‘มาร์ค’ คัมแบ็ก การนำ ปชป.ของ ‘ต่อ-เดช’ กระทบกระเทือนจิตใจ

"อภิสิทธิ์" พร้อมกลับมาฟื้นฟูประชาธิปัตย์ แต่ต้องเป็นอุดมการณ์ประชาธิปัตย์แบบที่ตนเองเข้าใจ วันข้างหน้าผมจะกลับมาตรงนั้นได้หรือไม่ ก็เป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ เผยไม่แปลกใจ "ต่อ-เดช" เอาพรรคเข้าร่วมรัฐบาลระบอบทักษิณ เพราะมีการติดต่อมาตลอด  ยอมรับกระทบกระเทือนจิตใจของสมาชิก อดีตสมาชิก และผู้สนับสนุนจำนวนมาก ผลค่อนข้างรุนแรง ชี้จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  กล่าวถึงการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยว่า สิ่งแรกต้องบอกว่าไม่ได้แปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มองเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว และจริงๆ แล้วเป็นเหตุผลที่วันที่ตนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์หลังจากที่เข้าไปคุยกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ก็เข้าใจว่าทิศทางจะเป็นอย่างนี้ ถึงได้ตัดสินใจที่จะลาออกมา  เพราะฉะนั้นเลยไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร และทราบมาตลอดว่ามีความพยายามในการติดต่อกันมาแบบนี้

“ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นเวลานาน และผูกพันอยู่กับพรรค เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากซึ่งยังคบหาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ก็ต้องบอกว่าการกระทำครั้งนี้กระทบกระเทือนจิตใจของสมาชิก อดีตสมาชิก และผู้สนับสนุนจำนวนมาก และจะสังเกตเห็นว่าในบรรดาบุคคลที่ไม่เห็นด้วยในการลงมติเข้าร่วมรัฐบาล ก็เป็นอดีตหัวหน้าพรรคทั้งสามคนที่ยังมีตำแหน่งอยู่ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่าคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ในแง่คนที่เคยสนับสนุนพรรคมาอย่างยาวนาน  และในช่วงหนึ่งถึงสองวันที่ผ่านมา ที่มีคนมาพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นกับผม ไปในทิศทางเดียวกันหมด แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็กลายเป็นทิศทางของพรรค ที่ผู้ที่เป็นผู้บริหารก็ต้องเดินหน้าและรับผิดชอบ”

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ไม่อยากให้เข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งในอดีตหรือการยึดติดกับเรื่องเก่า อันนี้เป็นเรื่องที่เขากระทบกระเทือนจิตใจ มองว่ามันขัดกับความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดถือกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแง่ของอุดมการณ์ที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่ก่อตั้งพรรค กับแนวทางที่พรรคทำงานทางการเมืองมาตลอด ขอย้ำว่าประชาธิปัตย์ที่อยู่ได้มาอย่างยาวนานในอดีตที่ผ่านมา มีเหตุผลหลักๆ นอกเหนือจากแนวคิดแนวทางในการทำงานแล้วก็คือการพร้อมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และไม่ได้มุ่งแสวงหาในเรื่องของอำนาจโดยไม่มีเงื่อนไข นี่คือสิ่งที่ทำให้เป็นความแตกต่างกับหลายๆ พรรคในอดีต และจะสังเกตเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็ยากที่จะกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา

“ผมสันนิษฐานว่าทางผู้บริหารพรรคเขาก็มีเหตุผลของเขา แต่ไม่แน่ใจว่าแนวความคิดที่มองว่าเป็นรัฐบาล การเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วช่วยสร้างผลงาน จะช่วยสร้างผลงานหรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อที่จะเรียกคะแนนนิยมมาเป็นจริงได้ เนื่องจากจริงๆ  แล้วสังคมก็มองเห็นชัดเจนว่า การเข้าไปครั้งนี้ไม่ได้มีผลในเชิงเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะไม่มีพรรคประชาธิปัตย์รัฐบาลก็มีเสถียรภาพอยู่แล้ว  และการเข้าไปร่วมครั้งนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีนโยบายอะไรที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าไปผลักดันในตำแหน่งที่ได้มา ที่จะทำให้คนมองเห็นว่าไปสร้างความแตกต่างเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องที่ผู้ที่ตัดสินใจจะต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป ดังนั้นผมมองว่าการกระทำครั้งนี้ส่งผลค่อนข้างรุนแรงกับบรรดาผู้สนับสนุนพรรค ที่สนับสนุนมายาวนาน ผมต้องติดตามไปต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในแง่ของผลจากการตัดสินใจครั้งนี้ และความรับผิดชอบที่จะตามมา” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ปชป.อยู่ได้ไม่ใช่เพราะอำนาจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า เลขาธิการพรรคชุดปัจจุบันระบุว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้มาโดยตลอด จึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้พรรคเติบโต อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า เดี๋ยวรอพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าในการพ่ายแพ้ที่ผ่านมา ทุกคนก็พูดชัดเจนว่าหลายครั้งเราอาจจะทำด้วยวิธีอื่นแล้วก็ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้ แต่ความเป็นประชาธิปัตย์ทำให้เราไม่ทำ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ขอย้ำมีคำว่าที่ประชาธิปัตย์อยู่มายาวนานไม่ใช่เพราะว่าอะไรก็ได้เพื่อก้าวเข้าสู่อำนาจ

เมื่อถามว่า มีการอ้างว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ เพราะผู้บริหารเมื่อปี 53 ไม่อยู่ในพรรคแล้ว นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะมอง ตนไม่ไปตอบโต้หรือวิจารณ์อะไร  เพราะเรื่องนี้ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องผู้บริหารยุคใดยุคหนึ่ง กรณีนี้เป็นเรื่องของอุดมการณ์ แนวทางของพรรคที่ทำกันมาช้านาน สำหรับตนจึงอยู่ที่จริงอยู่ที่คนอาจจะบอกว่าพรรคแต่ละยุคแต่ละสมัยอยู่ที่ตัวคนหรืออยู่ที่ผู้บริหาร ความจริงสิ่งที่จะยึดเหนี่ยว เพราะบุคคลไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้า ให้ความเป็นพรรคเป็นพรรคได้คือความคิด อุดมการณ์ ตนไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว แต่ยังยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปัตย์อยู่

ถามว่า มีการมองว่าระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยก็ต่อสู้กันมายาวนาน สุดท้ายจบแค่ที่ว่ามีอำนาจร่วมกัน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อย่าไปเจาะจงเฉพาะประชาธิปัตย์ คิดว่าตั้งแต่การเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากที่สนับสนุนหลากหลายพรรคก็มีความรู้สึกว่ามีการละทิ้งหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เคยบอกกับสมาชิกหรือผู้สนับสนุนไว้ ดังนั้นนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาชน (ปชน.) ถูกมองว่าจะมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะไม่ได้เข้ามาอยู่ในขบวนการแบบนี้ และต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

"สำหรับผม พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในจุดที่น่าจะมีโอกาสในการสร้างพื้นที่ใหม่ทางการเมือง สำหรับประชาชนที่เขามีความรู้สึกว้าเหว่ ว่าความเชื่ออุดมการณ์ ความคิดที่อยากทำการเมืองที่ดีหายไป  มันหายไปเกือบหมด และอาจจะไม่ได้เห็นตรงกับพรรคประชาชนในหลายเรื่อง"

ซักว่าเหมือนบางคนมองว่าการเมืองวิปริต  วิกฤตอุดมการณ์แล้ว นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เป็นสภาพการเมือง เป็นอย่างนี้มาระยะหนึ่งแล้ว พอผ่านพ้นตรงนี้ไปแล้ว ไปทำหน้าที่รัฐบาลตอนนี้  ต้องทำอย่างเดียวคือสร้างผลงานให้กับประชาชน  ที่จะหาทางเรียกคะแนนนิยมกลับมา สำหรับตนสิ่งที่น่าเสียดายคือประเทศอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างจะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำ  สังคมสูงวัย และอีกหลายอย่าง ซึ่งกำลังต้องการระบบการเมืองที่ดีเข้ามาจัดการ ทั้งประสิทธิภาพและคุณธรรม แต่ขณะนี้ ในรอบปีกว่าที่ผ่านมา  เกือบทุกองค์กรทุกสถาบันกำลังถูกตั้งคำถาม ทั้งกระบวนการยุติธรรม นโยบายที่ใช้ในการหาเสียง  สิ่งเหล่านี้มันบั่นทอนศรัทธา และการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะทำให้การบริหารประเทศแก้ปัญหายากๆ ได้

ตัดสินใจผิดตั้งแต่ปี 62

เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำ 10 หรือสูญพันธุ์ได้ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ไม่มีใครทราบ แต่ก็หนักใจแทนผู้บริหาร  อยากจะบอกว่าตรรกะที่บอกว่าถ้าเข้าไปมีอำนาจแล้วมีผลงาน ซึ่งก็ใช้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 62 ซึ่งตนพูดตั้งแต่ตอนนั้นว่ามันไม่ใช่ สำหรับผู้ที่สนับสนุนพรรคมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ คือเรื่องของจุดยืน เรื่องของความมั่นคง และหลักอ้างอิงในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

ซักว่าโอกาสที่จะกลับมากอบกู้พรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งเป็นไปได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า  พูดไปแล้วว่าไม่ได้คิดตั้งพรรค ไม่ได้คิดจะไปไหนอยู่แล้ว แต่ตอนจะกลับมาประชาธิปัตย์ได้ก็ต้องเป็นอุดมการณ์ประชาธิปัตย์แบบที่ตนเข้าใจ

เมื่อถามว่า มีการพูดถึงว่าพรรคประชาธิปัตย์บอบช้ำใกล้จะตาย แต่จะกลับมาฟื้นใหม่ได้โดยมีนายอภิสิทธิ์กลับมากอบกู้ เขาตอบว่า ไม่มีใครทราบอนาคต และการจะกอบกู้อะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เวลาในขณะนี้เป็นตัวพิสูจน์ก่อนว่าแนวทางที่ผู้บริหารชุดปัจจุบันเชื่อในที่สุดมันเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริง หลายคนที่วิเคราะห์ก็ผิด และพรรคก็เติบโตไป แต่สำหรับตนไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรกับการเติบโตด้วยวิธีแบบนี้  จึงอยู่ที่ผู้บริหารเขาจะตัดสินใจอย่างไร

"ด้วยความที่ผมอยู่กับพรรคมานานมาก และรู้จักกับทุกคนที่สนับสนุนไม่มากก็น้อยมาโดยตลอด ผมยังเชื่อว่ามีคนจำนวนมากยังมีความผูกพัน ยังมีความรักความเป็นประชาธิปัตย์แบบที่เขาเคยรู้จัก ผมวันข้างหน้าผมจะกลับมาตรงนั้นได้หรือไม่ ก็เป็นโจทย์ที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้"

เมื่อถามว่า มองว่าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้ละทิ้งอุดมการณ์และคำขวัญของพรรคไปหรือไม่  อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยเขาบอกเองว่าประชาธิปัตย์วันนี้ไม่ใช่ประชาธิปัตย์วันก่อน ส่วนที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าอุดมการณ์คล้ายกันแล้วนั้น ก็ต้องถามพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นคนเขียนหนังสือเชิญเข้าร่วมรัฐบาล

'นิพิฏฐ์' เยี่ยม 'ชวน'

ที่บ้านวิเศษกุล ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ต้อนรับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต สส.พัทลุง โดยได้ร่วมรับประทานอาหารมื้อกลางวันด้วยกัน ก่อนจะร่วมกันหารือภายในบ้านพัก โดยไม่เปิดให้ใครๆ เข้าร่วมรับฟัง นานกว่า 2 ชั่วโมง

นายนิพิฏฐ์ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์อาจมีการปรับเปลี่ยนคนเยอะ มีคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ลึกซึ้งถึงอุดมการณ์ถึงแนวทางการต่อสู้ของพรรคเยอะ คือคนเก่าก็ไม่ได้เข้ามาเยอะ และคนใหม่เยอะไม่ได้ศึกษาประวัติของพรรคสักเท่าไหร่ บางทีวิธีคิดของเขาก็ตรงข้ามกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต

เมื่อถามว่า ในขณะนี้กลุ่ม กปปส.น้อยใจเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ข้ามศพของ กปปส.เข้าไป นายนิพิฏฐ์ตอบว่า ก็เห็นใจ เพราะเขาเคยต่อสู้กันมา มันเหมือนกับว่า กปปส.หรือพรรคประชาธิปัตย์ทอดทิ้งมวลชน ตรงนี้ตนให้กำลังใจเขา ท่าทีของกลุ่ม กปปส.ที่เป็นแกนนำ ท่าทีของกลุ่มของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำก็ตรงข้ามกับการต่อสู้ในอดีต ประชาชนเขาร่วมกันต่อสู้มา และวันนี้ดูเหมือนเขาทิ้งมวลชน อันนี้ก็ต้องไปว่ากันว่าเขามีเหตุผลอะไร แต่ในส่วนตัวตนเองให้กำลังใจพี่น้องที่เคยต่อสู้ร่วมกันกับกลุ่ม กปปส. ตนให้กำลังใจกับพี่น้องที่เคยร่วมแนวทางเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อถามว่า ตามที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะเกิน 10 คนครั้งต่อไปนั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า คือตนเองเปรียบเทียบอย่างนี้ ตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จนกระทั่งหัวหน้าพรรค คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องลาออกจากพรรคไป ตอนนั้นเรามี 52 เสียง เราเข้าไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนมันไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ทั้งๆ ที่แนวทางของทางรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคประชาธิปัตย์มันก็ไปกันได้ จาก 52 เหลือ 25 แต่คราวนี้พอพรรคประชาธิปัตย์สวิงกลับไปตรงกันข้ามเลย ไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย ตนคิดว่าการเลือกตั้งมันไม่ใช่ 26 เสียง คงต้องน้อยกว่า 25 อาจจะเป็น 24, 10, 11 หรืออาจจะต่ำกว่า 10 ก็ได้ ที่ตนวิเคราะห์ว่าเป็นหลักหน่วย คือไม่ถึง 10 คน ตนดูตามสภาพของบ้านใหญ่ เพราะประชาธิปัตย์เดินตามแนวทางการเมืองที่อาศัยบ้านใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าอาศัยบ้านใหญ่ในการต่อสู้อย่างนี้ ตนมองว่าบ้านใหญ่พรรคประชาธิปัตย์มีไม่กี่หลัง อาจจะมีนครศรีธรรมราช สงขลา ตนจึงคิดว่าน่าจะต่ำสุดประมาณนั้น

ด้านนายชวนกล่าวว่า สำหรับตนที่สู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมมาให้พี่น้องทางปักษ์ใต้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ตนเองไม่สามารถที่จะทรยศพี่น้องประชาชนได้ เพราะฉะนั้นจุดยืนอันนี้เพื่อน สส.ที่อยู่ในพรรคที่ยังมั่นคงอยู่กับอุดมการณ์เขาก็มาเป็นกำลังใจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อร้องยุบรัฐบาล! ‘วีระ’ อ้างเป็นกบฏทำ เสียดินแดน / ‘ผบ.ทร.’ ลงพื้นที่เกาะกูด

ผบ.ทร.ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด กำชับกำลังพลหากมีเรื่องใดขัดข้องให้รีบแจ้งเพื่อแก้ไข ขณะที่นายอำเภอเกาะกูดลั่นเป็นของไทยมากว่า

ฮือ! ขวาง ‘โต้ง’ ยึดธปท.

นักวิชาการ-กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ย้ำหากฝ่ายการเมืองเข้าไปเป็นบอร์ด ธปท. สุ่มเสี่ยงเกิดการกินรวบ เป็นหายนะต่อประเทศ “กองทัพธรรม” ขยับล่าชื่อต้าน

ปลื้ม ‘UN’ ชม แจก ‘สัญชาติ’ ยันไม่มี ‘สีเทา’

รัฐบาลปลื้มยูเอ็น ยกย่องไทยยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โฆษกรัฐบาลยัน กลุ่มคนสีเทา หรือแรงงานต่างด้าว หรือผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่ได้สัญชาติไทย เผยเหตุให้รวดเดียว 4.8 แสนคน

นพดลวอนหยุดปั่นเกาะกูด ‘คำนูณ’ แนะชั่งข้อ ‘ดี-เสีย’

“นพดล” ย้ำ “เกาะกูด” เป็นของไทย เอ็มโอยู 44 ไม่ได้ทำให้เสียดินแดน วอนเลิกบิดเบือนหวังผลการเมือง “คำนูณ” ชำแหละบันทึกความตกลง เป็นคุณกับกัมพูชามากกว่า

อดีตคนธปท.ต้านแทรกแซง

แรงต้านแทรกแซงแบงก์ชาติขยายวง อดีตพนักงาน ธปท.อีก 416 คน ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึก ยกจรรยาบรรณประธานบอร์ดห้ามเอี่ยวการเมือง เรียกร้องคณะกรรมการสรรหาฯ