ถวายสัตย์ฯ6ก.ย. โปรดเกล้าฯครม.อิ๊งค์35คน41ตำแหน่งแถลงสภา12กันยา

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ   "ครม.อิ๊งค์" 35 คน 41 ตำแหน่ง "ภูมิธรรม" รองนายกฯ ควบกลาโหม "พิชัย" รมว.พาณิชย์  "พล.อ.ณัฐพล" ช่วยกลาโหม "นายกฯ" เตรียมนำเข้าถวายสัตย์ฯ 5 โมงเย็นศุกร์นี้ สุดฟิตถก ครม.นัดพิเศษ 7 ก.ย. ตั้ง "หมอมิ้ง" นั่งเลขาฯ นายกฯ พร้อมถ่ายภาพหมู่ เคาะแถลงนโยบายต่อสภา  12-13 ก.ย. "วิป 3 ฝ่าย" นัดคุย 9 ก.ย. จัดสรรเวลาอภิปราย "เสี่ยอ้วน" ลั่นหลัง 14-15 ก.ย.ลุยงานได้เต็มที่ วอนอย่าเรียก ครม.ครอบครัว ขอทำงานพิสูจน์ "จุลพันธ์" แจง สส.กลุ่มธรรมนัสนั่งโต๊ะ พท.ในสภาไม่มีนัย "รังสิมันต์" ฟุ้งพรรคประชาชนรอจัดหนักแถลงนโยบายรัฐบาล "เรืองไกร" ร้อง กกต.เอาผิด "นายกฯ แพทองธาร" 2 ประเด็นใหญ่

 เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดังนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,  นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นางสาวจิราพร สินธุไพร เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายสรวงศ์ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นางสาวศุภมาส อิศรภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอิทธิ ศิริลัทธยากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายอัครา พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นางมนพร เจริญศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายเดชอิศม์ ขาวทอง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ครม.ใหม่ถวายสัตย์ฯ 6 ก.ย.

 มีรายงานว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ประสานแจ้งให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีชุดใหม่ เตรียมความพร้อมเข้าเฝ้าฯ  ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 6 ก.ย.67 เวลา 17.00 น. ณ ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน โดยเวลา 14.00 น. ขอให้นายกฯ และรัฐมนตรีชุดใหม่เดินทางมาพร้อมกันที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล เพื่อถ่ายรูปทำบัตรประจำตัว และเวลา 15.00 น. นายกฯ และรัฐมนตรีชุดใหม่ ขึ้นรถตู้ที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมไว้พร้อมกัน เพื่อไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน

นอกจากนี้ สลค.ได้แจ้งรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ย.67 เวลา 10.00 น. ขอให้เข้ามาตรวจ RT-PCR ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หากตรวจเอง ขอให้นำผลตรวจไปแสดงให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังในวันเข้าเฝ้าฯ

มีรายงานด้วยว่า ภายหลัง น.ส.แพทองธารนำ ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ ในวันที่ 6 ก.ย.แล้ว ได้มีการนัดประชุม ครม.ทันที ในวันเสาร์ที่ 7 ก.ย.นี้ โดยก่อนการประชุม ครม.จะมีการถ่ายภาพหมู่ ครม.ทั้งคณะ ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า

ทั้งนี้ การประชุม ครม.วันที่ 7 ก.ย.นั้น เป็นการประชุมเพื่อเห็นชอบนโยบายที่จะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ขณะที่เอกสารนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงนั้น จะต้องดำเนินการจัดส่งไปยังสภาล่วงหน้า 3 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาวันที่เหมาะสม ซึ่ง สว.ไม่ติดวาระการประชุมใดๆ คาดว่าการแถลงนโยบายรัฐบาลจะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ย.หรือ 12 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมเพื่อหารือร่วมกันระหว่างประธานรัฐสภา ตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) วุฒิสภา พรรคฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ในวันที่ 9 ก.ย.2567 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CA 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา เพื่อพิจารณาจัดสรรเวลาของแต่ละฝ่ายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยในเบื้องต้นผู้แทนวิป 3 ฝ่ายเห็นควรให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 11-12 ก.ย.

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากวันที่ 11 ก.ย. จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง  และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่รอการพิจารณา ผู้แทนวิป 3 ฝ่ายจึงเห็นว่าควรปรับกำหนดการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เป็นวันที่ 12-13 ก.ย.นี้

ที่อาคารชินวัตร 3 ก่อนที่จะมีการเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี เวลา 09.30 น. น.ส.แพทองธารเดินทางมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และได้พา ด.ช.พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ บุตรชายคนเล็กมาด้วย ทันทีที่เข้ามาถึงนายกฯ ได้โบกมือทักทายสื่อมวลชน และให้น้องธาษิณสวัสดีพร้อมโบกมือทักทายสื่อด้วยเช่นกัน

กระทั่งเวลา 11.34 น. ภายหลังมีการเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี น.ส.แพทองเดินทางออกจากอาคารชินวัตร 3 โดยคนใกล้ชิดแจ้งว่านายกฯ ออกไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัว และยังไม่ได้แจ้งว่าจะเดินทางกลับอาคารชินวัตร 3 หรือไม่

แสลงใจเรียก ครม.ครอบครัว

มีรายงานว่า ในวันที่ 7 ก.ย.67 เวลา 10.00 น. น.ส.แพทองธารจะนำประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยในที่ประชุมจะมีการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีรายงานข่าวว่าที่ประชุมจะเห็นชอบแต่งตั้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกฯ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเสียงวิจารณ์เป็น ครม.ครอบครัว ว่าไม่อยากให้เอาคำว่าครอบครัวมาเกี่ยวข้อง เพราะวันนี้วัดคนที่ความสามารถเข้ามาทำงาน ใครมีความสามารถ จะคนในครอบครัว หรือคนคิดเห็นไม่เหมือนกัน หากมีศักยภาพก็เอาเข้ามาทำงาน

นายภูมิธรรมกล่าวถึง ครม.ใหม่ว่า หลังวันที่ 14-15 ก.ย.เป็นต้นไป ทุกคนจะสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ มีอำนาจเต็มตามกฎหมายครบถ้วน ซึ่งเป็นไปตามไทม์ไลน์

ถามว่า หนักใจหรือไม่ที่ต้องมาดูหน่วยงานด้านความมั่นคง และอาจจะต้องกำกับดูแลตำรวจด้วย นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ได้รับมอบหมายชัดเจนจากนายกฯ แต่ถือว่าเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานกับกระทรวงกลาโหม ไม่น่าจะมีอะไรหนักใจ เพราะพวกเราเริ่มจากผลประโยชน์ของประเทศชาติ เชื่อว่าจะสามารถร่วมงานกับทุกส่วนทุกเหล่าทัพได้ดีไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ซักว่ามีการขุดภาพคนเดือนตุลาเรื่องสหายใหญ่ขึ้นมาต่อต้าน นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นเรื่อง 50 ปีแล้ว จำอะไรไม่ค่อยได้ แต่อยากจะเรียนว่ามันไม่มีอะไร ที่ผ่านมาเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นจะต้องไปรื้อฟื้นเรื่องในอดีต และตนคิดว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และผู้ใหญ่หลายท่านได้ตัดสินใจยุติความขัดแย้ง และทำทุกอย่างให้คลี่คลาย ก็เป็นไปด้วยดี

"วันนี้ผมคิดว่าไม่ควรไปนั่งสืบสาวประวัติ โดยเฉพาะ 50 ปีที่แล้ว มันยาวไป ควรเริ่มต้นจากความจริงวันนี้ และมองไปข้างหน้า ช่วยกันทำงานให้กับประเทศดีกว่า" นายภูมิธรรมกล่าว

 เมื่อถามว่า มี รมช.กลาโหมถือเป็นการมาเสริมในการทำงานหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า การมี รมช.กลาโหมต้องดีอยู่แล้ว เป็นการช่วยกันทำงาน และยิ่ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหมเป็นทหาร ยิ่งทำให้เข้าใจในธรรมชาติและสิ่งที่เป็นอยู่ของทหารได้มากยิ่งขึ้น ตนจะได้ประโยชน์และประสบการณ์ตรงนี้มาช่วยในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ถามถึงภาพ สส.ปลอบนายสุทิน คลังแสง อดีต รมว.กลาโหม ที่หลุดจากตำแหน่ง นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่นอยด์หรอก เพราะเราเป็นนักการเมือง ต้องรู้ว่าเราทำไปตามหน้าที่ และเรายังเป็นเพื่อนพี่น้องกันอยู่ ช่วยกันได้ และยิ่งท่านมีประสบการณ์ก็เข้ามาช่วยตนได้ภายใต้กรอบกฎหมายที่ทำได้

นายภูมิธรรมกล่าวถึงการประชุม ครม.นัดพิเศษนัดแรกว่า ก็จะนำนโยบายที่ต้องแถลงต่อรัฐสภามาหารือในที่ประชุมด้วย ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และจะได้นำส่งสภาต่อไป ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็ทำงานร่วมกันมาตลอด ใครคิดอะไรก็พูดและเสนอกันมาแล้ว ซึ่งแต่ละพรรคก็ต้องเอานโยบายมาพูดคุยกัน ถ้าเหมือนกันก็ไปด้วยกันก็ส่งไป แต่ถ้าไม่เหมือนกันหรือเห็นต่างกันก็หาจุดเหมาะสมที่เป็นนโยบายกลางของรัฐบาล ซึ่งจริงๆ ก็จะพูดนโยบายหลักๆ ที่สำคัญๆ โดยพูดเรื่องหลักการ ไม่มีบอกรายละเอียดว่าจะจัดการเรื่องนั้นอย่างนี้ แต่เป็นเรื่องกรอบใหญ่ เช่น นโยบายที่จะแก้ปัญหาความยากจนให้ประชาชน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พูดคุยกันมาต่อเนื่องอยู่แล้ว

 “เขาคุยกันมาบ้างแล้ว ที่บอกว่าเขาจะเสนออะไรกัน จริงๆ เกือบไม่ต้องทำอะไรใหม่ ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลใหม่ แต่ว่ากรอบใหญ่มันก็เหมือนเดิม แต่อาจมีอะไรที่ต้องปรับบ้าง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องมาดูก็ต้องมาคุยกันก็เท่านั้นเอง เพื่อหาจุดร่วมกัน" นายภูมิธรรมกล่าว

กลุ่มผู้กองนั่งฝั่ง พท.ไม่มีนัย

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วาระที่ 2 หลังมีการเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี สส.ฝั่งรัฐบาลต่างพากันแสดงความยินดีกับรัฐมนตรีหน้าใหม่ อาทิ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข

ส่วน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.สาธารณสุข เข้ามาคุยกับนายสุทิน อดีต รมว.กลาโหม และได้หันมาทักทายสื่อมวลชน ชูสองนิ้วและทำมือเป็นสัญลักษณ์ "รัก" นอกจากนี้ น.ส.ธีรรัตน์ได้เดินไปฝากเนื้อฝากตัวกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย บริเวณที่นั่งพรรคภูมิใจไทย และมีการถ่ายรูปร่วมกัน จากนั้นได้นั่งพูดคุยกันสักครู่หนึ่ง          

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ และก๊วน สส.พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มผู้กองธรรมนัส ก็ยังคงปักหลักนั่งอยู่ที่ฝั่ง สส.พรรคเพื่อไทย ช่วงหนึ่งร.อ.ธรรมนัสได้ไปพูดคุยกับนายอนุทินและกลุ่ม สส.พรรคภูมิใจไทยและเพื่อไทย

ด้านนายจุลพันธ์ แจงกรณี ร.อ.ธรรมนัสนำ สส.กลุ่มของตนเองพรรคพลังประชารัฐมานั่งโซนที่นั่งของพรรคเพื่อไทยในห้องประชุมสภาว่า  จริงๆ ในสภาไม่เคยมีการห้ามว่าใครต้องนั่งตรงไหน จะโดดไปนั่งทางซ้ายหรือทางขวา หรือนั่งพูดคุยกันก็เป็นเรื่องปกติ แม้จะมีป้ายชื่อพรรคอยู่ แต่ในทางปฏิบัติก็เดินไปพูดคุยเป็นเรื่องปกติ ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสก็เดินมาทักทาย

ถามย้ำว่า เป็นสัญญาณอะไรหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่คิดมากไปครับ ส่วนได้พูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัสหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า แค่ทักทายและสวัสดีเฉยๆ

ส่วนนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่า ตอนนี้พรรค ปชป.ผลัดใบแล้ว ถ้าเป็นนายอภิสิทธิ์กลับมาตนก็เห็นว่าคงจะเป็นศัตรูกัน แต่ตอนนี้หัวหน้าพรรคก็เป็นคนที่ผลัดใบ

ถามว่า ยอมรับได้หรือไม่ที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ มานั่งเป็น รมว.อุตสาหกรรม นายอดิศรกล่าวว่า ความจริงก็ยังมีเรื่องที่หมองใจกันอยู่ แต่รัฐธรรมนูญบังคับให้เราต้องจับมือกัน นายเอกนัฏก็เป็นลูกของเพื่อนตน ตอนที่คบกันก็นิสัยดี ส่วนเรื่องการเมืองก็เป็นไปตามกฎหมาย รัฐบาลผสมรอบนี้ก็คิดว่าอยู่ได้อีก 3 ปี ถ้าทำงานต่อไปได้ เขาก็เลือกกลับมาใหม่

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ว่ายินดีรับฟังทุกความเห็น เราเป็นนักการเมืองก็ต้องรับฟัง ซึ่งตนก็ต้องพิสูจน์ตัวเองในการทํางานด้วย และยืนยันว่ายังยึดมั่นในอุดมการณ์ทุกอย่างที่ได้ประกาศไว้

ขิงลั่นไร้ปัญหาร่วมงาน 'อิ๊งค์'

"ตอนนี้เป็นเรื่องของบ้านเมือง ผลงานกับกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งผมเข้าใจว่าหลายคนที่มีจุดยืนทางการเมืองก็มีวิธีต่างกัน แต่สำหรับผมและพรรครวมไทยสร้างชาติก็ต้องเลือกทางออกที่เชื่อว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด บางทีก็เป็นทางออกเดียว และเรายืนยันจุดนี้มาตลอดเวลาในการปกป้องสถาบันหลักของประเทศ" นายเอกนัฏกล่าว

ถามว่า สามารถทำงานร่วมกับ น.ส.แพทองธารได้อย่างสนิทใจใช่หรือไม่ นายเอกนัฏยิ้มและกล่าวว่า เราก็ต้องทํางาน ถ้าคิดถึงบ้านเมืองเป็นหลักก็สามารถทำงานร่วมกันได้ เราไม่ได้ลืม เราไม่ได้ลบ แต่เราเลือก จากนี้ไปจะเดินหน้าทำงานให้ประชาชนไปสู่อนาคต

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวถึงการเปลี่ยนตัว รมว.อุตสาหกรรม จาก น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นนายเอกนัฏว่า ปรับรัฐมนตรีไม่มีปัญหา รวมไทยสร้างชาติจัดอะไรไม่มีปัญหา เท่าเทียมเสมอภาค

ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต รมช.มหาดไทย ส่ง น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ บุตรสาว มาดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทยแทนว่า ช่วงนี้ผู้คนให้ความสนใจในเรื่องของจริยธรรม และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของอดีตนายกฯ เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นข้อครหา คลายความสงสัยความกังวลต่างๆ นายชาดาจึงขอถอนตัวจากการได้รับการเสนอชื่อ

"ในระบบการเมืองแบบนี้เราก็ต้องให้สิทธิ์กับนายชาดาเสนอชื่อบุคคลที่คิดว่าจะมาดำรงตำแหน่ง รมต.ได้ และผมในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ได้มีการตรวจสอบคนที่นายชาดาเสนอมานั้น มีประสบการณ์ มีความรู้ มีการศึกษา มีทัศนคติที่ดีในการรับใช้บ้านเมืองอย่างไรบ้าง ถ้าตรงคุณสมบัติเบื้องต้นเหล่านี้ก็ยินดีที่จะเสนอชื่อให้บุคคลนั้นได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในส่วนที่ขาดหายไป" นายอนุุทินกล่าว

ส่วนนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีถูกมองประเด็นจริยธรรมว่า ขอชี้แจงไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรใดๆ เลย แต่ที่ถูกมองตรงนี้เพราะเชื่อว่ามีขบวนการอยู่ข้างหลัง จ้องมาที่ตนและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ปชป.เป็นพิเศษ

วันเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึง ครม.ชุดใหม่ว่า ครม.ชุดใหม่คงเป็นไปในลักษณะของโควตาครอบครัว ที่จะเห็นว่าพอลูกเป็นไม่ได้ก็เอาพ่อมาเป็น เอาน้องมาเป็น เอาเพื่อนมาเป็น ซึ่งบางทีต้องยอมรับว่าเวลาเราพูดถึงการเมือง เราก็อยากจะได้คนที่มีความสามารถตรงกับเรื่องนั้นจริงๆ แต่เมื่อเจอกับทั้งเรื่องจริยธรรม เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งเป็นการตีความอย่างกว้างของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีของอดีตนายกฯ เศรษฐาจึงทำให้สุดท้ายกลายเป็นเก้าอี้ดนตรีที่หมุนเวียนกันไป

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ไม่มั่นใจว่าคนที่มานั่งเป็นรัฐมนตรีจะเป็นตัวจริงหรือไม่ หรือจะต้องเป็นมีคนอยู่เบื้องหลัง และคนที่มาเป็นรัฐมนตรี ก็อาจจะไม่ใช่ตัวแสดงจริงๆ ซึ่งจะทำให้การทำงานบริหารราชการแผ่นดินในอนาคตมีปัญหาต่อไปได้ รวมถึงทำให้การตรวจสอบของฝ่ายค้านทำได้ยากยิ่งขึ้น

"สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นผ่าน ครม.ชุดนี้ จะกลายเป็นว่าตัวจริงอยู่หลังฉาก ส่วนคนที่มาเป็นรัฐมนตรี ก็เป็นแค่ตัวแทนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องต่อไปที่จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ รวมไปถึงหากในอนาคตมีการแก้ไข ก็คงต้องดูว่าสุดท้ายแล้วจะยังยอมรับให้ระบบแบบนี้ดำเนินต่อไปในอนาคตหรือไม่ เพราะการที่เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจ หรือผู้ที่ตัดสินใจไม่ต้องรับผิดชอบอะไรโดยตรง จะสร้างปัญหาทางการเมืองอย่างแน่นอน นี่คือข้อที่ผมกังวล สิ่งต่อมาผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะเป็นรัฐบาลที่อาจจะกังวลทุกอย่างจนไม่กล้าทำอะไร ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหม่ เพราะความท้าทายของโลกมีหลากหลายรูปแบบ ถ้าคุณไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวว่าจะผิดจริยธรรม หรือจะถูกองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญเล่นงาน สุดท้ายก็จะเป็นรัฐบาลที่บริหารอะไรไม่ได้เลย" นายรังสิมันต์กล่าว

'โรม' ลับมีดรอแถลงนโยบาย

ถามว่า รัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็เป็นคนเดิม พอจะไปวัดไปวาได้หรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ตั้งคำถามว่า ในยุคนายเศรษฐาไปได้แค่ไหน นโยบายเรือธงอะไรบ้างที่ได้สัญญากับประชาชน มีเรื่องใดสำเร็จแล้วบ้าง ถ้าไม่สำเร็จ คำถามถัดมาคือคนเดิมที่มีอำนาจแบบเดิมในวันนี้ จะสำเร็จได้อย่างไร มากไปกว่านั้นคือมีส่วนผสมใหม่ ซึ่งมีคนที่อยากจะมาเป็นรัฐมนตรี แต่เป็นไม่ได้ จึงต้องอยู่หลังฉาก อยู่ภายใต้เงามืด ส่งตัวแทนมาทำหน้าที่แทน แล้วจะบริหารประเทศได้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร

ซักถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคประชาชนในวันแถลงนโยบายไว้อย่างไรบ้าง นายรังสิมันต์ระบุว่า มีการเตรียมมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เรารอดูอยู่ คือจะมีการเปลี่ยนนโยบายจากรัฐบาลเดิมไปมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าหากติดตามในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็คงพอเห็นทิศทาง พร้อมยอมรับว่า เวลาค่อนข้างกระชั้น เนื่องจากคาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่สามของเดือนนี้ แต่เมื่อเลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้น ฝ่ายค้านก็ต้องทำหน้าที่ในการตั้งคำถาม และอภิปรายต่อนโยบายที่รัฐบาลแถลงอย่างเข้มข้นแน่นอน

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ น.ส.แพทองธาร ใน 2 ประเด็นคือ 1.กรณีเป็นกรรมการบริษัท 20 แห่ง ของ น.ส.แพทองธาร ที่ยื่นออกลาจากกรรมการบริษัท ในวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งมีผลทันที โดยตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 1153/1 แก้ไขเมื่อปี 2549 ซึ่งยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้แก้ไขเรื่องการลาออกจากกรรมการบริษัทในว่า การจะลาออกให้ยื่นหนังสือไปที่บริษัท หรือจะยื่นต่อนายทะเบียนก็ได้ ส่วนการไปจดทะเบียนจะอยู่ในอีกมาตรา คือว่าถ้ามีกรรมการลาออกแล้ว กรรมการที่เหลือมีเวลาไปจดแจ้งอีก 14 วัน ดังนั้นหนังสือเอกสารที่ตนคัดมา 20 บริษัทรวมกว่า 100 หน้า มายื่นต่อ กกต. จึงมีข้อสังเกตว่า น.ส.แพทองธารไปยื่นลาออกที่บริษัทที่ตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด 14 บริษัทแรกที่ กทม.  2 แห่งที่ปทุมธานี มีสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย 1 บริษัท และอยู่ที่นครราชสีมา 3 แห่งอยู่ลำพูน โดยยื่นด้วยตัวเองในวันที่ 15 ส.ค. ภายในวันเดียวได้อย่างไร และต่อมาวันที่ 16 ส.ค. สภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าเดินทางไปว่ายื่นใน 4 จังหวัดในเวลาเดียวกันได้อย่างไร

ประเด็นที่ 2 เรื่องจริยธรรม นายกรัฐมนตรียินยอมให้นายทักษิณบิดามาครอบครองตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นี่ไม่ใช่เรื่องพ่อลูก แต่เป็นเรื่องของนายกฯ ของแผ่นดิน เพราะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ความแพ่ง ของ น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ โดยตนได้คัดคำร้องในเรื่องจริยธรรม ข้อ 8 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้คนอื่นยินยอมรับหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องครอบงำที่จะไปร้องยุบพรรค เพราะยังอ่านคำวินิจฉัยเต็มจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่อันนี้มีเหตุควรแก่การยื่นตรวจสอบแล้ว

นายเรืองไกรกล่าวว่า คำว่าครอบงำอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 แต่ไม่มีคำว่าครอบครองในกฎหมายดังกล่าว ตนจึงต้องยกคำพิพากษาศาลฎีกา และพจนานุกรมให้ กกต.ไปดูว่าคำว่าครอบครองหนักกว่าหรือไม่ และคำว่าครอบครองไม่สามารถร้องในมาตรา 28 เพราะไม่มีบัญญัติคำนี้ จึงไม่สามารถไปขยายความกฎหมายเองได้ แต่จะต้องไปปรับกับมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งมีกำหนดข้อห้ามไว้ 22 ข้อ ซึ่งรัฐมนตรีใหม่ได้มีการตรวจสอบแน่ ยืนยันว่าไม่ได้ร้องแค่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ตนจะร้องหมดทุกฝ่าย

"ยืนยันว่าการมายื่นร้องเรียนไม่ได้มีนัยทางการเมือง ถ้ามีเหตุผมก็ร้อง วันนี้ผมยังไม่ร้องยุบพรรค เพราะยังไม่เห็นคำวินิจฉัย มีคนถามว่าเป็นบุคคลนิรนามที่มาร้องเพื่อไทยหรือเปล่า ผมก็บอกว่าไม่ใช่ ผมไม่เคยปิดชื่อ" นายเรืองไกรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟันธง 'รัฐบาลแพไม้ผุ' ไม่สามารถรับมือมรสุมเศรษฐกิจ-การเมือง ที่ทวีความรุนแรงได้

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

'เรืองไกร' จัดแล้วร้อง กกต.สอบปมคุณสมบัติ-จริยธรรมนายกฯ อิ๊งค์

'เรืองไกร' ร้องกกต.สอบปมคุณสมบัติ-จริยธรรม 'อุ๊งอิ๊ง' ยอมให้พ่อครอบครองฐานะนายกฯ ซัดไม่ใช่เรื่องพ่อลูก แต่เป็นเรื่องของประเทศ งงวันเดียววาร์ปลาออกจากรรมการบริษัท 4 จังหวัดได้อย่างไร