ผุดกาสิโน-คุยเขมร นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลอิ๊งค์/สว.ข้องใจไร้เรื่องปราบโกง!

เปิดคำแถลงนโยบาย “แพทองธาร”  12-13 ก.ย.นี้ ย้ำ 10 ประเด็นด่วนทำทันที หวังพลิกฟื้นประเทศ ดันดิจิทัลวอลเล็ตเน้นกลุ่มเปราะบาง     ลุยเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา ปฏิรูปภาษีเพื่อผู้มีรายได้น้อย  พิทักษ์รักษาสถาบันกษัตริย์ "เพื่อไทย" โวไม่ต้องใช้องครักษ์ ขอให้อภิปรายสร้างสรรค์ ปธ.วิปฯ จ่อถกวิป 3 ฝ่าย จ้องลดเวลาฝ่ายค้านลงเหลือ 10-12  ชม. อ้าง รมต.จะมีเวลาไปดูน้ำท่วม เตือนอภิปรายนโยบายไม่ใช่ควบไม่ไว้วางใจ สส.พรรคส้มกว่า 30 คน จองกฐินชำแหละครบทุกเรื่อง สว.ดักคอ  “อุ๊งอิ๊ง” ห้ามมายืนอ่านโพยกลางที่ประชุม ข้องใจนโยบายสวยหรู แต่ไม่มีเรื่องต้านโกง

เมื่อวันอาทิตย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมร่วมรัฐสภาเป็นพิเศษ วันที่ 12-13 ก.ย.นี้ โดยมีวาระเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162

ทั้งนี้ ในระเบียบวาระดังกล่าว มีเอกสารเป็นคำแถลงนโยบายของ ครม. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา ซึ่งได้ส่งมายังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 ก.ย. มีทั้งสิ้น 14 หน้า โดยมีสาระสำคัญระบุถึงภาวะความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเผชิญ ที่เติบโตน้อยกว่าศักยภาพ หนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำ  ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง  รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหารุมเร้า โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่ทำทันทีคือ

1.การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบและในระบบที่ไม่ขัดต่อวินัยการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม 2.ส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ 3.ออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภคด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและเร่งปรับปรุงกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรง พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ด้านขนส่งมวลชน จะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมใน กทม. เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย

4.สร้างรายได้ใหม่ด้วยนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค 5.เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก 6.ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร 7.เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์) 8.แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร 9.เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน 10.ส่งเสริมศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่นโยบายพัฒนาประเทศ ระยะกลางและระยะยาว จะต่อยอดการพัฒนาของภาคผลิตและบริการ สร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ได้แก่ 1.ต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์  ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ การบริการทางการแพทย์ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส ทั้งวิจัยและนวัตกรรม ด้านคมนาคมขนาดใหญ่ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริาหารจัดการที่ดินของรัฐ ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น

พิทักษ์รักษาสถาบันกษัตริย์

 “รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ดึงแรงงานนอกระบบ 50% สู่ระบบการศึกษา ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ผู้มีรายได้น้อยจะได้เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ รวมถึงมีเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลก ผ่านการผลักดันยกร่างกฎหมายชุดใหม่ที่เป็นสากล โปร่งใส เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจนักลงทุน พัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน”

นอกจากนั้นแล้วยังระบุถึงนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ อาทิ ยกระดับระบบสาธารณสุขไทยเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ สนับสนุนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ขณะที่นโยบายด้านการเมือง ในคำแถลงนโยบายระบุว่า  พัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง  มีเสถียรภาพ นิติธรรมและโปร่งใส คือ 1.เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็ว 2.สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ยึดมั่นหลักนิติธรรมและความโปร่งใส 3.ปฏิรูประบบราชการและกองทัพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 4.ยกระดับการบริการภาครัฐให้สนองตอบความต้องการของประชาชน

ในช่วงท้ายของคำแถลงนโยบายระบุว่า  รัฐบาลมุ่งมั่นพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการทำหน้าที่เลขาธิการนายกฯ จะให้คำแนะนำ น.ส.แพทองธารอย่างไรบ้างว่า อย่าใช้คำว่าแนะนำ ตนถือว่าเป็นสตาฟ เป็นคนที่จะทำงานให้นายกฯ ซึ่งปกติจะมีกระบวนการทั้งฝ่ายประจำและฝ่ายการเมืองที่จะสามารถทำงานรองรับภารกิจของนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จ เป็นคนที่รองรับภารกิจของนายกฯ ซึ่งหากนายกฯ อยากได้อะไร เราก็จะทำให้ถูกต้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการ ขอบเขตอำนาจทางกฎหมาย

เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงเรื่องของช่องว่างระหว่างวัยในการทำงานหรือไม่ นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ไม่หรอก เพราะในรัฐบาลเรามีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน ที่จะคอยทำงานสนองภารกิจของนายกฯ เพื่อประเทศชาติ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาชน (ปชน.) เตรียม 30 ขุนพลไว้ชำแหละนโยบายในวันแถลงนโยบาย 12-13 ก.ย.นี้ว่า ฝ่ายค้านจะอภิปราย 30 คน 40 คน หรือทั้งพรรคก็ถือเป็นสิทธิ์ แต่ต้องยอมรับว่าวันนี้รัฐบาลของ น.ส.แพทองธารมีเสถียรภาพ มีความเข้มแข็ง ซึ่งเห็นได้จากการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่ผ่านมา ฉะนั้นการทำหน้าที่ในสภาของฝ่ายค้านควรต้องดูเรื่องนี้ประกอบ และควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพราะวันนี้เราควรให้ประเทศไทยได้ไปต่อ เราควรสลายขั้ว ก้าวข้ามความขัดแย้ง และไม่มีความกังวล เพราะเข้าใจดีว่าเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดี และประชาชนก็ติดตามดูอยู่

"องครักษ์คงไม่ต้อง เพราะคนที่อภิปรายและหรือคนที่อาจจะเป็นองครักษ์ถูกตรวจสอบโดยประชาชนอยู่แล้ว โอกาสที่ทัวร์จะลงเกิดขึ้นได้ทุกฝ่าย จึงขอทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มั่นใจว่านายกฯ และ ครม.จะสามารถตอบข้อชี้แจงได้" นายอนุสรณ์กล่าว

ลดเวลาฝ่ายค้านเหลือ 10-12 ชม.

นายวิสุทธ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมวิป 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล, วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ในเวลา 10.00 น. เพื่อหารือถึงกรอบเวลาการอภิปรายการแถลงนโยบายของ ครม. ซึ่งจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย.นี้  จะหารือเวลาอภิปรายลดลงจากเดิม ที่เคยได้ 31 ชั่วโมง ในการอภิปราย 2 วัน ด้วยเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่นานไป เพราะส่วนใหญ่เป็นนโยบายเดิมที่สานต่อจากรัฐบาลนายเศรษฐา จะเจรจาปรับลดเวลาอภิปรายลง เพื่อให้ ครม.เข้าไปปฏิบัติหน้าที่โดยโดยเร็วในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากฝ่ายค้านและวุฒิสภา

 “อาจจะปรับลงมาที่เคยได้ไป 14 ชั่วโมง อาจจะปรับเป็น 10 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง เพื่อเร่งรัดการแถลงนโยบายเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ และรัฐมนตรีจะได้มีพลังและเวลาไปดูแลปัญหาน้ำท่วมและอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะต้องไปรีบทำ” นายวิสุทธิ์กล่าว

เมื่อถามถึงการที่ทางฝ่ายค้านตั้งเป้าการอภิปรายครั้งนี้ว่าจะดุเดือดเข้มข้น นายวิสุทธ์ระบุว่า ไม่มีดุเดือด เพราะครั้งนี้เป็นการอภิปรายแถลงนโยบาย ไม่ใช่การอภิปรายงบประมาณหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คุณจะอภิปรายนโยบายควบการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้ มันคนละส่วนกัน ซึ่งเชื่อว่า สส.ทราบข้อบังคับการประชุมดี จึงเชื่อว่าจะอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะนโยบาย ไม่น่าพาดพิงถึงเรื่องคุณสมบัติส่วนตัวของนายกฯ และรัฐมนตรี หรือการทำงานในอดีต เพราะเป็นเวทีแถลงนโยบาย ส่วนเรื่องเหล่านี้ค่อยว่ากันตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เมื่อถามถึงการที่ทางฝ่ายค้านจะทวงสัญญาช่วงเลือกตั้งและตรวจการบ้าน 1 ปี นายวิสุทธิ์ระบุว่า 1 ปีถ้าทำได้หมดก็ประหลาดแล้ว ตอนเข้ามางบปี 2567 ขณะนี้เองก็ยังอยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกคนก็ทราบว่าเป็นงบประมาณที่รัฐบาลเก่าเป็นคนตั้งไว้ ส่วนงบปี 2568 ก็กำลังผ่านเข้าไปยังวุฒิสภา จะทำให้ 1 ปีทำครบสัญญาทุกอย่างก็แปลกประหลาดไปแล้ว ยังมีเวลาอีกตั้ง 3 ปี ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ไม่น่ากังวลอะไร

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ในการอภิปรายคำแถลงนโยบาย เบื้องต้นคิดว่ารัฐบาลควรให้เวลาฝ่ายค้าน 14 ชั่วโมง เหมือนเช่นตอนอภิปรายนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งตอนนี้มี สส.ปชน.แจ้งความจำนงขออภิปรายประมาณกว่า 30 คนแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดเรียงหัวข้อว่าแต่ละคนจะมีผู้อภิปรายกี่คน ซึ่งจะได้ข้อสรุปวันที่ 9 ก.ย. จะมี สส.ของพรรคอภิปรายนโยบายทุกหัวข้อครบหมดทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการเขียนไว้ในนโยบายรัฐบาล  รวมถึงเรื่องนโยบายการเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพื่อขอให้รัฐบาลชี้แจง

เมื่อถามว่า จะมีการอภิปรายตัวนายกฯ แพทองธารเรื่องการทำหน้าที่นายกฯ ไม่ให้ถูกนายทักษิณ ชินวัตร ครอบงำหรือไม่ ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวว่า นายกฯ ได้รับเลือกจากสภา การพิสูจน์ตัวเองจากข้อครหาหรือคำวิจารณ์จากสังคม นายกฯ ต้องพร้อมรับคำวิจารณ์ และต้องพิสูจน์ตัวเองว่าไม่เป็นอย่างที่สังคมตั้งข้อครหาเอาไว้

 “ยืนยันว่ามาตรฐานของเรายังเหมือนเดิม  ประชาชนคาดหวังได้ การอภิปรายครั้งนี้จะไม่ด้อยไปกว่าเวทีใหญ่ๆ ที่เราเคยทำกันมาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และครั้งนี้ จะมีการตรวจการบ้านด้วย เพราะ ครม.ชุดปัจจุบันเทียบกับ ครม.ชุดนายเศรษฐา ไม่ได้มีความแตกต่างแบบมีนัยสำคัญ จะมีการตรวจการบ้านว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง" ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมการประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายการแถลงนโยบายว่า ต้องรอที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องกรอบเวลาในการอภิปราย และไม่ได้ห่วง เนื่องจาก สว.ทุกคนได้ศึกษานโยบายของรัฐบาลที่มีการแถลงเบื้องต้น มีการส่งไฟล์เอกสารคำแถลงนโยบายให้วุฒิสภาแล้ว ไม่มีการวางประเด็นในการอภิปราย เพราะให้สมาชิกมีความเป็นอิสระ ทุกคนมีองค์ความรู้ในการอภิปราย ได้เตรียมการในเรื่องว่าใครจะอภิปราย ได้แจ้งให้ทราบไปแล้วว่าจะต้องศึกษาข้อมูลมาก่อน

สว.ดักคอนายกฯ อย่าอ่านโพย

มีรายงานจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถึงการเตรียมอภิปรายคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 12-13 ก.ย.นี้ ว่าจนถึงช่วงเวลา 16.00 น. ได้มี สว.แจ้งชื่อแสดงความจำนงขออภิปรายอย่างไม่เป็นทางการผ่านไลน์กลุ่ม สว. ที่มี สว.ทั้ง 200 คนในไลน์กลุ่มดังกล่าวแล้วประมาณ 5 คน และคาดว่าจะมีทยอยแจ้งชื่อเรื่อยๆ โดยทาง สว.จะรอผลการประชุมวิป 3 ฝ่ายคือ รัฐบาล, ฝ่ายค้าน, สว. ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ ที่จะเคาะออกมาว่าจะให้เวลา สว.อภิปรายกี่คน จากนั้นจะมีการประสานงานระหว่าง สว.อีกครั้งว่าจะให้เวลาอภิปรายคนละกี่นาที และจะให้แจ้งชื่ออย่างเป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาต่อไป

ด้านนายปฏิมา จีระแพทย์ สว. กล่าวว่า จะขอใช้สิทธิ์อภิปรายคำแถลงนโยบายรัฐบาล โดยจะให้ข้อแนะนำต่อรัฐบาลและนายกฯ ว่าเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ต้องรีบทำก็คือ ต้องตัดสินใจให้เงินประชาชนคนละ 1 หมื่นบาทกับกลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านแอปพลิเคชันกระเป๋าตังได้แล้ว เพื่อให้ทันเส้นตายวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อบรรเทาความทุกข์ของประชาชน ต้องรีบทำเร็วที่สุด คิดว่าประชาชนพร้อมให้โอกาสนายกฯ บริหารบ้านเมือง และคงเป็นความภูมิใจไทยของนายกฯ ในการได้ทำงานใหญ่ ได้แสดงฝีมือตัวเองอย่างแท้จริง อาจจะมีคำแนะนำจากคุณพ่อนายกฯ ที่ไม่ใช่ในทางสาธารณะ แต่เขาคงมีการพูดคุยกัน เชื่อว่าคงมีการติวเข้มกันเต็มที่

"ก็หวังว่าตลอดสองวันของการแถลงนโยบาย นายกฯ จะไม่ได้มาแบบมายืนอ่านโพยให้สมาชิกรัฐสภาฟัง ขอให้พูดแบบเป็นเนื้อเป็นหนังด้วย ตอนนี้ยังเหลือเวลาสี่ห้าวัน นายกฯ ต้องรีบไปติวเข้ม นายกฯ ควรทำ bullet points ในนโยบายเร่งด่วนแต่ละด้าน โดยให้สรุปออกมาเลยว่านโยบายแต่ละข้อจะทำอย่างไร ทำเสร็จภายในกี่วัน เช่น จะแจกเงินสด 1 หมื่นบาทภายในกี่วัน" นายปฏิมากล่าว และว่า เท่าที่ดูในนโยบาย สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ทำไมรัฐบาลนายกฯ แพทองธารกลับไม่มีการเขียนถึงเรื่องนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเลย

 นายอลงกต วรกี สว. กล่าวว่า การอภิปรายต้องอภิปรายให้ตรงปกด้วย เวทีนี้เป็นเวทีแถลงนโยบาย นายกฯ เพิ่งจะเข้ามาทำงาน ซึ่งโดยมารยาท การอภิปรายควรเป็นลักษณะการให้ข้อคิดเห็น และสิ่งที่อยากฝากรัฐบาล ไม่ใช่มาอภิปรายว่ารัฐบาลไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ นายกฯ เขายังไม่ทำงานเลย แค่ทำท่ามินิฮาร์ตก็โดนด่าแล้ว ยังไม่ทำอะไรเลย ตอนนี้ก็มีทั้งกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มอำนาจใหม่ กลุ่มส้ม ก็จับตานายกฯ ทุกอย่าง สว.ควรต้องรู้บทบาทตัวเอง เพราะการแถลงนโยบายรัฐบาลไม่ใช่การล้มรัฐบาล แต่เป็นการแถลงให้ที่ประชุมทราบ แต่ก็อาจมีบางคนแสดงวาทะเพื่อแสดงความหิวแสง อยากออกแอ็กติ้ง แต่การอภิปรายของ สว.ควรให้ตรงปก

ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงถึงข้อเสนอทางนโยบายต่อ ครม.แพทองธาร 1 เพื่อแก้ปัญหาประเทศ 13 ข้อ คือ 1.เร่งรัดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.ปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ ให้แยกเป็นอิสระจากกันชัดเจน 3.กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 4.นิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดีการเมือง 5.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ 6.เร่งรัดให้ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ไขปัญหาการผูกขาดทางการค้า 7.เร่งทบทวนสัญญาและสัมปทานโครงการต่างๆ ที่เป็นการผูกขาดและไม่เป็นธรรม 8.ปฏิรูปที่ดินเพื่อลดการถือครองที่ดินอย่างผูกขาด 9.ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน 11.มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ 12.ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับและเคารพในวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลาย 13.ร่วมมือกับอาเซียนในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ผู้ก่อตั้งสภาที่ 3 และประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 กล่าวว่า ขอให้นายกฯ แสดงภาวะการนำด้วยตัวเอง อย่าเป็นรัฐบาลเปลือกหอยมีคนคอยครอบงำบงการ ทำให้ประชาชนเริ่มมั่นใจรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร จะเป็นรัฐบาลแห่งความคาดหวัง รัฐบาลต้องหยุดปล้นเงินจากกระเป๋าประชาชน ด้วยการลดราคาพลังงาน ปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลง ส่วนโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้แจกเป็นเงินสดเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทบทวนการให้ต่างชาติเช่าซื้อที่ดินถึง 99 ปี  ส่วนนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์และกาสิโนหรือบ่อนการพนันถูกกฎหมาย ไม่เหมาะกับสังคมไทย ได้ไม่คุ้มเสีย และเร่งการนิรโทษกรรมคดีทางเมือง ผลักดันการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง รัฐบาลใหม่ ครม.ใหม่ ในความเห็นประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ  2,078 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายน 2567 เมื่อถามความเห็นต่อรัฐบาลใหม่คณะรัฐมนตรีใหม่ของ น.ส.แพทองธาร แบ่งออกตามกลุ่มคนเคยเลือกพรรคการเมือง พบว่า กลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 18.8 ไม่เห็นด้วย และเมื่อวิเคราะห์ความเห็นของกลุ่มคนเคยเลือกพรรคอื่นพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.6 ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 24.4 เห็นด้วย          

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.0 ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมากที่สุดว่ารัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ครบเทอม ในขณะที่ร้อยละ 38.0 ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดกำหนดการ นายกฯ ลงพื้นที่ เชียงราย-เชียงใหม่ ติดตามฟื้นฟูสถานการณ์อุทกภัย

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลังเกิดเหตุอุทกภัย จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่