เปิด 9 ชื่อสูญหาย อังคณาทวงรบ. บี้ชดใช้เยียวยา!

30 ส.ค. วันผู้สูญหายสากล เปิดชื่อ 9 ผู้ลี้ภัยการเมืองไทย เชื่อได้ว่าถูกบังคับสูญหายโดยรัฐ “อังคณา” ระบุยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตามหาตัว  “ทนายสมชาย” พร้อมร่วมกันชง 7 ข้อเรียกร้องให้นายกฯ คนใหม่ เปิดเผยความจริงคืนความเป็นธรรมและชดใช้เยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็น "วันผู้สูญหายสากล"  โดยวันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อ้างอิงรายงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน 9 กรณี เพื่อไม่ให้ลืมเลือนทั้ง 9 ราย

ศูนย์ทนายฯ กล่าวโดยสรุปว่า กสม.ได้สรุปความเห็นในรายงานฉบับนี้ว่า จากข้อเท็จจริงทั้งหมด การหายตัวไปของบุคคลทั้ง 9 ราย และต่อมาพบศพ 2 รายนั้น น่าเชื่อว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตามความหมายที่ระบุไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และยังเห็นว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการติดตามตัวผู้กระทำผิด ดำเนินการให้ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย และเยียวยาครอบครัว ถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

               สำหรับรายงานดังกล่าว กสม.ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณีการบังคับสูญหายบุคคลที่พำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลี้ภัยทางการเมือง โดยจากการรวบรวมของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า ใน สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผู้ถูกบังคับให้สูญหายจำนวน 7 ราย ยังไม่ทราบชะตากรรม และเสียชีวิต 2 ราย ระหว่างปี 2560-2564 ได้แก่ 1.นายอิทธิพล สุขแป้น 2.นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ 3.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 4.นายชัชชาญ บุปผาวัลย์  (เสียชีวิต) 5.นายไกรเดช ลือเลิศ (ผู้เสียชีวิต) 6.นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 7.นายกฤษณะ ทัพไทย 8.นายสยาม ธีรวุฒิ และ 9.นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

กรณีที่เกิดขึ้น น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยตอนหนึ่งว่า แม้กรณีการสูญหายของบุคคลทั้ง 9 ราย ซึ่งต่อมาพบว่ามี 2 รายเสียชีวิตแล้วนั้น จะยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่าผู้ลงมือก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของบุคคลดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้มีการออกหมายจับ และพยายามติดตามตัวมาโดยตลอด รวมทั้งผู้ที่สูญหายมีจุดเกาะเกี่ยวที่เชื่อมโยงกัน คือเป็นกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกับฝ่ายรัฐบาล ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปและเสียชีวิตของบุคคลทั้ง 9 รายนี้ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ การที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในการสืบสวนสอบสวนติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อให้ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย และละเลยการเยียวยาให้แก่ครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายและเสียชีวิต ย่อมถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

ที่ห้องประชุมสำนักงานกลางคริสเตียน วันเดียวกันนี้ ครอบครัวของผู้ถูกบังคับให้สูญหายร่วมกับมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ องค์กร Protection International และมูลนิธิ forum Asia จัดงานแถลงข่าวเนื่องในวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล โดยปีนี้ จัดภายใต้ชื่อ "Faces of the Victims: A Long Way to Justice" ใบหน้าของเหยื่อ: เส้นทางที่ยาวไกลสู่ความยุติธรรม เพื่อทวงถามความคืบหน้าและยื่นข้อเรียกร้องต่อการแก้ปัญหาคนหายของรัฐไทย หลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เป็นเวลาปีกว่า

 นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตสมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับ (WGEID) วุฒิสมาชิก และภรรยาของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร ระบุว่า คดีสมชายผ่านมากว่า 20 ปี โดยไม่มีความก้าวหน้า เพราะรัฐไม่มีเจตจำนงทางการเมืองในการเปิดเผยความจริงและนำคนผิดมาลงโทษ แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมี  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย รวมถึงการให้สัตยาบันอนุสัญญา แต่ยังไม่เห็นความพยายามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตามหาตัวสมชาย  กรรมการตาม พ.ร.บ.ที่ตั้งขึ้นก็ไม่เคยรับฟังครอบครัว ทั้งที่กฎหมายระบุให้สืบสวนจนทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ในขณะที่ครอบครัวคนหายต่างถูกคุกคามมาโดยตลอด ไม่นานมานี้ขณะจัดงานรำลึก 20 ปี สมชาย นีละไพจิตร ยังมีคนอ้างเป็นเจ้าหน้าที่มาสอดแนม ตามถ่ายภาพครอบครัว ยังไม่นับรวมการด้อยค่า และคุกคามทางออนไลน์

“สมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหายในรัฐบาลทักษิณ ปีนี้ลูกสาวคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี  โดยคุณทักษิณเองก็ยังมีบทบาททางการเมือง ก็อยากทราบว่าลูกสาวคุณทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรี จะคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวคนถูกอุ้มหายอย่างไร อย่างน้อยบอกความจริง และนำคนผิดมาลงโทษก็ยังดี อุ๊งอิ๊งรักพ่อแค่ไหน ลูกๆ คนหายก็รักพ่อไม่ต่างกัน ดังนั้นคืนความยุติธรรมและการเปิดเผยความจริงจึงจะเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดให้แก่ครอบครัว” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อดีตสมาชิกคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับ (WGEID) วุฒิสมาชิก และภรรยาของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร กล่าว

ในโอกาสวันแห่งการรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายสากล 2567 เราขอเรียกร้องรัฐบาลไทย เปิดเผยความจริงและคืนความเป็นธรรมให้ผู้สูญหายทุกคน เราเน้นย้ำความกังวลและห่วงใยในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย การยุติการงดเว้นโทษ และคืนความยุติธรรมครอบครัว ดังนี้

1.เราเน้นย้ำสิทธิที่จะทราบความจริง เนื่องจากการบังคับบุคคลสูญหาย เป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่ต้องสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ 2.รัฐบาลต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีผลบังคับใช้ ต้องมีความจริงใจในการตามหาตัวผู้สูญหาย และคืนพวกเขาสู่ครอบครัว ในการค้นหาตัวผู้สูญหายต้องเป็นไปตามหลักการชี้แนะในการค้นหาผู้สูญหาย ของคณะกรรมการสหประชาชาติ คือการหาตัวบุคคล ไม่ใช่การหาศพ หรือเพราะการค้นหาตัวบุคคล จะทำให้เราทราบเรื่องราวของผู้ถูกบังคับสูญหาย และรู้ตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง

3.เราขอเน้นย้ำสิ่งที่รัฐไม่อาจละเลยได้คือ การรับประกันความปลอดภัยของครอบครัว ในกระบวนการร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม เพราะเมื่อการบังคับสูญหายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล และมีอำนาจในหน้าที่การงาน การคุกคามต่อครอบครัวจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบ รัฐต้องประเมินความเสี่ยง และออกแบบการดูแลความปลอดภัยร่วมกับครอบครัว และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยุติการคุ้มครองอีกต่อไป

4.รัฐบาลต้องให้ครอบครัวมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยในกระบวนการหาตัวผู้สูญหาย เพื่อความโปร่งใส และยุติธรรม การตัดสิทธิของครอบครัวในการมีส่วนร่วมทำให้การค้นหาตัวผู้สูญหายไม่รอบด้าน อีกทั้งยังอาจมีการปกปิดความจริงที่เกิดขึ้น 5.ข้อเรียกร้องต่อมาตรา 13 : เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยบังคับใช้มาตรา 13 อย่างเข้มงวด ป้องกันการส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้มีการส่งกลับบุคคลไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกบังคับให้สูญหายหรือถูกทรมาน

6.ที่สำคัญที่สุดคือ การขจัดทัศนคติเชิงลบต่อครอบครัว การสร้างภาพให้ผู้สูญหายเป็นคนไม่ดี ทำให้ครอบครัวต้องเผชิญกับการตีตราจากสังคม ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กให้มีชีวิตอย่างหวาดกลัว และไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย

และ 7.เราขอเน้นย้ำว่า เราจะไม่หยุดส่งเสียงจนกว่าความจริงและความยุติธรรมจะปรากฏ  และผู้สูญหายจะกลับคืนสู่ครอบครัว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง