงได้ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรณีพบการระบาดของโรค ASF นั้น กรมปศุสัตว์จะจัดตั้งวอร์รูมขึ้นทั่วประเทศเพื่อสแกนพื้นที่เสี่ยงในการเกิดโรคระบาด ASF พร้อมเข้าช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกร โดยเฉพาะรายเล็กและรายย่อย ในการยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะมีอาสาปศุสัตว์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
"ขอยืนยันว่าหากตรวจพบการเกิดโรค ASF กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์จะเร่งเข้าควบคุมโรคโดยทันที ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างรัดกุม และจำกัดวงเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด"
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศพบโรค ASF ในสุกร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยอย่างมาก ได้เรียกประชุมด่วนเพื่อเร่งแก้ปัญหาโรคระบาดในหมู โดยได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่
โดยให้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงสุกร ทั้งโรงฆ่าสัตว์และเขียงหมูโดยเร็ว รวมทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดและสัตวแพทย์ติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อเร่งสอบสวนหาสาเหตุและควบคุมโรคได้โดยเร็ว และให้เพิ่มช่องทางและเน้นการประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เสียหาย เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการผลิตสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดนั้น
กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการทันทีตามนโยบายนายกรัฐมนตรี โดยได้ประชุมด่วนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากประชุมกับนายกรัฐมนตรีเสร็จเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ทันที ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วยสำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด, ด่านกักกันสัตว์, สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์, กองสารวัตรและกักกัน, สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์, สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์, สำนักพัฒนาอาหารสัตว์, สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ เป็นต้น
เพื่อเร่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี และดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด โดยได้สั่งการให้ทุกเขตและจังหวัดจัดตั้งวอร์รูม เพื่อสื่อสารข้อมูลกับประชาชนและรายงานการดำเนินงานทุกวันต่อผู้บริหารอย่างทันท่วงที ทุกพื้นที่ให้การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมป้องกันและการเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องโปร่งใส ไม่มีการสร้างเงื่อนไข
"นายกฯ สั่งการให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มแก่เกษตรกร สำรวจการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและปริมาณหมูที่คงเหลือในระบบ พร้อมทั้งสำรวจปริมาณความต้องการของประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์บริหารจัดการแก้ไขปัญหาความต้องการสุกรทั้งระบบ ให้ศึกษาการเพิ่มผลผลิตสุกรแม่พันธุ์และลูกหมูในระบบการเลี้ยงที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ และการช่วยเหลือบริการเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยและรายใหญ่"
อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยว่า นายกฯ ยังเร่งให้มีการช่วยเหลือด้านอาหารสัตว์และศึกษาวิจัยด้านอาหารสัตว์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต การร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น พาณิชย์ในการตรวจสอบห้องเย็น เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง การรายงานโรคตามระบบรายงานโรคระบาดในสุกรให้ดำเนินการตามมาตรการที่แจ้ง
โดยจังหวัดที่พบโรคให้รีบรายงานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนกลางทันที บูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาและหาสาเหตุเพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว ทำการประเมินความเสี่ยงและการตรวจสอบให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อโรค ASF ในสุกรก่อนทำการลงเลี้ยงรอบใหม่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยทำการเลี้ยงโดยปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นการป้องกันโรคเข้าฟาร์มได้ดีที่สุด เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาที่จำเพาะ
โดยทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) เพื่อเป็นการลดความเสียหายและสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และการรายงานผลตรวจโรคหากตรวจพบผลบวกต่อเชื้อ ASF ในสุกรให้ในใบรายงานผล เพิ่มข้อแนะนำและมาตรการดำเนินการให้เกษตรกรทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการได้ถูกต้องและลดความเสียหายจากการแพร่กระจายโรคด้วย
นายสัตวแพทย์สรวิศขอย้ำให้ทุกเขตทุกจังหวัดทำการสื่อสาร สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรรายย่อยให้ปรับปรุงฟาร์มให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันโรค หากพบโรคให้จังหวัดรายงานและดำเนินการสอบสวนทันที ถ้าไม่ทำตามจะถือว่ามีความผิดละเลยการปฏิบัติงานในหน้าที่ การปฏิบัติงานและการรายงานของวอร์รูมในทุกเขตและจังหวัด ให้ดำเนินการทุกวันไม่เว้นแม้ในวันหยุดราชการและเสาร์-อาทิตย์ จนกว่าสถานการณ์โรคจะคลี่คลาย
พร้อมเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้บริการเกษตรกร และจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายจากการทำลายสุกรเพื่อป้องกันโรคโดยเร็ว โดยขอให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ การดำเนินงานทุกอย่างให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน ส่วนรวม และประเทศชาติเป็นสำคัญ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"