‘เหนือ-อีสาน’เตือนรับมือพายุยางิ

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือน "ไต้ฝุ่นยางิ" จะทำให้ภาคเหนือและอีสานตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากช่วง 7-8 ก.ย. ขณะที่กรมชลประทานเตรียมเพิ่มระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จาก 1,500 เป็น 1,700 ลบ.ม./วินาที แจ้งเตือน 11   จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำสูงขึ้นจากเดิมอีก 50 เซนติเมตร

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  เผยแพร่ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุ "ยางิ"  ฉบับที่ 12 (171/2567) ความว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (6 กันยายน 2567) พายุไต้ฝุ่น "ยางิ"  บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางทางด้านทิศตะวันออกของเกาะไหหลำ ประมาณ 160 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 19.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 7 กันยายน 2567 หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และลมกระโชกแรงบางแห่ง ในช่วงวันที่ 7-8 กันยายน 2567

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย  ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 8 กันยายน 2567 นี้ไว้ด้วย

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เผยว่า แม้ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็กยังอยู่ในระดับปรกติ แต่ก็ได้กำชับย้ำให้เจ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวัง โดยเฉพาะเขื่อนที่มีการบรรจุเกิน 100% จำเป็นจะต้องมีการพร่องน้ำเพื่อรองรับกับพายุ 'ยางิ' ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาที่อาจจะทำให้มีฝนตกหนักและมีปริมาณน้ำเพิ่มเข้าเขื่อนมากขึ้น แต่ต้องไม่ให้เป็นผลกระทบกับประชาชนด้วย

ด้านนายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ผู้อำนวยการจังหวัด กล่าวว่า ตามหนังสือกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ด่วนที่สุด ที่ กจ (กอปภ.จ.) 0021/ว303 ลงวันที่ 2 กันยายน 2567 แจ้งถึงหัวหน้าส่วนราชการ, ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี, ผู้อำนวยการอำเภอ ทุกอำเภอ, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และผู้อำนวยการท้องถิ่นทุกแห่ง ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 3-9 กันยายน 2567 นั้น

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท (กปภก) 0610/ว139 ลงวันที่ 4 กันยายน 2567 แจ้งเน้นย้ำให้พื้นที่เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 6 (165/2567) ลงวันที่ 4 กันยายน 2567 เวลา 23.00 น. แจ้งว่า พายุไต้ฝุ่น "ยางิ" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าในช่วงวันที่ 6-7 กันยายน 2567 จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน และจะขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ประกอบกับร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมาก และลมกระโชกแรงบางพื้นที่

โดยจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2567 จำนวน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสังขละบุรี, อำเภอทองผาภูมิ, อำเภอไทรโยค และอำเภอศรีสวัสดิ์

ดังนั้น เพื่อเป็นการเน้นย้ำเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินถล่ม ตามหนังสือกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ด่วนที่สุด ที่ กจ (กอปภ.จ.) 0021/ว 295 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และสามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1784 หรือแจ้งผ่านไลน์ ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784 โดยดำเนินการเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDDPM ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนภาครัฐให้รายงานการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ทราบทันทีที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-3451-5998 โทรสาร 0-3451-6795 เพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 7/2567 ลงวันที่ 6 กันยายน 2567 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังระดับน้ำสูงขึ้น และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากกรมชลประทานคาดการณ์ว่า ใน 1-7 วันข้างหน้า ในวันที่ 12 กันยายน 2567 จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ ประมาณ 1,500-1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา จะมีประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณ 1,900 ลูกบาศก์เมตรวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,500-1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง,  คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 20-50 เซนติเมตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง