เหนือคลายวิกฤตนํ้าท่วม ‘เท้ง’โร่แจงปมไม่แจกของ

คลี่คลาย! สทนช.ชี้สถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือพ้นวิกฤต ยันระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคล่อง ไม่ซ้ำรอยปี 54 ท่วมหนักเมืองกรุงอย่างแน่นอน พร้อมประกาศเตือนพื้นที่จังหวัดริมน้ำโขงเตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง ชาวบ้านสุโขทัย-พิษณุโลกยังอ่วมหนัก วอนช่วยสิ่งของจำเป็น “หัวหน้าเท้ง” เป่าดรามาแจกของโยนบึ้มองค์กรอิสระตรวจสอบพรรคการเมืองอื่นให้ของชาวบ้าน

เมื่อวันพุธ ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  (สทนช.) นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชุมติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ  พบว่าขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เว้นแต่ที่จังหวัดน่านหากมีฝนตกลงมาเพิ่มอีกในช่วง 1-2 วันนี้ พื้นที่รับน้ำอำเภอเวียงสาอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำสูงกว่าตลิ่งเล็กน้อย

นายสุรสีห์ระบุว่า ขณะที่จังหวัดสุโขทัย ปริมาณสูงสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ส.ค.67 ที่ 1,600-1,700 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และวันนี้ปริมาณน้ำได้ลดลงอยู่ที่ 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนพนังกั้นน้ำคันดินที่ชำรุดหลายแห่งนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการประเมินความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรให้เร็วขึ้น เพื่อให้ยังคงมีรายได้เพิ่มเติมจากการรับค่าชดเชย อย่างไรก็ตาม พื้นที่กักเก็บน้ำหลายแห่งยังคงสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก โดยที่เขื่อนสิริกิติ์  ยังรองรับน้ำได้อีก 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนภูมิพล รองรับน้ำได้อีก 5,000-6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร, เขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รองรับน้ำได้อีก 600-700 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนที่บึงบอระเพ็ด ได้มีการสำรองพื้นที่ไว้รองรับน้ำ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร และทุ่งบางระกำ ซึ่งก็ยังคงมีน้ำเข้าไปเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ยังคงเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ช่วงกลางเดือนกันยายนเป็นต้นไป จะมีแนวโน้มฝนเข้ามาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง จึงต้องเตรียมพร้อมพร่องน้ำที่มีอยู่ออกไปโดยเร็วที่สุด

สำหรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้อยู่ที่ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และแม้จะมีฝนตกลงมาเพิ่ม ก็จะมีการระบายน้ำไม่เกิน 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ 700 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป คือพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำตำบลโผงเผง จังหวัดอ่างทอง  และอำเภอเสนา อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนก่อนทำการระบายน้ำอยู่แล้ว

 “ยืนยันว่าการระบายน้ำที่ 1,200-1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครเช่นปี 2554 อย่างแน่นอน  โดยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.67) เป็นต้นไป สทนช. จะออกแถลงการสถานการณ์น้ำทุก 10.00 น. เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและลดปัญหาข่าวปลอม” เลขาธิการ สทนช.ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สทนช.ได้ออกประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงด้านท้ายเขื่อนไซยบุรี สปป.ลาว ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี              

"โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนและผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำให้รับทราบ และเตรียมความพร้อมจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงระมัดระวังการสัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำโขง" เลขาธิการ สทนช.ระบุ

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ระบุว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกในวันนี้ ซึ่งปริมาณน้ำฝนสะสม 24 ชั่วโมง พบว่า อ.สองแคว จังหวัดน่าน มีปริมาณฝนตกสูงถึง 178 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้ต้องเฝ้าระวังว่าปริมาณน้ำจากฝนรอบนี้ ที่จะไปสมทบส่งผลกระทบให้พื้นที่ใน อ.เมืองน่าน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอีกรอบ แม้ล่าสุดสถานการณ์น้ำจะเริ่มเบาลงแล้ว จึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าน้ำที่เข้ามาเสริมจะทำให้พื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอยู่แล้วมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นระดับไหน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 วันจึงจะคลี่คลายลง

นายธเนศร์ระบุว่า ขณะเดียวกัน ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา ก็มีฝนตกหนักในบางจุด ซึ่งมวลน้ำจากจังหวัดเชียงราย จากแม่น้ำกกและแม่น้ำอิงจะไหลไปสู่แม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำมาก จึงส่งผลให้การระบายน้ำช้าลง จึงต้องติดเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำสาขาต่างๆ ในการเร่งระบายน้ำ และขอความร่วมมือไปกับประเทศในลุ่มน้ำโขงที่จะให้ช่วยปรับการระบายน้ำลง เพื่อจะทำให้น้ำระบายได้ดียิ่งขึ้น

ที่ จ.สุโขทัย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย ยังคงวิกฤต ขณะที่วัดท่าทอง ต.เมืองบางยม อ.สวรรคโลก ก็ได้มีการเปิดศาลาการเปรียญเป็นศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย เพื่อให้ผู้ประสบภัยที่มีทั้งเด็ก คนชรา และผู้ป่วยสูงอายุ จำนวนหลายครอบครัวได้อาศัยหลับนอนชั่วคราว ล่าสุดพบมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 4 อำเภอ 27 ตำบล 142 หมู่บ้าน 5,603 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 21,638 ไร่ ประกอบด้วย อ.เมืองสุโขทัย, อ.ศรีสำโรง, อ.ศรีสัชนาลัย และ อ.สวรรคโลก

ที่ จ.พิษณุโลก สถานการณ์น้ำในพื้นที่ อ.พรหมพิราม เขตรอยต่อรับน้ำจาก จ.สุโขทัย ขณะนี้ปริมาณน้ำเริ่มหลากเข้าสู่พื้นที่รับน้ำโครงการบางระกำโมเดล ปริมาณน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านคลองวังมะขาม ม.9 ต.หนองแขม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ชาวบ้าน 26 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ น้ำท่วมสูงเกือบมิดชั้น 1 ระดับน้ำตั้งแต่เอว จนถึงมิดหัวในหลายจุด ทาง อบต.หนองแขมกางไว้ให้ริมถนน แต่ยังคงมีหลายหลังคาเรือน ที่มีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ต้องย้ายไปนอนบนชั้น 2 แต่หากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น จนวิกฤต ต้องอพยพทั้งหมดออกมานอนริมถนน

สิ่งที่จำเป็นขณะนี้คือห้องสุขา ที่ไม่สามารถเข้าได้ โดยปริมาณน้ำได้เริ่มเข้าท่วมได้ประมาณ 4 วัน ไต่ระดับความสูงขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ถนนเข้าซอยขาด ต้องอาศัยผู้นำชุมชนและชาวบ้านด้วยกัน คอยพายเรือนำน้ำและอาหารเข้าไปส่งให้ด้านใน

นายชำนาญ ชูเที่ยง ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในจังหวัดพิษณุโลก ถือว่าต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำยมสายหลักและแม่น้ำยมสายเก่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเข้าสู่สถานการณ์วิกฤตระดับมาก เสี่ยงน้ำเอ่อล้นตลิ่ง

ที่ จ.ภูเก็ต จากสถานการณ์ฝนตกหนัก จ.ภูเก็ต มีรายงานดินสไลด์และโคลนจากเนินเขาหลังหมู่บ้านเทพบุรี ถนนรัษฎานุสรณ์ ต.รัษฎา อ.เมืองฯ ไหลลงมาทับบ้านเรือนประชาชน หลังคา กำแพง พังเสียหาย 7-8 หลัง เจ้าหน้าที่ต้องอพยพผู้อยู่อาศัยออกจากบ้านชั่วคราว เพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดดินสไลด์เพิ่ม เนื่องจากยังมีฝนตกต่อเนื่อง และเนินเขายังอุ้มน้ำฝนอยู่

ที่รัฐสภา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกระแสดรามาพรรคประชาชนไม่แจกของน้ำท่วมว่า เป็นข้อเท็จจริงในเชิงกฎหมาย ภายใน 180 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้งไม่สามารถแจกของได้ ตัวแทนของพรรคประชาชนก็ต้องระมัดระวัง แต่ที่ตนพูดในเวทีปราศรัยไม่ได้หมายความว่าการแจกของเป็นสิ่งที่ผิด การแจกของก็ดูที่ความเหมาะสมความต้องการของประชาชน ไม่ใช่แจกเพื่อระบบอุปถัมภ์ ให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าต้องตอบแทน

เมื่อถามถึงมีการไปเทียบกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น นายณัฐพงษ์กล่าวว่า  เป็นเรื่องที่องค์กรอิสระ ซึ่ง กกต.หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูว่าพรรคอื่นทำผิดหรือไม่ผิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’

“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ