“อธิบดีปศุสัตว์-อาจารย์ ม.เกษตรฯ” ควงแขนพบ “บิ๊กตู่” ที่ทำเนียบฯ นายกฯ เผยผลหารือ "ก็โอเค" ขณะที่ "สรวิศ" เผยนายกฯ กำชับเร่งคุมระบาดอหิวาต์ในสุกร ประชาชนต้องเดือดร้อนน้อยที่สุด โต้ปิดข่าวระบาด อ้างส่งขายต่างประเทศได้คือคำตอบ "จุรินทร์" ขอ ครม. 1,400 ล้านบาท จัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคา
เมื่อเวลา 14.10 น. วันที่ 14 มกราคม 2565 นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ นสพ.กิจจา อุไรรงค์ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประมาณ 20 นาที โดยทั้ง นสพ.สรวิศกับ นสพ.กิจจาได้สวมกอดกัน ในลักษณะให้กำลังใจซึ่งกันและกันหลังลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้า
พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธตอบข้อซักถามสื่อมวลชนหลังการพูดคุย โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหลังได้พูดคุยแล้วเป็นอย่างไร นายกฯ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า “ก็โอเค”
ด้าน นสพ.สรวิศให้สัมภาษณ์ว่า นายกฯ เอาใจใส่ ติดตามการแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกฯ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าไปด้วยกัน โดยสั่งการว่า 1.ให้ดำเนินการควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด 2.จะต้องฟื้นฟูให้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย และดูว่ารัฐสามารถช่วยเหลือในเรื่องใดได้บ้าง 3.การพัฒนาวัคซีน ASF เพื่อป้องกันโรคระบาด เพราะโรคนี้เกิดขึ้นมา 100 ปี แต่ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
และ 4.แนวทางการสำรวจสุกรที่ติดเชื้อ เนื่องจากขณะนี้มีการระบุว่าสุกรที่สูญหายไปจากระบบกว่า 50% นั้นเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้นายกฯ ได้สั่งการว่าจะต้องให้ทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือ เพราะกรมปศุสัตว์มีเจ้าหน้าที่น้อย นอกจากนี้ นายกฯ ยังให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ทั้งนี้ เรื่องราคาหมูแพงต้องพูดคุยกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ว่า สามารถตรึงราคาได้แค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์รับทราบมาตลอดว่ากรมปศุสัตว์ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาคีเครือข่ายได้ทำอะไรมาบ้าง ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสว่ากรมปศุสัตว์ปกปิดข้อมูลเรื่องการระบาดโรค ASF นายกฯ ได้สอบถามเรื่องนี้หรือไม่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ตอบว่า นายกฯ เข้าใจเพราะได้รายงานการทำงานให้นายกฯ ตลอด โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้เกิดโรคระบาดในจีน และเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 รัฐบาลได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หากเราปกปิด จะไม่สามารถส่งหมูไปต่างประเทศได้ เช่น เวียดนามหรือกัมพูชา เพราะเขาก็ต้องตรวจโรคเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นคำตอบที่สำคัญ ส่วนเงินที่ขอจากคณะรัฐมนตรี ก็ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นเงินที่ใช้ในการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย จากการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด ซึ่งเป็นไปตามหลักการระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ หากมีเหตุสงสัยว่าเกิดโรคระบาดชนิดใดในสัตว์ เราสามารถดำเนินการลดความเสี่ยงและรัฐบาลจะชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
ไม่ได้ขีดเส้น
ซักว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ขีดเส้นการแก้ไขปัญหาไว้หรือไม่ นสพ.สรวิศกล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้ขีดเส้น แต่บอกว่าให้ช่วยเหลือกันในการขับเคลื่อน เพราะโรค ASF ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดใน 34 ประเทศทั่วโลก โดยในเอเชียรอบบ้านเรามีการระบาดกว่า 14 ประเทศ นายกฯ ได้เน้นย้ำแค่ในเรื่องการควบคุมโรคให้ดีและสงบโดยเร็ว รวมถึงสามารถทำให้เกษตรกรเดินหน้าต่อไปได้ โดยเป็นการร่วมมือกันกับภาครัฐ เอกชนและอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม แม้นายกฯ จะไม่ได้ขีดเส้น แต่ได้ถามถึงราคาสุกรและการเข้ามาของสุกรในระบบ ว่าใช้เวลาการดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งตนก็ตอบไปว่าประมาณ 8-12 เดือน
อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยว่า นายกฯ ยังได้สอบถามถึงเกษตรกรรายย่อยที่จะกลับมาเลี้ยงใหม่จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ตรงนี้เราต้องยกระดับการเลี้ยง เมื่อก่อนรายย่อยไม่มีระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือการควบคุม แต่รายใหญ่ที่เป็นฟาร์มมาตรฐานมี นายกฯ จึงบอกว่าต้องทำถึงระดับที่กรมปศุสัตว์ยอมรับคือ GFM ป้องกันโรคได้ ห้ามสัตว์พาหะเข้าไป มียาฆ่าเชื้อ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค กรมปศุสัตว์ได้ของบประมาณจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อยกระดับตรงนี้ เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยมีถึงกว่าแสนราย ส่วนใหญ่ไม่ต้องดำเนินการในส่วนนี้ และอีกอย่างที่หน่วยงานราชการจะดำเนินการคือ กรมปศุสัตว์มีศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ทั่วประเทศ โดยจะผลิตพันธุ์สุกรขายเกษตรกรรายย่อยในราคาถูก
เมื่อถามถึงกระแสข่าวข่มขู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร นสพ.สรวิศกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามว่าอธิบดีกรมปศุสัตว์ยังไม่ถอดใจใช่หรือไม่ นายสรวิศกล่าวว่า ไม่ เพราะการทำงานที่ผ่านมาในการควบคุมโรคตลอดเวลาที่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีเคยควบคุมโรคในม้าในวัว ที่ตอนนี้แทบไม่มีการเกิดโรคใหม่แล้ว และเราผลิตวัคซีนเองได้แล้ว สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูเกิดขึ้นมาร้อยปี ตอนนี้ยังไม่มีวัคซีน การควบคุมโรคต้องบูรณาการร่วมกัน ซึ่งนายกฯ กับ รมว.เกษตรและสหกรณ์เข้าใจการทำงาน และให้กำลังใจ ให้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรียังสั่งการกรมปศุสัตว์เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวม เร่งสำรวจปริมาณความต้องการประชาชนต่อการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ รวมทั้งปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกันก็เร่งศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว และการจัดหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ พร้อมให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการทุกอย่างให้ครบเพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รวมทั้งปัญหาหมูราคาแพง และแนะอธิบดีกรมปศุสัตว์จัดตั้งวอร์รูมสื่อสารชี้แจงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวัน เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายด้วย
ขอ ครม. 1,400 ล้าน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลกถึงสถานการณ์ราคาสินค้า สินค้าโภคภัณฑ์จากทุกภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตจนกระทบต่อการครองชีพของคนทั่วโลกด้วยเช่นกัน หากดูเป็นรายประเทศ เช่น สหรัฐ ราคาสินค้าเดือน ธ.ค.64 พุ่งสูงขึ้น 7% เทียบกับ ธ.ค.63 นับว่าเพิ่มสูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ขณะที่ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้นเฉลี่ย 29.3% อาหารเพิ่มขึ้น 6.3% และสินค้าอื่น 5.5% ส่งผลต่อร้านอาหาร ธุรกิจบริการ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ หากดูลึกลงไปราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้รับแรงกดดันจาก 1.วิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก เกิดความล่าช้าและติดขัดตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ คาดว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปตลอดปี 65 2.การขาดแคลนแรงงาน 3.การขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง semiconductors 4.การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดค้าปลีก 5.สภาวะอากาศที่ผิดปกติในหลายพื้นที่
นายจุรินทร์ยังเปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจติดตามราคาสินค้าที่โลตัสรัตนาธิเบศร์ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอของบกลางในที่ประชุม ครม. วันที่ 18 ม.ค. วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท มาจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคา! ลดค่าของชีพประชาชน เพื่อเพิ่มทางเลือก สร้างความสมดุลด้านราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในตลาดและการบริโภคภาคครัวเรือนในสถานการณ์นี้ ซึ่งจะเป็นโครงการระยะ 90 วัน หรือ 3 เดือน
ทั้งนี้ ในส่วนของการเพิ่มปริมาณเนื้อหมู กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการห้ามการส่งออก มีการเช็กสต๊อกหมูทั้งระบบ และได้เพิ่มจุดขายหมูเนื้อแดงราคาถูกกิโลกรัมละไม่เกิน 150 บาท 667 จุดทั่วทั้งประเทศ เพื่อชี้นำและแทรกแซงราคาในช่วงจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง และมีหลายฝ่ายออกมาช่วยรณรงค์ให้บริโภคโปรตีนทางเลือกอื่น เช่น ไก่ ไข่ ซึ่งได้เข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้หนีจากหมูราคาสูงมาเจอไก่ราคาแพง ถ้ามีการฝ่าฝืนจะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะการค้ากำไรเกินควร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นกลไกหลักนำทีมแก้ปัญหาเรื่องนี้ในแต่ละจังหวัด
ส่วนการแก้ไขปัญหาหมูในภาพรวม สาเหตุที่ราคาหมูสูงขึ้น เพราะปริมาณหมูในระบบขาดหายไป การแก้ปัญหาคือทำอย่างไรให้ปริมาณเพิ่มขึ้น ราคาปรับลดลงในระดับที่ผู้บริโภคสามารถรับได้ ซึ่งต้องใช้ยาหลายขนานที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น 1.เพิ่มปริมาณหมูในตลาด โดยห้ามส่งออกหมู จะช่วยเพิ่มปริมาณหมูได้ปีละประมาณ 1,000,000 ตัวโดยประมาณ 2.เร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมูป้อนเข้าระบบ เป็นหน้าที่โดยตรงของกรมปศุสัตว์ ได้รับแจ้งจากกรมปศุสัตว์ว่ากำลังเร่งผลิตลูกหมูป้อนเข้าระบบสัปดาห์ละ 300,000 ตัวโดยประมาณ
3.เร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมู โดยรัฐบาลจัดให้มีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่าน ธ.ก.ส. ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสามารถกู้เงิน 4.ส่งเสริมการเลี้ยงหมูรายใหม่ โดยเฉพาะรายย่อย มุ่งเน้นฟาร์มระบบมาตรฐานเพื่อป้องกันการติดโรค หากพบว่ามีการติดเชื้อปศุสัตว์จะต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหา แต่ต้องเร่งจ่ายเงินชดเชย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี
อิ๊งค์ข้องใจแสนชื่อเลิก‘MOU44’
“หมอวรงค์” นำกลุ่มคนคลั่งชาติยื่น 104,697 รายชื่อร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44
ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’
“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ
ทวีโยงคาร์บ๊องป้องแม้วพักชั้น14
ตามคาด "ทักษิณ" ไม่เข้าชี้แจง กมธ.ปมนักโทษชั้น 14 "ทวี" แจงแทน
‘ทักษิณ-พท.’ยิ้มร่า ศาลยกคำร้องล้มล้างฯ เพื่อไทยเล็งฟ้องเอาคืน
ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง