นายกฯ ลั่นเอาอยู่ ไม่ซํ้ารอยยุคอาปู

“แพทองธาร” ลงพื้นที่สุโขทัย ให้ความมั่นใจไม่ซ้ำรอยปี 54 กทม.ปลอดภัยแน่ ลั่นทำงานได้เมื่อไหร่ลุยทันที บอกต้องแก้ระยะยาว  ไม่อยากเสียงบทุกปี “ปลอดประสพ” ได้ทีขอคืนชีพแก่งเสือเต้น ด้านน้ำโขงยังน่าเป็นห่วง เตือน 3  จว.รับมือน้ำล้นตลิ่ง

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่วัดคลองกระจง จ.สุโขทัย  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมด้วยแกนนำพรรค พท. ลงพื้นที่ให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม โดย น.ส.แพทองธารใช้รถตู้เบนซ์  หมายเลขทะเบียน ฮธ 1111 กรุงเทพมหานคร ในการปฏิบัติภารกิจที่ จ.สุโขทัย ซึ่งที่จุดดังกล่าวมีประชาชนรอให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก

ทันทีที่ น.ส.แพทองธารมาถึงได้เข้าไปสักการะหลวงพ่อเพชร หลวงพ่อพึ่ง หลวงพ่อสัมฤทธิ์ จากนั้น น.ส.แพทองธารและคณะได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำยม ที่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำแม่น้ำยม-น่าน รวมถึงแผนเผชิญเหตุและการช่วยเหลือประชาชนให้ น.ส.แพทองธารรับทราบ

ต่อมา น.ส.แพทองธารได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์การระบายน้ำจากแม่น้ำยมไปยังแม่น้ำน่าน ที่ประตูระบายน้ำคลองหกบาท อ.สวรรคโลก ก่อนจะเดินทางต่อไปเยี่ยมประชาชนใน ต.วังทอง และ ต.วังใหญ่ เพื่อมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย อบต.วังทอง รวมถึงให้กำลังใจ อปพร.

ขณะที่นายสมศักดิ์กล่าวกับชาวบ้านว่า สิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่อยากได้คือกำแพงริมตลิ่ง เพราะหากกำแพงริมตลิ่งดีน้ำจะไม่ทะลักออกมา เนื่องจากพื้นที่ตำบลวังทองรับน้ำที่ไหลมาจาก อ.ศรีสัชนาลัย อ.เมืองฯ อ.สวรรคโลก หากมีกำแพงดินหรือคอนกรีต จะช่วยบรรเทาความเสียหายได้

ในเวลาต่อมา น.ส.แพทองธารได้เดินทางต่อมายังกองอำนวยการหมู่ที่ 8 ต.วังทอง อ.ศรีสำโรง พร้อมกล่าวกับประชาชนว่า ขอแสดงความห่วงใย ซึ่งปัญหาต่างๆ หน่วยงานรับฟังไว้หมดแล้ว เสร็จแล้ว น.ส.แพทองธารได้เดินทางไปดูจุดที่ถนนถูกน้ำตัดผ่าน และรับฟังข้อมูลที่น้ำตัดผ่านถนนจากปลัดกระทรวงคมนาคม

น.ส.แพทองธารยังให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่พบปะประชาชนที่ได้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมว่า จากการลงพื้นที่ ตนได้พูดคุยกับประชาชนหลายคน ทราบถึงความลำบากในหลายวันที่ผ่านมา แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ น้ำเริ่มลดแล้ว แต่ตอนนี้อยากให้โฟกัสเรื่องการเยียวยาประชาชนต่อไป เพราะน้ำท่วมแต่ละครั้งเกิดความสูญเสียและลำบากกันเยอะ

เมื่อถามถึงกรณีเจ้าหน้าที่รายงานว่า มวลน้ำที่ไหลลงมาไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับพื้นที่ภาคกลางและ กทม.ใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ตอนนี้เขื่อนด้านบน ทั้งเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล สามารถรองรับน้ำได้เพียงพอแน่นอน  ฉะนั้นในส่วนของพื้นที่ กทม.ไม่มีปัญหา ในส่วนของการคาดการณ์เรื่องพายุก็ไม่มีเข้ามา ดังนั้นพื้นที่ กทม.จึงปลอดภัยแล้ว ในขณะที่ภาคเหนือตอนนี้เริ่มดีขึ้น รวมถึงจากการที่ได้พูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ทราบว่าตอนนี้ทางภาคเหนือเต็มที่ 7 วัน ทุกอย่างจะเริ่มคลี่คลาย หรือบางจังหวัดอาจจะแค่ 3-5 วัน

เมื่อถามว่า ภาพรวมของสถานการณ์น้ำปีนี้คงไม่เหมือนกับในปี 54 ใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารตอบว่า ไม่น่ากลัวเหมือนปี 54 แน่นอน เพราะปี 54 เป็นปีที่น้ำเยอะ และมีพายุเข้ามาในช่วงเดือน ต.ค.54 ถึง 5 ลูก แต่ตอนนี้มีการคาดการณ์ว่าพายุจะเข้ามาในประเทศ 2 ลูก หรืออาจจะไม่มีเลย

มั่นใจไม่ซ้ำรอยปี 54

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเดือน ก.ย.-ต.ค. อาจจะมีปริมาณฝนที่จะตกเพิ่ม ได้มีการเตรียมการไว้อย่างไรบ้าง น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ได้มีการเตรียมรับมือพอสมควร ในส่วนของฝั่งชลประทานไม่ได้มีความกังวลใจเหมือนในปี 54 เพราะเคยได้รับมือมาแล้ว อีกทั้งปีนี้ปริมาณน้ำฝนไม่เยอะเหมือนปี 54

น.ส.แพทองธารระบุว่า หากมีการแถลงนโยบายต่อสภาเรียบร้อยแล้ว คงต้องมีการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะจากการลงพื้นที่มา เห็นว่าประชาชนเดือดร้อนจากน้ำท่วมอย่างจริงจัง  อะไรที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ขอให้ช่วยกัน เพราะผลประโยชน์อยู่ที่ประชาชน นอกจากนี้ มีอีกหลายอย่างที่คิดไว้ หากขั้นตอนการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จเรียบร้อยแล้วจะพยายามเริ่มลุยงาน

เมื่อถามว่า อยากแก้ไขปัญหานี้ในอนาคตอย่างไร น.ส.แพทองธารกล่าวตอบทันทีว่า แน่นอน ขณะนี้มีการรับทราบข้อมูลว่าเขื่อนไหนที่แตก และปัญหานี้ในอนาคต ถ้าถูกแก้ในระยะยาวจะไม่ต้องมาคอยแก้ หรือเสียงบประมาณในช่วงสั้นๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก นี่คือสิ่งที่เรามีความตั้งใจอยากทำในอนาคต

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มีกำหนดการตรวจราชการในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ในการประชุมติดตามและตรวจสถานการณ์น้ำ โดยมีกำหนดการเดินทางไป จ.สุโขทัย ในจุดแรกจะร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย จากนั้นเดินทางไปเขื่อนหาดสะพานจันทร์ และประตูระบายน้ำบ้านคลองหกบาท อ.สวรรคโลก เพื่อตรวจและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ต่อจากนั้นจะออกเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปยังสำนักงานชลประทานที่ 12 ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยระหว่างทางจะตรวจสถานการณ์น้ำและพื้นที่การเกษตร โดยบินผ่านบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนเจ้าพระยาด้วย

นายภูมิธรรมกล่าวว่า เมื่อเดินทางถึงอาคารสำนักงานชลประทานที่ 12 จะร่วมประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เนื่องจาก จ.นครสวรรค์ ถือเป็นด่านหน้าที่รองรับมวลน้ำเหนือ จึงต้องมีการวางแผนเตรียมการผันน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ลุ่มเจ้าพระยาและเขื่อนเจ้าพระยา และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้สนับสนุนการทำงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เร่งแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อสถานการณ์อุทกภัยในภาคเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำจากทางภาคเหนือเดินทางผ่านมายังจังหวัดนครสวรรค์ อาจทำให้บางพื้นที่มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้เป็นตามแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินขึ้น และฝากถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงติดตามประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย” นายภูมิธรรมระบุ

ปลุกผีแก่งเสือเต้น

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมประมง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แพร่เถอะครับ บทเรียน 50 ปี การป้องกันน้ำเชี่ยวท่วมหลากริมแม่น้ำด้วยผนังกั้นน้ำที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ผลที่ได้แทนที่จะให้ความปลอดภัย กลับกลายไปเป็นอันตรายอย่างฉับพลัน พะเยา น่าน และแพร่ ฝน 5 วันมากถึง 500-700 มม. หากคำนวณเป็นน้ำท่าอาจจะมากถึง 5,000 ล้าน ลบ.ม. น้ำจำนวนนี้ไหลผ่านแม่น้ำยมที่แพร่ด้วยปริมาณถึง 1,700 cu.sec. สำหรับแพร่ยอมปล่อยให้น้ำกระจายเข้าไปในเมืองและในพื้นที่เกษตร แต่ครั้นมาถึงสุโขทัย ได้เลือกที่จะสร้างคันดินตามขอบลำน้ำ หรือใช้ผนังคอนกรีตมาเรียงยาวตามขอบพื้นที่ลุ่มและเกือบไม่เสริมความแข็งแรงใดๆเลย โดยเฉพาะฐานราก

นายปลอดประสพระบุตอนหนึ่งว่า มีคนพูดกระทบเชิงเปรียบเทียบว่า การไม่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเป็นชัยชนะของคนเป็นจำนวนพันของตำบลหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นความพ่ายแพ้ของประชาชนนับล้านในแพร่ สุโขทัย พิจิตร และพิษณุโลก เชื่อผมเถอะ เห็นกับประโยชน์คนส่วนใหญ่ ต้องเอากลับมาพูดกันอย่างจริงจังอีกครั้งแล้ว

วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม 67 ประจำวันที่ 30 ส.ค.ว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์เกิดขึ้นใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย  เชียงราย สุโขทัย เพชรบูรณ์ และหนองคาย ครอบคลุมพื้นที่ 27 อำเภอ 117 ตำบล บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 5,117 ครัวเรือน ที่ จ.สุโขทัย ได้รับผลกระทบมากสุด 6 อำเภอ 39 ตำบล 104 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3,483 ครัวเรือน ส่วนสถานการณ์ระดับน้ำลดลง

พื้นที่ต้องเฝ้าระวังควบคุมสถานการณ์ ไปจนถึงวันที่ 1 ก.ย. จากปริมาณฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ในอัตรา 17,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม

ที่ จ.เชียงใหม่ นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล (เขื่อนแม่งัดฯ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. เกิดฝนตกหนักมากในพื้นที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ต.ช่อแล อ.แม่แตง อีกทั้งตลอดสัปดาห์มีฝนตกสะสมมาต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากลำห้วยพัดพาหินและตะกอนดินจำนวนมากไหลตามร่องระบายน้ำลงบริเวณทางลาดเชิงเขาติดกับถนนทางขึ้นเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและบริเวณที่ลาดเชิงเขาบริเวณถนนทางขึ้นอาคารที่ทำการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล เกิดดินโคลนถล่มลงมาปิดช่องทางสัญจร ทำให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ สัญจรไม่สะดวก และเกิดความไม่ปลอดภัยในการสัญจรผ่าน ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างกลและทีมงานรักษาบริเวณเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อเปิดช่องจราจรให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ และติดตั้งแบริเออร์ บริเวณแนวฐานที่ลาดเชิงเขา เพื่อเป็นแนวป้องกันการเกิดดินโคลนถล่มหากมีฝนตกในช่วงกลางคืนด้วย

น้ำโขงยังน่าห่วง

ขณะที่ จ.พิษณุโลก แม่น้ำน่านช่วงไหลผ่านอำเภอเมืองพิษณุโลกสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 1 เมตร โดยเช้าวันที่ 30 ส.ค. เวลา 10 .00 น. ที่สถานีวัดระดับน้ำ N5A อยู่ที่ 6.87 เมตร ห่างจากระดับตลิ่งมาก (ระดับตลิ่ง 10.37 เมตร) มวลน้ำไหลผ่าน 711.90 ลบ.ม.ต่อวินาที ยังไม่มีผลกระทบกับน้ำท่วมตัวเมือง เบื้องต้น น.ส.ณัฐทรัชต์ ชามพูนท รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เปิดเผยว่า ระดับน้ำแม่น้ำน่านยังต่ำกว่าตลิ่ง 3.43 เมตร การเตรียมความพร้อมกระสอบทรายที่จะต้องบล็อกท่ออยู่ที่ 8 เมตรคงเหลือพื้นที่ที่จะต้องเตรียมความพร้อม 1.24 เมตร ทางเทศบาลนครพิษณุโลกจะคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ที่ จ.นครพนม ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินอุทกภัยรวม 2 อำเภอ มี อ.ศรีสงคราม มี 3 ตำบล 38 หมู่บ้าน และ อ.นาทม มี 3 ตำบล 31 หมู่บ้าน โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบคือนาข้าวถูกน้ำท่วมขังแล้ว รวมกว่า 20,000 ไร่ หากระดับน้ำโขงและลำน้ำสาขาลดช้า คาดว่าจะเสียหายทั้งหมด

ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.บึงกาฬ น้ำท่วมยังคงครอบคลุมพื้นที่ลุ่มต่ำใน 4 ตำบล ของอำเภอเมืองบึงกาฬ ด้าน ปภ.จังหวัดบึงกาฬ รายงานสถานการณ์สาธารณภัย เบื้องต้นเป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งคาดว่าจะได้รับความเสียหายใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบึงกาฬ  โซ่พิสัย บึงโขงหลง เซกา พรเจริญ ปากคาด และบุ่งคล้า รวมจำนวน 32 ตำบล 176 หมู่บ้าน คาดว่ามีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 25,000 ไร่

ส่วนที่ จ.อำนาจเจริญ ได้มีการเตือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังระดับที่เพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในช่วงนี้ถึงวันที่ 1 ก.ย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ตรวจความพร้อมขนส่งหมอชิต รองรับประชาชนกลับบ้านปีใหม่

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเป็นการไปแบบส่วนตัวไม่แจ้งภารกิจให้สื่อมวลชนทราบ