เท5พันล้านเยียวยาน้ำท่วม

“ภูมิธรรม” สั่งเร่งสำรวจความเสียหาย-ฟื้นฟูหลังน้ำลด ลั่นถึงเวลาคุยปมสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น “สมศักดิ์” ซัดพวกค้านอย่าใจแคบ ชงหาคนกลางมาศึกษา ครม.เคาะงบกว่า 5 พันล้านบาทให้ “กษ.-คค.” ไปซ่อมตึก-ถนนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม กรมชลฯ เตือน 11 จว.ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจับตาอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัยว่า จะมีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงาน รวมทั้งผู้ได้รับความเดือดร้อนเร่งสำรวจความเสียหายโดยเร็ว ส่วนไหนที่ทำได้ก่อนสามารถยื่นได้เลยจะเซ็นงบกลางลงไป เพื่อเป็นงบฉุกเฉินให้สามารถดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการหยิบยกเรื่องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาในขณะนี้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า รัฐบาลเห็นว่ามันถึงเวลาที่ควรหยิบยกมาพูดคุยกัน เพราะคนที่เดือดร้อนเขาก็ต้องการ แต่เรื่องนี้มีความเห็นที่แตกต่างก็ต้องยอมรับ ถึงได้บอกว่ามันถึงเวลาที่จะต้องมาพูดคุยกัน ซึ่งผลการพูดคุยเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากัน

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเสนอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นว่า เราไม่ควรมาวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานของภาครัฐ แต่ควรหาผู้รู้มาตัดสิน ซึ่งได้บอกให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หาหน่วยงานกลาง เช่น ธนาคารโลกมาวิเคราะห์ ซึ่งกลุ่มที่ต่อต้านก็มาเผาหุ่นทุกครั้งที่มีกระแส มันใจแคบเกินไป ถ้าใจแคบแบบนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ควรให้เอาหน่วยงานกลางมาช่วยดู

“ทุกครั้งที่จะมีการพูดถึงเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะมีการเผาหุ่น ไม่รู้ว่าเผาจนผมไหม้กี่ครั้ง  ใจแคบจริงๆ พูดคุยกันบ้าง” นายสมศักดิ์กล่าว

นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง แถลงข้อสั่งการของนายภูมิธรรมว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหาย และเร่งรัดมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย รวมถึงเร่งซ่อมแซมสถานที่หน่วยงานข้าราชการ เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากิน และจัดทำแผนมาตรการป้องกัน สำหรับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายศึกษิษฏ์กล่าวว่า ครม.ยังอนุมัติงบกลางวงเงินฉุกเฉิน 2,289 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมชลประทานไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 1,072 โครงการ ภายหลังได้รับอิทธิพลของพายุและน้ำท่วมหนักฉับพลัน ทำให้อาคารของกรมชลประทานเสียหาย และ ครม.ยังเห็นชอบให้จัดสรรงบกลางฉุกเฉินให้กับกระทรวงคมนาคม 3,017 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและภัยพิบัติ โดยกรมทางหลวงมีทั้งหมด 207 รายการ ใน 26 จังหวัด กรมทางหลวงชนบท 101 รายการ วงเงิน 1,667 ล้านบาท ใน 30 จังหวัด ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งรัด ครม.จึงอนุมัติงบกลางไปดำเนินโครงการเพื่อให้ประชาชนใช้ระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 แจ้งว่าประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ปภ.จึงได้เน้นย้ำ 64 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยภัย เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักบางพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ  และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยานั้น  ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนจาก 1,399 เป็น 1,449 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่ อ.สรรพยา สูงขึ้นจากเมื่อวาน 18 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 12.64 เมตร (รทก.) ต่ำกว่าตลิ่ง 3.74 เมตร ส่วนน้ำเหนือเขื่อนที่ อ.เมืองชัยนาท มีปริมาณ 1,752 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ระดับน้ำสูงขึ้นจากเมื่อวาน 31 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16.77 เมตร (รทก.) และปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ ทรงตัวอยู่ที่ปริมาณ 1,551 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 6/2567 ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมชลประทานคาดการณ์ว่าใน 1-7 วันข้างหน้า จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ ประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขา จะมีประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณ 1,900 ลูกบาศก์เมตรวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,400-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนสถานการณ์แม่น้ำน่าน ที่ จ.พิษณุโลก วันนี้มีปริมาณและระดับน้ำลดลง ต่ำกว่าตลิ่งจากจุดวัด N5A อยู่ที่ 5.18 เมตร ส่วนแม่น้ำสาขาที่รับน้ำมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ วันนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกบนเทือกเขา ส่วนแม่น้ำยมสายหลัก ไหลผ่าน อ.บางระกำ มีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น โดยวัดจากสถานีวัดน้ำ Y.64 หลังที่ว่าการ อ.บางระกำ ระดับน้ำสูง 7.20 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 462.50 ลบ.ม/วินาที น้ำสูงกว่าตลิ่ง 80 เซนติเมตร และแม่น้ำยมสายเก่า หรือคลองเมม ที่ไหลผ่าน อ.พรหมพิราม ลงมา อ.บางระกำ ระดับน้ำเริ่มลดลงและทรงตัว ขณะที่การผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำโมเดล ครบถ้วนตามเป้าหมายแรกแล้วคือ มีปริมาณน้ำที่รับเข้าทุ่ง 112,920 ไร่ ปริมาณน้ำ 158.75 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 40% โดยการระบายน้ำที่เหลือวันนี้จะผันน้ำจากแม่น้ำยมสายเก่าลง แม่น้ำน่านที่ลดระดับลงไปแล้ว เพื่อเป็นการพร่องน้ำให้มีที่ว่าง เตรียมการรับน้ำใหม่ ที่คาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกในไม่ช้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง