"อนุทิน" กำชับ “ปภ.-ท้องถิ่น” เข้าถึงผู้ประสบอุทกภัยโดยเร็ว เร่งระดมทุกความช่วยเหลือ ลดขั้นตอนขอเยียวยาจากส่วนกลาง พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุ่มเทเสียสละ “สมศักดิ์” ชงแผนแก้น้ำท่วมสุโขทัยให้รัฐบาล เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มระบายน้ำ รอรับฝนรอบใหม่ตกหนักสัปดาห์หน้า น้ำป่าทะลักท่วมแม่ริมกลางดึก
เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดสุโขทัย, ชัยนาท และนครสวรรค์ ว่ากระทรวงมหาดไทยได้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีรายงานข้อมูลต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง การลงพื้นที่วันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้กำชับแผนการทำงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน โดยเสนอในที่ประชุมให้ลดขั้นตอนการขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลาง ในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ แน่นอนว่าสถานการณ์น้ำท่วมต้องพึ่งพาฝ่ายท้องถิ่นและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพราะอยู่ในพื้นที่
โดยหากให้ส่วนกลางช่วยเหลือ ให้รวบรวมข้อมูลเข้ามาเลย ยิ่งทำได้เร็วเท่าไรการช่วยเหลือก็ยิ่งไปเร็วเท่านั้น ประชาชนมีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง สถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นมีทั้งน้ำเหนือและน้ำฝน หลายพื้นที่น้ำกำลังจะมา ประชาชนต้องยกของขึ้นที่สูง บ้างสร้างกำแพงกั้นน้ำ เรามีกำลังมีเครื่องมือก็ต้องไปช่วย ถ้ามีการร้องขอยิ่งห้ามรอช้า เมื่อป้องกันสุดกำลังแต่น้ำยังรุกเข้ามา ได้กำชับให้ทั้งส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ ปภ.ต้องเข้าถึงประชาชน ส่งข้าวส่งน้ำให้ประชาชนเข้าใจว่าภาครัฐไม่ได้ทอดทิ้ง ใครเจ็บป่วยต้องประสานจนได้รักษาพยาบาล
“ดึกดื่นเที่ยงคืนผมเห็น อส. เห็นเจ้าหน้าที่หลายท่าน จากกรมกองของกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่นๆ ไปช่วยประชาชน ต้องขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างมาก บางครั้งงานของเรามันหยุดพักไม่ได้ เรามีชีวิตคนที่รอคอยการช่วยเหลือ นี่คือความเหนื่อยหนัก แต่ก็คือคุณค่าของการปฏิบัติหน้าที่ ที่ผ่านมาทุกท่านต่างทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ มีการสละทรัพย์ส่วนตัวลงไปด้วย เช่นผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นบางคน ได้นำโดรนการเกษตรไปใช้ส่งของยังชีพ มีความเสี่ยงที่จะพังเสียหาย แต่ก็แลกมาด้วยข้าวปลาอาหารที่ถึงชาวบ้าน ช่วยให้ประทังชีวิตได้ อันนั้นก็น่าสรรเสริญ" นายอนุทินระบุ
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สุโขทัย ต้องขอขอบคุณ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะรัฐมนตรีทุกคนที่ได้ลงพื้นที่มาช่วยติดตามการบริหารจัดการน้ำด้วย โดยปัญหาน้ำท่วม จ.สุโขทัยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำจาก 2 จังหวัด คือพะเยาและแพร่ ทำให้สุโขทัยได้รับผลกระทบมานานหลายสิบปี ขอยืนยันว่าพยายามแก้ปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถึงแม้ได้งบประมาณมาช่วยทำโครงการระบายน้ำ ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำยม แต่ต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้าง รวมถึงบางโครงการยังไม่คืบหน้า เนื่องจากติดเรื่องเวนคืนที่ดิน โดยพี่น้องประชาชนต้องได้เงินทดแทนอย่างเหมาะสม
ชงแผนแก้ท่วมสุโขทัย
ทั้งนี้จึงได้เสนอแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมต่อรัฐบาล เพื่อให้เป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในอนาคต ลดความเดือดร้อนของประชาชน และส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจ จ.สุโขทัยในระยะยาว ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งในพื้นที่ดังต่อไปนี้ 1.หมู่ 6 ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก ระยะทาง 300 เมตร 2.หมู่ 7 ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก ระยะทาง 800 เมตร 3.หมู่ 5 ต.คลองตาล เทศบาลศรีสำโรง ระยะทาง 150 เมตร 4.หมู่ 6 ต.วังใหญ่ และหมู่ 8 ต.วังทอง อ.ศรีสำโรง ระยะทางรวม 990 เมตร 5.หมู่ 1, 6, 7 ต.ปากแคว อ.เมืองสุโขทัย ระยะทาง 2,400 เมตร และ 6.ต.ยางซ้าย อ.เมืองสุโขทัย ระยะทาง 5,000 เมตร (เขื่อนคอนกรีตและวัสดุทดแทน) นอกจากนี้รัฐบาลมีการพูดถึงเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว
ส่วนสถานการณ์น้ำ จ.สุโขทัย ยังได้รับผลกระทบอยู่ 7 อำเภอ 48 ตำบล 263 หมู่บ้าน 7,887 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 43,747 ไร่ โดยจะเห็นได้ว่าเวลาเกิดอุทกภัยจะมีพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ตนจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายหันมาทบทวนการแก้ปัญหาระยะยาวให้พี่น้องชาวสุโขทัยด้วย
นายสมศักดิ์กล่าวด้วยว่า กองสาธารณสุขฉุกเฉิน รายงานสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.-1 ก.ย. 2567 ได้รับผลกระทบสะสม 24 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย, หนองคาย, พิษณุโลก, พิจิตร และพะเยา โดยมีระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด ได้แก่ พิจิตรและพิษณุโลก ส่วนอีก 3 จังหวัดระดับน้ำลดลง ได้แก่ สุโขทัย, หนองคาย และพะเยา ทั้งนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตสะสม 30 ราย มีผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่ม 1 ราย บาดเจ็บสะสม 45 ราย เพิ่มขึ้น 5 ราย
ที่ จ.ชัยนาท เขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำอีกรอบ จาก 1,349 เป็น 1,399 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำเหนือ และรอรับน้ำฝนรอบใหม่ที่จะตกหนักในช่วงสัปดาห์หน้า ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 1-6 ก.ย. 2567 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
สำหรับสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 1,485 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 95 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.เมืองชัยนาท มีปริมาณ 1,601 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 58 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำสูงขึ้น 26 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 16.19 เมตร (รทก.)
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา รวม 202 ลบ.ม.ต่อวินาที และได้เพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนจาก 1,349 เป็น 1,399 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท สูงขึ้นจากเมื่อวาน 18 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 12.46 เมตร (รทก.) และจะส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณแม่น้ำน้อย มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวัง
น้ำป่าถล่มหมู่บ้านแม่ริม
ที่ จ.เชียงใหม่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือแจ้งว่า ร่องมรสุมกลับมาส่งอิทธิพลทำให้เกิดฝนตกมากขึ้นอีกครั้งเกินร้อยละ 60 ของพื้นที่ หลังจากทิ้งช่วงไป 2 วัน ทำให้หลายพื้นที่ของภาคเหนือเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 1 ก.ย. โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ในพื้นที่ ต.แม่แรม อ.แม่ริม ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งรีสอร์ตสถานที่ท่องเที่ยวและเส้นทางจราจร โดยมีพื้นที่ประสบเหตุน้ำป่าหลากดังนี้ ต.แม่แรม ม.1, 4, 5 ต.ห้วยทราย ม.4 ต.ริมเหนือ ม.2 และ ต.ริมใต้ ม.6, 7 โดยนายอำเภอแม่ริม ฝ่ายปกครอง ร่วมกับ ทต.แม่แรม อบต.ห้วยทราย และอาสาสมัคร ได้เข้าสำรวจความเสียหายและเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบเหตุการณ์นี้ ซึ่งไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว
ที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พล.ท.ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมสั่งการให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 39 ตรวจสอบและรายงานพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ ครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน และประเมินสถานการณ์ก่อนเข้าให้ความช่วยเหลือ พร้อมบูรณาการกับทุกภาคส่วนร่วมสนับสนุนการช่วยเหลือ นำเรือท้องแบน เรือพาย สุขาเคลื่อนที่ ไปให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวก รวมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เวชภัณฑ์ และสิ่งของเครื่องใช้ เพื่อดูแลผู้ประสบความเดือดร้อนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ด้านนายชำนาญ ชูเที่ยง ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า แม่น้ำยมสายหลักมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำยมสายเก่ามีแนวโน้มเริ่มทรงตัว และเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตเฝ้าระวัง เสี่ยงน้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากสถานการณ์ฝนตกชุกพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำยม จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย ปัจจุบันเริ่มรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำโครงการบางระกำโมเดล เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่แม่น้ำยมตอนบน และลดผลกระทบอุทกภัย โดยมีน้ำเข้าทุ่งบางระกำแล้ว ปริมาณน้ำที่รับเข้าพื้นที่ 99,783 ไร่ ปริมาณน้ำ 138.20 ล้าน ลบ.ม. (34%) ขณะที่แม่น้ำน่านและแม่น้ำสาขาสถานการณ์ลดลง โดยมีสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังแม่น้ำสาขา โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำมีความลาดชันสูง หากมีปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่เกินกว่า 50 มม.ต้องเร่งแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังน้ำป่าไหลหลาก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พรรคส้ม-น้ำเงินโต้เดือด! ทุ่มร้อยล้านซื้อเสียงอบจ.
ปะทะเดือด! "ปชน." โวย สส.ค่ายน้ำเงินขู่กลางห้องประชุมสภาฯ อย่ายุ่งเลือกตั้ง อบจ. "มัลลิกา” ซัดกลับ “ประเสริฐพงษ์”
โปรยยาหอม‘ชายแดนใต้’ อิ๊งค์ประทับใจจะกลับมาอีก
นายกฯ บินชายแดนใต้ อุ่นใจ ผบ.ตร.-ผบ.ทบ.ร่วมวง พร้อมเซลฟีฉ่ำ
การันตี27ม.ค. นัดโอนเงินหมื่น เช็กสิทธิทางรัฐ
“เผ่าภูมิ” การันตี 27 ม.ค. นัดโอนเงิน 10,000 บาท พร้อมกางไทม์ไลน์ 22 ม.ค.
กกพ.ลดค่าไฟฟ้า 17สตางค์/หน่วย คงเหลือ3.98บาท
กกพ.ยกแนวทางลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ รีดไขมันจากกลุ่ม Adder และ FiT ให้เหลือเท่าอัตราผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
‘ผู้มีบารมี’นัดดีลลับกาสิโนที่ฮ่องกง
"นายกฯ" เปิดประชุม รมต.อาเซียนด้านดิจิทัลครั้งที่ 5 ชูนโยบายร่วมมือแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ยกระดับเข้มปราบภัยออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์
รพ.ตร.ปกป้องแม้ว ส่งเวชระเบียนให้แพทยสภาแค่บางส่วน‘อมร’ย้ำต้องจบเร็ว
รพ.ตำรวจยังยึกยัก ส่งเวชระเบียนรักษา "นักโทษเทวดา" ให้กรรมการสอบแพทยสภา