สธ.มั่นใจเอาโคมิครอนอยู่

ศบค.เผยยอดติดเชื้อรายใหม่ 8,158 ราย พ่วง ATK 2,719 ราย ดับ 15 ราย แจงเลื่อนเปิดสถานบันเทิง เหตุพบคลัสเตอร์ร้านเหล้าฝ่าฝืนมาตรการอื้อ “สธ.” ประเมินสถานการณ์โควิดช่วง 14 วันหลังปีใหม่ พบอาการรุนแรงน้อย เสียชีวิตต่ำกว่า 20 ราย มั่นใจเอาอยู่แล้ว เล็งเสนอ ศบค.ผ่อนคลายมาตรการ “อนุทิน” เตรียมไฟเขียวเข็มแรกวอล์กอินได้เลย อย.เร่งขึ้นทะเบียนซิโนแวคฉีดเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป แย้มเข็มกระตุ้นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ป้องกันโอมิครอน 80%

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,158 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,905 ราย จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,807 ราย ค้นหาเชิงรุก 98 ราย เรือนจำ 11 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 242 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,308,615 ราย หายป่วยเพิ่ม 3,942 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 2,211,922 ราย อยู่ระหว่างรักษา 74,795 ราย อาการหนัก 510 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 105 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 15 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 7 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 9 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 21,898 ราย

สำหรับการตรวจ ATK ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. มีการตรวจทั้งสิ้น 116,906 ราย ผลเป็นบวก 2,719 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2 หากรวมผู้ติดเชื้อแบบ RT-PCR และ ATK จะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นราย เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่ม 542,689 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 108,313,948 โดส ซึ่งใครที่ถึงกำหนดฉีดเข็มที่สามได้แล้ว ขอให้ไปรับเข็มกระตุ้น เพราะจากคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ข้อมูลชัดเจนว่าการฉีดเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันโอมิครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 14 ม.ค. ได้แก่ ชลบุรี 825 ราย, กทม. 766 ราย, สมุทรปราการ 735 ราย, ภูเก็ต 441 ราย, นนทบุรี 368 ราย, ขอนแก่น 299 ราย, อุบลราชธานี 269 ราย, ปทุมธานี 191 ราย,  เชียงใหม่ 189 ราย, สมุทรสาคร 181 ราย โดยคลัสเตอร์ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเยอะคือ ร้านอาหารที่ จ.เลย ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี อุดรธานี ร้านฮอมบาร์ที่ จ.เชียงใหม่ และที่ขอนแก่นเป็นร้านเหล้าคือ ร้านเหล้าสุขสันต์ และร้าน 99Vintage ที่เปิดโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดของ ศบค. จึงขอย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้มงวดในเรื่องเหล่านี้ เพราะสถานบันเทิงหลายแห่งตั้งใจทำตามมาตรการ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดเช่นนี้ การเปิดสถานบันเทิงจึงต้องชะลอออกไป 

พญ.อภิสมัยกล่าวถึงการเดินทางเข้าประเทศไทยรูปแบบเทสต์แอนด์โกหลังวันที่ 15 ม.ค.ว่า มาตรการไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่จะเดินทางเข้าราชอาณาจักรจำเป็นต้องมีผลตรวจ RT-PCR ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินมาที่ประเทศไทย เป็นมาตรการที่ใช้ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ที่เน้นย้ำคือ เมื่อมาถึงหรือเรียกเป็นเดย์ 0 จะต้องมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำในทันทีด้วย และที่เป็นมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมาคือ ในเดย์ที่ 5-6 จำเป็นต้องมีการตรวจ RT-PCR ครั้งที่สองด้วย เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำ

 “การเดินทางเข้าราชอาณาจักรหลังวันที่ 15 ม.ค.65 ยังทำได้คนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว จนกว่าจะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในครั้งถัดไปว่าจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมอย่างไร” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมา แม้เรามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น เชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาระบาดในไทยแล้ว แต่การให้การรักษาพยาบาล ความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ รวมถึงผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือห้องไอซียูไม่ได้มีจำนวนมากขึ้น ผู้เสียชีวิตในแต่ละวันอยู่ในจำนวนที่เป็นขาลงไม่เกิน 20 รายต่อวันมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว ทำให้เรามีความมั่นใจได้ว่าสายพันธุ์โอมิครอนแม้ติดเชื้อได้ง่าย แต่ความรุนแรงยังไม่เท่ากับสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)

"ได้หารือกับทางปลัด สธ.ว่าเมื่อสถานการณ์เป็นไปในแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว สธ.จะเร่งเสนอให้ ศบค.มีการผ่อนคลายมาตรการให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าเหตุที่เป็นอันตรายต่อประชาชนในภาพรวม สธ.จะเร่งเสนอให้มีมาตรการเพื่อเน้นย้ำถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก" นายอนุทินกล่าว

รองนายกฯ และ รมว.สธ.กล่าวว่า ในส่วนวัคซีน ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกขอให้มารับวัคซีน เดี๋ยวจะให้นโยบายไปเลยว่าผู้ที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็มแรกไม่ต้องไปจอง สามารถวอล์กอินได้เลยเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพราะเราเชื่อว่าผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจมีปัญหาในการเข้าถึง นอกจากนี้ เด็กอายุ 5-12 ปี ขอให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานมาเริ่มฉีดวัคซีนได้ เราได้รับการแจ้งจากผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์แล้วว่าสามารถฉีดให้กับเด็กอายุ 5-12 ปีได้ ซึ่งเราจะทำการลดช่วงอายุลงไปจาก 12 ปีเป็น 5 ปี ซึ่งจะช่วยป้องกันในการแพร่ระบาดของเชื้อได้มาก โดยภายในต้นเดือน ก.พ. เราจะมีวัคซีนไฟเซอร์ที่ขึ้นทะเบียนสำหรับฉีดให้กับเด็กอายุ 5-12 ปี มากเพียงพอ ครอบคลุมจำนวนเด็กทุกคน ไม่ขาดแน่นอน

 “ทาง อย.กำลังเร่งพิจารณา โดยเราได้รับการยื่นขอเพิ่มการจดทะเบียนของวัคซีนซิโนแวคที่จะครอบคลุมเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปเช่นกัน ถ้าเอกสารเรียบร้อย ทาง อย.ได้พิจารณาแล้วมีความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับของสากล เราก็พร้อมสั่งซื้อเข้ามาเพื่อให้มีความเพียงพอมากที่สุดสำหรับทุกช่วงอายุ” รองนายกฯ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศใน 14 วัน พบช่วงสัปดาห์แรกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ทรงตัว มีแนวโน้มทรงต่อไปและค่อยๆ ลดลง ส่วนผู้ป่วยหนักมีแนวโน้มลดลงมาตลอด ส่วนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจที่ป่วยหนักมากลดลงต่ำที่สุดเท่าที่เราเคยมี โดยล่าสุด สธ.ได้ประกาศเตือนภัยในระดับ 4 ซึ่งคาดว่าหากการติดเชื้อยังทรงตัวเช่นนี้ต่อเนื่องก็จะลดลงไปถึงเส้นสีเขียวโดยเร็ว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้นว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม การกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ มีประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตได้สูงไม่แตกต่างกัน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 กระตุ้นทั้งสูตรแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ ป้องกันโอมิครอนได้ถึงร้อยละ 80-90 ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ

 วันเดียวกัน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงยอดประชาชนฉีดวัคซีนและเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือว่ามี 12,882 ราย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขอรับการช่วยเหลือ 9,551 ราย หรือ 74.14% ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 1,869 ราย หรือ 14.51% และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 1,462 ราย หรือ 11.35% ในจำนวนนี้มีผู้ที่อุทธรณ์คำร้องขอรับการช่วยเหลือเพิ่มเติม 680 ราย โดย สปสช.จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้วทั้งหมด 1,065,076,200 บาท โดยเขต 13 กทม.มีการยื่นคำร้องมากที่สุด 2,229 ราย รองลงมาอีก 3 เขต เป็นเขต 10 อุบลราชธานี 1,510 ราย เขต 1 เชียงใหม่ 1,415 ราย และเขต 8 อุดรธานี 1,123 ราย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งเสนอรัฐบาลเพื่อทำให้คนไทยอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย 3 ข้อ คือ 1.จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้านเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะ Variant ที่มาใหม่อย่างโอมิครอน ซึ่งจากงานวิจัยศึกษาต่างๆ พบว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและดีที่สุดในการต่อต้านเชื้อกลายพันธุ์คือวัคซีน mRNA ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดหาวัคซีน mRNA ให้มากเพียงพอต่อการฉีดกระตุ้นภูมิให้คนไทยทุกคน รวมทั้งแรงงานต่างชาติและชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ 2.การเข้าถึงการตรวจโรคโควิด-19 ทั้งแบบ ATK และ RT-PCR ต้องเข้าถึงโดยง่ายและทั่วถึง 3.รัฐบาลต้องเตรียมการระบบสาธารณสุขให้พร้อมที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ และเตรียมสายด่วน สปสช. 1330 ให้รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ในการทำ Home Isolation และรับยารักษาโรคโควิด-19 ไม่ใช่ปล่อยให้มีปัญหาอย่างปัจจุบันนี้ รวมทั้งการเตรียมพร้อมในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง ทั้งการจัดหาเตียง เตรียมสต๊อกยารักษาโควิดให้เพียงพอ รวมถึงยาชนิดใหม่อย่าง แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ที่ป้องกันอาการป่วยหนักและเสียชีวิตให้มีการใช้เร็วที่สุด เพื่อการรักษาที่มีคุณภาพ รักษาชีวิตของคนไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง