ถกงบ68กร่อย สกัดดูงานนอก ขอเงินซํ้าซ้อน

ถกงบ 68 วันที่สองจืด! “ปชน.” ปิดช่องงบดูงานต่างประเทศสร้างเขื่อนใหญ่ก๊วนเกษตรฯ ชี้ปูทางรัฐบาลผุดแก่งเสือเต้น “เด็กเพื่อไทย” โวยลั่นกลายเป็นผู้ประสบภัย ขอเงินสร้างประตูน้ำป้องกันเมืองสุโขทัยจมบาดาล ขณะที่ “ปกรณ์วุฒิ” ขยี้ดีอีผลาญหนักสร้างระบบเซลล์บรอดแคสต์ซ้ำซ้อนระบบเตือนภัย ปภ. “จุลพันธ์”  สยบข่าวยุบบ้านกาญจนาฯ แจงยิบสถานะ “ทิชา” ยังอยู่ในขั้นตอนประเมิน

เมื่อวันพุธ เวลา 09.55 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระที่ 2 เป็นวันที่ 2 มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งการพิจารณาเข้าสู่มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 5.6 หมื่นบาท

โดยนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายการจัดสรรงบประมาณเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ 7.6 ล้านบาท เพื่อเรียนรู้ดูงานการสร้างเขื่อน การพัฒนาคุณภาพน้ำ และตะกอน แม้จะเป็นงบที่ไม่มาก แต่มีนัยสำคัญต่อทิศทางของรัฐบาลที่ยังต้องการสร้างเขื่อน ไม่กี่วันที่ผ่านมาผู้นำรัฐบาลพูดถึงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนแม้จะมีประโยชน์ แต่เป็นการบริหารจัดการที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้จริงหรือไม่

 “งบศึกษาดูงานต่างประเทศจึงเป็นเหมือนสารตั้งต้นในการพยายามหาทางสร้างเขื่อนหรือไม่ แม้ว่าการบริหารจัดการน้ำจะมีความจำเป็น  แต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ใช่ทางออก ประเทศที่พัฒนาแล้วเลิกสร้างเขื่อนมานานแล้ว  เขื่อนที่มีอยู่ก็ทยอยทุบทำลายเพื่อให้น้ำไหลอย่างอิสระ ผมจึงเสนอให้ตัดงบส่วนนี้ออก” นายเลาฟั้ง

จากนั้นเวลา 11.10 น. นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า  วันนี้อดพูดไม่ได้ เพราะตนเองเป็นผู้ประสบภัยของจังหวัดสุโขทัย สุโขทัยระทม พูดมาเป็นร้อยครั้งพันครั้ง สมัยหลายรัฐบาลที่ผ่านมาเราไม่มีเขื่อน เขื่อนแก่งเสือเต้น ผู้หลักผู้ใหญ่ไปดูเมื่อ 2 วันนี้ แค่พูดแก่งเสือเต้น พี่น้องในแก่งเสือเต้นก็มีความเดือดร้อนทันที การจะโยกย้ายพี่น้องลงมานั้นต้องมีการบริหารจัดการให้ดี พาเขาไปดูที่ทางที่จะย้ายมาทำมาหากินได้หรือไม่ มีส่วนให้จะใช้ลุ่มน้ำยมที่เขาเสียสละ เขาจะทำมาหากินได้หรือไม่ ถ้าเขามีความพอใจก็จะลงมา ไม่ใช่ปล่อยให้เขาไปอยู่เมืองแพะมั่ง เมืองผีมั่ง ทำมาหากินไม่ได้ เราไม่มีประตูน้ำเพียงพอ

 “น้ำที่มาจากจังหวัดน่าน พะเยา อุตรดิตถ์ แพร่ มีมหาศาล 1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที มาที่สุโขทัยประตูเดียว ตูมเดียวถึงเลย ไม่มีประตูน้ำเอาไว้หน่วง เอาไว้ดึง เอาไว้ปล่อย แล้วบริหารจัดการเป็นแบบขั้นบันได เราถึงบอกว่าเราต้องการประตูน้ำ มา 1,200 ลบ.ม.ก็แย่แล้ว ปีนี้มา 1,700 ลบ.ม. สิ่งที่ท่านเห็นมันล้นตลิ่ง เรามีกระสอบทรายกับเม็ดทรายสู้กับเขา พนังกั้นน้ำเราก็ไม่มี ผมถึงกราบเรียนท่านประธานที่เคารพว่าต้องให้งบกรมชลประทาน ซึ่งเป็นกรมสำคัญ เราถือว่าไม่เยอะ แต่งบที่ผูกพันโครงการระยะยาว ต้องวางแผนดีๆ โดยเฉพาะการสร้างประตูน้ำ 4 ตัวที่ผมเคยพูดมาตลอด” นายจักรวาลระบุ

นายจักรวาลระบุว่า สุโขทัยมีประตูเดียวท่านดูขยะเยอะขนาดไหน มันเดือดร้อนขนาดไหน 3-4 ปีแล้วก็สภาพนี้ ประตูน้ำตอนนี้เราออกแบบเรียบร้อย แค่ลงไปเจาะธรณีรออีกแค่ 2 ปี ท่านธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงไปส่วนตัว บินไปทางการ อนุมัติให้ออกแบบเร่งด่วน วันนี้แค่เจาะประตูน้ำ

ฟาดดีอีผลาญงบฯ

ต่อมาเวลา 13.00 น. เป็นการพิจารณามาตรา 16 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า แม้ตนจะเคยอภิปรายไว้ในวาระ 1 แล้วว่างบประมาณในส่วนของโครงการแจ้งเตือนฉุกเฉินแห่งชาติ หรือเซลล์บรอดแคสต์ ซ้ำซ้อนกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย และทางสำนักปลัดกระทรวงดีอีก็แจ้งต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สภาผู้แทนราษฎร ว่าขอปรับลดงบประมาณลงด้วยตัวเองเหลือ 92.57 ล้านบาท ลดลงกว่า 73 เปอร์เซ็นต์

 “รายการที่ผมสงสัยที่สุดที่มีการตั้งงบประมาณ 45 ล้านบาท คือค่าเช่าทรัพย์สิน คำถามคือค่าเช่าทรัพย์สินอะไร ทำไมจึงมีการตั้งงบไว้สูงเช่นนี้ และสิ่งที่อยากได้คำตอบคือค่าเช่าระบบคลาวด์จำนวน 21.5 ล้านบาทนั้น เป็นค่าเช่ารายปี รายสองปี หรือเท่าไหร่ เช่นเดียวกับค่าเช่าทรัพย์สินที่มีการตั้งงบประมาณไว้ถึง 45 ล้านบาท เราจำเป็นต้องใช้งบประมาณจ่ายค่าเช่าเหล่านี้เป็นภาระงบประมาณเรื่อยๆ ใช่หรือไม่ ที่ผมต้องถามคำถามเยอะเช่นนี้ เพราะเอกสารที่ทางหน่วยงานส่งมาให้ กมธ.มีแค่นิดเดียว ซึ่งกว่าที่หน่วยงานจะส่งเอกสารมาเพิ่มให้ กมธ.ก็พิจารณาเสร็จแล้ว และผมก็ถามอนุ กมธ.แล้วว่าได้พิจารณาโครงการต่างๆ ที่มีการเหลืองบประมาณไว้ 92 ล้านบาทอย่างไรบ้าง” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

นายปกรณ์วุฒิกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการตั้งงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายประชาสัมพันธ์ 10 ล้าน ขณะที่งบประมาณของกรมควบคุมมลพิษที่ตั้งงบประมาณในการสื่อสารและสร้างการรับรู้เรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไว้แค่ 1.44 ล้านบาทเท่านั้น ตนจึงไม่เข้าใจว่าทำไมโครงการนี้จึงมีการตั้งงบประมาณไว้สูงเช่นนี้ และหากระบบเซลล์บรอดแคสต์ทำเสร็จแล้ว โทรศัพท์มือถือที่ประชาชนมีอยู่จะได้รับการแจ้งเตือนอัตโนมัติ แต่เราต้องประชาสัมพันธ์ว่าหากได้รับข้อมูลเช่นนี้ เชื่อใจได้ว่ามาจากรัฐบาลโดยตรงแน่นอน แต่ก็ยังสงสัยอยู่ว่าเราจำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 10 ล้านจริงหรือ ซึ่งโครงการที่สำคัญเช่นนี้ตนเองคิดว่าใช้กรมประชาสัมพันธ์ที่มีฟังก์ชันที่ตรงตามภารกิจน่าจะได้ประสิทธิภาพดีกว่า

 “สิ่งที่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ต้องชี้แจงคือตกลงแล้วระบบเตือนภัยที่ ปภ.ตั้งงบประมาณมานั้น ไม่สมบูรณ์ ไม่รอบคอบ และไม่พร้อมกับการจัดทำระบบเซลล์บรอดแคสต์ จนต้องมาตั้งงบเพิ่มเฉพาะปีนี้ถึง 90 ล้านบาท และเราต้องจ่ายค่าเช่าไปทุกปีหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วอาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งงบในกระทรวงดีอีเลย เพียงแค่หน่วยงานไม่กล้ายอมรับว่างบที่ตั้งมามีความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น จึงต้องเหลืองบประมาณบางส่วนไว้ โดยให้เป็นภาระกับงบประมาณในระยะยาวเท่านั้น หาก กมธ.เสียงข้างมากไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนว่างบประมาณที่คงไว้ 92 ล้านบาทนั้น จำเป็นอย่างไร ผมจึงยืนยันที่จะให้ลงมติตัดงบประมาณในส่วนนี้ทั้งหมด” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

ไม่ยุบบ้านกาญจนาฯ

ต่อมาเวลา 18.18 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ลุกขึ้นชี้แจงภาพรวมมาตรา 21 กระทรวงยุติธรรม ว่างบประมาณก้อนนี้รวม 12 หน่วยงาน ซึ่งเป็นงบประมาณเฉพาะแผนงานพื้นฐานและยุทธศาสตร์ ประมาณ 15,500 ล้านบาท ที่มีภารกิจเป็นหน่วยหลักในการอำนวยความยุติธรรม และมีข้อเสนอในการปรับลดอย่างหลากหลาย ซึ่งเข้าใจว่าคงอยากจะให้การทำงานของกระทรวงยุติธรรมกระชับและเกิดประโยชน์สูงขึ้น

นายจุลพันธ์กล่าวถึงการเสนอปรับลด 10% หรือ 6,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมาจากการนำสองมาตรามาบวกกัน คือส่วนกองทุนยุติธรรม ที่อยู่ในมาตรา 39 มาบวกกับกระทรวงยุติธรรมที่อยู่ในมาตรา 21 ซึ่งเป็นคนละมาตรา ไม่สามารถนำพิจารณารวมกันได้

ส่วนการอภิปรายเรื่องกองทุนยุติธรรม ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่ามีความเปิดกว้าง และให้โอกาสในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างครอบคลุมแล้วหรือไม่ และมีการตั้งงบประมาณอย่างไรนั้น แม้จะอภิปรายผิดจุด แต่ตนขอชี้แจงเพื่อให้ไม่ถูกหยิบยกมาในมาตราที่ 39 อีก ว่างบประมาณ 160 ล้านบาท ส่วนนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ 1.การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี 2.การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย 3.การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 4.การให้ความรู้ทางด้านกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนาฯ นั้น นายจุลพันธ์ชี้แจงด้วยว่า ไม่มีการสอบถามในรายละเอียดเหตุการณ์นี้ในชั้นของกรรมาธิการ เนื่องจากการพิจารณาผ่านพ้นไปก่อนที่จะมีข่าวปรากฏขึ้นตามสื่อ แต่ก็มีการสอบถามเพิ่มเติม และได้รับคำตอบว่าเหตุการณ์ของทิชา ณ นคร ซึ่งเป็นผู้ดูแลบ้านกาญจนาฯ อยู่ในฐานะการเป็นพนักงานราชการ ซึ่งมีการตั้งงบประมาณไว้ 533 ล้านบาท โดยทางกรรมาธิการไม่มีการปรับลดงบประมาณส่วนนี้แต่อย่างใด เรื่องนี้เป็นเรื่องกรอบความเป็นพนักงานราชการ ซึ่งต้องมีการทบทวนโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ทุก 4 ปี

 “นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะท่านทำงานมาอย่างยาวนาน ได้รับการทบทวนมาแล้ว 6 ครั้ง วันนี้จึงถึงรอบของมัน ซึ่งกลไกในปัจจุบันนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการทบทวน และเชื่อมั่นว่าภายหลังจากการทบทวนแล้ว จะผ่านการประเมิน และหากผ่านการประเมินแล้ว กระทรวงยุติธรรมก็มีหน้าที่บรรจุกลับเข้าไปอยู่ในฐานะเดิมต่อไป และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการยุบบ้านกาญจนาฯ” นายจุลพันธ์ระบุ

จากนั้น เวลา 18.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธาน ได้ขอมติจากที่ประชุมเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 427 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นชอบ งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 8 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 436 เสียง

ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 295 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 441 เสียง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'จุลพันธ์' ยันไม่ยุบบ้านกาญจนาภิเษก 'ทิชา' ยังอยู่ในขั้นตอนประเมินตามวงรอบปกติ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ลุกขึ้นชี้แจงภาพรวมมาตรา 21 กระทรวงยุติธรรม ว่า งบประมาณก้อนนี้รวม 12 หน่วยงาน

'ปกรณ์วุฒิ' ข้องใจ 'ดีอี' จัดงบซ้ำซ้อน ปภ. ทำระบบเตือนภัยผ่านมือถือ

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า แม้ตนจะเคยอภิปรายไว้ในวาระ 1 แล้วว่างบประมาณในส่วนของโครงการแจ้งเตือนฉุกเฉินแห่งชาติหรือเซลล์บรอดแคสต์ ซ้ำซ้อนกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ของกระทรวงมหาดไทย