เตรียมรับมือ ‘ยางิ’ 9-12 ก.ย. ฝนถล่ม

กรมอุตุฯ เผยไทยได้รับผลกระทบจาก "ยางิ" ฝนตกหนักช่วงวันที่ 9-12 ก.ย. ขณะที่กรมชลฯ แจ้งเตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา  ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี  ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายบริหาร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากการติดตามคาดว่าพายุไต้ฝุ่น “ยางิ (NAGI)” จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกว๋างนิญ ประเทศเวียดนาม วันที่ 7 ก.ย.67  หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน  และพายุดีเปรสชัน ตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย.67 และถึงแม้พายุยางิจะอ่อนกำลังลง แต่ประเทศไทยยังจะได้รับผลกระทบฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงวันที่ 9-12 ก.ย.67 เนื่องจากร่องมรสุมยังอยู่

ทั้งนี้ ในส่วนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 ก.ย.67 นี้ไว้ด้วย  จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรม

ด้านนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประธาน ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 7 แจ้งเตือน 11 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานครฯ

จากการคาดการณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำฝน พบพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก จึงต้องเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" แม้กรณีพายุไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่อาจมีอิทธิพลที่จะส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในวันนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านตอนกลางของประเทศในอีก 1-7 วันข้างหน้า โดยวันที่ 12 ก.ย. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,500-1,600 ลบ.ม./วินาที

และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขามีปริมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 1,900 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับทางกรมชลประทานได้มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที ทางกรมชลประทานมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราระหว่าง 1,500-1,700 ลบ.ม./วินาที ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20-50 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกันน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และในแม่น้ำน้อย ที่ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,700 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

สำหรับปัจจุบัน (เวลา 11.00 น. วันที่ 7 ก.ย.) สถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,481 ลบ.ม./วินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.44 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 12.82 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 3.52 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

และจากสถานการณ์ดังกล่าว ทางกรมชลประทานได้ดำเนินการภายใต้เกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา โดนประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อนุญาตให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แบบขั้นบันได คาด 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำจะเอ่อล้นเข้าท่วม

อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ กรมชลประทานได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมไปถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย  ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 11 เตือนหนาวจัดลมแรง ทะเลคลื่นสูง 4 เมตร

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องอากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยรวมทั้งทะเลอันดามัน

อุตุฯ เตือนอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิลดลงอีก ใต้ฝนฟ้าคะนอง 10-20%

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลง กับมีลมแรง สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด