เปิดตัวเวทีงบ68 ธรรมนัสซบพท.

แสดงตัวโชว์รัฐบาล! "ปชป.-กลุ่มธรรมนัส"  ใช้เวทีสภาฯถกงบ 68 วาระ 2 ยกมือหนุนมาตรา 4 คึกคัก "จุรินทร์-บัญญัติ"ร่วมใหวต "ชวน"ชัดเจนไม่ลงมติ "พปชร."แบ่ง 2 ขั้วตามคาด  "รบ."ขอปรับลด7.8พันล้านบาท เพิ่มให้ 10 หน่วยงาน "ศิริกัญญา" เสนอตัดลด 2 แสนล้าน เหลือ 3.5 ล้านล้านบาท เหตุเศรษฐกิจเปลี่ยน-มีแนวโน้มชะลอตัว "วีระ"ห่วงจัดงบสร้างวิกฤติการคลังในอนาคต แนะคุมเข้มห้ามเพิ่มวงเงินรายจ่าย "จุลพันธ์"ย้ำงบฯ68อยู่ในกรอบวินับการเงิน-การคลัง ที่ปรับลดไม่กระทบเนื้องาน

ที่รัฐสภา วันที่ 3 กันยายน 2567 เวลา 09.30 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มขึ้น โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.การคลัง เป็นประธานคณะกมธ.วิสามัญ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 ซึ่งพิจารณาเรียงตามรายมาตรา

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะรองประธานคณะกมธ.คนที่2 กล่าวว่า กมธ.ฯได้ปรับลดงบประมาณ จํานวน 7,824.3 ล้านบาท และได้พิจารณาเพิ่มงบประมาณตามความเหมาะสมจําเป็นให้หน่วยงาน 1.งบกลางเป็นค่าใช้จ่ายรายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น 2.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิเงินอุดหนุนที่ผ่านการพิจารณาของคกก.คุ้มครองผู้สูงอายุแบบครอบครัวอุปถัมภ์ 3.กระทรวงแรงงาน สํานักงานประกันสังคมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐค้างชําระ 4.กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า สําหรับโรงเรียนที่ขาดแคลน 5.กระทรวงสาธารณสุข ก่อสร้างอาคารทางการแพทย์และหอพักสถาบันพระบรมราชชนก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับผลิตนักศึกษา

6.สถาบันพระปกเกล้า เป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงห้อง Data Center เพื่อให้เป็นศูนย์ข้อมูลกลางรวบรวมฐานข้อมูลที่สําคัญ 7.หน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาลและหน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดําเนินงานตามภารกิจ 8.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นค่าใช้จ่ายตามสิทธิที่เกิดขึ้นเนื่องจากสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล 9.ทุนหมุนเวียนจ่ายให้กู้ยืมสําหรับผู้กู้ยืมรายเก่าซึ่งมีสัญญาให้กู้ยืมตามกฎหมายแล้ว และ10.แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด

นอกจากนี้กมธ.ฯได้พิจารณาอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จํานวน 2 รายการ คือ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง และการเปลี่ยนแปลงงบประมาณของสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

"การพิจารณารายละเอียดงบประมาณทั้งการปรับลด การเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงเป็นสําคัญ"นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาเรียงตามรายมาตราเริ่มที่มาตรา4 วงเงินงบประมาณรายจ่ายปี68 จำนวน 3.75 ล้านล้านบาท โดยน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.)เสียงข้างน้อย สงวนความเห็นว่า งบประมาณใดที่ไม่ควรตัดทางกมธ.เสียงส่วนใหญ่ก็ตัด บางโครงการที่สมควรถูกตัดเพราะไม่มีเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนกลับไม่ตัด เช่น โครงการเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ของสพฐ.ที่ถูกถกกันในห้องอนุกรรมาธิการว่าใช้งบประมาณทำคอนเทนต์สำหรับการเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่ราคาสูงเกินจริง

"แม้เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงแต่งบประมาณของปี 2568 ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะประมาณการรายได้ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ฉะนั้นจึงสมควรที่จะปรับลดงบประมาณลง จึงขอปรับลดงบประมาณอีกราว 2 แสนล้านบาท ให้เหลือ 3.5 ล้านล้านบาทเศษ เนื่องจากเพื่อความระมัดระวังและรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต"น.ส.ศิริกัญญากล่าว

ห่วงสร้างวิกฤติคลังในอนาคต

เวาลา 10.15 น.นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กมธ.เสียงข้างน้อย สงวนความเห็นว่า ขณะนี้เรามีหนี้สาธารณะ ณ เดือนมิ.ย.2567 อยู่ที่ 11.54ล้านล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปี2568 จะทะลุ 12ล้านล้านบาท อาจถึง 13ล้านล้านบาท ในอีก 3-5ปี ถ้ารัฐบาลยังจัดงบแบบขาดดุล และกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จะมีปัญหาการเงินการคลังภาครัฐหนักหนาสาหัส นี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤติในอนาคต

"กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ การจัดทำงบรายจ่ายตั้งแต่ปี2569 ต้องทำงบแบบไม่เพิ่มวงเงินรายจ่ายอีกแล้ว อย่างน้อย 3ปี จนกว่าความเสี่ยงทางการคลังจะลดลง และงบรายจ่ายปี2569 ต้องหยุดสร้างภาระการคลังในอนาคต รวมถึงต้องเร่งชำระเงินต้นดอกเบี้ยคงค้าง 1ล้านล้านบาทจนกว่าเงินต้นจะลดลง ถ้าไม่ทำอาจประสบภาวะวิกฤติการคลังในอนาคต"นายวีระกล่าว

เวลา 11.45 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบ68 ในวาระ2 ที่ขอตัดลดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 5% ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก กมธ.ส่งสัญญาณผิด อย่างแรกคือกู้มาแจกเพราะการแจกเงินไม่ได้ทำให้หายจน และงบประมาณนี้ที่ทำคือ การแจกเงินไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแม้แต่นิดเดียว รวมถึงขีดความสามารถในการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งทุกประเทศทำหมด แต่เราทำน้อยมาก นอกจากกู้มาแจกแล้วยังไม่ชำระหนี้อีก ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณผิดอย่างแน่นอน

"กมธ.ฯได้ตัดงบ 120 ล้านบาทสำหรับเชฟ 1 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นงบของซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย ที่ผ่านมาผมก็เคยทำโครงการแม่เลี้ยงเดี่ยว จากที่จนและไม่มีอนาคต แต่เชฟหลายคนช่วยให้เขามีอนาคต วันนี้คนที่ไม่ไปต่างประเทศมีเงินเดือน 40,000 บาท ดังนั้นอย่าไปตัดงบนี้เลย ควรให้โอกาสคนจน คนที่ต้องพึ่งพา เขาลืมตาอ้าปากได้  เงิน 120 ล้านบาทนั้น เปรียบเทียบกับเงิน 3.7 ล้านล้านบาท เทียบกันไม่ได้ แต่มันคืออนาคตของคน"นายจุติกล่าว

เวลา 11.04 นายจุลพันธ์ ลุกขึ้นชี้แจงว่า การปรับลดส่วนมากจะไม่กระทบต่อเนื้องาน เรายืนยันการประมาณการที่เกิดขึ้นแม้สถานการณ์ในช่วงของการตั้งงบประมาณก่อนวันที่เรารับหลักการในวาระ 1 มาจนถึงวันนี้ อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง แต่อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐรองรับได้ และยืนยันในกรอบการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้อยู่ในกรอบวินัยทางการเงินและการคลังทุกประการ

กระทั่งเวลา 11.30 น. เสียงส่วนใหญ่ที่ประชุมสภาฯ เห็นด้วยกับมาตรา 4 ตามคณะกมธ. ด้วยคะแนน 266 ต่อ147 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี

ปชป.-กลุ่มผู้กองโหวตหนุนรบ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 266ต่อ147 เสียงนั้น พบว่า คะแนนเสียงที่เห็นชอบมาจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงมติไปทางเดียวกัน รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งเข้าร่วมการเป็นรัฐบาล ก็มีเสียงสส.ลงมติให้ความเห็นชอบมาตรานี้ จำนวน 13  คนจากจำนวนสส.ทั้งหมด 25 คน ในจำนวนนี้มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ ลงมติให้ความเห็นชอบมาตรา4 เช่นกัน ขณะที่นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และนายสรรเพชญ บุญญามณี ที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลนั้น ไม่พบว่า มีการลงมติในมาตรานี้แต่อย่างใด

ส่วนพรรคพลังประชารัฐที่เพิ่งถูกขับออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล มีสส.40 คน  พบว่า มีการลงมติมาตรา 4 แตกเป็น 3กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ลงมติเห็นด้วย 14 เสียง ล้วนเป็นสส.กลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 2.กลุ่มที่ลงมติไม่เห็นด้วยมี 14คน เป็นสส.กลุ่มพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  หัวหน้าพรรค 3.กลุ่มที่ไม่มาลงมติ 12 คน เช่น พล.อ.ประวิตร ไม่มาแสดงตนร่วมเป็นองค์ประชุม

ส่วนพรรคไทยสร้างไทย ลงมติเห็นชอบ 3 คน จากส.ส.ทั้งหมด 6 คน ได้แก่ นางสุภาพร สลับศรี ส.ส.ยโสธร นายหรั่ง ธุระพล ส.ส.อุดรธานี และ นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ส.ส.อุดรธานี ที่มีพฤติการณ์โหวตให้ฝั่งรัฐบาลมาโดยตลอด

ขณะที่นายเฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่แสดงตนลงมติ และพรรคประชาชน ลงมติไม่เห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงบ่ายพบว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยาและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย โดยทันทีที่ ร.อ.ธรรมนัส เดินทางมาถึง นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ได้เข้าไปทักทาย ร.อ.ธรรมนัส  จากนั้น ร.อ.ธรรมนัส ได้พา ส.ส.พรรรคพลังประชารัฐในกลุ่มของตนเอง ไปนั่งในโซนของพรรคเพื่อไทย และช่วงหนึ่ง ได้พูดคุยกับนายจุลพันธ์ พร้อมกับหันทำสัญลักษณ์มือเป็นรูปหัวใจให้กับสื่อมวลชน

ส่วนมาตรา 5 ไม่มีการแก้ไข มีผู้แปรญัตติขอสงวนคำแปรญัตติ

จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 6 งบกลาง คณะกมธ.ปรับเพิ่มเป็น 8.42 แสนล้านบาท จากเดิม 8.05 แสนล้านบาท โดยน.ส.ศิริกัญญา อภิปรายว่า การปรับลดงบประมาณจาก 5 ธนาคาร รวมเป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาทนั้น มีความประหลาด เพราะในชั้นอนุกมธ.ไม่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนที่นำไปชำระหนี้ และเป็นเงินที่ใช้ในส่วนของโครงการค้างเก่า

"วันนี้เราไม่รู้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเดินไปทางไหน เงินที่ได้มาจะพอหรือไม่ หากไม่พอจะทำอย่างไรต่อ เพราะขณะนี้ไม่มีความชัดเจน ต้องรอรัฐบาลใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตน และแถลงนโยบายก่อน ซึ่งไม่สามารถรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ควรให้รออีกหน่อย โดยการออกร่างพ.ร.บ.โอนประมาณโดยตัดงบกระทรวงของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อใช้ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแจกให้ครบ45 ล้านคน"น.ส.ศิริกัญญาระบุ

ต่อมาเวลา 12.45 น. นายจุลพันธ์ ยืนยันการเสนอการเปลี่ยนแปลงรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่งนั้น จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท เพราะได้ทบทวนแล้ว และปรับลดงบที่ชะลอดำเนินการได้เพื่อให้รัฐบาลใช้นโยบายในโครงการเร่งด่วน ไม่ขัดต่อกฎหมาย

" นายกฯได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องเดินหน้าต่อ แต่รูปแบบและรายละเอียดของโครงการอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยจะต้องรอให้ได้ครม.ชุดใหม่และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน จึงจะมีการชี้แจงทำความเข้าใจ แต่เม็ดเงินที่ได้รับไปแล้วจากงบเพิ่มเติม 67 หรืองบที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ ในส่วนของงบกลางนี้ สุดท้ายจะได้ใช้ประโยชน์ผ่านถึงมือประชาชนเป็นกลไกลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต"นายจุลพันธ์กล่าว

มาตรา 6 มีการแก้ไข มีคณะกรรมการขอสงวนความเห็นมีผู้แปรญัตติ และขอสงวนคำแปรญัตติ โดยมติที่ประขุมเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ โดยจากจำนวนลงมติ 408 เสียง เห็นด้วย 376 เสียง ไม่เห็นด้วย 7 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 23 เสียง ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการแก้ไข

ประธานถามต่อว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมากหรือไม่ โดยจากจำนวนลงมติ 423 เสียง เห็นด้วย 265 เสียง ไม่เห็นด้วย 154 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขตามคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก

จากนั้นเวลา 16.00 น. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานสภา ได้ถามมติจากที่ประชุมว่า จะให้มีการแก้ไข มาตรา 7 หรือไม่ โดยจากจำนวนผู้ลงมติ 452 เสียง เห็นด้วย 451 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จึงเห็นควรให้มีการแก้ไข

นายพิเชษฐ์ จึงถามที่ประชุมต่อไปว่า เห็นด้วยการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็น และผู้แปรญัตติที่ขอสงวนคำแปรญัตติ โดยจากจำนวนผู้ลงมติ 452 เสียง เห็นด้วย 296 เสียง ไม่เห็นด้วย 156 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 0 เสียง

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ

จากนั้นเข้าสู่การพิจารณามาตรา 8 มีการแก้ไข มีคณะกรรมการขอสงวนความเห็นมีผู้แปรญัตติ และขอสงวนคำแปรญัตติ โดย ประธานถามต่อที่ประชุมว่า เห็นควรให้มีการแก้ไขหรือไม่ มติที่ประขุมเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ โดยจากจำนวนผู้ลงมติ 444 เสียง เห็นด้วย 443 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการแก้ไข

ประธาน จึงถามต่อว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือของกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็น และผู้แปรญัตติที่ขอสงวนคำแปรญัตติ โดยจากจำนวนผู้ลงมติ 446 เสียง เห็นด้วย 288 เสียง ไม่เห็นด้วย 154 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง