ยันแจกเงินหมื่นทันก.ย. ศก.ไทยฟื้นจีดีพีโต2.6%

“เผ่าภูมิ” การันตีเพื่อไทยไปต่อ “ดิจิทัลวอลเล็ต” อ้อนประชาชนรอฟังข่าวดีแถลงนโยบายรัฐบาล มีลุ้นเร่งอัดแจก 1.22 แสนล้านเดือน ก.ย. “แบงก์ชาติ” เคาะเศรษฐกิจไทยปี 67  โต 2.6% ปีหน้า 3% ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด  คาดเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายครึ่งปีหลัง รับเงินบาทแข็งค่า-ผันผวนเร็ว ยันจับตาตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล      รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า    แนวนโยบายในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศนั้น อยากให้รอความชัดเจนจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่น่าจะเหมาะสมและได้รับข้อมูลที่ตรงมากกว่า แต่มีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลจะมีการนำนโยบายที่ได้พัฒนาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามาทำต่อเนื่องไป เพราะอย่าลืมว่าแนวคิดและดีเอ็นเอของรัฐบาล ซึ่งเป็นดีเอ็นเอเดิม จึงมีความเป็นไปได้สูงที่แนวนโยบายที่รัฐบาลได้ดำเนินการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จะถูกนำมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เป็นอีกเรื่องที่อยากให้รอการแถลงนโยบายจากรัฐบาลใหม่ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะรับแนวคิดที่มีการสะท้อนผ่านสื่อต่างๆ  เพื่อที่จะทำให้การกระจายเม็ดเงินทำได้รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น โดยยืนยันว่าจะมีแนวโน้มที่ดี และเป็นแนวโน้มที่ประชาชนน่าจะพึงพอใจ

 “เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่าไปต่อแน่นอน   โดยตอนนี้ยอดลงทะเบียนเข้ามาแล้ว 30 ล้านคน   ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาการลงทะเบียน แต่รายละเอียดทั้งหมดยังต้องรอนโยบายรัฐบาล ต้องรอการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนน่าจะได้รับข่าวดี และประชาชนน่าจะดีใจ โดยโครงการจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงจุด รวดเร็วทันใจ และเป็นประโยชน์กับประเทศ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดอยากให้รอการแถลงนโยบายของรัฐบาลก่อน” นายเผ่าภูมิระบุ

นายเผ่าภูมิยังกล่าวถึงการใช้งบประมาณปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าเม็ดเงินทั้งหมดจะเร่งออกได้ก่อนภายในเดือน ก.ย. 2567 แต่รายละเอียดคงต้องรอการแถลงจากรัฐบาล พูดตอนนี้คงไม่เหมาะ เพราะต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกระบวนการคือนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องนำไปหารือกับพรรคร่วมก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร จะปรับอย่างไร ก่อนจะออกมาเป็นนโยบายรัฐบาลที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องไปทางเดียวกัน

 “ถามว่าระหว่างนี้มีการพูดคุยกันในเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ ต้องบอกว่ามี แต่การเปิดเผยต้องเป็นการเปิดเผยที่เป็นทางการ โดยยืนยันว่าเป็นแนวโน้มที่ดี และเป็นรูปแบบที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ เป็นไปตามที่หลายๆ ฝ่ายแนะนำ หลายๆ ฝ่ายให้ความเห็นมา ซึ่งในช่วงต้นอาจจะมีเรื่องการคัดค้านบ้าง เราก็พยายามปรับเพื่อให้ออกมาอยู่ในจุดที่ทุกฝ่ายพึงพอใจและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศ” รมช.การคลังระบุ

วันเดียวกัน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thaiand's Monetary  Policy Challenge: How to Manage the Risks in a Changing Global Environment : ความท้าทายนโยบายการเงินไทย : บริหารความเสี่ยงในสภาวะแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลง” ในงานสัมมนาประจำปี Thailand Focus 2024 ว่า ธปท.ยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด โดยเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่สาขาต่างๆ ฟื้นตัวไม่เท่ากัน ซึ่ง ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.6% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของหน่วยงานรัฐบาลอื่นและนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 เศรษฐกิจโตติดลบ จีดีพีลดลง 0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า จากผลของงบประมาณรัฐบาลที่ล่าช้า การส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 ขยายตัวที่ 1.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาส 2/2567 ขยายตัว 0.8% จากไตรมาสแรก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ 1-3% โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.2567 อยู่ที่ 0.8% และยังไม่เห็นสัญญาณเงินฝืด ราคาสินค้าเพียงบางรายการที่ลดลง แต่ยังไม่ลดลงในวงกว้าง ขณะที่ผู้บริโภคไม่ได้หยุดใช้จ่ายเพื่อรอให้ราคาสินค้าลดลง โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายการเงินนั้น ธปท.ให้ความสำคัญกับแนวโน้มข้างหน้ามากกว่าที่จะอิงกับข้อมูลตลาด โดยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องคือ 1.การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6% และปี 2568 ที่ 3% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่ถือว่าไม่สูง แต่สอดคล้องกับศักยภาพในการเติบโตระยะยาวของไทยที่ระดับ 3% บวกลบ การเติบโตได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านประชากร โดยประชากรที่เป็นกำลังแรงงานลดลง การที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าระดับนี้ มีทางเดียวคือ การเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน การลงทุน การพัฒนาเทคโนโลยี การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลระยะสั้นเท่านั้น ศักยภาพการเติบโตระดับนี้ถือเป็นภาวะปกติใหม่ของไทย (New Normal)

2.เงินเฟ้อไทยลดลง และกำลังกลับเข้าสู่เงินเฟ้อเป้าหมาย เศรษฐกิจไม่ได้ไหลลงสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อไทยต่างจากประเทศอื่น เงินเฟ้อภาคบริการของไทยไม่สูง ค่าเช่าทรงตัวและดึงเงินเฟ้อลง และ 3.เสถียรภาพการเงิน ซึ่งเป็นถือว่าเป็นปัญหาท้าทายมาก จากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี ถือเป็นปัญหาที่น่ากังวล โดยยอมรับว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขยากและต้องใช้เวลา ซึ่ง ธปท.ต้องการทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี

 “จากที่ภาคเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เท่ากัน ภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องฟื้นตัวดี แต่ภาคการผลิตอ่อนแอ การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนก็ไม่เท่ากัน ผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น แม่ค้า คนขับแท็กซี่ ยังได้รับผลกระทบ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวดี หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากช่วงโควิด-19 ระบาด แม้เศรษฐกิจมหภาคฟื้นตัว แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รู้สึกว่าฟื้นตัวตามไปด้วย ขณะเดียวกัน ธปท.คาดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) จะเพิ่มขึ้นไป แต่ไม่ถึงขึ้นรุนแรง และคุณภาพสินเชื่อจะด้อยลงต่อไป” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินนั้น เน้นนโยบายผสมผสาน นโยบายดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการหลายอย่าง และพร้อมปรับหากสถานการณ์เปลี่ยน ไม่ได้ยึดติดจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ธปท.ให้ความสำคัญกับมาตรการรองรับความเสี่ยง เพราะสถานการณ์ในโลกไม่แน่นอน คาดการณ์ไม่ได้ จึงต้องทำนโยบายเผื่อไว้หลายๆ ทาง นอกจากนโยบายดอกเบี้ยก็ยังมีมาตรการอื่นๆ เช่น การให้เงินกู้อย่างรับผิดชอบของสถาบันการเงินเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้

ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับว่า ช่วงนี้เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น และแข็งค่าขึ้นเยอะ แต่ถ้าเทียบต้นปี 2567 จนปัจจุบัน โดยค่าเงินบาทยังคงทรงตัว มีช่วงหลังที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามดูหมดทุกอย่าง ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าคือเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจน แต่การแข็งค่าของเงินบาทใกล้เคียงกับสกุลเงินของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และที่สำคัญไทยเจอปัญหาราคาทองคำปรับตัวขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ติดตามดูแลตลอดเวลา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง