‘ธรรมนัส’ชี้นิ้วสั่งรัฐมนตรีกษ.

อึ้ง! "ธรรมนัส" นั่งหัวโต๊ะตรวจสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยา สั่ง 3 รมต.เกษตรฯ เกาะติดน้ำท่วม "นฤมล" การันตีกรมชลฯ เอาอยู่มีแผนรองรับ พายุ "ยางิ" อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชันแล้ว เตือนฝนยังถล่มเหนือ-อีสาน

เมื่อวันที่ 8 กันยายน เวลา 11.42 น. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอิทธิ ศิริลัทธยากร นายอัครา พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรฯ   และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร อดีต รมช.เกษตรฯ เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ เตรียมรับมือพายุยางิ โดยรัฐมนตรีและคณะได้เข้ารับฟังรายงานสรุปสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จากนายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 12

โดย ร.อ.ธรรมนัสได้นั่งหัวโต๊ะสอบถามสถานการณ์น้ำ หลังฟังบรรยายสรุป ร.อ.ธรรมนัสได้พูดฝากเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้รัฐมนตรีทั้ง 3 คนเฝ้าติดตาม เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ยังบอกว่าในวันนี้น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่ตนจะมานั่งหัวโต๊ะ ต่อไปต้องให้รัฐมนตรีทั้ง 3 คนลุยกันเอง ตนจะแค่คอยเป็นพี่เลี้ยง

จากนั้นนางนฤมลและคณะได้ไปดูสถานการณ์น้ำที่ประตูระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งยังคงระบายน้ำในอัตรา 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ติดต่อเป็นวันที่ 5 ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 12.82 เมตร (รทก.) ส่วนน้ำเหนือเขื่อนที่ อ.เมืองชัยนาท ลดลง 20 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16.28 เมตร (รทก.) โดยจากนี้ต้องเฝ้าระวังฝนจากพายุยางิ หากส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ เพิ่มขึ้น เขื่อนเจ้าพระยาจึงจะปรับระบายน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับ 

นางนฤมลให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากการประชุม ครม.นัดพิเศษ นายกรัฐมนตรีได้ให้ที่ประชุมช่วยกันพิจารณาคำแถลงนโยบาย ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 ก.ย. จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ประกอบสถานการณ์น้ำปัจจุบันที่หลายฝ่ายให้ความกังวล จากน้ำเหนือที่มีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ รวมทั้งพายุยางิที่กำลังจะเข้ามา จึงลงมาดูสถานการณ์ที่เขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรับฟังสถานการณ์จากผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท และ ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 12 ให้ความมั่นใจได้ว่าสามารถรับสถานการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้นจากพายุยางิได้

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะชี้แจงมาตรการที่จะรองรับน้ำที่จะมาเพิ่มเติมว่าจะมีแผนในการระบายน้ำอย่างไร ส่วนพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร จะอยู่ในแผนคำชี้แจงของกรมชลประทาน เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เตรียมเครื่องมือและแผนระบายน้ำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ว่าจะต้องเตรียมการรองรับอย่างไร  เพื่อให้เกิดความมั่นใจ จะได้ไม่เกิดความกังวล   

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังจะใช้นโยบายการบริหารงานเดิมที่ ร.อ.ธรรมนัสเคยทำไว้หรือไม่ นางนฤมลกล่าวว่า ให้รอฟังคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีต่อสภาก่อน แล้วทางกระทรวงเกษตรฯ ถึงจะมอบนโยบายให้กับข้าราชการต่อไป 

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งถือเป็นกระทรวงปราบเซียน  นางนฤมลกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่อยากไปพูดถึงความกังวลในประเด็นการบริหารงานราชการแผ่นดิน เพราะว่าค่อนข้างมั่นใจว่าข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ มีศักยภาพ และทุกคนตระหนักว่าเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญในการดูแลเกษตรกรและประชาชนในระดับรากหญ้า เพราะเป็นกระทรวงที่ทำหลายๆ โครงการตามพระราชดำริ ซึ่งถวายงานให้กับพระองค์ท่านอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นจะไม่ได้คิดว่ากระทรวงนี้เป็นกระทรวงปราบเซียนหรืออย่างไร  แต่เป็นกระทรวงที่รับใช้พี่น้องประชาชนและถวายงานให้พระองค์ท่าน

วันเดียวกัน ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่อง พายุ “ยางิ” ฉบับที่ 21 โดยมีใจความว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 ก.ย.67 พายุโซนร้อน “ยางิ” บริเวณเมืองพูเทอ ประเทศเวียดนาม ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และเมื่อเวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 21.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อยอย่างช้าๆ  คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศกำลังแรงในระยะต่อไป ลักษณะเช่นนี้ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานคาดการณ์และแจ้งเตือนภัยประจำวันว่า พื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงใน 2 ภาคคือ ภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร จึงขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมถึงให้ระวังอันตรายจากฟ้าผ่า

ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำโขงว่า หลังจากไม่มีน้ำเหนือไหลลงมาสมทบ ทำให้ปริมาณน้ำลดระดับลงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 9.20 เมตร ห่างจากจุดวิกฤตประมาณ 3 เมตร ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนที่อยู่ติดแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับผลกระทบจากพายุยางิ ท้องฟ้าสดใสปลอดโปร่ง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือ 24 ชั่วโมง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิ๊งค์หวังอยู่ครบเทอม ถกกุนซือฝันคนไทยหายจน หึ่ง!สันติ-วราเทพทิ้งพปชร.

เปิดคิวงาน "นายกฯ อิ๊งค์"   ประเดิมบินต่างแดน โชว์วิชั่นเวทีสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 3 กรุงโดฮา รัฐกาตาร์   2-4 ต.ค.